Advance search

หลวงพ่อแสง แหล่งขมิ้น ถิ่นห้วยน้ำใส ถ้ำหลากหลาย ดอกไม้หลากสี ผลไม้มากมี ทุเรียนพันธุ์เดิม 

วังหอน
วังอ่าง
ชะอวด
นครศรีธรรมราช
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-3794-7578, อบต.วังอ่าง โทร. 0-7584-5189
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
บ้านวังหอน

ตามความเชื่อ ปรากฏที่มาของชื่อชุมชน ดังนี้

ความเชื่อแรก เชื่อว่าตั้งตามชื่อนายหนอน ผู้นำกลุ่มคนเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน และปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในบ้านวังหอนเป็นคนแรก แรกเริ่มตั้งชื่อหมู่บ้านว่า วังหนอน ก่อนเปลี่ยนเป็น วังหอม และ วังหอน ตามลำดับ

ความเชื่อที่สอง เชื่อว่าตั้งตามลักษณะของงูศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ คือ ทวดน้ำเวียน เป็นงูที่มีหงอนคล้ายหงอนไก่อยู่บนหัว จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า วังหงอน แล้วเพี้ยนเป็น วังหอน ในเวลาต่อมา 


ชุมชนชนบท

หลวงพ่อแสง แหล่งขมิ้น ถิ่นห้วยน้ำใส ถ้ำหลากหลาย ดอกไม้หลากสี ผลไม้มากมี ทุเรียนพันธุ์เดิม 

วังหอน
วังอ่าง
ชะอวด
นครศรีธรรมราช
80180
7.900079
99.786824
องค์การบริหารส่วนตำบลวังอ่าง

บ้านวังหอนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาหลายร้อยปี ทำให้มีการสั่งสมวัฒนธรรมชุมชนมาอย่างยาวนาน ก่อเกิดเป็นวิถีชุมชนที่ผู้คนได้ถืออัตลักษณ์ของตนเองเป็นกระบวนการสร้างสรรค์และสืบทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญา ซึ่งกลายเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ทุนทางวัฒนธรรมบ้านวังหอนมีความแตกต่างจากทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง

พื้นที่บริเวณบ้านวังหอน เป็นพื้นที่ป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรนานาชนิด เหมาะเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งถิ่นฐาน จากหลักฐานที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาแบบลายเชือกทาบ หม้อสามขา กระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ขวานหินขัด หากคำนวณจากอายุโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ อาจสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บ้านวังหอนอาจมีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งสามารถกำหนดอายุในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่หรือหินขัดว่ามีอายุประมาณ 4,300-3,500 ปีมาแล้ว

สำหรับการก่อตั้งชุมชนบ้านวังหอนเริ่มปรากฏหลักฐานให้เห็นอย่างแน่ชัดเมื่อประมาณ 200-300 ปีก่อน มีตำนานเล่าขานถึงกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานว่าเป็นพวกไพร่หนีอญาแผ่นดิน โดยเล่ากันว่าในสมัยไทยรบพม่า (พ.ศ. 2328) ภายหลังพม่ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว ได้ยกกองกำลังทหารมาตั้งทัพที่อำเภอชะอวด (บ้านทุ่งค่าย) เพื่อเป้าหมายในการโจมตีเมืองพัทลุงเป็นลำดับถัดไป ขณะนั้นทางการสยามได้ส่งกองทัพ (คาดว่าเป็นกองทัพของพระมหาช่วยจากเมืองพัทลุง หรือทัพไทยจากเมืองนครศรีธรรมราช) ขึ้นมาต่อต้านพม่า กำลังพลส่วนหนึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านทุ่งชุมพล ทให้มีไพร่พลบางส่วนหนีทัพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านวังหอน เนื่องจากพื้นที่บริเวณบ้านวังหอนเป็นหุบเขาที่มีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว คือ ด้านขาคัดแข้ง จึงเหมาะสำหรับใช้ในการหลบหนีการจับกุมได้ดี กลุ่มคนที่หนีทัพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบนี้ในระยะแรกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม หนึ่งในนั้นนำโดยนายหนอน กลุ่มของนายหนอนเป็นกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านนายหนอนหรือบ้านวังหอน โดยเข้ามาจับจองพื้นที่ ถางป่า ตั้งบ้านเรือน ปลูกสวนผลไม้หลายชนิด เช่น ทุเรียน ลางสาด มังคุด สะตอ ฯลฯ เมื่อนายหนอนถึงแก่กรรมบรรดาบุตรหลานจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนายหนอน ต่อมาเปลี่ยนเป็น วังหอม แต่เนื่องจากมีคนนำชื่อหมู่บ้านไปคิดตีความในทางไม่ดี ในเชิงลบหรือเชิงชู้สาว จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็น บ้านวังหอน

