กลุ่มผู้คนที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเกาะเพื่อประกอบอาชีพประมง จนกลายเป็นชุมชนบนพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ และการรวมกลุ่มผลักดันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
บ้านสลักคอกตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชน โดยชุมชนตั้งอยู่บนอ่าววงกลมลักษณะคล้ายคอกสัตว์ มีทางออกเป็นทะเลช่องแคบ ๆ และมีเกาะสลักตั้งอยู่ด้านหน้ากลางทะเลทางด้านทิศตะวันตก
กลุ่มผู้คนที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเกาะเพื่อประกอบอาชีพประมง จนกลายเป็นชุมชนบนพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ และการรวมกลุ่มผลักดันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
บ้านสลักคอกตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชน โดยชุมชนตั้งอยู่บนอ่าววงกลมลักษณะคล้ายคอกสัตว์ มีทางออกเป็นทะเลช่องแคบ ๆ และมีเกาะสลักตั้งอยู่ด้านหน้ากลางทะเลทางด้านทิศตะวันตก ในอดีตพื้นที่ชุมชนมีคนอยู่อาศัยมาก่อนไม่กี่หลังคาเรือน โดยเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา และทำอาชีพประมงเป็นหลัก ใช้เรือแจวหรือเรือใบในการเดินทางคมนาคมในพื้นที่เป็นหลัก ต่อมามีชาวกัมพูชาส่วนหนึ่งที่อพยพหนีสงครามมาจากบริเวณเกาะกงเข้ามาอาศัยในชุมชนตามริมฝั่งคลอง โดยประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และในระยะต่อมาก็มีความกลมกลืนทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทย และมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เป็นคณะกรรมการชุมชน และร่วมกันพัฒนาชุมชน ให้ความร่วมมือกับสมาชิกในหมู่บ้านในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี
ชุมชนบ้านสลักคอกตั้งอยู่ที่อ่าวสลักคอก บนพื้นที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเกาะ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเรืออ่าวสับปะรดประมาณ 22 กิโลเมตร บ้านสลักคอกมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,080 ไร่ และมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 800 ไร่ พื้นที่อ่าวสลักคอกเป็นเวิ้งน้ำทะเลขนาดเล็ก พื้นที่บนฝั่งเป็นมีสภาพเป็นภูเขาเป็นทิวโอบล้อมจนถึงปากอ่าว โดยเป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะค่อนข้างปิด บริเวณริมชายฝั่งของอ่าวเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าชายเลนที่ขึ้นอย่างหนาแน่นรวมเป็นพื้นที่กว่า 500 ไร่ ซึ่งช่วยในการดูแลระบบนิเวศทางทะเลและการรักษาพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวสลักคอกได้เป็นอย่างดี ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านสลักคอก ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 551 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 278 คน ประชากรหญิง 273 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 253 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ประชากรในชุมชนบ้านสลักคอกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักด้านการประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งประมงพื้นบ้านที่สำคัญของเกาะช้าง และนอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชมรมท่องเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกตั้งปี พ.ศ. 2548 โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อส่งเสริมและก่อให้เกิดประโยชน์ทางการท่องเที่ยว ซึ่งในอดีตชาวบ้านจะใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตเป็นหลัก การผลักดันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ชุมชน จากพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นทุนเดิม ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน โดยแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวของกลุ่มชมรมท่องเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ดำเนินไปในลักษณะของการเชิญชวนให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนสลักคอกให้คงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป การท่องเที่ยวชุมชนยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นรายได้เสริม เช่น การทำผ้าบาติก การทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากใบยาง และนอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังใช้โอกาสนี้ในการประกอบธุรกิจการค้าขาย เพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาในชุมชน มีทั้งของกิน ของใช้ ร้านอาหาร ร้านสินค้าที่ระลึก ซึ่งช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของชุมชนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ชุมชนบ้านสลักคอกเป็นชุมชนที่ยังคงวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยโดยทั่วไป มีการสื่อสารพบปะพูดคุยกันของสมาชิกในชุมชน ทั้งผ่านระบบวิถีความสัมพันธ์ของกลุ่มชาวบ้าน และการประชุมประชาคมประจำเดือน และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง ชุมชนมีความเชื่อตามคติทางพระพุทธศาสนา และมีประเพณีวัฒนธรรมตามขนบแบบประเพณีไทยโดยทั่วไป เช่น การรำกลองยาว การจัดงานประเพณีประจำปี การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา และการเล่นสะบ้าล้อ ฯลฯ
หมู่บ้านสลักคอกมีวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ วัดวัชคามคชทวีป ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2427 พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองตราดถึง 12 ครั้ง และเสด็จเยือนเกาะช้างทั้ง 12 ครั้ง โดยได้เสด็จทางชลมาตรโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี ด้วยเหตุที่วัดแห่งนี้ยังไม่มีพระอุโบสถ ราษฎรจึงกราบบังคมทูลให้ทรงเหยียบเลือกพื้นที่สำหรับสร้างพระอุโบสถ จากนั้นเจ้านายข้าราชการจึงรวบรวมเงินกันเพื่อสร้างพระอุโบสถ และสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2442 นับเป็นเวลา 15 ปีจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงเหยียบเลือกพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง ทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีประเพณีการรำลึกถึงการเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 ที่จัดขึ้นที่วัดอีกด้วย
บ้านสลักคอก ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ด้วยพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่บนเกาะช้างทางด้านทิศใต้ ที่มีลักษณะพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นอ่าวลึกเข้าไปในพื้นที่เกาะ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะช้าง ซึ่งกินบริเวณพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ ส่งผลให้มีทรัพยากรสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก พื้นที่จึงมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์และมีความสวยงาม จึงเป็นเหตุให้มีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในชุมชนจัดตั้งเป็นชมรมท่องเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เพื่อใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ที่นอกจากจะใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันตามวิถีชุมชนที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต มาประยุกต์และสร้างสรรค์ในด้านการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มเติม โดยเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบของการอนุรักษ์ สร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าในการรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยทุนทรัพยากรทางธรรมชาติของท้องถิ่นร่วมกับการผลักดันและการร่วมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนอย่างเข้มแข็งทำให้พื้นที่บ้านสลักคอกเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของเกาะช้างที่นักท่องเที่ยวจะไม่พลาดชม และแวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน โดยสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนสลักคอกได้แก่ นั่งเรือชมพื้นที่ป่าชายเลน พายเรือชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลน ชมธนาคารปูประจำชุมชน ชมวัดสลักคอก จุดซื้อสินค้าที่ระลึกของชุมชน ฯลฯ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ทิพย์สุดา พุฒเจร. (2556). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนสลักคอก จังหวัดตราด. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิยาลัยศิลปากร.
ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก. (2567). สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/SalakKhokKayakStation/