Advance search

บ้านวัดจันทร์ หมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนทั้งประเภทสองใบและสามใบ ด้วยลักษณภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนที่สูงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาว จนได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

หมู่ที่ 3
บ้านวัดจันทร์
บ้านจันทร์
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ โทร 053-484021
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
2 มิ.ย. 2024
บ้านวัดจันทร์


บ้านวัดจันทร์ หมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนทั้งประเภทสองใบและสามใบ ด้วยลักษณภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนที่สูงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาว จนได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

บ้านวัดจันทร์
หมู่ที่ 3
บ้านจันทร์
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
58130
19.07268904
98.30493852
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์

บ้านวัดจันทร์เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นมาราว 200 ปี สาเหตุที่ชื่อว่า "วัดจันทร์" มีผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าว่า บ้านวัดจันทร์เดิมทีไม่มีชื่อ เรียกเช่นนี้เพราะมีคนชื่อ “จันทร์” เป็นชาวล้านนาที่ถูกขับไล่ออกจากครอบครัวเพราะทำผิดจารีตประเพณีของตระกูล เดินทางมาเป็นแรมปีแรมเดือนมาถึงบริเวณบ้านวัดจันทร์ปัจจุบัน เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีทำเลที่เหมาะแก่การสร้างหมู่บ้านเป็นอย่างมากเพราะมีสถานที่กว้างขวาง มีสายน้ำแม่แจ่มไหลผ่านทางทิศตะวันออก แต่ผ่านไม่นานมีข่าวคราวจากทางล้านนาว่าบ้านเมืองเกิดอาเพศร้ายแรง ข้าวยากหมากแพง ไม่มีผู้ใดแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยนายจันทร์เท่านั้นที่จะทำให้สงบลงได้ มารดาต้องให้ทาสบริวารมาตามนายจันทร์ให้กลับเมืองล้านนาอย่างรีบด่วน เมื่อทาสบริวารของมารดามาถึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองล้านนาจนหมดสิ้น แต่ถูกนายจันทร์ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ทว่า ในที่สุดทนการขอร้องไม่ได้จึงต้องกลับตามคำสั่งมารดา แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ระหว่างสองข้างทางก่อนเพื่อมิให้ตัวเองถูกแดดถูกฝน นอกจากนั้นจะกลับบนหลังคน ทางมารดาต้องให้ทาสบริวารทำตามที่ลูกขอทุกประการ โดยให้มีการปลูกต้นไม้ระหว่างสองข้างทาง และให้คนนอนเรียงกันให้นายจันทร์เดินข้ามจนสิ้นสุดระยะทาง สุดท้ายนายจันทร์ก็เดินทางกลับเมืองล้านนาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้บริเวณนี้จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านจันทร์” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จากนั้นมีชนเผ่าลัวะที่มาบุกเบิกสร้างหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ มีการปักหลักอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งแบ่งกันเป็นกลุ่มในการสร้างวัดในที่ต่างเป็นจำนวนมาก ทว่า มีการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงทำให้วัดและพระเจดีย์หลายแห่งขาดการดูแลรักษา ทำให้ต้องกลายเป็นวัดร้างไป เหลือแต่เจดีย์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านจันทร์ที่สร้างขึ้นโดยชาวลัวะกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีคนมาบรูณปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาจนถึงปัจจุบัน

บ้านวัดจันทร์ อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา (แยกออกจากอำเภอแม่แจ่ม) จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 136 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 240 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสันม่วง ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านแจ่มน้อย ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยอ้อ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านเด่น ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านวัดจันทร์มีลักษณะเป็นภูเขาและที่ราบหุบเขา พื้นที่บางส่วนเป็นเนินเขาใหญ่น้อยสลับกันไป มีแหล่งน้ำกระจายอยู่ทั่วไป โดยบ้านวัดจันทร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงกว่าน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 900-1,300 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาว โดยเฉพาะประเภทสนสองใบและสนสามใบ ทำให้พื้นที่ป่าสนบ้านวัดจันทร์กลายเป็นป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

