ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบนพื้นที่สูงท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบนพื้นที่สูงท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
บ้านแม่กองคาเป็นพื้นที่ชุมชนของชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) ซึ่งในอดีตเคยอพยพโยกย้ายไปสร้างที่อยู่อาศัยตามพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อพื้นที่ทำไร่หมดสภาพความสมบูรณ์ก็จะย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ โดยจะย้ายพื้นที่ทุก 3-5 ปี ตามความสมบูรณ์ของทรัพยากร แล้วจึงเริ่มมีการก่อตั้งเป็นชุมชนในช่วงปี พ.ศ. 2245 ในระยะแรกมีผู้อาศัยอยู่ 12 ครัวเรือน ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2500 ชุมชนเริ่มมีการตั้งบ้านเรือนอาศัยกันแบบถาวร เนื่องจากมีความสะดวกในการติดต่อราชการเพราะมีตำแหน่งที่ตั้งชุมชนที่ชัดเจน พ.ศ. 2520 มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านแม่กองคา เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับเยาวชนในพื้นที่ และจัดตั้งสาธารณสุขชุมชนเพื่อจัดการดูแลเรื่องระบบสุขภาพ สุขอนามัยของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2530 จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 ชุมชนร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ของหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตมีพระเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านแต่ไม่มีที่พักรับรอง ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเพิงพักทำจากไม้ไผ่ขึ้นมา ต่อมาเมื่อมีพระเข้ามาในหมู่บ้านบ่อยครั้ง ชุมชนจึงสร้างที่พักขนาดใหญ่ขึ้น ทำด้วยไม้สัก เพื่อเป็นที่พักแบบบถาวรจนถึงปัจจุบัน
บ้านแม่กองคา ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในหุบเขา เป็นพื้นที่สูงทั้งหมู่บ้าน ด้านหลังชุมชนเป็นภูเขาขนาดใหญ่มีแหล่งน้ำไหลผ่านกลางร่องเขา และเป็นพื้นที่ป่า ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยบริเวณหมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ขนาดกว้าง เนื่องจากบ้านแม่กองคาประกอบไปด้วย 3 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านแม่กองคา บ้านหม้อเหล้า และบ้านกลาง ซึ่งแต่ละชุมชนหย่อมบ้านของบ้านแม่กองคามีระยะทางห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร โดยพื้นที่อาณาเขตของหมู่บ้านแม่กองคามีเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลแม่คง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลสบเมย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 5 6 และ 9
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านท่าตาฝั่ง
จากลักษณะพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในหุบเขา ทำให้บรรยากาศในช่วงเช้าจะมีหมอกหนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่จะมีหมอกหนาจัดมาก โดยสภาพอากาศชุมชนแบ่งเป็น 3 ฤดู ประกอบด้วย ฤดูร้อน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม และฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งกินระยะเวลายาวนานที่สุด
บ้านแม่กองคา เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านแม่กองคา ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 592 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 302 คน ประชากรหญิง 290 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 234 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอบ้านแม่กองคา ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเกษตรกรรม ปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ทำไร่หมุนเวียน ทุกครอบครัวจะทำไร่ข้าวเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก อาจมีการนำไปขายบ้างบางส่วนหากในปีนั้น ๆ ได้ผลผลิตข้าวในปริมาณมากเกินกว่าที่คนในครอบครัวบริโภค ไม่นิยมทำขายเป็นรายได้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะช่วยกันทำไร่ และภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีการจ้างกัน แต่จะใช้วิธีเอามื้อเอาวัน คือหมุนเวียนกันไปช่วยเพื่อนบ้านทำไร่หรือช่วยเหลือกันระหว่างญาติพี่น้อง ถ้าครอบครัวใครมีไร่อยู่ไกลจากหมู่บ้านมากในช่วงที่ต้องทำงานต่อเนื่อง เช่น หยอดข้าว ดายหญ้า เกี่ยวข้าว ตีข้าว สมาชิกในชุมชนยังมีการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นไก่ หมู วัว ควาย ซึ่งมีทั้งเอาไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน จำหน่ายให้กับคนในชุมชน และส่งขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ และนอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น อาชีพค้าขาย รับราชการ รับจ้างทั่วไปภายในชุมชน และออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ชุมชน
วิถีชีวิตในชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กองคา คนวัยทำงานจะมีหน้าที่รับคิดชอบในแต่ละวันไม่แตกต่างกันมากนัก ในแต่ละวันแม่บ้านมีหน้าที่หุงข้าว ทำกับข้าว ชาวบ้านจะกินข้าวเช้าประมาณ 06.30 น. แล้วเตรียมตัวออกไปทำงานที่ไร่ประมาณ 07.00 น. พอตกเย็นเลิกงานจากไร่ประมาณ 16.00 น. วิถีชีวิตของชุมชนจะอยู่กับการทำไร่เป็นส่วนใหญ่ โดยจะทำไร่ข้าวไปพร้อม ๆ กับการปลูกพริก มีช่วงเวลาการทำงานในแต่ละปีอย่างชัดเจนคือ ถางไร่ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทิ้งเอาไว้หนึ่งเดือนเพื่อให้เศษไม้แห้งก่อนจะไปเผาไฟในเดือนเมษายน เริ่มปลูกข้าว ปลูกพริก ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นถอนหญ้าถอนวัชพืชไปอีกประมาณ 3 รอบภายใน 4 เดือน เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายนจะเป็นช่วงเกี่ยวข้าว เก็บพริก เดือนธันวาคมจึงขนข้าวกลับบ้าน แต่พริกยังสามารถเก็บได้จนถึงเดือนมีนาคม ในช่วงต้นปีที่ว่างเว้นจากงานการเกษตรชาวบ้านจะออกไปเก็บฟืน ทำแนวกันไฟ เก็บใบตองตึงมาไว้มุงหลังคาบ้าน ซ่อมแซมคอกวัว คอกหมู เล้าไก่ หรือจักสานเครื่องใช้ ซ่อมแซมบ้าน ผู้ชายจะทำงานหนักในไร่ เช่น สร้างกระท่อม ทำกับดักหนู ทำแนวรั้วรอบไร่กันฝูงวัวฝูงควาย ผู้หญิงก็จะทอผ้า เก็บฟืน ปลูกพืชผัก ตำข้าว สำหรับคนที่มีวัว ควาย จะเลี้ยงเอาไว้ในป่า ประมาณ 4-5 วัน จะแวะเข้าไปดูหนึ่งครั้ง
ชาวบ้านแม่กองคามีความเชื่อเรื่องผี สิ่งเหนือธรรมชาติ เนื่องจากชุมชนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น ความเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติจึงแสดงออกมาในรูปของความเชื่อเรื่องผีที่มีอยู่ทั้งในต้นไม้ แผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา พิธีเลี้ยงผีจึงมีหลายแบบ ได้แก่
- พิธีเลี้ยงผีไร่ ก่อนที่จะทำไร่ทำนา และก่อนที่จะเอาข้าวจากไร่กลับมาขึ้นบ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อเป็นการบอกกล่าว เพราะชุมชนเชื่อว่าในไร่นานั้นมีผีเฝ้าอยู่
- พิธีเลี้ยงผีเรือน การทำพิธีเลี้ยงมีเรือนเป็นไปเพื่ออ้อนวอนต่อผีเรือนให้ช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้นกับครอบครัววงศ์ตระกูล ให้ทุกคนประสบแต่ความสุขความสบายและมีความเจริญก้าวหน้า และเป็นการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ
- พิธีเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษ เป็นการเลี้ยงผีเพื่อขอขมาแก่เจ้าบ้านเจ้าเมืองคือ ผีฟ้า ผีหลวง ผีภูเขา ผีป่า ซึ่งถือว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอิทธิฤทธิ์ พิธีนี้จะทำเมื่อมีชาวชุมชนทำผิดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือว่าเป็นการผิดผีบ้านผีเมือง
- พิธีเลี้ยงผีเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ชุมชนมีความเชื่อว่าผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยนั้นเกิดจากผีโกรธเคือง หมอผีต้องทำพิธีรักษาผู้ป่วย อาจต้องเลี้ยงผีด้วยไก่ หมู วัว ควาย ตามแต่หมอผีจะบอก ถ้าเป็นโรคระบาดมีผู้คนเจ็บป่วยกันมาก หรือมีเหตุอาเพศผิดปกติธรรมดา ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผีหรือหมอผีจะทำพิธีบนบานศาลกล่าว ขอให้ผีช่วยขจัดภัยอันตรายและคุ้มครองป้องกันภัยให้กับชุมชน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้บ้านแม่กองคา มีสภาพที่มีความสมบูรณ์มาก เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลุ่มน้ำคง เนื่องจากชุมชนมีการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ทำให้ป่าบริเวณพื้นที่ชุมชนยังคงสภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรเอาไว้ได้เป็นอย่างดี มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีลักษณะป่าที่หลากหลายตามธรรมชาติ เช่น ป่าสน ป่าสัก ป่าไผ่ ป่าต้นน้ำ ป่าไม้หก ป่าดงดิบ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน รวมถึงป่าใช้สอย มีพื้นที่ร่วม 10,000 ไร่
พื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่โดยรอบ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ที่หล่อเลี้ยงผู้คน บริเวณชุมชนมีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน เช่น ห้วยแม่กองคา ห้วยแม่โกกิ๊ ห้วยแม้ว๊ะ ห้วยแม่แว ห้วยกระบือ ห้วยเหี๊ย ฯลฯ โดยเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านนำมาอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ลำห้วยยังเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชนเนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้ตลอดทั้งปี และเนื่องจากสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากจึงเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าที่หลากหลาย โดยชาวบ้านจะออกไปจับมาทำเป็นอาหาร โดยส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เล็ก เช่น นก หนู อ้น ตัวตุ่น ตัวอ่อนของต่อ หนอนไม้ไผ่ แมลงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนบ้านแม่กองคา มีวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่นที่เป็นแนวปฏิบัติร่วมกันในการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ละประเภทของทรัพยากรและแต่ละพื้นที่ที่ชุมชนจัดสรรและสร้างข้อตกลงร่วมกัน ทั้งการจัดการป่าประเภทต่าง ๆ ในบริเวณชุมชน ทั้งการอนุรักษ์ป่าไม้ แหล่งน้ำ ดิน สัตว์ป่า ซึ่งมีวิธีที่หลากหลายตามวิถีชีวิต ภูมิปัญญาดั้งเดิม รวมทั้งการอนุรักษ์รูปแบบใหม่ โดยมีการจำแนกและแนวทางการอนุรักษ์ในแต่ละพื้นที่ตามบริบท เช่น
- ป่าดงดิบ ป่าชุ่มชื้น อยู่ในเขตต้นน้ำลำธาร เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด มีไม้ป่าขึ้นปกคลุมหนาแน่น และมีป่าไม้หลายระดับ ทั้งไม้พุ่ม ไม้ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และไม้ขนาดใหญ่ โดยชุมชนจะเว้นจากการตัดไม้ในบริเวณนี้โดยเด็ดขาด รวมถึงการถากถางทำไร่ หรือจุดไฟในพื้นที่ เพราะจะทำให้สภาพแวดล้อมผืนป่าเกิดความเสียหาย ส่งผลให้น้ำแล้ง สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย
- การใช้พื้นที่ในการทำไร่ ชุมชนจะมีข้อตกลงร่วมกันก่อนการทำไร่ทุกครั้งว่าจะใช้พื้นที่ใด และให้ทำไร่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อลดการแผ้วถางป่าเป็นบริเวณกว้าง ความชุ่มชื้นก็จะลดลงเฉพาะส่วน และง่ายต่อการควบคุมจัดการบริเวณพื้นที่ในการเผาไร่ เป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนอย่างหนึ่ง
- การอนุรักษ์น้ำของชุมชนเป็นไปในลักษณะของการดูแลรักษาน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต โดยชุมชนเชื่อว่าแหล่งน้ำทุกแหล่งจะมีผีหรือเจ้าของคอยรักษาอยู่ หากใครเข้าไปรบกวนหรือทำให้สภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงก็จะถูกลงโทษ ทำให้เจ็บป่วย ไม่สบาย อีกทั้งชุมชนจะเว้นการถางไร่ริมน้ำ โดยมีระยะห่างออกไปประมาณ 20 เมตร เพื่อรักษาต้นไม้ไว้ให้ดูดซับน้ำให้ดินมีความชื้น และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์
- การทำไร่หมุนเวียนของชุมชน เป็นภูมิปัญญาในการดูแลรักษาดิน โดยชุมชนไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการทำไร่ ผลผลิตที่ได้ก็เพียงพอสำหรับไว้กินในครัวเรือน และแบ่งขายเป็นรายได้ การทำไร่หมุนเวียนยังช่วยให้สภาพพื้นที่ป่าหลักการทำไร่ฟื้นตัวกลับมามีความสมบูรณ์ และมีต้นไม้ป่าขนาดใหญ่คงอยู่เช่นเดิม และชาวชุมชนยังร่วมกันทำแนวกันไฟ ห้ามคนในชุมชนเผาป่า เพราะจะทำให้ใบไม้ที่ทับถมถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินไป และทำให้สภาพพื้นดินมีความสมบูรณ์ลดลง ผลผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย
โดยปกติชาวบ้านแม่กองคาจะพูดภาษาประจำถิ่นของตน คือ ภาษาปกาเกอะญอ แต่ถ้ามีคนจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน หรือชาวบ้านออกไปซื้อของในเมืองก็จะใช้ภาษากลางผสมภาษาคำเมืองในการสื่อสาร ซึ่งสำหรับผู้ชายวัยผู้ใหญ่จะสามารถพูดภาษาไทยได้ แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้หญิง แต่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนหนังสือสามารถพูดภามาไทยได้ทุกคน
ส่วนด้านการเขียน ประชากรในชุมชนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ยังเขียนภาษาไทยไม่ได้หรือสะกดไม่ถูก จะมีน้อยคนมากที่เขียนภาษาไทยได้ดี สามารถเขียนจดหมายยาว ๆ ได้ เพราะในยุคแรก ๆ ยังไม่มีโรงเรียนให้เรียนหนังสือ ในส่วนของภาษากะเหรี่ยงมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่สามารถเขียนได้
สาละวิน
เกียรติศักดิ์ แสงสว่าง. (2549). ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กองคา หมู่ที่ 10 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เปิดปม. (2560, 12 กรกฎาคม). เปิดปม ตอน ล็อคป่าแม่ฮ่องสอน. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/perdpom/
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2565). เศรษฐกิจสีเขียวและภูมิปัญญาชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : ชุมชนบ้านแม่กองคา จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2567, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/