แต่อีกมุมมองหนึ่งเชื่อว่าชื่อบ้านวังหอน น่าจะมาจากชื่อของทวดที่ชาวบ้านวังหอนนับถือมา คือ ทวดน้ำเวียน เป็นงูทวดศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ทวดน้ำเวียนเป็นงูบองหลาหรืองูจงอางขนาดใหญ่ บนหัวมีหงอนแบบหงอนไก่ มักปรากฏตัวให้ชาวบ้านเห็นในคลองวังน้ำเวียนอยู่เสมอ ขณะที่ทวดน้ำเวียนปรากฏตัวชาวบ้านจะมองเห็นหงอนของงูทวดชัดเจนมาก จึงเรียกว่า หงอน จึงได้นำมาเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า วังหงอน ก่อนจะเพี้ยนเป็น วังหอน ในเวลาต่อมา 

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านวังหอนตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบขนาดเล็กในหุบเขาซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขา คือ เขาคัดแข้ง เข้าอ้ายโล้น เขาอ้ายหมี เขาเหนือคลอง เขาหัวช้าง เป็นต้น มีป่าวังนายพุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของคลองวันหอน และคลองวังนายพุด ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสและแม่น้ำปากพนัง

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านวังหอนมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน ซึ่งจะมีฝนตกชุกมากในช่งเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แต่เนื่องจากพื้นที่บ้านวังหอนถูกปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น ทำให้อุณหภูมิภายในหมู่บ้านค่อนหนาวข้างเย็นตลอดทั้งปี

แหล่งน้ำ

บ้านวังหอนเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากผืนป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า บริเวณเทือกเขาบรรทัด มีลำห้วยและคลองสายสำคัญหล่อเลี้ยงผืนป่าและชุมชนบ้านวังหอน ได้แก่ คลองน้ำทะลุเขาหรือคลองวังหอน คลองวังนายพุด คลองสามแพรก คลองเหนือ และห้วยยาง สำหรับการชลประทาน บ้านวังหอนมีอ่างเก็บน้ำห้วยใสเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในพื้นที่บ้านวังหอน อีกทั้งมีระบบการกระจายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค ทำให้ชาวบ้านวังหอนมีน้ำทั้งจากการชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติไว้ใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรป่าไม้: พื้นที่ป่าต้นน้ำบ้านวังหอน หรือป่าวังนายพุดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด ลักษณะของป่าไม้เป็นป่าดิบชื้น รกทึก ประกอบด้วยพรรณไม้ที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายชนิด สำหรับพันธุ์ไม้ที่พบบริเวณป่าวังนายพุดซึ่งเป็นผืนป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของบ้านวังหอน เช่น ตะเคียนทอง หลุมพอ ยาง กระบาก จำปาป่า พิกุล ไข่เจียว นาคบุตร ช้างร้องไห้ และว่านชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า: ในอดีตบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำบ้านวังหอนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง เลียงผา สมเสร็จ หมี เก้ง นกกินปลีกล้วย นกกาฝาก เต่า ตะพาบน้ำ กิ้งก่าบิน กบ เขียด ปลาหมัด ปลาหวด ปลาอีกอง ผึ้งหลวง ด้วงดีดหนวด ฯลฯ แต่ปัจจุบันสัตว์ป่าเหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลงมาก บางชนิดก็ได้สูญหายไปจากป่าบ้านวังหอน เช่น ช้าง สมเสร็จ กระทิง มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คือ กวาง ซึ่งทางหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสอดส่องดูแล อนุรักษ์ และป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้ามาล่าทำลาย นอแกจากนี้ในช่วงเดือนมกราคมมักจะมีนกเงือกอพยพมากินลูกไทบริเวณป่าวังนายพุเป็นประจำทุกปี

สถานที่ท่องเที่ยว

จากความอุดมสมบูรณ์ของการเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง ทำให้บ้านวังหอนมีป่าไม้ น้ำตก และถ้ำที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์สวยงาม และสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนได้ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำวังนายพุด น้ำตกหนานสวรรค์ วัดวังหอมพุทธาราม เป็นต้น

