เกาะลิบง เกาะที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง เกาะแห่งมนต์เสน่ห์ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งชมนกทะเลหายาก มากด้วยหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
"ลิบง" สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “นิบง” ในภาษามลายู หมายถึง ต้นหลาวชะโอน ซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ในอดีตต้นนิบงคงจะมีอยู่มากที่เกาะแห่งนี้ ขณะที่ประชากรดั้งเดิมในแถบนี้เป็นชาวมลายู จึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า “นิบง” และในเวลาต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ลิบง”
เกาะลิบง เกาะที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง เกาะแห่งมนต์เสน่ห์ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งชมนกทะเลหายาก มากด้วยหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
เกาะลิบงเป็นเกาะที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชื่อเสียงในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะรังนกนางแอ่น หลังจากที่แพ้สงครามกับพม่าก็กลายเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ แต่เกาะลิบงก็กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในฐานะเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นจุดพักและจุดสำหรับการนัดหมายก่อนข้ามไปยังฝั่งตะวันออก ต่อมาเมื่อลิบงกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพญี่ปุ่น ทำให้การค้าขายลดลง ผู้คนต่างทยอยย้ายออกจากเมืองและกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีกลุ่มคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอีกครั้ง เนื่องจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาเมืองในหลายด้าน และนำยางพาราเข้ามาปลูกในเกาะ รวมทั้งตั้งด่านเก็บภาษีอยู่ที่บริเวณแหลมจูโหย แต่หลังจากที่มีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่กันตังก็ทำให้ท่าเรือเกาะลิบงมีความสำคัญลดลง
เกาะลิบงในช่วงต้นเป็นที่อยู่ของคน 2 กลุ่ม คือ ชาวเล ใช้ชีวิตในทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ทางด้านทิศใต้บริเวณคลองเคียนจนถึงเขาบาตูปูเต๊ะ ส่วนกลุ่มที่อพยพเข้ามาใหม่เป็นกลุ่มชาวมุสลิม อาศัยอยู่ทางด้านทิศเหนือบริเวณบ้านโคกสะท้อน ในช่วงนั้นมีเพียง 3 ตระกูล คือ ตระกูลหาดเด็น ตระกูลจิเหลา และตระกูลสารสิทธิ์ จำนวน 5 ครัวเรือน ใช้ชีวิตบนบก ประกอบอาชีพทำไร่และประมง ปลูกสร้างบ้านเรือนขยายไปทางด้านใต้ที่บ้านบาตูปูเต๊ะหรือหน้าบ้านหมู่ที่ 4 และขยายไปทางบ้านหลังเขา หมู่ที่ 5 เป็นที่สุดท้าย จนเกิดความผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมกับชุมชนชาวเล และเริ่มมีการค้าขายกับชุมชนภายนอกในละแวกใกล้เคียงทำให้ท่าเรือเกาะลิบงกลับมามีความสำคัญขึ้นอีกครั้ง
หลังจากที่มีการตั้งถิ่นฐานและรวมกลุ่มเป็นชุมชนที่แน่นอนแล้ว ประกอบกับอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาประเทศ เกาะลิบงเริ่มมีการวางโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เริ่มต้นที่การสร้างโรงเรียนแห่งแรกขึ้นในเกาะเมื่อปี พ.ศ. 2482 จากนั้นมีการพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ได้แก่ การคมนาคม การสาธารณสุข ระบบไฟฟ้า ระบบประปา โทรคมนาคม ตามลำดับ การคมนาคมแต่เดิมใช้การเดินเท้า ต่อมาใน พ.ศ. 2500 เริ่มนำรถจักรยานยนต์มาใช้ รวมถึงใช้เรือหางยาวแทนเรือแจวในการเดินทางระหว่างเกาะ
พ.ศ. 2524 มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รวมหมู่ที่ 5 บริเวณชุมชนทุ่งหญ้าคา ชาวบ้านชุมชนทุ่งหญ้าคาจึงต้องย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้ไม่มีชุมชนอยู่บริเวณนี้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 คนจากเกาะสุกรเข้ามาเช่าพื้นที่บริเวณทุ่งหญ้าคา เพื่อปลูกแตงโม และเริ่มปลูกบ้าน ทำสวนยางพารา และตั้งรกราก จึงทำให้เกิดชุมชนใหม่บริเวณนั้น ต่อมาชุมชนในพื้นที่เกาะลิบงเริ่มขายตัวใหญ่ขึ้น มีประชากรที่หนาแน่นขึ้น จึงมีการแบ่งแยกพื้นที่ในชุมชนเป็นหมู่บ้านเพิ่มเติม โดยแยกบ้านทรายแก้วออกจากบ้าบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นชุมชนใหม่ คือ บ้านทรายแก้ว หมู่ที่ 7 ในปี พ.ศ. 2546 และส่งผลให้ในปัจจุบันเกาะลิบงมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อน หมู่ที่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา และหมู่ที่ 7 บ้านทรายแก้ว
