หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว บริเวณโดยรอบอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและป่าไม้ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
"วังคัน" มาจาก "วัง" ซึ่งหมายถึง ลักษณะน้ำที่ยวมไหลวนในบริเวณนั้น มีความโค้งและลึกมาก กล่าวคือ เป็นห้วงน้ำลึก ส่วนคำว่า "คัน" หมายถึง ลักษณะน้ำยวมที่ทำให้เกิดอาการคันตามร่างกาย เมื่อมารวมกัน จึงหมายถึง วังที่ทำให้คัน มีเหตุมาจากช่วงฤดูแล้งมีฝักหมามุ่ย (มะเนื๋อง) แห้งเป็นจำนวนมาก ขนของฝักหมามุ่ยนี้จะลอยตามน้ำมา เมื่อถึงวังคันก็จะลอยวนอยู่บริเวณนั้น เมื่อมีคนลงน้ำไปถูกขนหมามุ่ยก็ทำให้เกิดอาการคันมาก
หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว บริเวณโดยรอบอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและป่าไม้ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
บ้านวังคันก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 อยู่ในช่วงการปกครองในรัชกาลที่ 8 ขณะนั้นบ้านวังคันเป็นหมู่บ้านวังคันเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีราษฎรจากหลายท้องที่เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนและสร้างที่ทำกิน เช่น ประชาชนจากจังหวัดน่าน จากหมู่บ้านแม่มูด อำเภอแม่สะเรียง จากบ้านหางปอน อำเภอขุนยวม จากอำเภอสันกำแพง และจากบ้านแม่วาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งหมดทั้งหมด 22 ครอบครัว
ต่อมาใน พ.ศ. 2488 บ้านวังคันมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทางราชการจึงได้แต่งตั้งให้นายอิ่งต่า องมล ราษฎรจากบ้านกาดแม่วาง อำเภอสันป่าตอง เป็นผู้นำหมู่บ้าน ดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 5 ปี ทางราชการก็ได้แต่งตั้งให้นายคำปัน มโนธรรม ราษฎรจากบ้านทุ่งแล้ง อำเภอแม่สะเรียง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนต่อไป ขณะนั้นมีราษฎรอยู่ 40 ครอบครัว จากนั้นมาหมู่บ้านวังคันก็มีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ
สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้นเล่ากันว่า "วังคัน" มาจาก "วัง" ซึ่งหมายถึง ลักษณะน้ำที่ยวมไหลวนในบริเวณนั้น มีความโค้งและลึกมาก กล่าวคือ เป็นห้วงน้ำลึก ส่วนคำว่า "คัน" หมายถึง ลักษณะน้ำยวมที่ทำให้เกิดอาการคันตามร่างกาย เมื่อมารวมกัน จึงหมายถึง วังที่ทำให้คัน มีเหตุมาจากช่วงฤดูแล้งมีฝักหมามุ่ย (มะเนื๋อง) แห้งเป็นจำนวนมาก ขนของฝักหมามุ่ยนี้จะลอยตามน้ำมา เมื่อถึงวังคันก็จะลอยวนอยู่บริเวณนั้น เมื่อมีคนลงน้ำไปถูกขนหมามุ่ยก็ทำให้เกิดอาการคันมาก
เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน วังคันแห่งนี้มีปลาชนิดหนึ่งน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัมอาศัยอยู่ ชื่อว่า "ปลากัง" ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ในแต่ละปีจะมีการลงวังนี้เพื่อจับปลากัง แต่เนื่องจากปลากังอาศัยอยู่ในวังน้ำ การจะจับปลากังได้จึงต้องอาศัยช่วงฤดูแล้ง เพราะน้ำจะใส มองเห็นปลาได้ง่าย ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ฝักหมามุ่ยแก่เต็มที่แล้วปลิวลงน้ำ เป็นเหตุให้เมื่อชาวบ้านไปจับปลากังเมื่อใด ก็จะคันมากทุกครั้งไป
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านวังคันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ บนฝั่งลำน้ำยวมซึ่งไหลผ่านทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มีภูเขาเป็นแนวแบ่งเขตแดนกับบ้านใกล้เคียงอยู่ทางทิศเหนือและทางทิศตะวันออก มีเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านทางทิศตะวันออก เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่ลาน้อยอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขาทุรกันดาน มีภูเขาสูงชันและมีที่ราบเพียงเล็กน้อย
