Advance search

บ้านน้ำแคะ ชุมชนชาวลัวะที่ตั้งอยู่อย่างสันโดษบนภูเขาสูง หมู่บ้านที่ยังคงรักษา อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมดั้งเดิมของเหล่าบรรพชนชาวลัวะเป็นพื้นฐานและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

หมู่ที่ 4
บ้านน้ำแคะ
ดงพญา
บ่อเกลือ
น่าน
อบต.ดงพญา โทร. 0-5405-9801
วิไลวรรณ เดชดอนบม
26 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
2 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มิ.ย. 2024
บ้านน้ำแคะ

"น้ำแคะ" มาจากภาษาลัวะว่า "น๊อกแยะ" ซึ่งชื่อเรียกหมู่บ้านนี้มีที่มาจากชื่อของลำห้วยน้ำแคะที่ไหลผ่านหมู่บ้าน 


บ้านน้ำแคะ ชุมชนชาวลัวะที่ตั้งอยู่อย่างสันโดษบนภูเขาสูง หมู่บ้านที่ยังคงรักษา อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมดั้งเดิมของเหล่าบรรพชนชาวลัวะเป็นพื้นฐานและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

บ้านน้ำแคะ
หมู่ที่ 4
ดงพญา
บ่อเกลือ
น่าน
55220
19.27266562
101.2133248
องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา

ชุมชนชาวเขาเผ่าลัวะ บ้านน้ำแคะ เดิมทีเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวเขาเผ่าม้ง ต่อมาชาวม้งได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่บ้านป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ประมาณปี พ.ศ. 2510 ชาวบ้านบ่อหยวก บ้านห้วยโทน บ้านห้วน้ำดั้น ซึ่งเป็นชาวลัวะได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวและตั้งบ้านเรือนชั่วคราวเพื่อทำการเพาะปลูก ต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตั้งหมู่บ้านเป็นการถาวร และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านน้ำแคะ ซึ่งมาจากภาษาลัวะว่า “น๊อกแยะ” โดยเรียกตามชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้าน คือ ลำห้วยน้ำแคะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ได้เกิดการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านน้ำแคะบางส่วนจึงได้อพยพไปอยู่ที่อื่น และบางส่วนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม ปี พ.ศ. 2526 เมื่อเหตุการณ์สู้รบเริ่มสงบลง ชาวบ้านที่เคยอพยพไปอยู่ที่อื่นได้กลับมาตั้งบ้านเรือนและทำมากินในหมู่บ้านเดิม นอกจากนั้น ยังมีชาวลัวะที่อยูในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนสมทบในพื้นที่บ้านน้ำแคะด้วย และในปี พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ คือ บ้านน้ำแคะ หมู่ที่ 4 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายสงวน กันทรี 

อาณาเขตติดต่อ

บ้านน้ำแคะ หมู่ที่ 4 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านน้ำว้า
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยโทน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบ่อหยวก

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านน้ำแคะ หมู่ที่ 4 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,230 เมตร หมู่บ้านล้อมรอบด้วยภูเขาใหญ่น้อย ทางด้านทิศตะวันออกห่างไป มีลำห้วยน้ำแคะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภค ส่วนทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านจะเป็นบริเวณของป่าอนุรักษ์ และทางด้านทิศใต้จะเป็นบริเวณของป่าชุมชน

ลักษณะของภูมิอากาศ

เนื่องด้วยบริเวณที่ตั้งชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและมีภูเขาล้อมรอบ ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างจะแห้งและร้อนจัด โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ในฤดูฝน ฝนจะตกชุก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม และฤดูหนาว อากาศจะค่อนข้างหนาวเย็น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านน้ำแคะ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 314 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 143 คน ประชากรหญิง 171 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 84 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรบ้านน้ำแคะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ 

ลัวะ (ละเวือะ)

