Advance search

จากกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวตามพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นชุมชนบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สู่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำพื้นที่พัฒนาศักยภาพชุมชน

หมู่ที่ 1
บ้านแม่ต๋ำ
เสริมซ้าย
เสริมงาม
ลำปาง
ทต.เสริมซ้าย โทร. 0-5483-6230
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 มิ.ย. 2024
บ้านแม่ต๋ำ

บ้านแม่ต๋ำตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของแหล่งน้ำในพื้นที่บริเวณชุมชน คือ ลำน้ำแม่ต๋ำ


ชุมชนชนบท

จากกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวตามพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นชุมชนบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สู่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำพื้นที่พัฒนาศักยภาพชุมชน

บ้านแม่ต๋ำ
หมู่ที่ 1
เสริมซ้าย
เสริมงาม
ลำปาง
52210
17.9248069673223
99.1504767537117
เทศบาลตำบลเสริมซ้าย

แต่เดิมพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านแม่ต๋ำเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์น้ำ ป่าไม้ และลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน โดยชาวบ้านใช้พื้นดินบริเวณที่ลาดเชิงเขา เนินเขาที่ชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม โดยมีชาวบ้านเข้ามาสร้างเพิงที่พักแบบชั่วคราวตามหัวไร่ปลายนาของตนเอง ในระยะแรกนั้นที่ผู้คนอาศัยอยู่เพียง 6-7 ครอบครัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ครูบาขาวปี วัดพระบาทผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้นำชาวบ้านบุกเบิกถนนสายลี้-เสริมงาม และได้สร้างสำนักสงฆ์แม่ต๋ำขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนจากพื้นที่ใกล้เคียงอพยพโยกย้ายเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อจับจองพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ก่อให้เกิดเป็นชุมชนใหม่ขึ้นหลายชุมชนทั่วบริเวณแถบนั้น เช่น บ้านนาจะลา บ้านสบแม่ทำ บ้านนาไผ่ บ้านนาเดา ฯลฯ และชุมชนบ้านแม่ต๋ำก็ขยายชุมชนใหญ่ขึ้นด้วย เหตุที่ได้ชื่อว่าบ้านแม่ต๋ำนั้นมาจากชื่อของแม่น้ำที่เรียกต่อ ๆ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า แม่น้ำแม่ต๋ำ จึงได้ใช้เป็นชื่อชุมชนเรื่อยมา เดิมบ้านแม่ต๋ำเป็นพื้นที่หนึ่งของบ้านนาจะลา ตำบลเสริมซ้าย ต่อมาทางการได้แบ่งแยกตำบลเสริมซ้ายออกเป็นสองตำบล คือตำบลเสริมซ้ายเดิม และตำบลเสริมกลาง โดยชุมชนบ้านแม่ต๋ำยังขึ้นตรงกับตำบลเสริมซ้ายมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ลักษณะทางภูมิศาสตร์ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ราบระหว่างเชิงเขา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำ ทำให้มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสบแม่ทำ และบ้านนาจะเลา ตำบลเสริมซ้าย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่บอนเหนือ อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแก่น และบ้านดง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโป่งแดง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 644 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 331 คน ประชากรหญิง 313 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 231 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำข้าวไร่ ปลูกถั่วลิสง ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีการเลี้ยงสัตว์ และอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อสร้างรายได้เสริม

ในปี พ.ศ. 2527 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมชาวบ้านวัดบ้านเหล่ายาว ตำบลเสริมกลาง และได้เสด็จเยี่ยมชุมชนบ้านต๋ำในวันนั้นด้วยโดยไม่มีหมายกำหนดการ หลังจากนั้นมีโครงการพัฒนาหมู่บ้านแม่ต๋ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน โดยกิจกรรมภายในศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำประกอบด้วย การทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา (เซรามิก) การแกะสลัก งานจักสานไม้ไผ่ แปลงสาธิตการเกษตร ปศุสัตว์โครงการพัฒนาบ้านแม่ต๋ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นการส่งเสริมทักษพอาชีพ และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน ทำให้มีรายได้เข้ามาในครัวเรือนเพื่อยังชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำมีกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อยู่ 4 ประเภท ประกอบด้วย

1.กลุ่มงานเครื่องปั้นดินเผา ดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกในลักษณะของชิ้นงานเป็นประเภทของประดับตกแต่ง งานรูปแบบลอยตัว ของใช้ แจกัน อ่างบัว ฯลฯ ผลิตภัณฑ์จะจำหน่ายในพื้นที่และส่งกองศิลปาชีพ  รายได้จากการจำหน่ายนำเข้าบัญชีของโครงการฯ สมาชิกจะได้รับคำตอบแทนเป็นเงินรายวันและแบบรายเดือน

2.กลุ่มแกะสลักไม้ งานที่ดำเนินการ ได้แก่ การฝึกอบรมสมาชิกจัดทำผลิตภัณฑ์และรูปแบบที่มีความหลากหลาย ได้แก่ การแกะสลักไม้จากตอไม้ เป็นรูปสัตว์ สัตว์ในวรรณคดี และดอกไม้ตามจินตนาการ ในลักษณะแบบนูนสูง นูนต่ำ และลอยตัวฯ โดยชิ้นงานส่งไปยังกองศิลปาชีพเพื่อประเมินราคา สมาชิกจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินรายวันและค่าชิ้นงานตามความสามารถของตัวเอง

3.กลุ่มจักสานไม้ไผ่ งานที่ดำเนินการ ได้แก่ การทำเครื่องจักสานแปรรูปจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายตามธรรมชาติ ทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น เป็นเข่งสำหรับใส่ขยะ เข่งใส่ของทั่วไป ตะกร้า ไซ เข่งตาห่าง ชิ้นงานที่ได้จะจำหน่ายในพื้นที่ รายได้จากการจำหน่ายนำเข้าบัญชีของโครงการฯสมาชิกจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินรายวัน

4.กลุ่มทอผ้า งานที่ดำเนินการ ได้แก่ การเบิกเส้นไหมและฝ้ายจากกองศิลปาชีพแจกจ่ายให้กับสมาชิกทำการทอ ได้แก่ ทอผ้าฝ้ายพื้น ผ้าฝ้ายลายดอก ทอผ้าไหมลายยกดอกต่าง ๆ โดยชิ้นงานส่งไปยังกองศิลปาชีพเพื่อประเมินราคา สมาชิกจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินรายวันและค่าชิ้นงานตามความสามารถ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย. (ม.ป.ป.). ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://archive.sacit.or.th/

สุทัน ทาวงศ์มา. (2544). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของหมู่บ้าน บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง. สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทต.เสริมซ้าย โทร. 0-5483-6230