สภาพภูมิอากาศ
มีลักษณะเป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ฝนตกชุกโดยทั่ว
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านมาจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านวังคัน ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 597 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 308 คน ประชากรหญิง 289 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 233 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567)
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรโดยเพาะปลูกพืช ได้แก่ การเกษตรเพื่อการบริโภค เช่น ข้าว ผักกาด ผักขี้หูด แตงกวา ฝึกทอง บวบ และการเกษตรเพื่อการจำหน่าย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด กระเทียม ทั้งนี้ ยังมีการผลิตและการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การแปรรูปกล้วยฉาบ การทำหน่อไม้ดอง หน่อไม้ตาก ถั่วเน่าแผ่น มะม่วงดอง มะขามแเช่อิ่ม ปลาแห้ง นอกจากการทำเกษตร ชาวบ้านวังคันยังมีการประกอบอาชีพรับจ้าง
ศาสนาที่ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมา คือ ศาสนาคริสต์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 นิกาย ได้แก่ โปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิก ทั้งนี้ ยังผสานความเชื่อดั้งเดิมควบคู่กับการนับถือศาสนาทั้งด้านวัฒนธรรมและประเพณี บ้านวังคันมีความศรัทธาและสืบสานประเพณีตามพุทธศาสนาในการถือวันสำคัญ โดยมีประเพณีและงานประจำปี ดังนี้
- ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประมาณเดือนมกราคม
- ประเพณีกวนข้าวหย่ากู้ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
- ประเพณีอุปคุตวัดดอยแก้ว ประมาณเดือนมีนาคม
- ประเพณีสงกรานต์ ประมาณเดือนเมษายน
- ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา ประมาณเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม
- ประเพณีเขาวงกต ลอยกระทง ประมาณเดือนพฤศจิกายน
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
1) ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำเป็นสิ่งที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนมาช้านาน โดยลำน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านวังคันมายาวนานหลายสิบปี คือ น้ำยวม ที่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน สายน้ำนี้เปรียบเสมือนชีวิต ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งเพื่อการเกษตรและเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้ ยังมีน้ำจากลำห้วยต่าง ๆ เช่น ห้วยหม่องจาน ห้วยเข่าหลามหน้อย ห้วยเข่าหลามหลวง ห้วยขิ่งจิ๊บ ห้วยป๋าผา ห้วยกระแต ห้วยม่วง ห้วยดีหมี ฯลฯ อีกทั้งยังมีลำน้ำอีก 2 สายซึ่งก็มีความสำคัญทัดเทียมกัน คือ ลำน้ำแม่ละมอง และลำน้ำลา เป็นลำน้ำที่มีการใช้ประโยชน์ในระบบเหมือง-ฝาย เพื่อนำนา ปลูกข้าวเป็นหลัก
2) ทรัพยากรป่าไม้ มีลักษณะเป็นป่าเขตร้อนแบบผลัดใบทั้งป่าสน ป่าสัก ป่าไม้แดง ป่าต้นหลวง เป็นต้น ซึ่งป่าไม้นี้นับว่าให้คุณทั้งกับผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญ เช่น เห็ดหอม เห็ดไข่ห่าน เห็ดปลวก ผักงอแง ผักตีนฮุ้ง ผักป้อก้า ฯลฯ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
เทศบาลตำบลแม่ลาน้อย. (2565). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.maelanoi.go.th/view_file.php?id=600
บ้านวังคันอำเภอแม่ลาน้อย. (2566).สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/
พิทักษ์ เกษมจิตร. (2551). การจัดกระบวนการเรียนรู้สู่ชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง บ้านวังคัน หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.