ปัจจุบันนี้ เกาะลิบงยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับพัฒนาการของการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการสร้างที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหารเกิดขึ้นอย่างมากมายเพื่อตอบสนองกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
เกาะลิบงเป็นเกาะกลางทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ความยาวของเกาะในแนวจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ ระยะทาง 8.25 กิโลเมตร และความกว้างจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกระยะทาง 9.4 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 11,056.25 ไร่ หรือ 17.69 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อนหรือบ้านพร้าว หมู่ที่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา และหมู่ที่ 7 บ้านทรายแก้ว
เกาะลิบงมีรูปร่างลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนแหลมของสามเหลี่ยมที่ชี้ไปทางทิศตะวันออกยื่นลงสู่ทะเล เรียกว่า “แหลมจูโหย” เป็นจุดชมวิวและพระอาทิตย์ขึ้น ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะลิบงเป็นภูเขาและป่าทึบทอดตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีพื้นที่ชายหาด “หาดทุ่งหญ้าคา” ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหลังเขา ด้านทิศเหนือของเกาะลิบงมีแนวชายหาดตลอดแนวชายฝั่งทะเล มีส่วนที่ยื่นลงสู่ทะเลเรียกว่า “แหลมโต๊ะชัย” ถัดมาเป็นท่าเรือบ้านพร้าว ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือโดยสารที่ใช้ในการคมนาคมไปท่าเรือหาดยาวหรือท่าเรือเจ้าไหมรวมถึงการเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของเกาะลิบงมีสภาพเป็นภูเขาที่ทอดตัวมาจากทางด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ที่ยื่นลงสู่ทะเลเรียกว่า “แหลมปันหยัง” พื้นที่โดยส่วนใหญ่บนเกาะลิบงเป็นสวนยางพาราและป่าไม้ อันได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน แนวปะการัง และแนวหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญของระบบนิเวศชายฝั่ง ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารของนกทะเล ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ และที่สำคัญแนวหญ้าทะเลของเกาะลิบงยังเป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเกาะลิบงเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเล ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นราบ สำหรับอาณาเขตติดต่อในที่นี้จึงจะกล่าวถึงพื้นที่ทั้ง 4 ทิศ ที่สามารถมองเห็นได้จากเกาะลิบง ดังนี้
- ทิศเหนือ มองเห็น ท่าเรือเจ้าไหม และเกาะเจ้าไหม
- ทิศใต้ มองเห็น เกาะตะเกียง (เกาะเหลาโบ๊ต) และเกาะเหลาเหลียง
- ทิศตะวันออก มองเห็น บ้านหาดสำราญ
- ทิศตะวันตก มองเห็น เกาะไห เกาะม้า เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะมุก และเกาะกระดาน
เกาะลิบงตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกในคาบสมุทรที่มีแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงได้รับมรสุมอย่างเต็มที่ จัดอยู่ในประเภทภูมิอากาศแบบมรสุม โดยส่วนใหญ่มีอากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 25 องศาเซลเซียส เป็นผลมาจากภูมิประเทศของจังหวัดตรังอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร และมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก จึงได้รับความชื้นจากทะเลและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีฝนตกเต็มที่เกือบตลอดปี จากลักษณะดังกล่าวสามารถแบ่งฤดูกาลในเกาะลิบงได้เป็น 2 ฤดู ดังนี้
