Advance search

ชุมชนพหุวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่หลากหลายกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา

หมู่ที่ 9
บ้านป่าเมี่ยง
ป่าตึง
แม่จัน
เชียงราย
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง โทรศัพท์ 053180022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
23 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
31 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มิ.ย. 2024
บ้านป่าเมี่ยง


ชุมชนพหุวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่หลากหลายกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา

บ้านป่าเมี่ยง
หมู่ที่ 9
ป่าตึง
แม่จัน
เชียงราย
57110
20.0365231909585
99.940116405487
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง

ในอดีตบ้านป่าเมี่ยงเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับเขตตำบลแม่จัน ภายหลังเปลี่ยนมาขึ้นกับตำบลป่าตึง หมู่ที่ 9 เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากตำบลแม่จันมีอาณาเขตกว้างเกินไป จึงแยกออกเป็นตำบลป่าตึง

บ้านป่าเมี่ยงมีสภาพพื้นที่เป็นป่าที่มีต้นเมี่ยงขึ้นอยู่โดยทั่วไป ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงได้อาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างต้นเมี่ยงเป็นแหล่งสร้างรายได้ ซึ่งจะเริ่มเก็บเมี่ยงในช่วงเดือนเมษายนเพื่อขาย แต่ต่อมาได้ยกเลิกไปเนื่องจากการลงทุนลงแรงมากขึ้น จึงหันมาทำไร่ข้าวและข้าวโพดแทน

การเดินทางในสมัยก่อนใช้การเดินเท้าและใช้เกวียนเพื่อติดต่อกับชุมชนภายนอกซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายวัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2516 เริ่มสร้างถนนลูกรังเข้ามาทางหลังวัด และมีการตัดถนนออกมาจากบ้านป่าเมี่ยงถึงบ้านสันโค้ง จากสภาพป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าหลากหลายชนิดแเปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวข้าวโพดและบ้านเรือนของชาวบ้านจนไม่เหลือสภาพดังเดิม บางส่วนกลายสภาพเป็นเขาหัวโล้น สัตว์ป่าที่เคยพบเห็นโดยง่ายกลับหายากขึ้นและหลงเหลือเพียงไม่กี่ชนิด เช่น หมูป่า ไก่ป่า เป็นต้น ในปัจจุบันบ้านป่าเมี่ยงเป็นที่อยู่อาศัยของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ชาวอาข่า ลัวะ ลาหู่ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ และคนเมือง

บ้านป้าเมี่ยง หมู่ที่ 9 อยู่ในเขตตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากอำเภอแม่จันเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายเป็นระะทางประมาณ 39 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านประดู่ ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยยาโน ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสันโค้ง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันตก ติคต่อกับ บ้านเล่าสิบ ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

สภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านป่าเมี่ยง มีลักษณะเป็นหุบเขาคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่โดยรอบเป็นภูเขาล้อมรอบ พื้นที่ป่าเป็นป่าดิบเขามีความชื้นสูง มีลำห้วยไหลผ่าน 2 สาย คือ ลำห้วยแม่เปินและห้วยป้าฐา ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาหลักที่ชาวบ้านสามารถใช้สอยได้ตลอดทั้งปี ป่าไม้มีลักษณะพื้นที่เป็นป่าดิบเขาซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยแม่เปิน ลำห้วยป้าฐา และเป็นแหล่งพันธุ์ไม้หลากหลายพันธุ์ และสมุนไพรหลากหลายชนิด สัตว์ป่าในปัจจุบันที่พบเห็น ได้แก่ หมูป่า อีเห็น งูหลาม งูเหลือม ไก่ป่า และนกนานาชนิด

ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เคือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม พร้อมทั้งมีลมพายุฤดูร้อนกระโชกแรง บางครั้งก็มีลูกเห็บตก
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกชุก
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือน ช่วงเช้ามีอากาศเย็นและหมอกลงจัด 

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านป่าเมี่ยง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 423 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 202 คน ประชากรหญิง 221 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 127 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