การคมนาคม

ในอดีตบ้านวังหอนมีเส้นทางการติดต่อกับชุมชนภายนอกค่อนข้างทุรกันดาร ต้องเดินทางผ่าภูเขาที่มีช่องแคบขนาดพอดีตัวคนสามารถเดินผ่านได้ เรียกว่า เขาคัดแข้ง แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2500 หมู่บ้านเริ่มก่อสร้างถนน เขาคัดแข้งถูกระเบิอดออกทำเป็นถนนใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน 

บ้านวังหอน หมู่ที่ 5 ตำบลวังอ่าง อำเภชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 224 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,050 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 418 คน และประชากรหญิง 632 คน 

เศรษฐกิจ

อาชีพหลักของชาวบ้านวังหอน คือ เกษตรกรรมการทำสวน ทั้งสวนยางพารา และสวนผลไม้ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ทุเรียนป่า ในอดีตการทำสวนของชาวบ้านระยะแรกเป็นการจับจองสวนป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะสวนทุเรียนป่าที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็น แต่ภายหลังมีนายทุนเข้ามาสัมปทานป่า พื้นที่สวนทุเรียนป่าจำนวนมากถูกทำลายเพื่อนำเอายางพาราเข้ามาแทนที่ แต่ถึงกระนั้นทุรียนป่าก็ยังคงมีมากเกินกว่าความจำเป็น จึงมีการนำเอาทุเรียนมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวน ผลิตภันฑ์สินค้าชนิดหนึ่งของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีการทำสวนมังคุด ลองกอง และสวนเงาะ ซึ่งนอกจากจะสามารถส่งขายให้กับนายทุนแล้วยังทำให้บ้านวังหอนมีผลไม้รับประทานตลอดทั้งปี

เดิมชุมชนบ้านวังหอนเป็นแหล่งผลิตใบพลูเพื่อส่งออกแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก ซื้อขายกันในราคา 100 กำ 30 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านวังหอนพอสมควร แต่ปัจจุบันความนิยมในการใช้ใบพลูลดน้อยลง ทำให้ธุรกิจการส่งออกใบพลูของบ้านวังหอนซบเซาลง

การทำสวนของชาวบ้านวังหอนปัจจุบันได้พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ผสมผสาน บางพื้นที่มีรูปแบบเป็นสวนสมรมหรือสวนตายาย คือ มีการปลูกพืชหลายชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ ลูกเนียง ฯลฯ บางส่วนแบ่งพื้นที่ปลูกให้มีลักษณะคล้ายขั้นบันได ชั้นสูงสุดปลูกหมาก มะพร้าว ทุเรียน ชั้นรองลงมาปลูกมังคุด เงาะ สะตอ ลูกเนียง ส่วนชั้นล่างสุดปลูกผักทั่วไป เช่น ขิง ข่า มะเขือ พริก เป็นต้น

นอกจากรายได้จากภาคเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านวังหอนยังมีรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ กิจกรรมล่องแพไม้ไผ่ในบริเวณคลองวังหอน ที่เกิดจากป่าต้นน้ำของเทือกเขาบรรทัดที่ไหลลงสู่แม่น้ำปากพนัง ซึ่งในอดีตคลองนี้จะเป็นจุดพักสำหรับชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาให้บริการล่องแพชมธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมดังกล่าวนับว่าได้รับผลตอบรับอย่าล้นหลามจากบรรดานักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมกิจกรรมการล่องแพชมธรรมชาติบ้านวังหอน สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านในเวลาว่างเว้นจากการทำงานภาคการเกษตรได้เป็นจำนวนมาก

กลุ่มองค์กรชุมชน

ชาวบ้านวังหอนมีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มองค์องค์ชุมชนเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในชุมชน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์บ้านวังหอนหรือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์บ้านวังหอน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทปุ๋ยหมักบ้านวังหอน และกลุ่มเครือข่ายต้นธารบ้านวังหอน

กลุ่มเครือข่ายต้นธารบ้านวังหอน เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกหมู่ที่ 5 บ้านวังหอน ผู้มีใจรักเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมปลูกจิตสำนึกแก่ชาวบ้านในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำปากพนัง โดยการนำปุ๋ยชีวภาพมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำเขื่อนแม้วเพื่อชะลอการไหลของน้ำ จัดทำค่ายเยาวชน ค่ายสิ่งแวดล้อม และจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้า และกลุ่มเลี้ยงผึ้ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า และผู้เลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน แจ้งข่าวสารแก่สมาชิกในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านชุมชนบ้านวังหอนทุกคนนับถือศาสนาพุทธ แต่มีลักษณะควบคู่กับการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีสางเทวดา ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านวังหอนส่วนใหญ่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ เช่น ทวดน้ำเวียนหรือเทวดาน้ำเวียน ทวดเขารังต้อ ปู่เจ้าสมิงพราย (ปู่เจ้าฟ้า) ตาหลวงราม ตาหลวงแสง เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นบถือสูงสุดของชาวบ้านวังหอน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเชื่อว่าวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่คอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน ผู้กราบไหว้บูชาจะได้รับการช่วยเหลือ และผู้ลบหลู่จะได้รับโทษ

