Advance search

สะเนพ่อง

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปบ้านเสน่ห์พ่องบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับมรดกภูมิปัญญาตำรับยาสมุนไพรสะเนพ่อง และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชน

หมู่ที่ 1
บ้านเสน่ห์พ่อง
ไล่โว่
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
อบต.ไล่โว่ โทร. 0-3459-5496
วิไลวรรณ เดชดอนบม
4 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
4 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
4 มิ.ย. 2024
บ้านเสน่ห์พ่อง
สะเนพ่อง


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปบ้านเสน่ห์พ่องบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับมรดกภูมิปัญญาตำรับยาสมุนไพรสะเนพ่อง และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชน

บ้านเสน่ห์พ่อง
หมู่ที่ 1
ไล่โว่
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.2226413911669
98.4812441468238
องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่

บ้านเสน่ห์พ่อง หรือ สะเนพ่อง เป็นชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปในจังหวัดกาญจนบุรี มีการก่อตั้งชุมชนมายาวนานนับหลายร้อยปี โดยในอดีตบ้านสะเนพ่องเป็นชุมชนหลักในพื้นที่ตัวเมืองสังขละบุรี เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ โดยชาวบ้านในอดีตมีความรักและหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ทั้งยังเป็นชุมชนที่มีวิถีความเชื่อแบบชนเผ่า และมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยในอดีตชุมชนมีการสร้างวัดด้วยไม้ไผ่ ซึ่งจะต้องรื้อและสร้างใหม่ในรอบประมาณ 2 ปี ตามสภาพการใช้งานของไม้ และในปี 2496 ชาวบ้านสะเนพ่องได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนประจำชุมชน ต่อด้วยการสร้างวัดที่มีความมั่นคงถาวรขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในปี 2510 เพื่อประดิษฐานพระแก้ว พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพศรัทธาของชุมชน

ในเวลาต่อมามีการย้ายถิ่นฐานของผู้คนเข้ามาในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทำให้มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ส่งผลให้พื้นที่ทำกินในชุมชนเริ่มไม่เพียงพอ ประชาชนมีปัญหาขัดแย้งกัน ทรัพยากรในท้องที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องการจัดการป่าไม้ในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งสังคมยังมีการเปลี่ยนแปลงตามความเจริญก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจ ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนไปจากอดีต มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ กลิ่นอายดั้งเดิมเริ่มเลือนหายไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านเสน่ห์พ่อง หมู่ที่ 1 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ห่างจากอำเภอสังขละบุรีประมาณ 29 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีประมาณ 227 กิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ในที่ราบ ที่ราบเชิงเขา ที่ราบในหุบเขา เป็นพื้นที่ป่าและภูเขาโดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95% ปกคลุมไปด้วยป่าไม้หลากหลายชนิด และมีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านตามร่องเขา โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านไล่โว่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกองม่องทะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเกาะสะเดิ่ง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอสังขละบุรี

ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านสะเนพ่อง ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยงโป หรือโพล่ง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านเสน่ห์พ่อง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,181 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 613 คน ประชากรหญิง 568 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 281 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

โพล่ง

ชาวบ้านเสน่ห์พ่องมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติซึ่งมีทรัพยากรธรรมที่อุดมสมบูรณ์ และประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักเกือบทั้งหมด ทำนา และไร่ข้าวเป็นหลัก และยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไปทำงานใช้แรงงานในเมือง

เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและมีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิต เป็นแหล่งรายได้ที่พอจะเลี้ยงครอบครัวได้อย่างพอเพียง และยังมีการปลูกพืชผักไว้รับประทาน ทุกครอบครัวจะทำไร่ข้าวเพื่อที่จะเก็บข้าวไว้กินในครัวเรือน โดยการทำนาทำไร่ส่วนใหญ่ไม่มีการจ้างแรงงาน มีเพียงการเอาแรง คือการที่ครัวเรือนใดใช้แรงงานจากเพื่อนบ้านในไร่นาของตนไปเท่าใด ครัวเรือนนั้นก็ต้องไปใช้คืนแรงงานให้แก่ครัวเรือนที่ตนเคยไปขอแรงมาในจำนวนเท่ากัน ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยและเอื้อเฟื้อต่อกันของคนในชุมชน พื้นที่ไร่ของแต่ละครอบครัวอยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก ช่วงที่ทำงานต้องทำอย่างต่อเนื่องและร่วมแรงร่วมใจกัน เช่น การดายหญ้า การหยอดข้าว การเกี่ยวข้าว การตีข้าว ทั้งนี้ในการทำไร่ข้าวก็จะมีการปลูกพริก ปลูกถั่วฝักยาว ปลูกฟักทอง ฯลฯ ไว้กินในครัวเรือนร่วมด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ประชากรในชุมชนนับถือพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และมีจารีตประเพณีที่เคร่งครัดที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและปฏิบัติสืบต่อกันมา

ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ในทุกวันพระชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าหุงหาอาหารเพื่อที่จะนำไปใส่บาตรและไปทำบุญที่วัด ฟังเทศนาที่วัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน หรือเป็นสถานที่ชุมชน ปรึกษาหารือระหว่างกันของสมาชิกภายในชุมชน นอกจากนี้ความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตซึ่งเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ ต้นไม้ เช่น หากมีเก้ง ตะกวด หรือเต่า เข้ามาในหมู่บ้านจะเว้นจากการฆ่า การทำร้าย เพราะเชื่อว่าอาจจะทำให้เกิดความเสียหายในหมู่บ้านได้ ทั้งยังมีประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ยังคงสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีวิถีฏิบัติในแต่ละช่วงเวลาของรอบปีที่แตกต่างกันไป เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีถวายราหุล ประเพณีบุญเรือถวายน้ำตาล ประเพณีออกพรรษา ประเพณีปีใหม่ชาวกะเหรี่ยงและวันสงกรานต์ ฯลฯ

ประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านสะเนพ่อง เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะจัดในวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งมีกิจกรรมทางความเชื่อที่ปฏิบัติร่วมกันคือ พิธีการตักบาตรใต้ต้นโพธิ์ โดยทำกันตั้งแต่เช้าตรู่บริเวณต้นโพธิ์ด้านหลังวัดสะเนพ่อง และนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันตักบาตรข้าวสุก และกรวดน้ำเพื่ออุทิศบุญกุศล ทั้งนี้พิธีกรรมดังกล่าวมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าในพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ใช้ต้นโพธิ์เป็นที่ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานคนกะเหรี่ยงจึงถือว่าต้นโพธิ์เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ และร่วมกันทำบุญตักบาตรใต้ต้นโพธิ์ เปรียบเสมือนการได้ตักบาตรต่อหน้าพระพุทธเจ้า

ภายหลังจากการตักบาตรใต้ต้นโพธิ์ ชาวบ้านนำไม้ไผ่ที่เตรียมมา มาทำพิธีการค้ำยันต้นโพธิ์ และนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย มาทำความสะอาดต้นโพธิ์เพื่อขอขมา โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การค้ำต้นโพธิ์ในวันมหาสงกรานต์ มีอานิสงส์ ส่งผลให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพแข็งแรง และยังเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ผ่านพ้นจากสิ่งไม่ดีทั้งปวงและเป็นการต่ออายุของตนเอง จากนั้นจะพากันไปยังบริเวณลำห้วยโรคี่ด้านหลังของวัด ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างสะพานไม้ไผ่ไว้สำหรับเดินทางข้ามลำห้วย ชาวบ้านจะตักน้ำในลำห้วยมาชำระล้างทำความสะพาน และนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาประพรม ก่อนที่เจ้าพิธีจะนำสวดและนำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาสะพาน โดยชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าการชำระล้างสะพานในวันสงกรานต์เหมือนการชำระล้างสิ่งสกปรกให้หมดไป พร้อมทั้งนำอุปสรรค์และสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ให้ออกไปจากชีวิต และร่วมกันปล่อยปลาที่นำมาจากแอ่งน้ำที่น้ำกำลังจะแห้งขอด เพื่อนำมาปล่อยในวันนี้ ซึ่งอานิสงส์ในการปล่อยปลาในวันสงกรานต์นั้นเชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุ มีอานิสงส์แรงกล้า ทำให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง ปราศจากโรคาพยาธิ รอดพ้นจากความตาย ได้บุญมาก เสร็จจากพิธีการปล่อยปลาคืนสู่ลำน้ำแล้วจึงมีการเล่นน้ำ โดยมีการนำน้ำในลำห้วยโรคี่ มาละเล่นสาดใส่ในบริเวณลำห้วยกันพอประมาณ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

