Advance search

ชุมชนประวัติศาสตร์เมืองท่าทอง เมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัยมาจากเมืองไชยา แหล่งรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองท่าทองและโบราณวัตถุที่มีคุณค่าสันนิษฐานอายุตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน

หมู่ที่ 1
บ้านปากน้ำท่าทอง
ท่าทอง
กาญจนดิษฐ์
สุราษฎร์ธานี
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทอง โทรศัพท์ 0-7740-2168
วิไลวรรณ เดชดอนบม
18 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
4 มิ.ย. 2024
บ้านปากน้ำท่าทอง

สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากที่ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า เป็นแหล่งทำมาหากินที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีเงินมีทอง เปรียบเป็น "ท่าทอง" ของคนในพื้นที่ เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการจึงเรียกว่า "บ้านปากน้ำท่าทอง" หรือบางที่มาก็ว่าเดิมทีชื่อ ''บ้านท่าทอง" ก่อนเปลี่ยนเป็น "บ้านปากน้ำท่าทองในภายหลัง"


ชุมชนประวัติศาสตร์เมืองท่าทอง เมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัยมาจากเมืองไชยา แหล่งรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองท่าทองและโบราณวัตถุที่มีคุณค่าสันนิษฐานอายุตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน

บ้านปากน้ำท่าทอง
หมู่ที่ 1
ท่าทอง
กาญจนดิษฐ์
สุราษฎร์ธานี
84160
9.233569881
99.50395435
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทอง

บ้านปากน้ำท่าทอง ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่าเมืองท่าทองในอดีต จากคำบอกเล่าว่ากันว่า บรรพชนรุ่นแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นคนไทยแล้วต่อมาจึงเป็นกลุ่มคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน คนไทยคนแรกที่เข้ามาชื่อว่า ขุนทนงเสือ เสืออินโท ทหารที่ย้ายมาจากอำเภอไชยา ได้มาตั้งหลักแหล่งทำกินที่บริเวณบ้านปากน้ำท่าทอง ท่านได้แต่งงานและมีลูกจึงสร้างครอบครัวขึ้นที่นี่ ต่อมามีคนในบริเวณใกล้เคียงย้ายเข้ามาอาศัยในชุมชนมากขึ้นจึงเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้น

เมื่อขุนทนงเสือได้เสียชีวิตลง ได้มีกลุ่มคนจีนแล่นเรือสำเภาเข้ามาค้าขายในชุมชน กลุ่มคนจีนที่เข้ามาในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทอง ส่วนมากมักจะเป็นกลุ่มจีนไหหลำ จีนแคะ และจีนแต้จิ๋ว โดยเข้ามาประกอบอาชีพค้าไม้ ค้าขาย และทำการประมง ด้วยความที่ที่ตั้งชุมชนอยู่ติดกับอ่าวบ้านดอนซี่งเป็นพื้นที่เดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างประเทศอินเดียและจีน ทำให้มีเรือสำเภาจากประเทศจีนเข้ามาในพื้นที่อยู่เสมอ โดยในสมัยนั้นเรือสำเภาเป็นชนิดที่เรียกว่า เรือสามหลัก จะอาศัยลมพัดใบสำเภาแล้วล่องตามลำน้ำมาเรื่อย ๆ จนมาถึงบริเวณอ่าวบ้านดอน ได้ล่องเรือเข้ามาแวะพักในชุมชน ซึ่งต่อมานางหมีด เสืออินโท หนึ่งในลูกสาวของขุนทนงเสือได้แต่งงานกับคนจีน เกิดเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนขึ้น คนจีนที่เข้ามาในชุมชนบางคนมักจะไม่กลับไปประเทศของตนแต่จะเลือกแต่งงานกับผู้หญิงในชุมชนแล้วสร้างครอบครัวขึ้นที่นี่แทน เมื่อมีคนมาอาศัยเพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ชื่อว่า "บ้านท่าทอง" โดยชื่อเรียกนี้มีความหมายว่า ที่แห่งนั้นเป็นท่าเรือ เป็นตลาดค้าขายติดต่อ และเป็นแหล่งทำมาหากินที่เจริญรุ่งเรืองมีเงินมีทอง และเมื่อมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นมากขึ้นกลายเป็นตำบลใหญ่ชื่อว่าตำบลท่าทอง

