
ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอแม่ลาน ด้วยการเปิดแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี สัมผัสวิวเทือกเขาสันกาลาคีรี นั่งดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แลรถไฟวิ่งผ่านทุ่งนาอันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย OTOP นวัตวิถี ที่ต้องการผลักดันให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เสริม ภายใต้สโลแกน "ไปแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก"
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตหมู่บ้านนี้วังน้ำอยู่กลางทุ่งนากว้าง วังน้ำนี้แม้ฤดูแล้งน้ำก็ไม่แห้ง เด็ก ๆ ชอบหนีแม่ไปเล่นน้ำที่วังน้ำนั้น แม่จึงสั่งห้ามว่า "ถ้าลูกไปเล่นน้ำ แม่ตีน๊ะ" เป็นที่มาของชื่อเรียก "บ้านแม่ตีน๊ะ" ในปัจจุบัน
ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอแม่ลาน ด้วยการเปิดแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี สัมผัสวิวเทือกเขาสันกาลาคีรี นั่งดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แลรถไฟวิ่งผ่านทุ่งนาอันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย OTOP นวัตวิถี ที่ต้องการผลักดันให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เสริม ภายใต้สโลแกน "ไปแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก"
บ้านแม่ตีน๊ะ หมู่ที่ 2 ตำบลป่าไร่ อำเภอลแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอแม่ลาน ซึ่งแยกจากอำเภอโคกโพธิ์ เมื่อวันที่ 1 เมยายน 2532 มีความเป็นมาที่เล่าต่อกันว่า หมู่บ้านนี้แต่ก่อนมีวังน้ำหรือหนองน้ำอยู่กลางทุ่งนากว้าง ฤดูแล้งน้ำก็ไม่แห้ง มีเด็กแอบหนีแม่ไปเล่นน้ำที่วังน้ำนั้น แม่จึงสั่งห้ามว่า "ถ้าลูกไปเล่นน้ำ แม่ตีน๊ะ"
บ้านแม่ตีน๊ะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ของตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ลานประมาณ 4 กิโลเมตร ระยะทางห่างจากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 38 กิโลเมตร สภาพพื้นที่บ้านแม่ตีนะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก มีพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ 500 ไร่ พื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ฤดูฝนจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายบางส่วน โดยบ้านแม่ตีนะมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านต้นโตนดหมู่ที่ 1 ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านใหม่ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาหมอเทพ หมู่ที่ 4 ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต้นโตนด หมู่ที่ 1 ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านแม่ตีน๊ะ ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 912 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 410 คน ประชากรหญิง 502 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 247 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567)
การประกอบอาชีพ
เนื่องจากบ้านแม่ตีน๊ะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูกซึ่งมีพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ 500 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา และสวนไม้ผลผสม มีพื้นที่ทำนาประมาณ 30% ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ทำสวนยางพารา 60% ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่ทำสวนไม้ผล 10% ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย หรือบางส่วนก็ออกไปประกอบอาชีพต่างถิ่นด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านแม่ตีน๊ะได้รับการผลักดันให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวแหล่งใหม่ สร้างจุดแลนด์มาร์กหรือจุดเช็กอินที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย OTOP นวัตวิถี ที่ต้องการผลักดันให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เสริม ด้วยการเปิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี สัมผัสวิวเทือกเขาสันกาลาคีรี ยามเย็นนั่งดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เห็นรถไฟวิ่งผ่านทุ่งนา โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่นำอาหารมาขายให้กับนักท่องเที่ยวในทุก ๆ วัน ซึ่งอาหารที่นำมาขายนั้น ได้แก่ ส้มตำ ลูกชิ้น ไก่กอและ ขนมจาก ข้าวหลาม ขนมพื้นบ้าน หรือของที่ชาวบ้านสามารถนำมาขายให้กับท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งการเปิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่นี้สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้วันละ 200-300 คนเลยทีเดียว
กลุ่มอาชีพในชุมชน
- กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยมีนางยาแลคอ แขวงบู เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 24 คน เงินทุนหมุนเวียน 45,800 บาท สมาชิกมีรายได้ต่อเดือนคนละประมาณ 2,000-4,000 บาท
- กลุ่มกลึงไม้เฟอร์นิเจอร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีนายมะยูโซ๊ะ อูมา เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน เงินทุนหมุนเวียน 35,400 บาท ซึ่งสมาชิกจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ว่างงานในหมู่บ้าน
