จากดอยหัวแม่คำสู่บ้านเวียงกลาง ลีซูบ้านเวียงกลาง ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาการอพยพและการก่อตั้งหมู่บ้านมาร่วมร้อยปี
เวียงกลางมาจากคำว่า "เวียง" หรือเรียกว่า เมือง ประกอบกับหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาลูกกลาง จึงออกนามหมู่บ้านว่า "เวียงกลาง" หมายถึง เมืองที่ตั้งบนภูเขาลูกกลาง
จากดอยหัวแม่คำสู่บ้านเวียงกลาง ลีซูบ้านเวียงกลาง ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาการอพยพและการก่อตั้งหมู่บ้านมาร่วมร้อยปี
บ้านเวียงกลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 ชาวลีซูบ้านเวียงกลางเดิมอาศัยอยู่บริเวณดอยหัวแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นชายแดนติดเขตประเทศพม่า ผู้คนจึงข้ามไปมาทำงานระหว่างไทยและพม่า แต่ระยะหลังการที่ข้ามไปทำงานที่ประเทศพม่าเป็นไปได้อยากลำบาก เพราะบางครั้งประเทศพม่าไม่ให้เข้าไปทำงาน หรือเวลาภายในประเทศพม่ามีปัญหาจะไม่ให้เข้าไปทำงาน ดังนั้นผู้คนที่อาศัยอยู่บนหัวแม่คำ จึงได้ย้ายประชากรลงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเวียงกลางปัจจุบัน ครั้งแรกมีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานประมาณ 6 ครัวเรือน โดยการนำของนายไฉ่โป้ วัชระคุณกร และนายอาปา แสนหลิ่ว หลังจากนั้นก็มีชาวลีซูทยอยอพยพลงมาเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน แต่ขึ้นการปกครองรวมกับหมู่ที่ 7 บ้านโล๊ะป่าห้า มีนายอ้าย สมุดความ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้แต่งตั้งนายจันทร์ ก๋าใจคำ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาตั้งแต่แรกเริ่มดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วย และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 จึงได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ 11 และได้รวมเอาบ้านท่าก่อซ้อขึ้นการปกครองร่วมกัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2544 ได้แยกออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่ที่ 21 ตำบลแม่ข้าวต้ม
เมื่อปี พ.ศ. 2508 เริ่มมีชาวบ้านอพยพเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการสร้างวัด โรงเรียน รวมถึงศาลเจ้า และมีการพัฒนาถนนเพื่อการเดินทางให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นจากเดิมที่การจราจรค่อนข้างลำบาก ทุรกันดาร อีกทั้งยังมากอันตรายจากสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ เช่น ช้าง เสือ หมี และหมูป่า เพราะในสมัยนั้นทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์มาก
สำหรับที่มาของชื่อบ้านเวียงกลางนั้นต้องกล่าวย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2480 ชาวบ้านได้พบแหล่งที่อยู่อาศัยและโบราณสถานหลายแหล่งด้วยกัน สันนิษฐานว่าอาจอยู่ในโยนกนครหรือช่วงพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงราย ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "เวียง" แปลว่า เมือง ประกอบกับหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาลูกกลาง จึงได้ชื่อว่า "บ้านเวียงกลาง" จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านเวียงกลางมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับเรียงรายเป็นลูก ๆ ล้อมรอบเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 450 เมตร เป็นพื้นที่นาตามเชิงเขา บริเวณโดยรอบเป็นสวนยางพารา และเป็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์ โดยมีต้นไม้ประเภทไผ่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองแว่น ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ สวนยางพารา ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านท่ากอซ้อ ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านถ้ำ ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 11 บ้านเวียงกลาง ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,304 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 653 คน ประชากรหญิง 651 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 435 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรบ้านเวียงกลางส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ลีซู และมีคนพื้นเมืองเข้ามาปะปนบ้างประปรายจากการแต่งงานเข้ามาเป็นเขย หรือสะใภ้
ระบบเครือญาติของชาวลีซูบ้านเวียงกลางแห่งนี้เกือบทุกครอบครัว หรือเกือบทุกครัวเรือนเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงเป็นเครือญาติ เนื่องจากส่วนใหญ่มีภูมิลำเนามาจากที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีบางครอบครัวที่อพยพมาจากพื้นที่อื่น ทว่า เมื่อมีการนับเชื้อนับสายกันแล้วกลับพบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน ทำให้ระบบความสัมพันธ์เครือญาติของชาวบ้านเวียงกลางค่อนข้างที่จะเหนียวแน่นอยู่พอสมควร
ลีซูชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำไร่ ทำสวน และรับจ้างทั่วไปในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อว่างเว้นจากงานในภาคการเกษตร ในบางครอบครัวผู้หญิงจะใช้เวลาช่วงนี้ในการทำงานหัตถกรรมเป็นรายได้เสริม เช่น การทอย่าม เสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกายของชนเผ่า โดยงานหัตถกรรมเหล่านี้จะมีพ่อค้าเดินทางเข้ามารับซื้อภายในหมู่บ้าน สมาชิกในชุมชนบางส่วนมีการไปทำงานต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ และต่างประเทศ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านเวียงกลางเกือบทุกครัวเรือนจะเลี้ยงหมู ไก่ และเป็ด เพื่อไว้บริโภคและประกอบพิธีกรรมภายในครัวเรือนของตนเอง แต่ทั้งนี้ก็จะมีการจำหน่ายให้เพื่อนบ้านด้วย
ปัจจุบัน ชาวบ้านเวียงกลางมีศาสนาที่นับถือ คือ ศาสนาพุทธ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเชื่อทางจิตวิญญาณ หรือความเชื่อเรื่องผี โดยเฉพาะการนับถือผีบรรพบุรุษยังคงพบเห็นอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าภายในหมู่บ้านมีผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีเรือน ผีหลวง ผีป่า ผีน้ำ ผีลำห้วย ผีต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันภายในชุมชนยังมีกิจกรรม รวมถึงวัฒนธรรมและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่ โดยในระบบความเชื่อของชาวลีซูในหมู่บ้านเวียงกลางจะต้องมี “หมอมื้อผะ” หรือคนดูแลศาลผีประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทำพิธีต่าง ๆ และผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบภายในหมู่บ้านหรือผู้ปกครองหมู่บ้านได้แก่ “ขัวทูผะ” ซึ่งจะสามารถจัดการกับผู้กระทำผิด เช่น ลักเล็กขโมยน้อยต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ในบ้านเวียงกลางจะมีกลุ่มผู้อาวุโสที่ชาวบ้านนับถือคอยให้คำปรึกษาหรือทำพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย
ภาษาพูด ใช้ลีซู, คำเมือง, ภาษาไทยกลาง
กนกพร เพ็ชรคล้าย. (2552). ผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยกลุ่มวัยทำงานของชนเผ่าลีซอ: กรณีศึกษาบ้านลีซอ หมู่บ้านเวียงกลาง ตำบลแม่ข้าวต้มท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). บ้านเวียงกลาง จังหวัดเชียงราย. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567. จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanWiangKlang