Advance search

หมู่บ้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พลิกฟื้นวิกฤตสู่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการสนับสนุนแหล่งโบราณสถานในท้องถิ่นให้เป็นเอกลักษณ์และจุดเด่น สร้างรายได้แก่คนในชุมชน

หมู่ที่ 7
บ้านดอนไฟ
ดอนไฟ
แม่ทะ
ลำปาง
อบต.ดอนไฟ เบอร์โทรศัพท์ 054-019815
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มิ.ย. 2024
บ้านดอนไฟ

ว่ากันว่าระหว่างการอพยพจากหมู่บ้านเดิมที่เกิดโรคระบาด ขณะนั้นภรรยาของผู้นำครอบครัวที่นำการอพยพกำลัง "อยู่เดือนไฟ" จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านเดือนไฟ" นานไปจึงเพี้ยนเป็น "บ้านดอนไฟ"


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พลิกฟื้นวิกฤตสู่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการสนับสนุนแหล่งโบราณสถานในท้องถิ่นให้เป็นเอกลักษณ์และจุดเด่น สร้างรายได้แก่คนในชุมชน

บ้านดอนไฟ
หมู่ที่ 7
ดอนไฟ
แม่ทะ
ลำปาง
52150
18.1109512011867
99.674015790224
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนไฟ

จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ สมัยก่อนชาวบ้านดอนไฟมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บริเวณกลางทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน หรือทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า นาบ้านเก่า โดยมีชนเผ่าลัวะอพยพครอบครัวมาจากทางทิศเหนือ คือ ม่อนจอมแจ้ง ม่อนตอนกลาง และม่อนดอนเปียง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลม่อนจอมแจ้ง ตระกูลม่อนดอนกลาง และตระกูลม่อนดอนเปียง ซึ่งเศรษฐีทั้ง 3 ตระกูลนี้เป็นผู้บริจาคทรัพย์ในการสร้างพระเจ้าทันใจสองพี่น้องและสร้างวัดม่อนดอนขวางสามเงาหรือที่เรียกกันว่า "วัดกลางดอนไฟ” ในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ (ปัจจุบันเหลือ 2 องค์) และเศรษฐีทั้ง 3 ตระกูลนี้มีลูกบ้านอีกตระกูลละ 100 หลังคาเรือน ต่อมาได้เกิดโรคห่าระบาดขึ้น ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก เกิดการอพยพหนีโรคระบาดมาอยู่ที่ "นาบ้านต๋อ" ต่อมาประชากรในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีความเชื่อว่ามีผีโพรง ผีกระสือ ชอบกินของคาว แอบมากินรก กินเลือดจากการคลอดบุตรในเวลากลางคืน ทำให้หญิงหลังคลอดอยู่เดือนไฟรู้สึกหวาดกลัว จึงอพยพมาอยู่ที่บ้านดอนไฟในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่ทำการเกษตร ภายหลังมีการเรียกชื่อหมู่บ้านเพี้ยนจาก "บ้านเดือนไฟ” กลายเป็น "บ้านดอนไฟ" จนถึงปัจจุบัน

ส่วนอีกหนึ่งหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้านดอนไฟที่ปรากฏในพระไตรปิฎกถึงสาเหตุการอพยพย้ายของผู้คนเข้ามาอยู่ในที่ปัจจุบัน เพราะถิ่นฐานเดิมเกิดโรคระบาด คือ โรคลงดำลงแดง หรือโรคท้องร่วง ชาวบ้านจึงพากันอพยพมาที่ปัจจุบัน ในช่วงนั้นพอดีกับภรรยาของหัวหน้าครอบครัวกำลังอยู่เดือนไฟ หรือพักฟื้นหลังคลอดจึงตั้งชื่อว่า "บ้านเดือนไฟ" เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายมาเป็น "บ้านดอนไฟ"

บ้านดอนไฟ หมู่ที่ 7 ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากอำเภอแม่ทะ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดลำปาง 37 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเอียก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอลอง จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาบง อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