บ้านป้าเมี่ยงนับเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมหนึ่งที่ประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ ลัวะ อาข่า ลาหู่ จีนฮ่อ ไทใหญ่ และคนพื้นเมือง ลักษณะครอบครัวมีทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่แล้วไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน มีเพียงบัตรบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง และหรือทะเบียน ทร.13 (ทะเบียนบ้านสำหรับผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว) สถานะยังคงเป็นผู้ไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ได้รับสัญชาติไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่า บางส่วนก็ไม่มีหลักฐานแสดงตนอย่างแน่ชัดว่าเป็นคนสัญชาติใด

ไทใหญ่, ลัวะ (ละเวือะ), ลาหู่, อ่าข่า, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

ชาวบ้านป่าเมี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่เป็นหลัก ส่วนอาชีพรอง ได้แก่ รับจ้าง หาของป่า แทบทุกครัวเรือนทำไร่ปลูกข้าวไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน และปลูกข้าวโพดเพื่อนำไปขาย ข้าวโพดบางส่วนเก็บไว้ให้เป็นอาหารสัตว์ บางครัวเรือนก็ปลูกถั่วเหลืองไว้ขาย แรงงานที่ใช้ในการผลิตจะเป็นแรงงานของสมาชิกในครัวเรือน

การปลูกข้าว ข้าวที่ชาวบ้านปลูกแต่ละครัวเรือนก็จะปลูกในปริมาณที่เหมาะสมพอบริโภคสำหรับครัวเรือนในหนึ่งปี บางส่วนจะปลูกไว้ขาย ราคาข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 11-12 บาท หรืออาจผกผันขึ้นอยู่ทุกปีตามแต่ราคาที่รัฐกำหนด 

การปลูกข้าวโพด เนื่องจากรอบการผลิตใน 1 ปี สามารถปลูกข้าวโพดได้ 2 ครั้ง แต่บางครัวเรือนก็ปลูกรอบเดียว บางครัวเรือนก็ปลูก 2 รอบ 

การปลูกถั่วเหลือง ถือเป็นรายได้อีกทางหนึ่งแก่ชาวบ้าน 

การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่แล้วเลี้ยงไก่ไว้เพื่อบริโภค บางครัวเรือนเลี้ยงหมู เลี้ยงวัวไว้ขาย

การรับจ้าง ชาวบ้านบางส่วนนิยมไปรับจ้างทำงานในรีสอร์ตใกล้หมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการรับจ้างในไร่ชา (โรงงานผลิตชา) ไร่องุ่น (โรงไวน์) โรงเจียรไนพลอย และงานก่อสร้าง ซึ่งแต่ละคนจะให้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำและความสามารถของผู้รับจ้าง

ชาวบ้านที่บ้านป่าเมี่ยงมีทั้งที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีอยู่ ภายในหมู่บ้านจะมีสำนักสงฆ์สำหรับประกอบพิธีกรรมของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และมีโบสถ์คริสตจักรเจริญธรรมสำหรับชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการร่วมกันประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวลัวะจะมีพิธีกรรมในช่วงเข้าพรรษา กล่าวคือ ทุกวันขึ้น 14 ค่ำ และวันแรม 14 ค่ำ จะมีการทำพลุไฟและจุดพลุไฟในช่วงค่ำ ก่อนทำพิธีกรรมมีการแห่ตาลที่จะนำมาถวายโดยมีขบวนกลองยาว ฆ้อง โหม่ง ฉาบ พร้อมในขบวนมีการร่ายรำตลอดทางและมีการจุดประทัดไปด้วย พอเข้าถึงวัดจึงทำบุญถวายตาลแด่พระภิกษุ 

ประเพณีของชาวลัวะ ประเพณีที่สำคัญและยังคงไว้ซึ่งวิถีปฏิบัติ ได้แก่ ประเพณีผีตานก๋วย ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือน 9 หลังวันออกพรรษา ช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วหรือเป็นการทำบุญให้กับตัวเองล่วงหน้า ในการดำเนินพิธีนั้น ชาวบ้านจะนำสิ่งของประเภทเครื่องอุปโภค-บริโภคมาถวายพระ ของที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้นจะใส่ไว้ในก๋วย (ภาชนะสานคล้ายตะกร้าสำหรับใส่ของ) สิ่งของที่นำมาใส่ไว้ ได้แก่ ดอกไม้ รูปเทียน เงิน และของอื่น ๆ เช่น ขนม สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น สำหรับสลาก หมายถึง วัสดุประเภทใบลาน หรือกระดาษที่ชาวบ้านเขียนชื่อของคนที่ตนเองต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ แล้วจึงนำสลากชื่อของตนไปถวายพระ พระจะสวดให้ศีลให้พรสำหรับเจ้าของก๋วยถือเป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณีของชาวลาหู่ ที่สำคัญยังคงมีให้เห็น เช่น กินข้าวใหม่ และปีใหม่ 