ชาวบ้านน้ำแคะมีอาชีพหลัก คือ การทำไร่ เน้นปลูกข้าวเป็นหลักแต่ผลผลิตก็ไม่มากพอที่จะขาย การทำไร่ของชาวบ้านน้ำแคะจึงเป็นการเกษตรที่ทำเพื่อพอยังชีพเท่านั้น หากผลผลิตปีใดมีมากจึงจะนำออกไปขาย อาชีพที่รองลงมา คือ รับจ้าง โดยส่วนมากนิยมไปรับจ้างที่ต่างจังหวัด เช่น ปลูกผัก ฉีดยาฆ่าแมลงที่จังหวัดกาญจนบุรี บางส่วนเดินทางไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ หรือบางส่วนก็ไปรับจ้างดูแลสวนผลไม้และเลี้ยงสัตว์ที่จังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนั้นจะมีการไปล่าสัตว์ในเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะว่าฝั่งของประเทศไทยป่าเหลือน้อยทำให้สัตว์ป่าเหลือน้อยลงไปด้วย

สำหรับการปลูกข้าวไร่ของชาวบ้านน้ำแคะจะเริ่มกันในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยพื้นที่ทางการเกษตรจะอยู่ตามที่ลาดชันบนภูเขา ทั้งนี้ ชาวลัวะมีประเพณีนิยมก่อนลงมือถางไร่เพื่อทำการเพาะปลูก คือ จะมีการเสี่ยงทายก่อนว่าที่ไร่นั้นสามารถทำไร่ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะลงมือถางในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเผาในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่ถ้าไม่ได้ก็จะทำการไปหาที่ใหม่ สำหรับการเก็บเกี่ยวจะอยู่ประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 

สำหรับการหาของป่า ชาวบ้านจะเข้าไปในป่าเพื่อหาอาหารล่าสัตว์บางทีต้องเข้าไปนอนค้างคืนสำหรับสัตว์ที่ล่ามาได้ส่วนมากก็จะเป็นกบ นก กระรอก เก้ง หากได้มามากก็จะแจกญาติพี่น้อง หากเหลือก็จะแบ่งขายให้คนในหมู่บ้าน หรือตลาดท้องถิ่นที่มีการวางจำหน่ายของป่า

ชาวบ้านน้ำแคะส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และให้ความเคารพนับถือในสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น การนับถือผี ในช่วงเวลาในแต่ละปีชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อได้แก่ การเลี้ยงมีเจ้าที่ ผีไร่ ผีต้นน้ำ และพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่  และในปัจจุบันมีชาวบ้านบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากในการนับถือผีต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรมโดยในทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์จะไปเข้าโบสถ์ เพื่อนมัสการพระเจ้าและในช่วงวันคริสต์มาสชาวบ้านจะทำกิจกรรมร่วมกัน 

ปฏิทินประเพณีประจำปี บ้านน้ำแคะ

เดือนประเพณีวัฒนธรรม
มกราคม

-วันขึ้นปีใหม่

-ประเพณีกินดอกแดง
เมษายน

-ประเพณีสงกรานต์

-ประเพณีสู่ขวัญคณะกรรมการหมู่บ้าน
พฤษภาคม

-พิธีแฮกนาขวัญ

-วันพืชมงคล

-วันวิสาขบูชา
กรกฎาคม-วันเข้าพรรษา
พฤศจิกายน

-พิธีรับขวัญข้าว

-ลอยกระทง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาลัวะ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรลัวะ อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มนตรี กุญชรมณี (2546). ความเชื่อประเพณีและการนับถือผีของชาวลัวะ: กรณีศึกษาบ้านน้ำแคะ หมู่ 4 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

มนตรี ตระกูลเลิศศิลป์ (2552). โครงการแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนมีส่วนร่วมบ้านน้ำแคะ หมู่ที่ 4 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

bannamka. (ม.ป.ป.). บ้านน้ำแคะ. สืบค้น 26 พฤษภาคม 2567, จาก https://bannamka37.wordpress.com/

อบต.ดงพญา โทร. 0-5405-9801