บ้านดอนไฟตั้งอยู่บนเนินสูงต่ำสลับกันคล้ายลูกระนาด ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ บนภูเขามีลำห้วยสายเล็กหลายสายไหลมารวมกันเป็นห้วยแม่สะเปา นอกจากนี้ทางทิศตะวันออกของหมูบ้านยังมีห้วยเล็กอีก 2 ห้วยคือ ห้วยนาหนองน้ำและห้วยนาจ้าว แต่เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจากแหล่งน้ำทั้งหมดจะลดลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร 

ด้านลักษณะภูมิอากาศ มีภูมิอากาศเย็นสบาย ลมพัดโกรกตลอดทั้งวัน ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนมาก แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม และฤดูหนาวอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงคือ ฤดูหนาวสั้นลง และไม่หนาวมากเหมือนสมัยก่อน แต่ฤดูร้อนกลับยาวนานขึ้นและมีอากาศแปรปรวนบ่อย ร้อนจัดสลับกับฝนตกเป็นประจำ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านดอนไฟ ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 777 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 379 คน ประชากรหญิง 398 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 311 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) 

การประกอบอาชีพชาวบ้านดอนไฟโดยปกติชาวบ้านเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร หากมีเหลือมากจึงจะนำไปขาย นอกจากนี้ ยังมีการหารายได้เพิ่มจากการทำงานรับจ้างทั่วไป การประกอบอาชีพของชาวบ้านดอนไฟเป็นแบบผสมผสานระหว่างการทำเกษตรกรรมและการรับจ้าง ชาวบ้านทำเกษตรแบบเต็มตัว ขุดสระน้ำเป็นของตัวเอง และปลูกพืชเพื่อการค้าอย่างจริงจัง และยังขายน้ำในสระของตนเองให้พื้นที่ข้างเคียง โดยในหนึ่งปีชาวบ้านดอนไฟจะปลูกข้าวได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเหนียว ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวจะเริ่มปลูกหอมแดง หัวหอมเหลือง กระเทียม ถั่วลิสง พื้นที่ว่างระหว่างแปลงจะแซมด้วยพืชนานาชนิด เช่น ฟักทอง แตงกวา ฟัก แตงไทย กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ถั่วฝักยาว หรือผักสวนครัวทั่ว ๆ ไป เพื่อนำมาเป็นอาหารและจำหน่ายที่หน้าบ้านของตนเอง 

บ้านดอนไฟนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผีบรรพบุรุษ ตลอดจนผีปู่ย่าตายาย แต่ละตระกูลจะมีผีบรรพบุรุษที่แตกต่างกัน เช่น ตระกูลผีพ่อเฒ่าเสื้อบ้าน ตระกูลผียายหอม ตระกูลผีเทพบุตร ในหมู่บ้านมีวัดทั้งหมด 4 วัด ได้แก่ วัดพระเจ้าทันใจ วัดอุโบสถ วัดดอยน้อยรอยพระบาท และวัดดอนไฟ แต่ปัจจุบันมีเพียงวัดดอนไฟที่มีพระจำพรรษาอยู่ ส่วนวัดอื่นเป็นวัดร้าง เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลผู้คน โดยใน 1 ปี บ้านดอนไฟมีประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

  • ประเพณีปิดทอง สรงน้ำพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง ในเทศกาลสงกรานต์หรือประเพณีปีใหม่เมือง ชาวบ้านดอนไฟจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจสองพี่น้องออกมาปิดทอง สรงน้ำพระ มีการแห่พระเจ้าทันใจสองพี่น้องไปรอบหมูบ้านและอัญเชิญท่านกลับไปสรงน้ำ มีการละเล่นสนุกสนาน เช่น การตีกลองสะบัดชัย ถือเป็นสิริมงคลต่อการดำเนินชีวิตตลอดทั้งปี 
  • ประเพณีทานข้าวสลาก หรือประเพณีก๋วยสลาก จะจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม คำว่า "ก๋วย" หมายถึง ภาชนะสานที่มีลักษณะคล้ายชะลอมสานจากตอกไม้ไผ่ ภายในบรรจุข้าวปลาอาหาร เครื่องครัว แล้วแต่เจ้าของก๋วยจะใส่อาหารสดหรืออาหารแห้ง โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญมากเมื่อเสียชีวิตไป 
  • ประเพณีตานข้าวใหม่ หลังจากชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วช่วงต้นปี ประมาณเดือน 4 เหนือ (เดือนมกราคม) ขึ้น 15 ค่ำ หรืออาจจะคลาดเคลื่อนจากนี้ได้เล็กน้อย ชาวบ้านดอนไฟจะนำข้าวที่เกี่ยวมาถวายวัด เพื่อให้พระได้เก็บไว้ฉันตลอดทั้งปี หากชาวบ้านนำข้าวมาทำบุญมากทางวัดจะขายเพื่อนำเงินเข้าวัดได้ 
  • พิธีพุทธาภิเษกเบิกเนตรพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง เมื่อถึงเดือน 8 เป็งเหนือ (เดือนพฤษภาคม) ตรงกับวันวิสาขบูชา จะมีพิธีกรรมที่สำคัญของชาวบ้านดอนไฟ คือ พิธีพุทธาภิเษกเบิกเนตรพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง ระยะเวลาในการจัดงาน 2 วัน 1 คืน พิธีกรรมเริ่มด้วยพระภิกษุจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจสองพี่น้องมาสวดเบิกเนตรตลอดทั้งคืน และระหว่างทำพิธีจะนำผ้ามาปิดหน้าพระเจ้าทันใจสองพี่น้องไว้ เมื่อเสร็จพิธีกรรมจึงจะเปิดผ้าออก สาเหตุที่ต้องสวดเบิกเนตรเพื่อทำให้ท่านแตกต่างจากพระพุทธรูปธรรมดาการเบิกเนตรคือ การเปิดตา เปรียบเสมือนว่าท่านมองเห็นทุกการกระทำของมนุษย์
  • พิธีแก้บนพ่อเฒ่าเสื้อบ้าน มีความเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์บ้านดอนไฟ เมื่อเสียชีวิตไปแล้วจึงอยู่คุ้มครองหมู่บ้านและช่วยดูแลพระเจ้าทันใจสองที่น้อง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถานที่ท่องเที่ยวตามรอยแหล่งโบราณสถานบ้านดอนไฟ

บ้านดอนไฟมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 6 แห่ง โดยเฉพาะวัดดอนไฟที่สามารถนำรายได้เข้าสู่หมู่บ้านปีละเกือบล้านบาท ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ผู้นำหมู่บ้านกำลังพัฒนา ส่งเสริม เพื่อให้เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก ให้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.วัดดอนไฟ จากประวัติวัดดอนไฟที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง เขียนไว้ว่า วัดดอนไฟสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1674 มีอายุราว 890 ปี เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านดอนไฟ ปางมารวิชัย สร้างจากทองสัมฤทธิ์ และมีอายุมากกว่า 1,000 ปี 

2.วัดพระเจ้าทันใจหรือวัดกลางดอนไฟ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของบ้านดอนไฟเดิม แต่เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจสองพี่น้อง แต่เมื่อชาวบ้านย้ายถิ่นฐานไปตั้งหมู่บ้านบริเวณวัดดอนไฟในปัจจุบัน วัดซึ่งอยู่ไกลหมู่บ้านจึงถูกทิ้งร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่เมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ ชาวบ้านจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจสองพี่น้องกลับมาปิดทองสรงน้ำที่วัดพระเจ้าทันใจเป็นประจำทุกปี 

3.วัดอุโบสถ หรือ "วัดสถ" เป็นวัดแห่งแรกของบ้านดอนไฟ ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วัด แต่เป็นเพียงอุโบสถที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดสถ" ตั้งอยู่กลางทุ่งนา เป็นวัดเก่าแก่ มีศิลปะแบบล้านนา และพระพุทธรูปโบราณที่สวยงามประดิษฐานอยู่ในวัดแต่ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า หากจะเข้าชมและสักการะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวัดก่อน

4.วัดดอยน้อยรอยพระบาท ตั้งอยู่ทางกลุ่มบ้านเหนือตรงทางไปประปาหมู่บ้าน เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ บริเวณฐานพระพุทธรูปมีรูปปั้นลิงเกาะอยู่ สภาพวัดเป็นเพิงสังกะสี ไม่มีฝาผนัง หลังวัดมีบ่อน้ำขุดโบกปูน มีเรื่องเล่าว่าเป็นบ่อสรงน้ำของพระพุทธเจ้า บริเวณรอบวัดมีรูปปั้นพระฤาษี และบริเวณทางลงวัดมีบ่อน้ำขนาดไม่ใหญ่มาก เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าตักน้ำขึ้นไปกักเก็บไว้ที่บ่อเพื่อใช้สรงน้ำ

5.ฝายน้ำล้นห้วยแม่สะเปา สร้างขึ้นในสมัยผู้ใหญ่ลื่น ต๊ะเขียว ได้รับงบประมาณในการขุดลอกหน้าฝายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นฝายขนาดใหญ่รองรับน้ำจากห้วยแม่สะเปาที่ไหลมาจากภูเขา มีทัศนียภาพที่สวยงาม รายล้อมด้วยป่าไม้และขุนเขามีจุดชมวิวที่สวยงาม และมีลมพัดเย็นสบาย เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจ

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


บ้านดอนไฟเดิมทีเคยประสบปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่าและปัญหาความแห้งแล้ง เป็นเหตุให้บ้านสามขา ชุมชนต้นแบบของการปลดหนี้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยภูมิปัญญาและความสามารถของคนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดแนวคิดการสร้างฝ่ายชะลอน้ำแก่ชาวบ้านดอนไฟเมื่อ พ.ศ. 2547 ภายหลังได้รับสนันสนุนงบประมาณจากหน่วยงานเอกชนและองค์การบริหารส่วนตำบลดอนไฟในการสร้างฝายชะลอน้ำ ต่อมากรมป่าไม้จังหวัดลำปางเริ่มเข้ามาสนับสนุนการจัดโครงการฟ้าใสไร้มลพิษ โดยเน้นที่การป้องกันไฟป่า ดับไฟป่า รวมถึงการสร้างฝาย มีการส่งอาสาสมัครในหมู่บ้านไปฝึกอบรมวิธีดับไฟป่าและให้งบประมาณบ้านดอนไฟในการดูแลอนุรักษ์ป่า และใน พ.ศ. 2553 บ้านดอนไฟได้ประกาศเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ธรรมชาติ และเปิดหมู่บ้านให้บุคคลภายนอกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางมาเป็นหมู่คณะช่วงที่เข้ามาจะเป็นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะช่วงนี้จะมีการสร้างฝายชะลอน้ำ การสร้างแนวป้องกันไฟป่า คณะที่เข้ามาจะได้พักอาศัยตามบ้านของชาวบ้านดอนไฟ ได้รับประทานอาหารพื้นเมือง ได้เยี่ยมชมวัด และได้ร่วมกิจกรรมสร้างฝายหรือสร้างแนวกันไฟป่าตามฤดูกาล ซึ่งระหว่างทางขึ้นไปสร้างฝายยังเป็นการผจญภัยพร้อมศึกษาเส้นทางธรรมชาติด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดารารัตน์ ช้างด้วง. (2554). อิทธิพลความศรัทธาในพระเจ้าทันใจสองพี่น้องต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน: กรณีศึกษา บ้านดอนไฟ หมู่ 7 ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

องค์การบริหารส่วนตำบลดอนไฟ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.donfai.go.th/

อบต.ดอนไฟ เบอร์โทรศัพท์ 054-019815