  • พิธีกินข้าวใหม่ หรือพิธีจาสือ จ่าเลอ มีขึ้นในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ถือเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยว พิธีนี้เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับการนำผลผลิตข้าวไร่และผลผลิตอื่น ๆ ในไร่ข้าวมาบริโภค โดยชาวลาหู่มีความเชื่อว่าปริมาณผลผลิตข้าวในไร่จะได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเทพเจ้า ดังนั้น จึงต้องประกอบพิธีกินข้าวใหม่เพื่อบูชาเทพเจ้าอื่อซาโดยตรง
  • พิธีฉลองปีใหม่ หรือพิธีเขาะจาเลอ จัดขึ้นในเดือนมกราคม ชาวลาหู่ทั้งหญิงและชายจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าชุดใหม่อย่างสวยงาม มีการจับมือล้อมกันเป็นวงเต้นรำอย่างเป็นจังหวะที่ลานเต้นรำ "จะคึ" อย่างครื้นเครงสนุกสนาน มีชาวบ้านในหมู่บ้านที่ไม่ใช่ชนเผ่าลาหู่มาร่วมเต้นรำด้วย ทุกคนร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน มีการผูกข้อมือขอพรแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ และในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงวันบุญ จึงห้ามไม่ให้สมาชิกทำสิ่งไม่ดีงามเป็นอันขาด เพราะถือเป็นการลบหลู่เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ประเพณีของชาวอาข่า เช่น กินข้าวใหม่ และโล้ชิงช้า

  • พิธีกินข้าวใหม่ หรือพิธีแซนึมจึของชาวอาข่า เมื่อข้าวไร่เริ่มสุกในช่วงปลายเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม ชาวอาข่าทุกครัวเรือนจะเก็บข้าวมาจากไร่ประมาณ 3 รวง นำไปไหว้ผีบรรพชน เป็นพิธีฉลองรวงข้าวสุกและขอบคุณผีไร่ โดยพิธีนี้จะเริ่มทำที่บ้านของผู้นำพิธีกรรมของชาวอาข่าก่อนชาวอาข่าครัวเรือนอื่นหนึ่งวัน จากนั้นแต่ละครัวเรือนก็เลือกทำพิธีต่อไป โดยในพิธีนี้นั้นจะให้ผู้อาวุโสกินข้าวใหม่ก่อนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน
  • พิธีโล้ชิงช้า หรือพิธีเยียะขู่จ๋าเออะ พิธีนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อบูชาเทพธิดา "อิ่มซาแยะ" ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลในไร่ ในระหว่างทำพิธีทุกครอบครัวจะต้องหยุดงานในไร่เพื่อเข้าร่วมพิธี ซึ่งพิธีโล้ชิงช้านี้ถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอาข่า ชาวบ้านจะมาร่วมพิธีเพื่อเฉลิมฉลองในงานประเพณีนี้ก่อนที่จะลงมือเก็บเกี่ยวพืชผลในฤดูต่อไป

ชาวจีนฮ่อ นั้นที่พบเห็นจะเป็นประเพณีปีใหม่ คือ ตรุษจีน เหมือนคนเชื้อสายจีนทั่วไป

ชาวไทใหญ่ นั้นไม่มีประเพณีให้เห็นอย่างชัดเจน จะมีก็คือไปร่วมงานกับชาวลัวะซึ่งนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านจะสื่อสารด้วยภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์กับคนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ได้แก่ ภาษาลัวะ อาข่า ลาหู่ จีนยูนนาน ภาษาไต และมีภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือคำเมือง และภาษาไทยกลาง สื่อสารกับคนต่างชาติพันธุ์ คนพื้นเมือง และใช้ในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โชคชัย พุทธสอน. (2548). ปัญหาของชาวเขาผู้ไร้สัญชาติต่อการเข้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพอนามัยจากรัฐ: กรณีศึกษา: หมู่บ้านป่าเมี่ยง หมู่ที่ 9 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง โทรศัพท์ 053180022