ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองลำปางบนพื้นที่สำคัญอันเป็นเส้นทางการค้าริมฝั่งแม่น้ำวังที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือร่องลอยสลักจารลงบนอาคารสถาปัตยกรรมริมถนน สู่การปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
"กาดกองต้า" มีความหมายว่า "ตลาดตรอกท่าน้ำ" เรียกตามที่ตั้งที่อยู่ขนานกันกับลำน้ำวัง ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้นที่แห่งนี้เคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งตลาดในภาษาถิ่นเหนือเรียกว่า "กาด" เป็นที่มาของชื่อเรียก "กาดกองต้า" ในปัจจุบัน
ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองลำปางบนพื้นที่สำคัญอันเป็นเส้นทางการค้าริมฝั่งแม่น้ำวังที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือร่องลอยสลักจารลงบนอาคารสถาปัตยกรรมริมถนน สู่การปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
จากการสร้าง “เวียงนครลําปาง” บนที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง อันทำให้เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ขึ้นจากการค้าขายทางน้ำ ด้วยเหตุนี้กลุ่มชนชั้นนําทางสังคมได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณทางฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเวียงใหม่ พื้นที่ฝั่งเมืองเก่า คือ “เวียงเขลางค์นคร” และ “เวียงละคอร” จึงต้องปล่อยให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่อพยพเข้ามาจากเมืองต่าง ๆ เช่น ชาวเมืองของเชียงแสน ชาวเมืองยอง และเมืองอื่น ๆ ซึ่งมีการย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฟื้นฟูและพัฒนาเมืองในขณะที่เวียงนครลําปางในพื้นที่ใหม่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางใหม่ของเมืองลําปางในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เมืองลําปางมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในสมัยการค้าไม้ที่รุ่งเรือง เนื่องจากมีการทำสัมปทานป่าไม้ที่ต้นแม่น้ำวังแถบวังเหนือ และปล่อยไม้ซุงไหลลงมาตามลำน้ำวัง ส่งผลให้เมืองลําปางมีการตั้งถิ่นฐานของคหบดีผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าไม้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวพม่าและชาวไทใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองลําปางมีวัดที่มีพุทธศิลปะแบบพม่า-ไทยใหญ่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การล่องไม้ซุงลงมาตามแม่น้ำเมื่อมาถึงตรงเมือง ส่งผลให้เมืองลําปางมีการเกิดกิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย และก่อให้เกิดย่านการค้าริมแม่น้ำวังที่เรียกว่ากาดกองต้าขึ้นมา
กาดกองต้า หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่า “ตลาดจีน” ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำที่รุ่งเรืองของจังหวัดลําปาง เป็นเมืองท่าที่สำคัญเชื่อมต่อศูนย์กลางการค้าเมืองปากน้ำโพ (นครสวรรค์) กับภาคเหนือตอนบน ถือได้ว่าเป็นแหล่งกระจายสินค้าและเป็นแหล่งชุมชนเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง โดยในสมัยนั้นกาดกองต้ามีบทบาทเป็นท่าเรือของแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่หลาย ๆ แห่ง และเป็นท่าล่องซุงไม้สักของชาวต่างชาติที่ได้รับสัมปทานทำกิจการป่าไม้ที่สามารถทำรายได้มากมาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมทุนหลักของพ่อค้าในลำปางอีกด้วย ในอดีตนั้นการคมนาคมมีความไม่สะดวกมากนัก จึงทำให้วิถีชีวิตของคนชาวลําปางอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ มีการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นพืชไร่หรือจากป่า มีการค้าระหว่างเมืองในเขตภาคเหนือด้วยกันเป็นการค้าโดยพ่อค้าวัวต่าง ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาในหมู่บ้านรวบรวมผลผลิต เช่น เมี่ยง ยาเส้น ครั่ง ของป่า ฯลฯ ขายให้แก่พ่อค้าในเมือง ส่วนขากลับมักนําสินค้าที่ต้องการมาขายในหมู่บ้าน เช่น เกลือ เครื่องเหล็ก ปลาแห้ง ฯลฯ ในส่วนของการค้าทางไกล ทางบกเป็นการค้าระหว่างเมืองไกลชายแดน เช่น พม่า ยูนนาน รัฐฉาน เมืองมะละแหม่ง และเชียงตุง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าพื้นเมือง ทั้งพม่า ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ มีพ่อค้าวัวต่างพื้นเมืองบ้าง โดยพ่อค้าวัวต่างส่วนใหญ่เป็นการค้าเชื่อมระหว่างลําปาง พะเยา เชียงราย น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ ทั้งนี้การค้าทางบกดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2372 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2420 เส้นทางการค้าดังกล่าวได้เปลี่ยนจากทางน้ำเป็นการค้าระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แทน มีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่เมืองปากน้ำโพ เนื่องจากการทำป่าไม้สักส่งออกได้เปลี่ยนจากเส้นทางแม่น้ำสาละวินมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางการคมนาคมทางบกจึงถูกลดความสำคัญลงไป ส่งผลให้แม่น้ำวังเป็นแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น
จังหวัดลําปางเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเป็นมามากกว่าพันปี นอกจากคนเมืองแล้วยังมีคนไทลื้อที่ได้อพยพมาจากเมืองเชียงแสน และชาวพม่าเข้ามาทำป่าไม้และค้าขาย ในส่วนของชาวอังกฤษได้เข้ามาเพื่อสัมปทานป่าไม้ ชาวขมุเป็นคนชนชาติลาวตอนเหนือมารับจ้างแรงงาน ซึ่งที่กล่าวมานี้ล้วนจะมารวมตัวอยู่บริเวณตลาดจีนเนื่องจากเป็นแหล่งจอดท่าเรือ ด้วยสภาพภูมิประเทศบริเวณแม่น้ำวังมีเกาะกลางแม่น้ำ (ที่ตั้งบริเวณวัดเกาะในปัจจุบัน) กั้นแบ่งแม่น้ำวังออกเป็นสองสาย ด้านที่ติดต่อกับฝั่งชุมชนตลาดจีน เป็นช่องแคบและตื้นซึ่งเหมาะเป็นที่จอดเรือ จึงกลายเป็นแหล่งชุมชนมีคนมาขนถ่ายสินค้าขึ้นลง และยังเป็นที่จอดกองคาราวาน (กองเกวียน) จากต่างแดนมาจอดเพื่อรอรับสินค้านําไปขายอีกต่อหนึ่ง โดยมีบทบาทหลักเป็นท่าน้ำรวบรวมซุงจากป่าไม้เพื่อนําล่องในปากน้ำโพต่อไป จากปัจจัยข้างต้นตลาดจีนเดิมเป็นท่าจอดเรือขนถ่ายสินค้าและเป็นท่าล่องซุง ดังนั้นพ่อค้าส่วนใหญ่มักจะขึ้นล่องกับเรือ และมีการปลูกบ้านเรือเพื่ออาศัย ปลูกเพื่อค้าขาย หรือนอนพักแค่ชั่วคราวซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานป่าไม้บริษัทชาวตะวันตกต่างๆ ส่วนชาวพม่าที่เป็นหัวหน้าแรงงานมีหน้าที่ต้องทำการควบคุมการล่องซุง ตลอดจนดูแลกิจการ จึงมีการปลูกสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อเป็นสำนักงาน และที่อยู่อาศัยของตนเอง รวมถึงใช้เป็นที่พักอาศัยรับรองของตัวแทนบริษัททำไม้ของชาวต่างชาติมาตรวจงานป่าไม้ พร้อมทั้งต้องอํานวยความสะดวก ในช่วงแรกของยุคลําปางการค้ามักจะเป็นชาวไทใหญ่ พม่า เลี้ยว และพ่อค้าวัวต่าง ซึ่งมีฐานะการทำงานให้กับบริษัทป่าไม้ฝรั่งหรือชาวตะวันตกพร้อมกับทำการค้าขายสินค้าของตนเอง เมื่อการคมนาคมทางน้ำเริ่มมีความสำคัญทำให้พ่อค้าคนจีนเริ่มเดินทางเข้ามาพร้อมเรือสินค้าเป็นกุลีรับจ้าง ซึ่งนํามาพบทำเลที่เหมาะสม ประกอบกับความขยันขันแข็งของคนจีนดั้งเดิมรวมถึงมีหัวการค้าที่ดีกว่าจึงเริ่มเข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น เริ่มมีการเบียดเบียนชาวไทใหญ่และพม่าออกไปจากตลาดการค้า โดยพ่อค้าจีนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนไหหลำ จีนแคระ และเมื่อพบช่องทางทำมาหากินจึงได้ชักชวนครอบครัวชาวจีนเข้ามาอยู่มากขึ้น และครอบงำคนพื้นเมืองตั้งเดิมเกือบทั้งหมด จึงเป็นที่มาของชื่อ “ตลาดจีน”
ในสมัยนิยมไทยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอีกหนึ่งยุคทองของคนชาวจีน เมื่อบทบาททางการเดินทางรถไฟมาถึงลําปางครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดการเชื่อมระหว่างลําปางกับเมืองเหนือควบกับส่วนกลางกรุงเทพฯ และมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงวิถีชีวิตของคนลําปางที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อรถไฟเข้ามาถึงเมืองลําปางขยายต่อไปถึงเชียงใหม่ การคมนาคมทางบกจึงมีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมทางน้ำถูกลดบทบาทและความสำคัญลงตามลำดับ เนื่องจากมีการขยายการตั้งถิ่นฐานขึ้นไปอยู่บนถนนสายกลาง หรือในปัจจุบันเรียกว่าถนนทิพย์ช้าง เพื่อหนีผลกระทบที่มาจากสภาวะน้ำท่วมที่คุกคามในทุก ๆ ปี รวมทั้งมีการย้ายถิ่นฐานของย่านการค้าขายไปกระจุกตัวในบริเวณสถานีรถไฟแทน ส่งผลให้ความเจริญและความคึกคักย้ายไปอยู่ที่บริเวณย่านสถานีรถไฟและได้กลายเป็นชุมชนการค้าแห่งใหม่ ซึ่งในเวลาต่อมาประจวบกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วง พ.