ที่ดิน พื้นที่ของหมู่บ้านมีทั้งหมดประมาณ 1,320 ไร่ และพื้นที่ทำกิน 1,280 ไร่ เป็นพื้นที่เขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ และกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ชาวบ้านสามารถจับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นำชุมชน ซึ่งชาวบ้านจะเปลี่ยนที่ดินทำกินไปเรื่อย ๆ หมุนเวียนไปในแต่ละรอบปี

แหล่งน้ำ เนื่องจากพื้นที่ชุมชนอยู่ในผืนป่าและภูเขาล้อมรอบ แหล่งน้ำจืดที่ใช้ในชุมชนจึงเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ทั่วบริเวณชุมชน โดยมีลำห้วยสำคัญไหลผ่านชุมชน คือ ห้วยน้ำแม่โรคี่ และห้วยที่พูปู่ และยังมีร่องน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านโดยทั่วไป ซึ่งในฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำมาก ชุมชนใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติเพื่อการอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี

ป่าไม้ พื้นที่ชุมชนมีภูเขาและป่าไม้ล้อมรอบ ซึ่งเป็นบริเวณที่ทรัพยากรป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก โดยเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพรรณไม้หลากหลายกระจายอยู่โดยทั่วไปรอบบริเวณผืนป่า และชุมชน ทั้งที่เป็นป่าประกอบด้วยทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทำให้มีพืชหลากชนิดที่เป็นพืชสมุนไพรเกิดขึ้นโดยทั่วไป เป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อชาวบ้านมาก ในการใช้เป็นยาสมุนไพร ทั้งยังใช้ประโยชน์จากป่าไม้สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย นำมาประกอบอาหาร และทำเป็นสมุนไพรเป็นยารักษาโรค นอกจากนี้ในผืนป่ารอบบริเวณชุมชนยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถจับมาประกอบอาหารเพื่อรับประทานในครัวเรือนได้อีกด้วย

ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร

สมุนไพรเป็นยาพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรรวมถึงเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับชาวบ้านสะเนพ่องมาอย่างยาวนาน และยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก แม้ในปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้านสะเนพ่องโดยทั่วถึง สมุนไพรและตำรับยาของหมอยาบ้านสะเนพ่องเป็นความรู้เรื่องสมุนไพรที่นำมารักษาคน รวมถึงนำสมุนไพรไปให้สัตว์กิน เมื่อสัตว์ไม่แข็งแรงหรือล้มป่วย และชาวบ้านสะเนพ่องยังมีภูมิความรู้ในการใช้ยาสมุนไพรด้วยตนเอง ในกรณีที่เจ็บป่วยมีอาการไม่สบายที่ไม่รุนแรง คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนยังคงรู้จักใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษาตนเองเวลาเดินทางเข้าไปทำงานในป้าหรือไปหาของป่า และมีวิธีการนำส่วนต่าง ๆ ของพืชมาใช้ ส่วนใดใช้รักษาโรคอะไร และใช้อย่างไร ใช้ด้วยวิธีการต้ม หรือนำมาบดแล้วต้ม เช่น ต้นชะมวง ดอกดินแดง นำมาทานโดยการต้มหรือบดแล้วนำมาพอกที่แผลเพื่อลดอาการบวมช้ำ ถ้าต้องใช้ในปริมาณมาก ชาวบ้านจะต้องให้หมอยาเป็นผู้แนะนำ โดยหมอยาในชุมชนใช้ตำรายาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษหลายตำรับ เช่น ตำรับยาแก้โรคเหน็บชา ตำหรับยาแก้หญิงตกเลือด ตำหรับยาแก้โรคหัวใจ ตำหรับยาแก้หัดหลบใน ตำหรับยาแก้ไข้ตัวร้อน ตำหรับยาแก้ปวดหัว ปวดเมื่อย บำรุงร่างกาย ฯลฯ

ภาษาพูด : โพล่ง ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ลิวา ลิโรเหม่ ไทย


ทุ่งใหญ่นเรศวร
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขวัญชัย ประดิษฐสิน. (2553). สมุนไพรและตำรับยาสมุนไพรในสะเนพ่อง: กรณีศึกษากะเหรี่ยงโปว์บ้านสะเนพ่อง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.

สังขละบุรี. (2562). สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Sangklaburi.Thailand

องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่. (2559). สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2567, จาก จาก https://www.facebook.com/

อบต.ไล่โว่ โทร. 0-3459-5496