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามันในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้พื้นที่มีฝนตกชุกและคลื่นลมแรง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดมาจากทางทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและพื้นที่เกาะลิบงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ลดลงเล็กน้อย อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก ตามชายฝั่งมีฝนตกทั่วไป
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนลดลง ทะเลไม่มีคลื่นและลมแรงเหมาะสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยว
เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นเกาะกลางทะเลฝั่งตะวันตกที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อน หมู่ที่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา และหมู่ที่ 7 บ้านทรายแก้ว โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรเกาะลิบงทั้ง 4 หมู่บ้าน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ดังนี้
- หมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 888 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 454 คน ประชากรหญิง 434 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 273 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 828 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 419 คน ประชากรหญิง 409 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 288 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 558 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 281 คน ประชากรหญิง 277 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 207 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 7 บ้านทรายแก้ว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,036 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 515 คน ประชากรหญิง 521 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 290 หลังคาเรือน
ลักษณะครอบครัวและเครือญาติชุมชนในเกาะลิบงมีระบบความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ตระกูลหลัก 3 ตระกูล คือ ตระกูลหาดเด็น ตระกูลจิเหลา และตระกูลสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นตระกูลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาะลิบงช่วงแรก ๆ มีหลักการดำเนินชีวิตตามแนวศาสนบัญญัติของมุสลิม ลักษณะของครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย กล่าวคือ ในครอบครัวมีสมาชิกรุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน และตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกัน
การประกอบอาชีพของคนในเกาะลิบงส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพเดียว แต่จะมีทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยอาชีพหลัก คือ อาชีพเกษตรกรรม (กรีดยางพาราและเก็บน้ำยางพารา) เนื่องด้วยทรัพยากรในเกาะลิบงประกอบด้วยต้นยางพาราเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาชีพเสริมของแต่ละคนจะแตกต่างกัน มีตั้งแต่รับจ้างแกะเนื้อปู ทำขนม บริการขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวภายในชุมชน ทำประมงพื้นบ้าน หากุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเกาะลิบงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านสังคม ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับพัฒนาการของการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์งดงามของเกาะลิบง ทำให้มีการสร้างที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหารเกิดขึ้นอย่างมากมาย ตลอดจนการแปรรูปอาหารทะเลให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง เช่น ปลาอินทรีย์แดดเดียวทอด แกงเหลืองหรือแกงส้มปลากะพง หมึกน้ำดำ ปูม้านึ่ง ยำสาหร่ายทะเล อาหารจากปลิงทะเล ฯลฯ หรือเลือกซื้อเป็นของฝาก เช่น ปลาอินทรีย์ ปลามง กะปิ กุ้งแห้ง น้ำพริกคั่วกลิ้งปู น้ำมันปลิงกาหมาด ปลิงกาหมาดดองน้ำผึ้ง ฯลฯ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันธุรกิจภาคการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนในเกาะลิบงอย่างมาก
