Advance search

แม่แดดน้อย ชุมชนปกาเกอะญอที่ยืนหยัดหาทางสู้ สร้างทางรอดกับระบบเศรษฐกิจครอบครัวจนเกิดการรวมตัวกลุ่มสตรีด้อยโอกาสก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดดน้อยและร่วมกับหมู่บ้านจาก 3 ตำบลในอำเภอกัลยาณิวัฒนา พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญา เชื่อมโยงสายใยแห่งจิตวิญญาณภายใต้ชื่อแบรนด์ "เดปอถู่" แบรนด์สินค้าที่เป็นมากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ หากแต่เป็นตัวแทนเรื่องราวชีวิตของสตรีผู้ด้อยโอกาสชาวปกาเกอะญอ

หมู่ที่ 4
บ้านแม่แดดน้อย
แม่แดด
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
อบต.แม่แดด โทร. 0-5369-8300
วิไลวรรณ เดชดอนบม
25 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
2 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มิ.ย. 2024
บ้านแม่แดดน้อย

ว่ากันว่าครั้งหนึ่งมีคนเมืองพื้นราบขึ้นมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ได้สังเกตว่าบริเวณนี้ไม่ค่อยมีแสงแดด เพราะด้วยภูมิประเทศที่อยู่บนที่สูง ทั้งยังล้อมรอบด้วยป่าดิบเขาและป่าสนเขา ส่งผลให้มีแสงแดดน้อย จึงเป็นที่มาของชื่อ "แม่แดดน้อย"


แม่แดดน้อย ชุมชนปกาเกอะญอที่ยืนหยัดหาทางสู้ สร้างทางรอดกับระบบเศรษฐกิจครอบครัวจนเกิดการรวมตัวกลุ่มสตรีด้อยโอกาสก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดดน้อยและร่วมกับหมู่บ้านจาก 3 ตำบลในอำเภอกัลยาณิวัฒนา พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญา เชื่อมโยงสายใยแห่งจิตวิญญาณภายใต้ชื่อแบรนด์ "เดปอถู่" แบรนด์สินค้าที่เป็นมากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ หากแต่เป็นตัวแทนเรื่องราวชีวิตของสตรีผู้ด้อยโอกาสชาวปกาเกอะญอ

บ้านแม่แดดน้อย
หมู่ที่ 4
แม่แดด
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
50250
18.96010335
98.41712326
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด

บ้านแม่แดดน้อยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2259 หรือเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน สันนิษฐานว่ากลุ่มของนายพาแก๊ะ เป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ โดยอพยพมาจากเขาสูงซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านดงสามหมื่น ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านแม่แดดน้อยในปัจจุบัน แล้วจึงย้ายลงมาทิศใต้เพื่อมาลงหลักปักฐานใกล้ลำห้วยแม่แดด ต่อมาชาวปกาเกอะญออีกครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงก็ย้ายเข้ามาอยู่ด้วย เนื่องจากบริเวณนี้มีป่าไม้และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เมื่อนายพาแก๊ะเสียชีวิต ชาวบ้านได้ย้ายหมู่บ้านสูงขึ้นมาจากที่เดิมตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอว่า หากอีโข่ หรือผู้นำทางพิธีกรรมประจำหมู่บ้านเสียชีวิตต้องย้ายหมู่บ้านหาที่อยู่ใหม่ เพราะเชื่อว่าที่อยู่เดิมจะทำให้ผู้คนอยู่ไม่สบายหรือล้มป่วยตามผู้เสียชีวิตไป สำหรับชื่อแม่แดดน้อยมาจากคนเมืองที่ขึ้นมาที่หมู่บ้าน ได้สังเกตว่าบริเวณนี้ไม่ค่อยมีแสงแดดตลอดทั้งปี เพราะด้วยภูมิประเทศที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,300 เมตร รอบล้อมด้วยป่าดิบเขาและป่าสนเขา ทำให้บ้านเม่แดดน้อยมีอุณหภูมิเย็นตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีแสงแดดน้อย จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านแม่แดดน้อย"