ศ. 2482 - 2488 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามายึดลําปางเพื่อเป็นทางผ่านไปพม่า ได้เข้ามายึดบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะย่านการค้ากาดกองต้า ด้วยเหตุผลเพราะต้องการยึดยุทธปัจจัย ทำให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ในชุมชนกาดกองต้าของคนที่มีเชื้อสายจีน พม่า และฝรั่งต้องอพยพหนีภัยสงคราม การค้าไม้ในยุคสมัยนั้นจึงต้องยุติลงตามเช่นกัน เป็นเหตุให้ชุมชนตลาดจีน หรือกาดกองต้าในสมัยนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากเดิมเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าทางเรือที่เจริญถูกลดบทบาททางการค้าลงและกลายมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน
ความเป็นชุมชนการค้าแห่งกาดกองต้าถูกรื้อฟื้นขึ้นมาจากโครงการ “ถนนคน เดินกาดกองต้า กองอฮิมวัง อาหารฮิมน้ำ” ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 โดยใช้งบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีวัตถุประสงค์ต้องการให้เทศบาลนครลําปางอนุรักษ์ถนนตลาดเก่าให้เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงถูกทิ้งช่วงการรื้อฟื้นไปนาน จนกระทั่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ใน พ.ศ. 2545 คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดถนนคนเดินกาดกองต้ามากขึ้น โดยช่วยกันตกแต่งถนนตลาดเก่าด้วยโคมมากกว่า 1,500 ดวง และได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ชุมชนละ 7 คน มาเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชนกาดกองต้า โดยบุคคลได้รับเลือกเป็นประธานและมีวาระดำรงตำแหน่งถึง 4 ปี ซึ่งคณะกรรมการชุมชนและคณะกรรมการบริหารจัดการกาดกองต้ามีความเป็นอิสระต่อกันไม่ได้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จนในที่สุดก็มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 และจนถึงวันนี้ที่ชุมชนกาดกองต้าได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากผู้คนเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงหลงเหลือเพียงอาคารเก่าแก่ที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือนปั้นหยา เรือนมะนิลา เรือนขนมปังขิง และตึกฝรั่ง โดยอาคารจะมีลักษณะสร้างชิดกัน หันหน้าเข้าหาถนน เพื่อเปิดหน้าร้าน เพื่อค้าขาย และยังมีการนําอิฐและปูนมาใช้ในการก่อสร้างด้วย ทำให้มีความแข็งแรงคงทนหลายหลัง ส่งผลให้อาคารยังคงยืนหยัดผ่านกาลเวลาจนกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาได้ถึงทุกวันนี้ (กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล, 2552)
พื้นที่ชุมชนกาดกองต้า หรือตลาดจีน ตั้งอยู่ในตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลําปาง โดยมีพื้นที่ติดกับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำวังฝั่งซ้าย ใกล้สะพานรัษฎาภิเศก และขนานกับถนนทิพย์ช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์และเป็นพื้นที่การค้าสำคัญของนครลําปางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยพื้นที่ชุมชนกาดกองต้ามีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำวัง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สะพานรัษฏาภิเศก และพื้นที่บ้านพักอาศัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนสวนดอก และเชื่อมกับถนนทิพย์ช้าง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนทิพย์ช้าง และพื้นที่บ้านพักอาศัย
การตั้งบ้านเรือนภายในชุมชนอยู่ตามแนวเส้นถนนและสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่เนินลาดชันที่เป็นตลิ่ง และยังคงมีการขยายตัวของชุมชนไปพร้อมกับแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ ในพื้นที่ การตัดถนนรองรับการคมนาคมขนส่งทางบก ซึ่งบ้านเรือนของคนในชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ได้แผ่กระจายออกไปทุกทิศทุกทางตามเส้นทางคมนาคมเพื่อรับความเจริญ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการขยายตัวของชุมชนสมัยใหม่ในลักษณะของการแผ่กระจาย ย่านชุมชนกาดกองต้าเดิมยังคงปรากฏลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย อาคาร และโบราณสถานดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก
กาดกองต้า เป็นพื้นที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในตำบลสวนดอก เขตเทศบาลนครลำปาง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรชุมชนในพื้นที่ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,985 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,797 คน ประชากรหญิง 2,188 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 3,209 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชาชนในพื้นที่กาดกองต้านอกจากชาวพื้นเมืองเดิมแล้ว ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนยูนนานอาศัยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
จีน, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่กาดกองต้าล้วนเป็นผู้ที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีต และเมื่อสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ผู้คนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมบางส่วนมีการย้ายออกจากพื้นที่ชุมชนกาดกองต้า แล้วนำอาคารที่เคยอาศัยอยู่นั้นมาเปิดให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาเช่าแทน ส่งผลให้ในพื้นที่ชุมชนกาดกองต้าสามารถแบ่งคนในชุมชนได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนที่อยู่ถาวร คือ คนที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเมืองเชื้อสายจีน และคนที่มาอยู่ภายหลัง และได้ย้ายเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว คือ คนทำงานที่มาอยู่เพื่อใกล้แหล่งงานหรือใกล้ตลาด อาจจะเช่าบ้าน หรือหอพัก หรือแม้แต่ร้านค้าเพื่อทำการค้าขายในรูปแบบต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาต่างจังหวัด
ชุมชนกาดกองต้าเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาลงแตกต่างจากยุครุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากความสำคัญของการเป็นชุมชนทางการค้าบนถนนตลาดจีนได้ลดบทบาทลง รวมไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองลำปางเปลี่ยนไป ประกอบกับทำเลที่ตั้งที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ส่งผลให้พื้นที่กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันแทนศูนย์กลางค้าขายในอดีต ซึ่งหลังจากเกิดความซบเซาในชุมชนกาดกองต้าจึงมีการก่อตั้งโครงการถนนคนเดินกาดกองต้าขึ้น ทำให้ชุมชนกาดกองต้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น ซึ่งคนในชุมชนสามารถมีรายได้เสริมจากการค้าขายในถนนคนเดินกาดกองต้า ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่เผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรม ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในชุมชนที่จะเกิดความหวงแหนวัฒนธรรมที่มีอยู่ เกิดการรักษาและสืบวัฒนธรรมที่มีอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ กาดกองต้ายังเป็นย่านที่พักอาศัยที่ค่อนข้างเงียบสงบ ทั้งนี้เพราะมีการประกอบกิจการพาณิชย์แทรกอยู่ภายในชุมชน เช่น ชั้นล่างใช้เป็นที่ประกอบการร้านค้า ชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัยและเก็บสินค้า หรือเป็นเพียงร้านขายของชำที่ใช้ส่วนหนึ่งของบริเวณบ้านเป็นพื้นที่ค้าขาย อีกทั้งลักษณะอาคารและที่พักอาศัยในย่านนี้มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น ยกเว้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งลักษณะของบ้านเรือนพักอาศัยส่วนใหญ่จะบอกได้ถึงเอกลักษณ์อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของชุมชนกาดกองต้า