ประชากรในพื้นที่เกาะลิบงส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พิธีกรรม ประเพณี และวัฒนธรรมโดยทั่วไปจึงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เช่น
การละหมาด หรือ มาหยัง คือ การนมัสการ การทำเคารพสักการะ การขอบคุณ และแสดงความภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าของศาสนาอิสลาม ที่เชื่อว่าทรงเป็นพระผู้สร้างมนุษย์ ทั้งสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่ไม่มีชีวิตและทุกสรรพสิ่งในจักรวาล โดยการละหมาดจะกระทำวันละ 5 เวลา และยังมีการละหมาดประจำสัปดาห์ ทุกบ่ายวันศุกร์ เป็นกฎข้อบังคับที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ชายที่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องไปละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์ที่มัสยิดเพื่อฟังคำสั่งสอนทางศาสนา รวมถึงเพื่อทบทวนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตัวเองตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นทุกวันศุกร์ผู้ชายบนเกาะจึงไม่นิยมออกไปทำกิจกรรมทางทะเล
การเรียนศาสนาที่มัสยิด เป็นการเรียนการสอนที่จัดขึ้นทั้งสำหรับสตรีมุสลิมที่จะมีทุกวันศุกร์ช่วงบ่ายหลังการละหมาดประจำสัปดาห์ของผู้ชาย และสำหรับเด็กที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 น. เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ หลักธรรมคำสอนในศาสนาอิสลาม ข้อปฏิบัติทางศาสนา การอ่านภาษาอาหรับในคัมภีร์อัลกุรอาน รวมถึงสอนให้เด็กรู้จักการละหมาด
พิธีนิกะห์ (การแต่งงาน) เป็นพิธีแต่งงานตามหลักของศาสนาอิสลาม ซึ่งทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องนับถือศาสนาอิสลาม ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอก่อน เรียกว่า มาโซะห์มินตะ จากนั้นจึงกำหนดวันแต่งงาน การประกอบพิธีจะนิยมจัดที่บ้านฝ่ายหญิง เมื่อฝ่ายชายนำสินสอดทองหมั้นมาสู่ขอ ภายในพิธีจะมีโต๊ะอิหม่ามเป็นประธานตามหลักการของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังมีงานเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่มาเข้าร่วมงาน หรือที่เรียกว่า “วาลีมะห์”
พิธีเข้าสุหนัต (มาโซะยําวี) เป็นวิถีปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่ผู้ชายมุสลิมทุกคนจำเป็นต้องผ่านการขลิบหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายโดยหมอผู้เชี่ยวชาญ มีทั้งที่ทำกันเป็นการส่วนตัวภายในครอบครัวและจัดเป็นพิธีร่วมกันทั้งหมู่บ้าน (สุหนัตหมู่) ซึ่งปกติจะนิยมจัดกันช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็ก ในเดือนเมษายน
พิธีขึ้นเปล เป็นพิธีที่จัดขึ้นสำหรับรับขวัญเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ ระยะเวลาการจัดงานไม่นาน ภายในงานมีการจัดตกแต่งไปด้วยเปลเด็กและขนมที่นำมาประดับประดารายล้อมรอบเปล เมื่อพิธีเริ่มจะมีการสวดให้พรตามหลักทางศาสนาอิสลามโดยมุสลิมีน (ผู้ชายมุสลิม) จะเป็นผู้ที่สวดในพิธี ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสวดและเด็กเข้ามาทำพิธีเรียบร้อย ผู้เข้าร่วมงานจะมาหยิบขนมที่ใช้ตกแต่งในงานพิธีเพื่อนำกลับบ้านคนละชิ้นสองชิ้น จากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารสำหรับผู้ที่มาร่วมงาน หรือที่เรียกว่า “นูหรี” ทั้งนี้กำหนดการจัดงานไม่บังคับตายตัว จะจัดงานขึ้นเมื่อครอบครัวนั้นมีความพร้อม
