ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมกับการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมกับการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์
บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนบ้านเมืองแพมในอดีตเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่ได้เข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือนและที่ทำกิน รวมไปถึงสร้างวัดและสถานที่สำคัญต่าง ๆ จนก่อตัวเป็นชุมชน สังเกตได้จากมีหลักฐานซากเมืองเก่า และเจดีย์โบราณตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ก่อนจะมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกันไปจากพื้นที่ เนื่องจากเกิดปัญหาสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นใช้พื้นที่ชุมชนเป็นเส้นทางในการเดินทางผ่านไปยังประเทศเมียนมา ทำให้ชาวลัวะต้องหลีกหนีภัยสงคราม เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบของชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากนั้นก็มีชาวไทยใหญ่ย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แทนที่ โดยอาศัยบริเวณพื้นที่สบห้วยปลามุงลงมาจนถึงบริเวณบ้านเมืองแพมในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมากลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญออพยพมาจากบ้านแม่เย็น อำเภอปาย และห้วยปูลิง อำเภอเมือง เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเมืองแพมในราวปี พ.ศ. 2500 ซึ่งในระยะแรกมีบ้านเรือนอาศัยอยู่เพียง 18 ครัวเรือน และขยายตัวเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น โดยชุมชนได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านเมืองแพมอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2504 จวบจนถึงปัจจุบัน
บ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีหุบเขา ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในบริเวณที่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา บริเวณไหล่เขา ทั้งยังมีพื้นที่ที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีถ้ำที่สวยงาม จุดชมวิวบนภูเขาสูง และมีป่าไม้ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี
โดยสภาพอากาศของพื้นที่ชุมชนในตำบลถ้ำลอดมีลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ประกอบด้วย ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุก อากาศเย็นสบาย เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างหนาวมากถึงหนาวจัด โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดประมาณ 5-13 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวชมหมอกในยามเช้าและชุมพระอาทิตย์ขึ้น ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 40-42 องศาเซลเซียส
บ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 616 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 320 คน ประชากรหญิง 296 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 182 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอบ้านเมืองแพม ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา ไหล่เขา โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยชาวบ้านใช้พื้นที่เชิงเขาและไหล่เขาเพื่อทำการเกษตร มีการผลิตข้าวแบบนาดำ นาขั้นบันได การทำข้าวไร่ และการทำไร่พืชชนิดต่าง ๆ ระบบการผลิตในชุมชนโดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อเก็บไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก มีการปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง หาเก็บพืชผักจากป่าธรรมชาติ จับสัตว์น้ำในลำห้วย หรือแหล่งน้ำในบริเวณชุมชนมาประกอบอาหาร การทำนาขั้นบันไดของชาวบ้านจะอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติตามฤดูกาล โดยเริ่มทำนาในช่วงเดือนมิถุนายน ในการทำข้าวไร่ ชาวบ้านจะเริ่มทำในช่วงเดือนมีนาคม โดยพันธุ์ข้าวที่นิยมใช้เพาะปลูก ได้แก่ บือเพอคำ หรือบือหล่อโข่บอ บือเชียงดาว และบือเอาะส่า