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านแม่แดดน้อยมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าไม้ และมีลำห้วยไหลผ่าน โดยภูเขาสูงประมาณ 800-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าไม้เป็นป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สภาพอากาศจะมีความเย็นตลอดทั้งปี และเป็นที่ราบเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มเพียงเล็กน้อย 

ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มีทั้งป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งมีความสมบูรณ์มาก มีน้ำตกขนาดเล็ก (น้ำจะแห้งในฤดูแล้ง) มีลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีสัตว์ป่าชุกชุม พื้นที่ป่าเป็นป่าดิบเขา ชนิดของพืชที่พบ เช่น จำปีป่า ทะโล้ อบเชย ทองหลวงป่า ประดู่สม ยมหอม กำลังเสือโคร่ง และไม้จำพวกก่อ เช่น ก่อแป้น ก่อเดือย นอกจากนี้ยังมีป่าสนเขา เช่น สนสามใบ สนสองใบ ป่าสนผสมเต็งรัง เช่น เต็งรังใหญ่ พะยอม รัง พลวง และตะแบก และป่าเบญจพรรณ เช่น มะขามป้อม มะม่วงป่า มะแฟน ไผ่ ประดู่

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านแม่แดดน้อย ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 510 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 263 คน ประชากรหญิง 247 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 230 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรในชุมชน คือ ชาวปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ปัจจุบันชาวบ้านแม่แดดน้อยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา ทำไร่ข้าว ปลูกถั่วลิสง กาแฟ ข้าวโพด สตรอว์เบอร์รี และเลี้ยงสัตว์ รองมาเป็นอาชีพรับจ้างและงานประจำ โดยในรอบ 1 ปี ชาวบ้านแม่แดดน้อยจะมีปฏิทินการผลิตเกี่ยวกับการเกษตร ดังนี้

  • เดือนที่ 1 "ลาเต่อเล" เดือนมกราคม ฉลองปีใหม่ พิธีมัดมือเรียกขวัญ กินเลี้ยง
  • เดือนที่ 2 "ลาพีแทะ" เดือนกุมภาพันธ์ เลือกพื้นที่และลงมือแผ้วถางไร่
  • เดือนที่ 3 "ลาทีคุ" เดือนมีนาคม ฟันไร่และตากไร่หรือเตรียมแปลงในนา
  • เดือนที่ 4 "ลาเซอ" เดือนเมษายน เผาไร (โดยปกติก่อนเผาไร่ ชาวบ้านจะทำแนวกันไฟป่าก่อน)
  • เดือนที่ 5 "ลาเดะหญา" เดือนพฤษภาคม ปักไร่หรือปลูกข้าวในนา
  • เดือนที่ 6 "ลานุย" เดือนมิถุนายน ดายหญ้า
  • เดือนที่ 7 "ลาเขาะ" เดือนกรกฎาคม ดายหญ้า
  • เดือนที่ 8 "ลาคุ" เดือนสิงหาคม ดายหญ้า
  • เดือนที่ 9 "ลาซิหมื่อ" เดือนกันยายน ดูระดับน้ำในนา ถอนหญ้า ปราบวัชพืช
  • เดือนที่ 10 "ลาชิฉ่า" เดือนตุลาคม เกี่ยวข้าว นวดข้าว
  • เดือนที่ 11 "ลานอ" เดือนพฤศจิกายน เกี่ยวข้าว นวดข้าว
  • เดือนที่ 12 "ลาปรือ" เดือนธันวาคม หมดหน้าไร่ ดอกไม้บาน ดอกหงอนไก่บานเต็มทุ่ง เก็บพืชผักที่ปลูกพร้อมข้าวไร่ข้าวนาเช่น ฟักทอง พักเขียว ถั่วงา มัน มันสำปะหลัง เก็บไว้สำหรับอาหารและขยายพันธุ์ (ธชาพร เลาวพงษ์, 2555)

ทั้งนี้ นอกจากอาชีพเกษตรกรที่ชาวบ้านยังคงดำรงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ คือ การทำโฮมสเตย์แม่แดดน้อย ที่ถูกกระตุ้นด้วยการเข้ามาของกระแสการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ “สุขสันต์วันโสด” Low Season (2020) ส่งผลให้บ้านแม่แดดน้อยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเยี่ยมชมธรรมชาติกลางหุบเขาและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ โดยบ้านแม่แดดน้อยมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ คือ ม่อนแดดน้อย