การถือศีลอด หรือ การถือบวช เป็นบัญญัติข้อที่ 4 ในหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติ 5 ประการของศาสนาอิสลามที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินจันทรคติของทางศาสนาอิสลาม เป็นระยะเวลา 29-30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นพระจันทร์เสี้ยวของเดือนใหม่ โดยเป็นการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพและการมีสัมพันธ์ทางเพศ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของทุกปี เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบากและอุปสรรคของการดำเนินชีวิต เป็นการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ มีจิตใจอดทนอดกลั้นในเรื่องต่างๆ เช่น ความหิวโหย ความโกรธ สิ่งยั่วยวน เป็นต้น ทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ผู้ที่ได้รับการยกเว้น คือ ผู้ที่มีโรคประจ าตัว หญิงตั้งครรภ์ คนชรา หญิงที่มีประจำเดือน เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ(เด็กที่อายุต ่ากว่า 15 ปี) โดยจะต้องทำบุญบริจาคข้าวสารให้กับผู้ที่ถือศีลอด
วันฮารีรายอ หรือ การฉลองละศีลอด เป็นวันที่ชาวมุสลิมจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองเพื่อไปเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพบปะสังสรรค์พ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน และมีการเลี้ยงอาหารสังสรรค์กันทั้งวัน
พิธีฝังศพชาวไทยมุสลิม ตามหลักการของศาสนาอิสลามเมื่อมีผู้เสียชีวิตจะต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง ที่กุโบร์ (สุสาน) ผู้ที่ไปร่วมงานต้องแต่งกายแบบธรรมดาไม่มีการไว้ทุกข์ ชุดดำ เงิน หรือทำอาหารไปร่วมครอบครัวผู้ตายเพื่อเป็นการร่วมทำบุญ ก่อนที่จะนำศพไปฝังต้องอาบน้ำทำความสะอาดศพก่อน อาจจะมีการประพรมด้วยเครื่องหอม จากนั้นห่อด้วยผ้าขาวสะอาดหรือสวมชุดละหมาดสีขาวแล้วห่อด้วยผ้าขาวทับอีกชั้น และเข้าพิธีละหมาดให้แก่ผู้ตาย (ละหมาดญะนาซะห์) ซึ่งทำได้ทั้งที่บ้านของผู้ตายหรือน นำศพไปทำพิธีละหมาดที่มัสยิด โดยทางครอบครัวและญาติร่วมกันขอพรให้พระเจ้าทรงเมตตาและยกโทษให้แก่ความผิดที่ผู้ตายได้เคยทำไว้และละหมาดให้แก่ผู้ตาย ซึ่งบทขอพรจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิงหรือเด็ก จากนั้นนำศพไปยังหลุมฝังศพที่ขุดเตรียมไว้ที่กุโบร์ จัดให้ศพนอนตะแคงขวา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปักเครืองหมายไว้บนหลุม หลังจากนั้นทนูหรี (ทำบุญ) เพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย ในช่วงระยะเวลาครบ 3 วัน ครบ 7 วัน และครบ 40 วัน
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
เกาะลิบงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล เป็นพื้นที่อุทยาแห่งชาติมีป่าชายเลน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธ์อย่าง “พะยูน” โดยจะพบพะยูน ได้บ่อยในบริเวณรอบ ๆ เกาะลิบง อีกทั้งยังเป็นแหล่งชมนกทะเลที่หายาก ลิง แลน ชะมด ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกาหมาด ปลิงดำ หอยเม่น ปลาดาว ปู หมึก หอยหลากชนิด ปะการัง ปลา อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ ของเกาะลิบงยังมีชายหาดและเกาะอีกมากมาย ได้แก่ หาดตูบ แหลมจูโหย แหลมโต๊ะชัย เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหลาเหลียง (แต่ก่อนเป็นที่อยู่ของรังนกนางแอ่น) เกาะเหลาโหวด เกาะสุกร เกาะเปตา เกาะจังกาบ เกาะหลัก เกาะกระรอก
นอกจากนี้ เกาะลิบงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมที่สวยงามมากมาย ได้แก่ เกาะกวาง หรือเกาะเหลาสา แหลมปันหยัง สะพานหิน ทุ่งหญ้าคา แหลมโต๊ะชัย น้ำาตกโต๊ะแซะ ทุ่งจีน (ป่าโกงกาง) หรือ คลองลัด แหลมจูโหย (ดูนก) หาดตูบ บ่อน้ำจืด หอชมวิถีสัตว์น้ำ ภูเขาบาตู (หินขาว) คลองน้ำวิ่ง ด่านยีเระ สันหลังมังกรเกาะลิบง หาดยาวต้นสน แหลมทวด ควนสระ บ่อน้ำ 100 ปี ในป่าโกงกาง หลุมฝังศพเจ้าพระยาลิบง (ตะปังกาหวา) ฯลฯ
อนึ่ง จากตัวเกาะจะมีสะพานทอดยาวออกไปยังทะเล ความยาวราว 1 กิโลเมตร เป็นทางเดินไปยัง “หอชมวิถีสัตว์น้ำ” หรือ "หอชมพะยูน" ซึ่งเป็นหอคอยสูง 5 ชั้น ในช่วงน้ำขึ้นอาจได้พบพะยูนที่มากินหญ้าทะเลในบริเวณนี้ สำหรับนักเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย ภายในเกาะยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น นั่งเรือตกหมึก ล้อมอวนจับปลา พายคายัคในป่าโกงกาง รับประทานอาหารซีฟูดสด ๆ ตามวิถีชาวเล และการปืนขึ้นยอดเขา “บาตูปูเต๊ะ” เป็นจุดหนึ่งที่สามารถชมพะยูนได้เช่นกัน และเมื่อมองจากยอดเขาบาตูปูเต๊ะ จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเกาะลิบงและทะเลอันดามันที่สวยงามกว้างไกลสุดสายตา