- กลุ่มมุสลีมะฮ์ทำขนม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยมีนางสาวคอรีเยาะ เจ๊ะมูเก็ง เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 23 คน เงินทุนหมุนเวียน 4,800 บาท สมาชิกมีรายได้ต่อเดือน 700-1,000 บาท
- กลุ่มผู้เลี้ยงแพะบ้านแม่ตีน๊ะ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยมีนายมานะ สะมะแอ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 15 คน มีวัตถุประสงค์การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายสร้างรายได้เสริมแก่สมาชิก พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวยาเสพติด และขยายเครือข่ายสมาชิกหมู่บ้านใกล้เคียงให้มีการเลี้ยงแพะทุกครัวเรีอน มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 7,000 บาท
- กลุ่มอาชีพเลี้ยงแพะขุน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2553 โดยมีนายสารี คาเดร์ลอดิง เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 10 คน เงินทุนหมุนเวียน 20,000 บาท
- กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้าน เป็นกลุ่มที่รวบรวมสมาชิกที่เลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยจะคอยช่วยเหลือให้ข้อมูลความรู้กัน ซึ่งกลุ่มจะไม่เน้นที่รายได้ แต่จะเน้นการอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองเป็นหลัก
- กลุ่มอาชีพเลี้ยงปลา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยมีนางสาวคอรีเยาะ เจ๊ะมูเก็ง เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 23 คน เงินทุนหมุนเวียน 4,800 บาท สมาชิกมีรายได้ต่อเดือน 700-1,000 บาท
- กลุ่มผลิตน้ำดื่ม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยมีนายพยอม พรหมแก้ว เป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิก 30 คน ซึ่งทางกลุ่มให้บริการน้ำดื่มหยอดเหรียญราคาถูกกว่าท้องตลาด
- ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2553 โดยมีนายมานะ สะมะแอ เป็นประธาน ในศูนย์ฯ จะมีการสาธิตการปลูกผักสวนครัวโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ การสาธิตการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะเห็ด การเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีวิทยากรคอยแนะนำให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วย
ประชากรในพื้นที่บ้านแม่ตีน๊ะนับถือศาสนาพุทธ 50% มีวัดใกล้เคียงคือวัดทุ่งพลา หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งพลา อำเภอโคกโพธิ์ และวัดราษฎรบูรณะ (วัดช้างไห้) หมู่ที่ 2 ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และนับถือศาสนาอิสลาม 50% มีมัสยิดท่าแรดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น
1.วันเมาลิด เป็นวันรำลึกถึงวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ชุมชนจะมีการร่วมมือร่วมใจในการจัดงานพิธีขึ้นที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน เพื่อสรรเสริญและรำลึกคุณของท่านนบีมูฮัมหมัดและสวดขอพร
2.วันอิดิลฟิตรี หรือ วันรายอรายา เป็นการทำบุญรื่นเริงหลังจากที่ชาวมุสลิมได้ถือศีลอดหรือบวชมาแล้วครบ 1 เดือน ในเดือนรอมฎอน ในวันนี้จะมีการบริจาคทาน หรือซากาตฟิตเราะฮ์ให้บุคคลที่ด้อยโอกาสแล้วไปละหมาดที่มัสยิดและเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) หลังจากนั้นมีงานรื่นเริงกินเลี้ยงและพบปะสังสรรค์
3.วันอีดีล หนือ รายออัจญ์ ถือเป็นวันออกบวชใหญ่ นับจากวันอิดิลฟิตรีไป 70 วัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับชาวมุสลิมทั่วโลกจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ กิจกรรมในวันนี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับวันอิดิลฟิตรีแต่จะมีการกินเลี้ยงที่ใหญ่กว่าและมีการเชือดสัตว์แล้วแจกจ่ายให้คนยากจน
4.วันอะสูเราะห์ หรือ อาซูรอ นับเป็นเดือนแรกทางศักราชอิสลาม มีการรำลึกเหตุการณ์เรือของศาสดานุห์ ในวันอะสูเราห์ ชาวมุสลิมนิยมกวนขนมชนิดหนึ่ง ที่มาจากอาหารหลาย ๆ ชนิดนำมากวนให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วแจกจ่ายรับประทานกันในหมู่บ้าน ก่อนจะรับประทานจะมีการเชิญบุคคลที่นับถือขึ้นมากล่าวขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าก่อน ซึ่งปฏิบัติกันเป็นประเพณีในทุก ๆ ปี
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้, ภาษามลายู, ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
นุรอัฟฟานนีซาร์ รอแม และคณะ. (ม.ป.ป.). จุด Check In แห่งใหม่ ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี สัมผัสวิวเทือกเขาสันกาลาคีรี ยามเย็นนั่งดูอาทิตย์ลับขอบฟ้า ที่หมู่บ้านท่าแรด - แม่ตีน๊ะ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.longtaithailand.com/
มานะ สะมะแอ. (2555). โครงการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะให้มีรายได้เสริมของกลุ่มผู้เลี้ยงแพะบ้านแม่ตีนะ ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
แวรุงไปไหน. (2562). สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/Waerungpainai