ชาวบ้านแม่แดดน้อยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นศาสนาคริสต์ และรองมานับถือทั้งพุทธและผี พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการนับถือผีเป็นศาสนาพุทธตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จากการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพุทธของพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันบันหลายครอบครัวมีสมาชิกที่นับถือศาสนาแตกต่างกันทั้งผี ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิม และพุทธหรือคริสต์ซึ่งรับเข้ามาใหม่ ทว่า ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จะเห็นได้จากชาวคริสต์และพุทธมาช่วยงานและเข้าร่วมประเพณีหมู่บ้านเกือบทุกงานเทศกาล

1.อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล หรือ แม่หลวงเปิ้ล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่แดดน้อย ผู้ริเริ่มทำแบรนด์เดปอถู่จากความตั้งใจสร้างแหล่งอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนจาก 3 ตำบลในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบำบัดอาการซึมเศร้าของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวสู่การต่อยอดแก้ปัญหาความยากจน สร้างเป็นแบรนด์ผ้าทอ "เดปอถู่" 

"เดปอถู่" จากสายใยจิตวิญญาณ สู่การยกระดับภูมิปัญญาหล่อเลี้ยงชุมชน 

"เดปอถู่" คือ ชื่อผลิตภัณฑ์สินค้าจากวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นการรวมตัวของชุมชน 3 อำเภอ คือ ตำบลแจ่มหลวง บ้านจันทร์ และแม่แดด จากการรวมกลุ่มของสตรีด้อยโอกาสเพื่อสร้างอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน คำว่า "เดปอถู่" นั้นมาจากภาษาของชาวปกาเกอะญอ หมายถึง ต้นไม้ที่ชาวปกาเกอะญอใช้ผูกสายสะดือของเด็กทารกเพื่อเป็นสายใยระหว่างจิตวิญญาณของคนกับธรรมชาติ เป็นที่มาของการหยิบยกเอาเดปอถู่ ความเชื่อที่ยกระดับจิตวิญญาณของผู้คนนี้มาเป็นจุดกำเนิดแบรนด์ผ้าทอลายสวยจากฝืมือชาวปกาเกอะญอ ที่ทำด้วยสองมือของชาวบ้านอย่างละเอียดลออ

การสร้างแบรนด์เดปอถู่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนของคนในชุมชนบ้านแม่แดดน้อย เนื่องจากในอดีตบ้านแม่แดดน้อยมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่และมีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้นำชุมชนบ้านแม่แดดน้อย ผู้จุดประกายเริ่มต้นแบรนด์เดปอถู่ จึงมีแนวคิดสร้างโครงการเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีพื้นที่ทำงาน โดยเริ่มจากการนำภูมิปัญญาที่ชาวปกาเกอะญอมีอยู่แล้ว คือ การทอผ้าแบบปกาเกอะญอแท้ ๆ หรือการทอผ้าด้วยกี่เอวมาเป็นอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน ผ้าทุกผืนของเดปอถู่เป็นงานหัตถกรรมจากฝีมือคนในชุมชน ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากธรรมชาติทั้งหมด ย้อมสีเส้นไหมจากสมุนไพรพื้นบ้านที่ได้จากพืชท้องถิ่นใกล้ตัว เช่น สีแดง จากสารขับถ่ายของแมลงครั่ง สีน้ำตาลอ่อนจากหยวกกล้วย หรือสีน้ำเงิน จากต้นครามที่ทำให้ผ้าทอของเดปอถู่มีโทนสีสดใสเป็นเอกลักษณ์ 