ทวดน้ำเวียน เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่บริเวณเขาคัดแข้ง มีลักษณะเป็นงูกเผือก หัวมีหงอนแบบหงอนไก่ ลำตัวขนาดเท่าต้นหมาก ความศักดิ์สิทธิ์ของทวดน้ำเวียนชาวบ้านเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีชายติดยาเสพติด 3 คน ได้เข้าไปทำลายรูปปั้นทวดพังทลาย ต่อมาไม่นานชายคนหนึ่งถูกรถชนตาย ส่วนอีก 2 คน จมน้ำตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าการตายของชายทั้ง 3 คน มีสาเหตุมาจากการถูกทวดลงโทษ

ทวดหรือเทวดาน้ำทะลุเขา เป็นเทวาสิงสถิตอยู่เชิงเขาทางทิศเหนือของหมู่บ้าน บริเวณที่มีน้ำทะลุเขาออกมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า ทวดน้ำทะลุเขา ชาวบ้านเชื่อว่าทวดน้ำทะลุเขามีกายหยาบเป็นงูใหญ่เพศเมีย เป็นภรรยาของทวดไร้สายแต่ไม่รู้ว่าสิงสถิตอยู่ที่ใด

ปู่เจ้าฟ้าหรือปู่เจ้าสมิงพราย เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่บริเวณศาลภายในโรงเรียนบ้านวังหอน ผู้เฝ้ารักษาเหล็กไหลในภูเขาต่าง ๆ และคอยปกปักรักษาคุ้มครองหมู่บ้าน

คนธรรพ์ สถิตอยู่ภายในถ้ำคนธรรพ์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่เข้าไปในถ้ำแห่งนี้หากมีบุญจะได้ยินเสียงระฆัง โดยเฉพาะเสียงระฆังที่ดังในวันเสาร์และวันอังคารจะปรากฏรอยเท้าคนธรรพ์ให้เห็นภายในถ้ำ

นอกจากนี้ชาวบ้านยังทีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นความเชื่อที่เล่าสืบทอดต่อกันมา ความเชื่อเกี่ยวกับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แม้ว่าปัจจุบันจะลดน้อยลง เนื่องจากขาดการเรียนรู้และสืบทอดจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านวังหอนในปัจจุบันก็ยังคงมีความพยายามที่จะสืบทอดฟื้นฟูและอนุรักษ์ความเชื่อดั้งเดิมเหล่านี้ให้คงอยู่ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอันจะประกอบสร้างเป็นคุณงามความดีของคนในชุมชนบ้านวังหอนต่อไป

ประเพณีและพิธีกรรม

บ้านวังหอนมีประเพณีพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติสืบทอดมาอย่างยาวนาน ทั้งประเพณีรอบปีและประเพณีชีวิต เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณีงานบวช ประเพณีตบวาด ประเพณีวันเปลี่ยนผ้าหลวงพ่อแสง เป็นต้น ประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านวังหอนที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีการถ่ายทอดและสืบทอดต่อไป

ประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวบ้านวังหอน มีดังนี้

ประเพณีวันสารทไทยหรือประเพณีชิงเปรต: เป็นประเพณีที่มีความสำคัญอย่างมากของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ภาคใต้ ในส่วนของชาวบ้านวังหอน มีการถือปฏิบัติประเพณีสารทเดือนสิบมาเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านจะเดินทางไปทำบุญที่วัดใกล้เคียง แต่ส่วนใหญ่จะไปทำบุญที่วัดพุทธโกษีย์ เนื่องจากเป็นวัดที่หลวงพ่อแสง ธมฺมสโร พระเถระที่ชาวบ้านวังหอนให้ความเคารพนับถือป็นเจ้าอาวาสอยู่