ส่วนการทำไร่หมุนเวียน ชาวบ้านมีการจัดการที่ดินเพื่อเพาะปลูกโดยแต่ละครอบครัวจะมีที่ดินเพาะปลูกประมาณ 4-5 แปลง เพื่อปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ หลากหลายชนิดในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านก็จะหมุนเวียนไปเพาะปลูกในพื้นที่อื่นต่อไป โดยจะเวียนกลับมาทำไร่ในพื้นที่เดิมในช่วงระยะประมาณทุก ๆ 5 ปี
วัฒนธรรมประเพณี
ชาวปกาเกอะญอบ้านเมืองแพม มีประเพณีท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำในรอบปีที่ทำในหมู่บ้าน ทั้งด้านความเชื่อท้องถิ่น และความเชื่อด้านการทำการเกษตร ได้แก่
1. ประเพณีความเชื่อด้านการทำเกษตรกรรม
- พิธีเลี้ยงหัวฝาย จะจัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเดือน 6- เดือน 7 เป็นการขอโทษและขอพรจากผีป่า ผีแม่น้ำ เพื่อขอให้ดูแลน้ำและข้าวให้อุดมสมบูรณ์ โดยเป็นพิธีเฉพาะผู้ที่ใช้น้ำเหมืองที่เดียวกันในการเพาะปลูก
- การเลี้ยงผีไร่ ผีนา (แซ่คึแซ่ฉี่) จัดในช่วงเดือน 8 โดยต้องให้ฮี่โข่ เป็นคนเลี้ยงก่อน แล้วคนอื่นค่อยเลี้ยงได้
- ประเพณีกินข้าวใหม่ (อ่อบื่อโข่) จัดขึ้นระหว่างเดือน 10 - 12 โดยจัดขึ้นภายในครอบครัว และมีการทำพิธีมัดมือก่อนตีข้าว (กี่ลอจือ) ซึ่งจะทำในช่วงเดือน 1 เดือน 2 หลังจากนำข้าวมาถึงบ้านแล้ว ตำ ต้มเหล้า มีคนเฒ่าคนแก่มาให้พร และขอบคุณผู้ที่ให้ผลผลิต เจ้าของไร่ เจ้าของนา
- พิธีเลี้ยงผีน้ำ หรือผีเจ้าที่ เนื่องจากในการเจ็บป่วยชาวบ้านเชื่อวาอาจมีสาเหตุมาจากการทำผิดผี และต้องมีการสันนิษฐานว่าผิดผีอะไร เช่น ผีน้ำ ผีป่า ผีเจ้าที่ จึงต้องเลี้ยงผีเพื่อขอขมา
2. ประเพณีวัฒนธรรมชุมชน
- พิธีมัดมือ (กี่จือ) จะทำพิธีในช่วงเดือน 2 ในวันขึ้น 13 ค่ำ และขึ้น 14 ค่ำ โดยมีผู้นำหมู่บ้าน (ฮีโข่) เป็นหลักในการทำพิธี
- พิธีเรียกขวัญ (ก๊อเก่อลา) โดยหมอผีเป็นคนทำพิธี ซึ่งจะทำการเรียกขวัญกับต้นไม้โดยมีความเชื่อว่าขวัญจะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ จากนั้นจะทำพิธีมัดมือให้กับผู้เรียกขวัญ
- ประเพณีแต่งงาน โดยฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายไปขอฝ่ายชาย เพราะถือว่าฝ่ายหญิงเป็นผู้สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเป็นผู้ปกครองในการตั้งหลักปักฐาน
- ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ การขึ้นบ้านใหม่จะขึ้นเดือนไหนก็ได้ ยกเว้นเดือนเมษายน เพราะเป็นเดือนที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเดือนที่ไม่ดี
- พิธีเลี้ยงเจ้าเมือง การเลี้ยงเจ้าเมืองจะมีการเลี้ยงปีละ 1 ครั้ง ก่อนที่จะลงพืชผลทางการเกษตร ในฤดูกาลเพาะปลูก
- ประเพณีขึ้นปีใหม่ ในพิธีจะมีการขอขมาปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และการขึ้นวัด ซึ่งจะตรงกับช่วงปีใหม่ไทย