สภาพภูมิอากาศในชุมชนบ้านวัดจันทร์มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ช่วงฤดูหนาวอากาศจะเย็นจัดมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนและตอนเช้า ตอนเข้าจะมีหมอกหนา ฤดูร้อนอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และฤดูฝน จะอยู่ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนหนาแน่นตลอดทั้งฤดู

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 850 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 444 คน ประชากรหญิง 406 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 451 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนปัจจุบัน คือ ชาวปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม คือ ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก สำหรับการทำนาทุกครอบครัวจะปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชผักไม้ผลเมืองหนาว เช่น สาลี่ ลูกพลับทง ฟักทองญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการหลวงวัดจันทร์ในเรื่องเมล็ดพันธุ์และตลาดรองรับ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่ชาวบ้านเลี้ยงมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และอาจจะขายบ้าง การขายนั้นจะขายให้เพื่อนบ้านของตนเองทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยง คือ ไก่ หมู วัว ควาย เป็นต้น

ส่วนการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรคือ การรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างโครงการหลวง ลักษณะงานเป็นงานดูแลสวน ทำงานก่อสร้างในโรงพยาบาลวัดจันทร์ หรือในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูทำนา ทำไร่ ชาวบ้านจะออกไปรับจ้างหางานทำในตัวจังหวัดเชียงใหม่ และต่างจังหวัดเท่าที่จะหาได้ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทั้งนี้ยังมีกลุ่มแม่บ้านซึ่งจะทอผ้าเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านและโครงการหลวงวัดจันทร์ทั้ง 2 แห่ง เป็นอีกช่องทางหนึ่งของรายได้ในครัวเรือน โดยมีศูนย์ศิลปาชีพฯ บ้านวัดจันทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณวัดภายใต้การดำเนินงานของโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ที่เข้ามาฝึกสอนและพัฒนาฝีมือแม่บ้านให้ได้รับความรู้ความชำนาญในการทอผ้า ทั้งผ้าพื้นเมืองย้อมสี ผ้ายกดอก ผ้ามัดหมี่ ทั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาในด้านฝีมือแรงงานและรูปแบบลวดลายต่าง ๆ ของผ้าพื้นเมืองดังกล่าวด้วย

การรวมกลุ่มของชุมชน

1.กลุ่มทอผ้าศูนย์ศิลปาชีพ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ภายใต้การสนับสนุนของโครงการหลวงวัดจันทร์ ดำเนินการทอผ้าพื้นเมืองเพื่อจัดส่งสวนจิตรลดาสำนักพระราชวัง เป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านจันทร์เพื่อทอผ้าโดยมีโรงทอผ้าขนาดใหญ่ 3 โรงตั้งอยู่ที่ในวัดบ้านจันทร์ 

2.เครือข่ายแกนนำชาวพุทธ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 โดยมีโครงพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้ง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแกนนำชาวบ้านในการเผยแพร่พุทธศาสนาบนที่สูงร่วมกับพระธรรมจาริกในพื้นที่ ปัจจุบันกิจกรรมหลักคือกิจกรรมบุญสัญจรซึ่งจะจัดขึ้นในเป็นประจำทุกเดือน

3.กลุ่มยุวพุทธบ้านจันทร์ จัดตั้งขึ้นโดยพระธรรมจาริกในพื้นที่ เป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนบ้านวัดจันทร์ มาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในทุกวันอาทิตย์ มีการให้ความรู้เรื่องพระธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ และทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน

ก่อนปี พ.ศ. 2510 คนในชุมชนบ้านจันทร์ทั้งหมดนับถือผีหรือสิ่งสูงสุดที่ชาวบ้านเรียกว่า "ตา ที ตา เต๊าะ " ต่อมาพระธรรมจาริกเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นผลให้ชาวบ้าน หันมานับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี การประกอบกิจกรรมทางศาสนาก็มีการกระทำควบคู่กันไป 