ประเพณีวันทุเรียนหล่น:  เป็นประเพณีใหม่ของชาวบ้านวังหอนที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เหตุผลของการจัดประเพณีวันทุเรียนหล่นนั้นสืบเนื่องมาจากพื้นที่บ้านวังหอนเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะต้นทุเรียนป่าที่มีจำนวนมากมายหลายพันต้น ภายในงานจะมีกิจกรรมประกวดผลไม้ อาหารในท้องถิ่น นวดแผนโบราณ แข่งขันกีฬา แข่งขันทูนทุเรียน และแข่งขันกินทุเรียน ซึ่งการจัดประเพณีวันทุเรียนหล่นนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนแล้ว ยังถือนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในชุมชน ให้ประชาชนภายนอกได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศแบบท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

หลวงพ่อแสง ธมฺมสโร: พระเถระที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ และเชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังความเชื่อว่าหลังจากหลวงพ่อแสงมรณภาพ ร่างของท่านไม่มีกลิ่นเหม็น แต่สรีระหรือร่างกายของท่านกลับแห้งแข็งกลายเป็นหินจนไม่มีผู้ใดกล้าเผาศพของท่าน ต่อมานายสนั่น และนางขุ้น ราชแสง พร้อมด้วยบุตร ได้สร้างโลงแก้วบรรจุร่างหลวงพ่อแสง แล้วสร้างมณฑปประดิษฐานไว้ที่วัดหอมพุทธาราม ร่างของหลวงพ่อแสงจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมความศรัทธาของชาวบ้านวังหอนและบริเวณใกล้เคียง ในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานวันเปลี่ยนผ้าจีวรให้ร่างหลวงพ่อแสง ซึ่งชาวบ้านวังหอนและประชนผู้มีทั่วไปผู้มีจิตศรัทธานับถือความศักดิ์สิทธิ์และคุณงามความดีของท่านจะเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

อนึ่ง เมื่อครั้งหลวงพ่อแสงยังมีชีวิตอยู่ ท่านยังเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตำราแพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยยังไม่อุปสมบท และยังเคยเป็นหมอรักษากระดูกหักโดยใช้ยาสมุนไพรและคาถาอาคมประกอบกัน คาถาที่ใช้เรียกว่า คาถาปัดเอ็นต่อกระดูก ในช่วงเวลานั้นมีประชาชนทั้งใกล้และไกลเดินทางมารับการรักษาจากหลวงพ่อแสงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลเพราะเชื่อว่ากลัวจะถูกตัดแขนตัดขาทำให้พิการไปตลอดชีวิต

นอกจากความเชื่อดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับอภินิหารคาถาแคล้วคลาดปลอดภัย วิชากำบังตัว ความเชื่อเรื่องการย่อระยะทาง ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง และความเชื่อเกี่ยวกับเหล็กไหล ความเชื่อเหล่านี้เป็นปัจจัยความคิดพื้นฐานที่ส่งผลให้ชาวบ้านวังหอน กลุ่มคนผู้อาศัยอยู่บนพื้นที่ป่าต้นน้ำห่างไกลความเจริญของบ้านเมืองสมัยใหม่ มีความเชื่อ ความศรัทธาเกี่ยวกับอภินิหารสิ่งศักดิ์เหนือธรรมชาติของหลวงพ่อแสง ธมฺมสโร  

ทุนทางภูมิปัญญา

การตบวาด  เป็นวิธีการจับแมลงชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ วาด ” แมลงชนิดนี้ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของคนในชุมชน สามารถนำมาผัดหรือคั่วเป็นอาหารหรือกับแกล้มของคอเหล้าคอสุรา การตบวาดภูมิปัญญาการจับแมลงวาดที่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนสืบทอดมา โดยนิยมจับในเวลากลางคืนที่เป็นวันข้างแรมเดือนมืด ผู้จับแมลงวาดจะนำน้ำมันตะเกียงหรือสมัยก่อนนิยมใช้ใต้ที่ทำมาจากน้ำมันยางมาจุดไฟให้แสงสว่าง แล้วใช้กิ่งไม้ปักไว้คู่กับแสงไฟ จากนั้นจะตบมือหรือเคาะกะลามะพร้าวให้เกิดเสียงดัง เมื่อแมลงวาดได้ยินเสียงดังก็จะบินลงมาจากยอดต้นไม้เข้ามาเกาะที่กิ่งไม้ข้างแสงไฟ ชาวบ้านจึงจะช่วยกันจับใส่ภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขวัญเรือน บุญกอบแก้ว, พิทยา บุษรารัตน์ และกานดารัตน์ วงศ์สุวรรณ. (2556). พัฒนาการและทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านวังหอน ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช. สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ชุมชนท่องเที่ยว. (ม.ป.ป.). “ชุมชนบ้านวังหอน” จ.นครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.chumchontongtiew.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-3794-7578, อบต.วังอ่าง โทร. 0-7584-5189