จากเส้นด้ายถูกถักทอเป็นผ้าผืนงาม ส่งไม้ต่อด้วยการแต่งแต้มลายผ้าแบบปกาเกอะญอโบราณ โดยสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ ที่มาของลวดลายต่าง ๆ ที่แต่งแต้มทอถักบนผืนผ้านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งใกล้ตัว เช่น ลายก้นหอย ลายดอกบัวตอง หรือลายปักมะเขือพวง พร้อมร้อยประดับด้วยลูกเดือย ที่มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวเย็บติดไปกับเนื้อผ้า ไม่เพียงตกแต่งให้ความสวยงาม แต่ยังผูกโยงความเชื่อที่ว่าจะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตผู้สวมใส่ ซึ่งกว่าจะกลายเป็นผ้าทอพร้อมนุ่งห่ม บางผืนต้องใช้เวลาเกือบ 1 เดือน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อนึ่ง เมื่อผ้าทอของชุมชนนำมาวางขายจนติดตลาด ชาวบ้านสามารถมีรายได้เสริมไว้เลี้ยงดูตัวเองได้ นำไปสู่แนวคิดต่อยอดผ้าทอเป็นการทำโปรดักต์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างจานสมุนไพร ฯลฯ ภายใต้ชื่อแบรนด์ "เดปอถู่" วางจำหน่ายเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย


กว่าจะเป็น "แหล่งท่องเที่ยว" บ้านแม่แดดน้อย

บ้านแม่แดดน้อยในอดีตนั้นหาใช่แหล่งท่องเที่ยวในกระแสนิยม หรือไม่ได้เป็นชื่อแหล่งท่องเที่ยวที่เหล่านักท่องเที่ยวจะนึกขึ้นได้เป็นอันดับต้น ๆ ด้วยลักษณะของที่ตั้งที่ห่างไกล การเดินทางที่ยากลำบาก อีกทั้งยังไม่ได้มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในระยะแรก ทว่า ปัจจัยเหล่านี้กลับทำให้พื้นที่แห่งนี้มีเสน่ห์สำหรับนักเดินทางบางกลุ่มที่อยากหลีกหนีความวุ่นวาย โดยเฉพาะภายหลังการเข้ามาของกระแสภาพยนตร์เรื่อง "สุขสันต์วันโสด" Low Season ซึ่งใช้สถานที่ถ่ายทำ คือ บ้านแม่แดดน้อย ก่อให้เกิดพลวัตการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาตามรอยภาพยนตร์ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนในชุมชนเริ่มหันไปทำโฮมสเตย์รองรับเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแสวงหาความเงียบสงบที่บ้านแม่แดดน้อยแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จารุจรรย์ ลาภพานิช และ อิชยา นิธิพงศธร. (2563). ‘เดปอถู่’ แบรนด์ผ้าทอชาวปกาเกอะญอ ที่สานด้วยพลังชุมชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567จาก https://urbancreature.co/guide-dayportoo-chiang-mai/

ธชาพร เลาวพงษ์. (2555). การจัดการน้ำที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกาเกอะญอบ้านแม่แดดน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นิตยสาร LOGISTICS MAG. (2566). พลังชุมชนสร้างคนด้วยปัญญา ลดเหลื่อมล้ำ ย้ำเครือข่ายชุมชน ส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://logisticsmag.net/

บูเดอช่า บ้านใกล้ชิดดวงดาว. (ม.ป.ป.). สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.budecha.com/

พงษ์ศิลา คำมาก. (2566). แม่แดดน้อยโมเดล เมื่อคนพื้นที่ปกป้องบ้านเกิดด้วยวิถีชีวิตละภูมิปัญญา. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567 , จาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/

ม่อนแดดน้อยโฮมสเตย์วิวงาม. (ม.ป.ป.). สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก hhttps://www.facebook.com/Maedadnoy

สงบ. (2563). บ้านแม่แดดน้อย หมู่บ้านกลางดอยในวันที่มีฝนตกเล็กน้อย. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.accuweather.com/

norkrobteam. (2561). Part 4 : แม่แดดน้อย เชียงใหม่ ที่นี่ มีแต่ความสุข. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567จาก https://norkrob.com/mae-dadnoi-chaingmai/

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. (2564). “เดปอถู่” รวมกลุ่มสร้างแบรนด์สินค้าชุมชนที่แม่แดด. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://thecitizen.plus/

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.maedad.go.th/

หนีนายไป Journey. (2560). ม่อนแดดน้อยโฮมสเตย์วิวงาม. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567จาก https://www.facebook.com/

เอิงเอย. (2563). กระท่อมกลางนา ที่พักเชียงใหม่ กลางทุ่งนา. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.trueid.net/

อบต.แม่แดด โทร. 0-5369-8300