เกาะลิบง ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกประการหนึ่ง คือ บ่อน้ำจืดกลางทะเล เป็นแอ่งน้ำจืดเมื่อยามน้ำลง แต่เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงน้ำในบ่อจะมีความเค็ม ซึ่งบ่อน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำจืดสำหรับนกทะเลและชาวบ้านในยามหน้าแล้ง
ทรัพยากรธรรมชาติของเกาะลิบงดังที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาะลิบง เป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนผลักดันการท่องเที่ยวภายในเกาะให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะลิบงมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมและการประมง นำมาสู่การสร้างที่พัก โฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านอาหาร ตลอดจนดึงดูดนักลงทุนมากมายให้มาลงทุนในเกาะแห่งนี้ ปัจจุบันสมาชิกชุมชนในเกาะลิบงได้มีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบการบริการครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นรถรับจ้าง เรือรับจ้าง มัคคุเทศก์ชุมชน และการจัดสร้างโฮมสเตย์ที่ปัจจุบันมีกว่า 50 ครอบครัวที่ทำธุรกิจครัวเรือนขนาดย่อมนี้อยู่ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
กาญจนา อดุลยานุโกศล และคณะ. (2556). พะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในจังหวัดตรัง. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.
เกาะลิบง ตรัง Anan Travel. (2567). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.facebook.com/
เกาะลิบง โฮมสเตย์. (2567). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.facebook.com/
จ๊ะไหนโฮมสเตย์ เกาะลิบง. (2563). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.facebook.com/
จ๊ะไหนโฮมสเตย์ เกาะลิบง. (2566). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.facebook.com/
จ๊ะไหนโฮมสเตย์ เกาะลิบง. (2567). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.facebook.com/
สำนักงานจังหวัดตรัง. (ม.ป.ป.). เกาะลิบง. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://ww2.trang.go.th/travel/
ทะเลตรัง ดอท คอม. (ม.ป.ป.). เกาะลิบง. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก http://www.talaytrang.com/
ทิพย์อุสา จันทกุล. (2548). โครงการการจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเกาะลิบง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ธีรวัฒน์ รังแก้ว. (2565). ‘ลิบงโมเดล’ จากประมงพื้นบ้าน สู่เส้นทางการอนุรักษ์-ท่องเที่ยวชุมชน-Sea Farming. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://web.codi.or.th/
มัสยิดบ้านทรายแก้ว. (2567). สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/
ลินดาทราเวล@เกาะลิบง. (ม.ป.ป.). นั่งเรือดูปลาพะยูน. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://www.kohlibongtour.com/
วรนุช ล้อมสุนทร. (2563). “ปูเลา...ลิบง” งานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ การถ่ายภาพเพื่อการท่องเที่ยว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง. (2565). เกาะลิบง. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://trang.prd.go.th/
สุเทพ ขันชัย และคณะ. (2560). "แนวทางการอนุรักษ์พะยูน โดยชุมชนเกาะลิบง อ.กันตัง จังหวัดตรัง". สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
อับดลรอหีม ขุนรักษา. (2558). "การบูรณาการโดยการนำหลักศาสนาอิสลามเพื่อจัดการความขัดแย้งของเครือข่ายยุติธรรมชุมชนตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง". สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
OKNation. (2565). ทำไมๆๆๆการท่องเที่ยว....ต้องแข่งขันรถออฟโรค บนเกาะลิบง. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://www.oknation.net/