ในอดีตชาวบ้านที่นับถือศาสนาต่าง ๆ กันจะมีความขัดแย้งกัน เช่น ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาจะไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ ไม่คบค้าสมาคมกับคนนับถือคริสต์ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ก็เช่นกัน จนกระทั่งหน่วยงานของรัฐและเอกชน (นักพัฒนาเอกชน) เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนสร้างความสัมพันธ์อันดีของชาวบ้าน เช่น การเข้าค่ายของผู้นำแต่ละศาสนา เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าแต่ละศาสนาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ นอกจากการเข้าค่ายแล้วผู้นำแต่ละศาสนายังเข้ากิจกรรมต่าง ๆ ของศาสนาอื่น เช่น พระสงฆ์ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในโบสถ์คริสต์ได้ ส่งผลให้ศาสนิกชนในแต่ละศาสนาลดความเป็นตัวตนและอยู่ร่วมกันได้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิหารแว่นตา วัดจันทร์

วิหารแว่นตาดำ วิหารที่มีลักษณะเหมือนสวมแว่นตาดำอยู่หน้าวิหาร สร้างมาประมาณ 80 ปี โดยช่างชาวกะเหรี่ยงหรือชาวปกาเกอะญอ โดยเหตุผลเพราะวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พื้นวิหารเทพื้นปูน ฝาวิหารด้านข้างฉาบปูน ส่วนประตูด้านหน้าวิหารรวมทั้งจั่ววิหารด้านหน้าส่วนหนึ่งทำด้วยแผ่นไม้สักปิดบังแสงแดดไว้หมด ขณะนั้นช่างเห็นว่าหากปิดด้านหน้าวิหารหมดจะไม่มีแสงแดดให้แสงสว่างในวิหารได้ จึงมีเจตนาว่าจะเปิดด้านหน้าวิหารบริเวณจั่ววิหารให้แสงแดดเข้ามาข้างในวิหารได้บ้าง จึงเจาะแผ่นไม้บางส่วนของจั่วออกเพื่อจะได้รับแสง โดยช่างตั้งใจจะทำให้เหมือนดวงตา แต่พอทำเสร็จมีลักษณะคล้ายแว่นตาจึงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น ก่อนนั้นไม่ได้นำกระจกมาสวมใส่แต่อย่างใด แต่เป็นห่วงทรัพย์สินในวิหารที่มีพระประธานเป็นพระสิงห์ 3 อายุกว่า 300 ปี และพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก ต่อมาจึงนำกระจกกรองแสงสีดำมาติดอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นวิหารสวมแว่นตา 

ป่าสนวัดจันทร์ ป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของไทย 

เนื่องจากบ้านวัดจันทร์เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เฉลี่ยถึง 900-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาว โดยเฉพาะประเภทสนสองใบและสนสามใบ ทำให้พื้นที่ป่าสนบ้านวัดจันทร์กลายเป็นป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ โดยป่าสนวัดจันทร์นี้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งดูแลงานสวนป่าปลูกทดแทนและงานด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วยการนำจักรยานมาปั่น เพราะอากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี ทิวทัศน์ป่าสนสวยงาม หากมาในช่วงฤดูหนาว จะพบใบไม้เปลี่ยนสีในป่าสองข้างทาง นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักและลานกางเต็นท์ไว้ให้บริการ ภายในองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้บ้านวัดจันทร์ด้วย

ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ, ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง), ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ป่าสนวัดจันทร์. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้. (2563). วัดจันทร์. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://archives.mju.ac.th/web/wat-chan/

ไปด้วยกัน. (2566). ป่าสนวัดจันทร์ ชมความงามแห่งป่าสน เคล้าไอหมอก. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.paiduaykan.com/ป่าสนวัดจันทร์/

พระจันทร์ทอง ธมมวโร. (2545). โครงการกระบวนการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูและสืบทอดภูมิปัญญาพันธุ์พืชพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ บ้านวัดจันทร์ ต.บ้านจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่: รายงานความก้าวหน้าฉบับสมบูรณ์ ครั้งที่ 1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

วิษณุ ดวงปัน. (2551). การนิยามความหมายเหล้าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง: ศึกษากรณี: ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านวัดจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านที่ 2 บ้านวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.fca16.com/

FIO Watchan - ป่าสนวัดจันทร์ อ.อ.ป.. (2565). สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/PasonWatchan

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ โทร 053-484021