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านปากน้ำท่าทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ ระยะห่างประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 27 กิโลเมตร โดยบ้านปากน้ำท่าทองแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะสร้างอยู่ใกล้ริมแม่น้ำท่าทองและตั้งอยู่ใกล้กันในหมู่เครือญาติของตน ตัวชุมชนตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าทองซึ่งไหลออกสู่อ่าวบ้านดอน จึงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านท่าโพธิ์ ตำบลท่าทอง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านในราม ตำบลพลายวาส
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านในราม ตำบลพลายวาส และหมู่ที่ 9 บ้านดอนยาง ตำบลท่าทอง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่าวบ้านดอน

ลักษณะภูมิประเทศ 

บ้านปากน้ำท่าทองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีแนวภูเขาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ทำการเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และใช้ประกอบกิจการการทำนากุ้ง แหล่งน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำท่าทอง เป็นแม่น้ำที่ไหลจากภูเขาเหมือง โดยไหลผ่านตำบลท่าอุแทและตำบลท่าทอง จากนั้นจะไหลลงสู่อ่าวบ้านดอนที่บริเวณชุมชนบ้านปากน้ำท่าทอง นอกจากนี้คลองท่าทองยังเป็นแนวกั้นแบ่งเขตระหว่างตำบลท่าทองและตำบลพลายวาส ชาวบ้านทั้งสองฝั่งคลองจะใช้เพื่อประกอบอาชีพทำการประมงและการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ส่วนทิศตะวันตกของชุมชนเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งติดกับอ่าวบ้านดอนซึ่งมีระบบนิเวศที่หลากหลาย

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านปากน้ำท่าทอง ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 921 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 453 คน ประชากรหญิง 468 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 354 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ตระกูลที่สำคัญในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทองจะมีอยู่ 2 ตระกูลหลัก ได้แก่ ตระกูลเสืออินโท และตระกูลศรีสุธรรม (แซ่เลี้ยว) ตระกูลเสืออินโทถือว่าเป็นสายตระกูลแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บ้านปากน้ำท่าทอง โดยมีขุนทนงเสือเป็นบรรพบุรุษคนแรก ส่วนตระกูลศรีสุธรรมเป็นสายตระกูลของคนจีนที่อพยพมาจากเมืองจีน โดยนามสกุลเดิมคือ แซ่เลี้ยว แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ศรีสุธรรม

ลักษณะครอบครัวภายในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทองมีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นลักษณะของครอบครัวขยายเนื่องจากความต้องการแรงงานด้านเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานคนเป็นจำนวนมาก โดยจะให้ความสำคัญกับการนับถือเครือญาติทั้งทางฝ่ายสามี และฝ่ายภรรยา แต่ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนมักค่อนข้างให้ความสำคัญต่อลูกชายหรือหลานชายอยู่มาก เพราะถือว่าจะเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลในภายภาคหน้า

จีน

ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการทำประมงเป็นหลัก รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ ในอดีตก่อน พ.ศ. 2500 ชาวบ้านในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพทำโป๊ะ (ที่สำหรับดักปลา) ทำนา ทำกะปิจากกุ้งเคย ทำสวนมะพร้าว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งขายเป็นมะพร้าวแห้ง รับจ้างทำงานในโรงเลื่อย โดยภายในชุมชนมีโรงเลื่อยตั้งอยู่.

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2501-2510 อาชีพการทำโป๊ะหายไป การทำกะปิเริ่มน้อยลง สาเหตุเพราะจำนวนกุ้งเคยในทะเลมีน้อยลง ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาศึกษาทดลองเลี้ยงหอยนางรมเพื่อส่งขาย ซึ่งภายในชุมชนจะมีตลาดนัดเป็นศูนย์กลาง ถือได้ว่าตลาดนัดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยในอดีตในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทองจะมีตลาดนัดเพียง 2 แห่ง คือ บริเวณโรงเรียนวัดเขาพระนิ่ม จัดขึ้นในทุกวันเสาร์ และบริเวณโรงภาพยนตร์เก่า จัดขึ้นทุกวันอังคาร แต่ปัจจุบันได้จัดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือ บริเวณพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองท่าทอง จึงรวมเป็น 3 แห่ง ผู้ที่มาซื้อส่วนมากเป็นคนในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทองและชุมชนใกล้เคียง ส่วนพ่อค้าแม่ค้าจะมีทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชนที่นำสินค้ามาขาย สินค้าที่นำมาขายส่วนมากจะเป็นสินค้าทางการเกษตรและอาหารสด