- พิธีกรรมเกราะหยี่ ความสำคัญของพิธีเกราะหยี่ คือ เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อขอพรบรรพบุรุษให้ปกป้องคนในชุมชนไม่ให้วิญญาณร้ายนำโรคระบาดเข้ามาทำร้ายคนในชุมชน รวมไปถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เจ็บป่วยหรือล้มตาย ซึ่งงานจะจัดบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน โดยการนำไม้มาประกอบเป็นสัญลักษณ์ติดไว้ตรงรั้วกั้นทางเข้าหมู่บ้าน ที่เรียกว่า ตะแหลว หรือไม้ที่นำมาสานกันเป็นหกเหลี่ยม และมีการนำหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลม รวมถึงหุ่นมาตั้งไว้ จากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณหรือที่ขาวปกาเกอะญอเรียกว่า ฮีโข่ จะประกอบพิธีกรรมทำการสวดคาถาเพื่อสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติเพื่อให้ปกป้องคุ้มครอง หลังจากนั้นก็จะมีการขอพรเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้านในชุมชน
ภูมิปัญญาชุมชน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านเมืองแพมคือ การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผ้าทอกะเหรี่ยง นับว่าเป็นผ้าทออีกชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องรูปแบบลวดลาย การทอผ้าของผู้หญิงเมืองแพมนั้น มีทั้งการทอไว้ใช้ การทอและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย โดยการใช้สีย้อมจากธรรมชาติที่ได้จากการหาวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้ ลูกไม้ โดยจะนำใยฝ้ายไปต้มกับวัตถุดิบกับธรรมชาติ และถ้าอยากให้สีติดทนนานขึ้นก็จะใส่ขี้สนิมที่ได้จากในแอ่งน้ำมาต้มด้วย จากนั้นล้างออกให้สีตกและนำไปผึ่งในที่ร่ม สีที่นิยมใช้ เช่น สีเขียวอ่อน จะได้จากไม้เพกาผสมกับสารส้ม สีน้ำตาลจะได้จากไม้สัก ฯลฯ จากนั้นนำไปทอโดยใช้กี่เอวทอมือ ปักลายผ้าให้สวยงาม ส่วนมากลายผ้าจะเป็นดอกไม้ต่างๆ ที่ชาวบ้านพบเห็นคุ้นเคย
งานจักสาน ชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ในการสานเป็นหลัก นำไม้ไผ่ในป่ามาเหลาด้วยมีด จากนั้นนำไม้ไผ่มาสาน ส่วนมากจะสานสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กระบุง ตะกร้า กระด้งฝัดข้าว ฯลฯ
งานแกะสลัก งานแกะสลักของชาวบ้านจะขึ้นชื่อในการแกะงานชิ้นเดียว จะไม่มีการนำชิ้นส่วนอื่นมาต่อประกอบทั้งสิ้น จึงต้องอาศัยความชำนาญของช่างเป็นอย่างมาก ใช้ความละเอียด ประณีต โดยส่วนใหญ่จะแกะสลักไม้เนื้อแข็งเป็นหลัก เช่น ไม้สัก
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีทักษะในเรื่องของการใช้สมุนไพรต่างๆ โดยมีหมอเสวา เป็นหมอสมุนไพรชาวบ้านที่มาสอนเกี่ยวกับสมุนไพรต่าง ๆ ที่ได้จากการหาในป่า เช่น พญาเสือโคร่ง นำมาต้มกินจะช่วยเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย และยังมีสมุนไพรอื่น ๆ อีกมากมายที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพาเกื้อหนุนกัน
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ, ไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรไทย
บ้านเมืองแพม CBT Muang Paem. (2567). สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/cbt.muangpaem
เยลลี่ ฮานะ. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านเมืองแพม. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.tripniceday.com/place/ชุมชนบ้านเมืองแพม
วิลาสินี ขาวเขียว. (2564). “เกราะหยี่” พิธีกรรมปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโควิด-19 ของชาวปกาเกอะญอ ชุมชนบ้านเมืองแพม ตำบลถ้าลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
MGR Online. (2559). ขึ้นดอยเที่ยว “หมู่บ้านเมืองแพม” สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมชาวปกาเกอะญอ ชม “ถ้ำยาว” หินงอกหินย้อยสมบูรณ์. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://mgronline.com/travel/