ในส่วนของวัฒนธรรมและประเพณีในชุมชนกาดกองต้าพบว่าในปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นคล้ายกับเมืองอื่น ๆ ในจังหวัดลำปางที่มีประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากไทยยวนหรือโยนก มีวัฒนธรรมประเพณี ระบบการนับวันเดือนปี ภาษาพูด และภาษาเขียน ตลอดจนค่านิยมต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเฉพาะในจังหวัดลำปางแล้วแต่ละเดือนจะมีประเพณีต่าง ๆ ซึ่งประเพณีหรือการดำเนินกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในพื้นที่ชุมชนกาดกองต้าจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกิจกรรมนั้น ๆ และเกิดขึ้นเพียงบางช่วงเวลาในแต่ละฤดูกาล เช่น การแข่งเรือในแม่น้ำวัง ที่บริเวณหลังวัดเกาะวาลุการาม นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในปัจจุบันส่งผลให้การรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมหรือจัดงานประเพณีเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก ดังนั้นทางชุมชนได้เล็งเห็นว่าควรงดการรวมกลุ่มเพื่อจัดงานประเพณี เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าลักษณะทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป มีคนจากภายนอกเข้ามาทำการค้าขายภายในพื้นที่บ้างหรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ชุมชนกาดกองต้าก็ยังคงสามารถรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมและสืบทอดกันต่อเนื่องตั้งแต่อดีตได้เนื่องด้วยภายในชุมชนยังคงมีผู้สูงอายุ บุคคลดั้งเดิมที่อาศัยและทำการค้าขายอยู่บ้าง รวมถึงกลุ่มของคณะกรรมการกาดกองต้าที่พร้อมจะผลักดันและฟื้นฟูวิถีชีวิต ประเพณี รวมถึงกิจกรรมดั้งเดิมของชุมชนกาดกองต้าให้คงสืบต่อไป (สรวิศ เกียรติภัทราภรณ์, 2565)
ย่านการค้าเก่า "กาดกองต้า" ถนนคนเดินที่คึกคักที่สุดในเมืองลำปาง
กาดกองต้า หรือ ตลาดจีน ตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลำปาง ย่านการค้าเก่าที่ตั้งขนานอยู่กับลำน้ำวัง ในซอยตลาดจีนริมน้ำ ตั้งอยู่บนถนนตลาดเก่า ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ทั้งสองข้างทางมีอาคารโบราณอายุกว่าร้อยปีบนถนนตลาดเก่าตลอดทั้งสาย เมื่อครั้งในอดีตนั้น พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากลำปางเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภาคเหนือ ย่านการค้าส่วนมากมักจะเกิดขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ มีชาวต่างชาติมากมายเข้ามาทำการค้าทางธุรกิจต่าง ๆ ทั้งชาวอังกฤษ ชาวเมียนมา และชาวจีนที่มีจำนวนมากที่สุด พื้นที่แถบนี้จึงกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดจีน”
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่ากาดกองต้าแห่งนี้มีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าอายุกว่าร้อยปีตั้งเรียงรายตามท้องถนนตลอดทั้งสาย อาคารบ้านเรือนเหล่านี้มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เมียนมา และจีน ทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยบ้านเรือนหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรือนไทย เรือนล้านนา บ้านแบบจีน บ้านแบบเมียนมา และบ้านแบบฝั่งตะวันตก อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ผลักดันให้กาดกองต้าในปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดลำปาง
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษาจีนยูนนาน ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย ภาษาจีน
กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล. (2552). กาดกองต้า : ย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง (พิมพ์ครั้งที่ 2). บุรีรัตน์ธารา.
กินดีอยู่เหนือ. (2565). กาดกองต้า ลำปาง ถนนคนเดินยอดฮิต มนต์เสน่ห์แห่งเมืองเขลางค์นคร. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://kindeeyunuea.com/
ถนนคนเดินกาดกองต้า. (2567). สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/kardkongta/
มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). กาดกองต้า ณ ลำปาง มนเสน่ห์กาดกองต้า ณ นครลำปาง. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://www.museumthailand.com/th/
สรวิศ เกียรติภัทราภรณ์. (2565). อัตลักษณ์ทางกายภาพชุมชนตลาดเก่า กรณีศึกษา: ชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์การผังเมืองมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Tour Planet. (2564). ถนนคนเดินกาดตองก้า. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://www.tourplanet.club/