ชาวบ้านในชุมชนบ้านปากน้ำท่าทองส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีตามแบบจีนและไทยผสมผสานกัน ศูนย์กลางความเชื่อทางพุทธศาสนาหลักจะอยู่ที่วัดเขาพระนิ่ม ส่วนของชาวไทยเชื้อสายจีนจะอยู่ที่ศาลเจ้าไหหลำบ้านปากน้ำท่าทอง ด้านพิธีกรรมในรอบปีสำหรับชุมชนบ้านปากน้ำท่าทอง ชาวบ้านส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ จึงมีประเพณีที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่จะต้องจัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ วันตรุษจีน งานก๋งซิวเดือนสาม วันจบปีจบเดือน งานสรงน้ำพระประจำปี งานก๋งชิวเดือนเจ็ดหรือวันเกิดกวั่นก๋ง เทศกาลสารทจีน เทศกาลกินเจ ประเพณีรับ-ส่งตายายหรืองานบุญสารทเดือน 10 งานสวดทำบุญศาลเจ้าประจำปี ประเพณีชักพระ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท่าทอง (วัดเขาพระนิ่ม)

เมืองท่าทองเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัยมาจากเมืองไชยา มีประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณของเก่าแก่ที่มีคุณค่า ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญในการนำมาสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวเมืองท่าทองและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนใกล้เคียงตลอดจนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน

วัดเขาพระนิ่ม กำหนดอายุตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2480 เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูนขนาดเล็ก ปากถ้ำกว้างประมาณ 6 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำมีลักษณะเป็น 2 คูหา อยู่ชิดติดกัน คูหาแรกอยู่ทางด้านหน้าของปากถ้ำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างโดยฝีมือช่างพื้นถิ่น ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวถึงพระชานุ ตรงกลางของคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางเลไลย์อยู่ริมชิดผนัง มีช้างและสิงห์หมอบอยู่เบื้องหน้า ด้านขวาของคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ซึ่งทำเป็นฐานสิงห์ ส่วนบัวหงายเป็นรูปบัวจงกล ประดับตกแต่งด้วยกระจกสี ส่วนคูหาที่สองด้านในสุดของผนังถ้ำประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวถึงพระชานุ คล้ายพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในคูหาแรก ฝั่งตรงข้ามมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องประทับบนฐานสิงห์ ส่วนบัวหงายเป็นรูปบัวจงกล ด้านหน้าห้อยผ้าทิพย์ ซึ่งเป็นศิลปะตั้งสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รวมหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่พบภายในถ้ำเขาพระนิ่ม ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นจำนวนทั้งสิ้น 22 องค์ พระพุทธรูปไสยาสน์ 2 องค์ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ 1 องค์ นอกนั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ชื่อ "เขาพระนิ่ม" มาจากความเชื่อของชาวบ้านเล่ากันว่า พระพุทธรูปภายในถ้ำแต่ก่อนเวลาเอามือไปแตะหรือกด จะรู้สึกนิ่มมือ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระนิ่ม” ซึ่งอาจเป็นเพราะพระพุทธรูปภายในถ้ำมีความชื้นมากเนื้อปูนจึงอ่อนยุ่ย

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้, ภาษาจีน, ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย, จีน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เล่านอกกรอบ. (2563). วัดเขาพระนิ่ม. สืบค้น 18 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/chobteaw.travel/

สํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. (ม.ป.ป.). วัดเขาพระนิ่ม. สืบค้น 18 พฤษภาคม 2567, จาก http://365surattravel.sru.ac.th/

อรวรรณ สวัสดี. (2559). ศาลเจ้ากับชุมชน: บทบาทของศาลเจ้าที่มีต่อชุมชนบ้านปากน้ำท่าทอง ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. มหาวิทยาลัยศิลปากร

อ่าวบ้านดอน. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท่าทอง (วัดเขาพระนิ่ม). สืบค้น 18 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.sru.ac.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทอง โทรศัพท์ 0-7740-2168