พื้นที่ทางวัฒนธรรมไทย-เขมร ทางผ่านในการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ประตูไปสู่ปราสาทพระวิหารและผามออีแดง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
บริเวณที่ตั้งชุมชนในอดีตเคยมี "ต้นซรอล" ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ชาวเขมรที่มาก่อตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะทางภูมิประเทศที่เห็นเป็นภาษาสัญลักษณ์ว่า "ภูมิซรอล" คำว่า "ภูมิ" ในภาษาเขมรหมายถึง บ้าน ภูมิซรอล จึงหมายถึง บ้านแห่งต้นสน ในภาษาไทยกลาง หรือบ้านไม้ไต้ ในภาษาอีสาน คำว่า "ไต้" ในภาษาอีสานหมายถึง จุดไฟ ในกรณีต้นไม้ไต้นี้ลำต้นนั้นมีน้ำยาง ชาวบ้านใช้เป็นเชื้อไฟเมื่อต้องการก่อไฟด้วยเตาฟืนหรือเตาถ่าน
พื้นที่ทางวัฒนธรรมไทย-เขมร ทางผ่านในการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ประตูไปสู่ปราสาทพระวิหารและผามออีแดง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
บ้านภูมิซรอลได้เริ่มก่อตัวจากชุมชนที่มีวิถีการผลิตแบบยังชีพหรือสังคมประเพณี (traditional society) ขยายตัวไปสู่ชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ ซึ่งมีบริบททางสังคมแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย เห็นได้จากคำบอกเล่าและหลักฐานท้องถิ่นหลายอย่าง กล่าวคือ การก่อตัวและขยายชุมชนของบ้านภูมิซรอลนั้น เป็นไปในลักษณะการผสมผสานกันหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการเคลื่อนย้ายของประชากรจากถิ่นอื่นมาผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่น ความเป็นชุมชนของหมู่บ้านแห่งนี้ได้ก่อตัวมาค่อนข้างยาวนาน กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในบ้านภูมิซรอล มี 2 กลุ่มหลัก และ 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชาและกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน ผสมผสานวัฒนธรรมกับอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ กลุ่มที่มาอยู่ก่อนตั้งแต่เริ่มมีหมู่บ้านภูมิซรอล คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชาเข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ประมาณ พ.ศ. 2484 หลังจากนั้นได้จดทะเบียนเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2492
ชาวบ้านภูมิซรอลที่สืบเชื้อสายมาจากประเทศกัมพูชานั้น ส่วนใหญ่มาจากบ้านไผ่ บ้านโกมุยและบ้านสวายจรุม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับอำเภอจอมกระสาร จังหวัดพระวิเฮียร์ (พระวิหาร) ประเทศกัมพูชา หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานเคลื่อนย้ายเข้ามาประมาณ พ.ศ. 2500 รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายมาจากอีกหลายพื้นที่ทั้ง ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่ในบ้านภูมิซรอล มีทั้งเกษตรกรอพยพหนีความแห้งแล้งมาบุกเบิกพื้นที่ทำกินใหม่ และข้าราขการที่รัฐส่งให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตำรวจตระเวนชายแดนส่วนใหญ่ถูกส่งมาราชการในช่วงสงครามเย็น บางคนพาครอบครัวมาอยู่ด้วยแล้วลงหลักปักฐานที่นี่ อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศกัมพูชา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเขมรลุ่ม ประมาณ 20 ครอบครัว อพยพหนีโรคระบาดและภัยแล้งมาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 โดยมีนายทัน มาทอง เป็นผู้นำการอพยพครั้งนั้น เมื่อมาอยู่ฝั่งประเทศไทยเรียกว่าเขมรเทิงหรือเขมรสูง ต่อมาได้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและขยายชุมชนใหญ่ขึ้นร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ (ไทยอีสาน จากอำเภอเขื่องใน อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในสมัยนั้นผู้ใหญ่บ้านคนแรของบ้านภูมิซรอลคือนายต๊ะ มาทอง ผู้ใหญ่โต๊ะได้แต่งงานกับหญิงชาวกัมพูชาชื่อโฮง มาทอง
ชาวบ้านภูมิซรอล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมรดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายมาจากเขมรลุ่ม ส่วนบ้านภูมิชรอลหมู่ 12 และหมู่ 13 นั้น พื้นที่ชุมชนอยู่รอบ ๆ หมู่ 2 ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านภูมิซรอลได้แบ่งพื้นที่การปกครองตามรูปแบบของกระทรวงมหาดไทยแต่พื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางสังคม เช่น วัด โรงเรียน ศาลากลางบ้าน ไม่ได้แบ่งแยกตามไป หรือระบบสาธารณูปโภคยังใช้รวมกัน เช่น ระบบน้ำประปาหมู่บ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงจัดกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางสังคมเหล่านั้น ตามวาระต่างๆ เป็นวิถีปกติเสมือนไม่ได้แยกหมู่บ้าน เช่น งานต้อนรับแขกไปไทยมา งานบุญสงกรานต์ ก่อกองทรายก็ไปทำร่วมกันที่วัดเท่าภูมิชรอล สู่ขวัญบ้าน ตักบาตรบ้าน ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่ก็นัดแนะตามความสะดวกว่าจะทำที่ศาลากลางบ้านของหมูไหน หรืออาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ว่าแบ่งบ้านออกเป็น 3 หมู่ ก็ไม่ได้แบ่งแยกความเป็นคนบ้านภูมิซรอลออกจากกัน การพึ่งพาอาศัยกัน ของคนในชุมชนยังดำเนินไปวิถีแห่งอัธยาศัยไมตรีในหมู่เพื่อนบ้าน เครือญาติ และแกนนำตามธรรมชาติของชุมชน
บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนขนาดใหญ่แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านภูมิซรอล บ้านภูมิซรอลใหม่ และบ้านภูมิซรอล 2 โดยตำบลเสาธงชัยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีลักษณะทางกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขา ซึ่งถูกใช้สำหรับทำนาข้าว ทำไร่ปอ และปลูกสวนยางพารา และมีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน ลักษณะสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมีอากาศร้อนชื้นเป็นส่วนใหญ่ อากาศหนาวเล็กน้อยในช่วงฤดูหนาว ในฤดูฝนค่อนข้างมีฝนตกชุก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 24-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-18 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนธันวาคม และอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 39 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน โดยพื้นที่ตำบลเสาธงชัยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชายแดนประเทศกัมพูชา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลภูผาหมอก ตำบลโนนสำราญ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลรุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งประชากรที่อยู่อาศัยมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์เขมร และกลุ่มพื้นเมืองไทยอีสาน แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน มีรายละเอียดจำนวนประชากร ตามสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ดังนี้
- หมู่ที่ 2 บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 921 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 461 คน ประชากรหญิง 460 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 366 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 12 บ้านภูมิซรอลใหม่ ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,023 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 509 คน ประชากรหญิง 514 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 329 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 13 บ้านภูมิซรอล 2 ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 928 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 476 คน ประชากรหญิง 452 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 258 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ระบบเศรษฐกิจของบ้านภูมิซรอลในอดีตเมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา เป็นหลัก มีการทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านประเทศกัมพูชา สินค้าที่แลกเปลี่ยนกันมากคือเกลือส่วนชาวบ้านกัมพูชานั้นนำของป่ามาขาย สินค้าที่ชาวบ้านกัมพูชาขายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือ กะบอง และอึ่ง
ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งในรูปแบบการผลิตเพื่อบริโภคและการผลิตเพื่อจำหน่าย ช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ยางพาราและมันสำปะหลังมากขึ้น และชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เริ่มหันมาประกอบอาชีพค้าขายกับประชาชนจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) และนักท่องเที่ยวบนผามออีแดงตามการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูในแถบชายแดนทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา
สำหรับยางพารานี้ ชาวบ้านได้หันมาปลูกตามการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยผลผลิตยางพาราภายในพื้นที่แถบนี้สามารถเก็บเกี่ยวได้มากกว่าภาคใต้ เพราะฝนตกน้อยกว่า นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนประกอบอาชีพขายสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับชาวกัมพูชา ชาวบ้านส่วนหนึ่งขายอาหารและของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับชาวกัมพูชา
การผลักดันชุมชนสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจดินแดนอีสานใต้
เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของบ้านภูมิซรอลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางผ่านในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประตูไปสู่ปราสาทพระวิหารและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก คือ ผามออีแดง ซึ่งมีความงามตามธรรมชาติของทะเลหมอกที่ลอยจากเขมรต่ำเข้ามาในเขตไทย และแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ เช่น ภาพแกะสลักหินนูนต่ำอายุกว่า 2,500 ปี สระตราว น้ำตกภูลออ น้ำตกถ้ำขุนศรี ปราสาทโดนตรวล สำนักงานพัฒนาชุมชนจึงมีการผลักดันพื้นที่ชุมชนบ้านภูมิซรอลให้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการจัดการชุมชนให้เป็นที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยมีโครงการผลักดันชุมชนภายใต้กิจกรรมภูมิซรอล อดีตสมรภูมิรบไทย-กัมพูชา โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้า OTOP การสาธิตการทอผ้า การทำอาหารพื้นถิ่นและขนมพื้นบ้าน การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับชุมชน หมู่บ้านด้านการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี การผลิตสินค้า OTOP เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ อีกทั้งยังมีการปรับภูมิทัศน์หมู่บ้าน สร้างจุดเช็กอินและแลนด์มาร์กหมู่บ้าน ตลอดจนพัฒนาบ้านพักอาศัยของชุมชนให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยให้บริการย่อมเยาพร้อมอาหารพื้นเมือง ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสัมผัสกับความงดงามและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตพื้นถิ่นของชาวบ้านในพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทย-เขมรอย่างใกล้ชิดที่สุด
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาเขมร ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
เขาพระวิหาร
กนกวรรณ ระลึก. (2555). การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชุมชน “ภูมิซรอล”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ข่าวสด. (2565). เปิดแหล่งท่องเที่ยว บ้านภูมิซรอล อดีตสมรภูมิไทย-กัมพูชา เป็นประตูสู่พระวิหาร!. สืบค้นเมื่อ 2 มิ.ย. 2567, จาก https://www.khaosod.co.th/
บ้านภูมิซรอล “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี”. (2561). สืบค้นเมื่อ 2 มิ.ย. 2567, จาก https://www.facebook.com/PoomsaronVilla/
องค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย. (ม.ป.ป.). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 2 มิ.ย. 2567, จาก https://www.soathongchai.go.th/