Advance search

ภาพเขียนสีเพิงผากึ้ดสามสิบเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ที่สันนิษฐานว่ามีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มรดกทางโบราณคดีของชุมชนบ้านกึ้ดสามสิบ

หมู่ที่ 6
บ้านกึ้ดสามสิบ
สบป่อง
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง โทร. 053-617255 และ053-617222
วิไลวรรณ เดชดอนบม
25 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มิ.ย. 2024
บ้านกึ้ดสามสิบ

"กึ้ดสามสิบ" มาจากภาษาไทยใหญ่ โดยคำว่า "กึ้ด" หมายถึง รูเหลา ซึ่งเป็นช่องแยกของหิน เป็นรูหรือโพรงลึกมาก ลักษณะลึกลงไปจากพื้นหน้าดิน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 30 รู จึงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "กึ้ดสามสิบ" 


ภาพเขียนสีเพิงผากึ้ดสามสิบเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ที่สันนิษฐานว่ามีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มรดกทางโบราณคดีของชุมชนบ้านกึ้ดสามสิบ

บ้านกึ้ดสามสิบ
หมู่ที่ 6
สบป่อง
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
58150
19.44303397
98.17292824
องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง

บ้านกึ้ดสามสิบ เป็นชุมชนชาวลีซูที่แรกเริ่มการอพยพมาจากบ้านหัวคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2507 กลุ่มของชาวบ้านอพยพมาจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มาอยู่ที่บริเวณดอยอัน กิ่วลม เขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน (ในขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอปางมะผ้า) มาอยู่กันสองตระกูล ได้แก่ ตระกูลเลายี่ปา และ ตระกูลเลาว้าง ระหว่างที่มาอยู่ที่ดอยอันนายสามซึ่งเป็นชาวบ้านได้เดินทางมาสำรวจที่ทำกินและเห็นว่าบริเวณบ้านกึ้ดสามสิบในปัจจุบัน มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกฝิ่น จึงได้จับจองและนัดหมายกับเพื่อนบ้านว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะย้ายมาอยู่ ต่อมาได้มีการอพยพกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชผัก กลุ่มตระกูลเลาว้างอพยพไปที่บ้านแม่อีแลบ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอปายในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มตระกูลเลายี่ปา อพยพมาตั้งหมู่บ้านใหม่โดยเลือกพื้นที่ที่ห่างไกลโดยมีเหตุผลที่จะทำการปลูกฝิ่น จนมาพบพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบัน เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีดินที่อุดมสมบูรณ์ อากาศที่ค่อนข้างเย็น ประกอบกับมีระยะทางที่ห่างไกลจากตัวที่ตั้งตำบลสบป่อง จึงเลือกบริเวณนี้เป็นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ 

ในปี พ.ศ. 2513 นายหลวง เลายี่ปา นายใส่กากา เลายี่ปา และนายยี่ ได้นำชาวบ้านจำนวน 14 หลังคาเรือน อพยพจากดอยอันมาที่บ้านกึ้ดสามสิบ ภายหลังได้มีญาติพี่น้องตามมาสมทบอีกโดยมาจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น ดอยหลวง อำเภอเชียงดาว เมืองคอง ดอยพิโลห้วยน้ำดัง น้ำริน หนองผาจ้ำ และลีซูพม่า เริ่มเข้ามาด้วยสาเหตุมาจากการหนีสงครามภายในประเทศ นอกจากชาวลีซูที่อพยพเข้ามาแล้วยังมีชาวจีนฮ่อ สำหรับสาเหตุในการอพยพครั้งหลังนี้ นอกจากจะมาหาที่ทำกินแล้ว ยังเป็นลักษณะของการมาอยู่รวมกับญาติพี่น้อง การแต่งงานโดยมาอยู่ร่วมกับคู่สมรส

สำหรับที่มาของคำว่า "กึ้ดสามสิบ" มาจากภาษาไทยใหญ่ คำว่า "กึ้ด" หมายถึง รูเหลา (ช่องแยกของหิน เป็นรูหรือโพรงลึกมาก ลักษณะลึกลงไปจากพื้นหน้าดิน) ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 30 รู จึงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "กึ้ดสามสิบ" ตามรูเหลาที่พบบริเวณหมู่บ้าน ว่ากันว่าในอดีตหากเกิดโรคระบาดอันเป็นสาเหตุให้สัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะนำมาทิ้งลงในรูเหลาท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นรูเหลาที่ใหญ่ที่สุดของบ้านกึ้ดสามสิบ

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านกึ้ดสามสิบ ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง โดยเลือกที่ตั้งตามความเชื่อของชาวลีซูว่า การตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำหรือที่ลุ่มทำให้เจ็บป่วยจากการกระทำของอายาหนี (ผีน้ำ) พื้นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจึงนิยมเลือกพื้นที่สูงห่างไกลจากแหล่งน้ำหรือที่ลุ่ม ด้วยเหตุนี้เองทำให้พื้นที่ตั้งของบ้านกึ้ดสามสิบตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ประชากรในหมู่บ้านตั้งบ้านเรือนขนานไปกับหุบเขา มีหุบเขาโอบล้อมหมู่บ้านอยู่ เชื่อกันว่าหมู่บ้านที่ตั้งในภูมิประเทศลักษณะนี้จะสงบร่มเย็น โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านลูกข้าวหลาม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองผาจ้ำ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาอ่อน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดงมะไฟ

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านกึ้ดสามสิบมีลักษณะแบบร้อนชื้น โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว และฝนจะตกชุกในฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี มีสาเหตุเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง มีพื้นที่อยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้มีอุณหภูมิสูงในช่วงกลางวันเนื่องจากถูกแสงแดด  ส่วนในช่วงกลางคืนจะได้รับอิทธิพลจากลมภูเขาทำให้อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อความร้อนในช่วงกลางวันลอยตัวขึ้นปะทะกับความชื้นของอากาศ จึงทำให้เกิดหมอกปกคลุมโดยทั่วไปในช่วงกลางคืน สภาพภูมิอากาศจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้ง 3 ฤดูกาล คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าว
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม  จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้อากาศชุ่มชื้น ฝนจะตกชุกมาก ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านกึ้ดสามสิบ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,226 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 643 คน ประชากรหญิง 583 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 502 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวลีซู 

ลีซู

อาชีพหลักของชาวบ้านกึ้ดสามสิบ คือ การทำเกษตรกรรม เนื่องด้วยพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และอากาศเหมาะสำหรับการเพาะปลูก ในอดีตนั้นเกษตรกรจะนิยมปลูกฝิ่นเป็นพืชหลัก ต่อมาทางการได้เข้ามาควบคุมทำให้ฝิ่นเป็นพืชผิดกฎหมาย ภายหลังชาวบ้านกึ้ดสามสิบจึงหันมาปลูกพืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่นที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ขิง แคร์รอต ถั่วแดง และเผือก

ขิง เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่เกษตรกรบ้านกึ้สามสิบนิยมปลูกกันมากที่สุด ในช่วงปี พ.ศ. 2534-2540 ขิงเป็นพืชชนิดเดียวที่ทำรายได้สูงให้กับเกษตรกร เพราะการซื้อขายขิงจะมีการเหมาซื้อ หากขิงที่ปลูกไว้งาม พ่อค้าที่มาซื้อจะประเมินราคาให้สูง รายได้ต่อครัวเรือนที่ปลูกขิงในขณะนั้น โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 100,000-300,000 บาท จึงทำให้ชาวบ้านขยายพื้นที่ใหม่เพื่อที่ปลูกขิงมากขึ้น เพราะขิงไม่สามารถปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมได้ ชาวบ้านให้เหตุผลว่าขิงจะเป็นโรคระบาด ทำให้ไม่ได้ราคาและขาดทุนในที่สุด ความต้องการในการขยายพื้นที่ทำกินจึงเพิ่มขึ้น จนเกิดการพิพาทกับหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้บ่อยครั้ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 ขิงมีราคาถูกลง และพื้นที่ปลูกก็หายากมากขึ้น การปลูกขิงที่บ้านกึ้ดสามสิบก็ค่อย ๆ ลดลง ส่วนเผือก และถั่วแดงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านยังปลูกอยู่ในปัจจุบัน ราคาพืชทั้งสองประเภทนี้ถือว่าราคาดีและคงที่ในตลาด ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกันโดยทั่วไป

การรวมกลุ่มของบ้านกึ้ดสามสิบ

  • กลุ่มสตรี 
  • กลุ่มเยาวชน 
  • กรรมการกองทุน กข.คจ. 
  • กรรมการกองทุนหมู่บ้าน 
  • กรรมการกองทุนแม่แผ่นดิน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาพเขียนสีเพิงผากึ้ดสามสิบ 

เพิงผากึ้ดสามสิบ เป็นเพิงผาหินปูนสีเทา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยาวประมาณ 20 เมตร ตอนบนของเพิงผาโค้งออกมา มีหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินหยาบ ลายเชือกทาบ เศษถ่าน เศษกระดูก และเครื่องใช้ทำจากไม้ไผ่คล้ายช้อน นอกจากนี้ห่างออกไป 100 เมตร พบถ้ำ 2 แห่ง คือ ถ้ำผาถล่ม 1 และถ้าผาถล่ม 2 ซึ่งมีโลงไม้และเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบกระจัดกระจายในถ้ำ

ภาพเขียนสีที่พบบริเวณเพิงผากึ้ดสามสิบอยู่สูงจากพื้นตั้งแต่ 1.8-3.6 เมตร กระจายตามแนวหน้าผา เป็นกลุ่มภาพจำนวน 31 ภาพ เขียนด้วยสีแดงเป็นแบบกิ่งไม้ ประกอบด้วยภาพคนยืนกางแขน กางขา แสดงอาการคล้ายเต้นรำ จำนวน 27 ภาพ สูงประมาณ 12-18 เซนติเมตร และภาพสัญลักษณ์เป็นลายเส้น จำนวน 4 ภาพ สันนิษฐานว่าภาพทั้งหมดน่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวเดียวกัน อาจเป็นการร่วมกันทำกิจกรรมหรือประกอบพิธีกรรมบางอย่างร่วมกัน หรือเป็นงานรื่นเริงที่สำคัญของชุมชนก็ได้ และลักษณะของภาพเขียนสีที่เพิงผากึ้ดสามสิบนี้มีลักษณะคล้ายกับภาพเขียนสีที่แหล่งถ้ำผาลาย ในมณฑลกวางสีทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณใกล้เคียงก็คงจะพอบอกได้ว่าสถานที่เหล่านี้คงจะมีกลุ่มคนอาศัยอยู่เรื่อยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม, 2563)

ภาษาพูด : ภาษาลีซู, ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ไทย


ลุ่มน้ำปาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2563). ภาพเขียนสีเพิงผากึ้ดสามสิบ. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร (2548). การพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่นทางด้านสุขภาพ บ้านกึ้ดสามสิบ หมู่ 6 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.soppong.go.th/

Silpakorn University. (ม.ป.ป.). เพิงผากึ้ดสามสิบ. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.era.su.ac.th/Rockpainting/north/phakidsamsib/

องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง โทร. 053-617255 และ053-617222