ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบนพื้นที่ภูเขาสูง และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง กับวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบนพื้นที่ภูเขาสูง และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง กับวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
บ้านบวกอุ้ม ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการเข้ามาของผู้คนในช่วงปี พ.ศ. ใด บ้านบวกอุ้มแบ่งชุมชนออกเป็นสองหย่อมบานคือ หย่อมบ้านบวกอุ้ม และหย่อมบ้านห้วยแซก พื้นที่ตั้งชุมชนเดิมอยู่ห่างจากบริเวณชุมชนปัจจุบันออกไปทางด้านทิศใต้ประมาณ 300 เมตร ก่อนจะมีการโยกย้ายมายังทีตั้งในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความไม่เหมาะสมต่อการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ในปี พ.ศ. 2533 ชาวบ้านจึงอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนอยู่บนสันเขา ซึ่งเป็นชุมชนเรียงรายไปตามแนวเขา โดยในอดีตชุมชนขึ้นอยู่กับเขตหมู่บ้านเปียงซ้อ ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ บ้านบวกอุ้มจึงแยกชุมชนออกมาและขึ้นตรงกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านบวกอุ้ม ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน และตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีระยะห่างประมาณ 64 กิโลเมตร โดยเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนสันเขาสูง รายล้อมไปด้วยหุบเขา ร่องเขา เรียงรายสลับซับซ้อน และเป็นพื้นที่ป่าโดยรอบชุมชน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่านพื้นที่ชุมชนซึ่งจะมีน้ำในช่วงฤดูฝน พื้นดินเป็นดินสีแดงหรือดินลูกรัง เนื้อดินระบายน้ำได้ดีแต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ชาวบ้านจึงใช้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบวกหญ้า อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเปียงซ้อ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านด่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
บ้านบวกอุ้ม ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ชาวบ้านเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ประชาชนมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติเป็นส่วนใหญ่ มีครอบครัวในลักษณะของครอบครัวขยาย คือมีสมาชิกครอบครัวหลายรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ประกอบไปด้วย ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก และหลาน แต่มีบางครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว เนื่องจากเมื่อมีการสร้างครอบครัวใหม่ และมีความพร้อม ก็จะแยกตัวออกมาสร้างบ้านเป็นของตนเอง แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ไม่ได้ห่างกันมานัก และยังมีการไปมาหาสู่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นปกติ
โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 14 บ้านบวกอุ้ม ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 329 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 176 คน ประชากรหญิง 153 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 88 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ลัวะ (ละเวือะ)ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินในชุมชนเพื่อทำการเกษตร เช่น การทำไร่ข้าว โดยในการทำไร่ข้าวนั้นจะทำปีละครั้ง ชาวบ้านจะหยอดเมล็ดข้าวไว้ก่อนช่วงฤดูฝน ประมาณปลายเดือนเมษายน และอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เจริญเติบโตจนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ถั่ว แตงไร่ ฟักทอง พริก ละหุ่ง ผักกาดเขียว ฯลฯ แต่ละครัวเรือนจะถือครองที่ดินทำกินประมาณ 3-5 แปลง โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครอง แต่เป็นการสร้างข้อตกลงและรับรู้ร่วมกันว่าพื้นที่ส่วนไหนเป็นของครอบครัวใด นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการเลี้ยงสัตว์สำหรับไว้บริโภคในครัวเรือน หรือจำหน่ายให้กับพ่อค้า เช่น วัว ควาย หมู และเป็น ฯลฯ
ชาวบ้านบวกอุ้มเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ มีความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมตามประเพณีของชุมชนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ในการทำไร่ข้าว หลังจากที่ปลูกข้าวไปจนถึงข้าวออกรวง ชาวบ้านจะมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าว หรือพิธีดอกแดง ซึ่งมาจากสีของดอกข้าวที่มีลักษณะเป็นสีแดงอ่อน ๆ ทำพิธีโดยการนำสัตว์ไปเซ่นไหว้ผีไร่ ไม่ว่าจะเป็นหมูหรือไก่ตามแต่ละครอบครัว โดยชาวบ้านเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีดอกแดงจะทำให้คนในครอบครัวล้มป่วย ข้าวในไร่ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวชาวบ้านก็จะทำพิธีในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้งหนึ่ง
ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือวันกำ ซึ่งจะมีทั้งหมด 10 วัน ประกอบด้วย ด๊าบ วาย มึง เปิด กัด คด ลวง เต่า กา และขาบ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยชาวบ้านเชื่อเรื่องของวันกำคือวัน ด๊าบ โดยเป็นวันที่ชาวบ้านจะงดการทำกิจกรรมการทำงานต่าง ๆ ภายในไร่ ถ้ามีการทำงานในวันนี้จะทำให้มีอาการเจ็บป่วย แต่ยังสามารถออกไปหาของป่า พบปะเพื่อนบ้าน หรือตำข้าวเพื่อหุงหาอาหารในครัวเรือนได้ตามปกติ
ความเชื่อในงานพิธีศพ หากมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ญาติพี่น้องและชาวบ้านจะมาร่วมงาน ซึ่งเจ้าภาพจะประกอบอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานในคืนวันนั้น โดยชุมชนมีวิถีการเก็บศพคนตายไว้เพียง 1 คืน เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นก็จะนำศพไปฝังโดยไม่มีการทำป้ายชื่อบอก
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องผีเมือง ซึ่งมีศาลอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้าน เป็นศาลของผีเมืองที่ปกปักรักษาผืนป่า โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากใครเข้าไปตัดไม้ในพื้นที่บริเวณนี้ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และล้มป่วยได้ ชาวบ้านจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าดังกล่าว
ทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นที่ป่าผีเมือง เป็นพื้นที่ผืนป่าที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าเป็นป่าที่เป็นที่อยู่ของผีเมือง คอยปกปักรักษาอยู่ ชาวบ้านจึงไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ในบริเวณผืนป่าดังกล่าว เพราะกลัวว่าอาจจะทำให้มีอาการล้มป่วย หรือเกิดอันตรายกับชีวิต
ป่าฟื้นฟู พื้นที่บริเวณป่าฟื้นฟูเดิมทีเป็นไร่สำหรับทำการเกษตรและปลูกข้าวของชาวบ้าน แต่ในปี พ.ศ. 2544 ทางกรมป่าไม้ได้จัดให้หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน่านเข้ามาดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูทดแทนทรัพยากรเดิมในพื้นที่ที่ถูกทำลายไป โดยมีเนื้อที่ประมาณ 4,600 ไร่ โดยชุมชนร่วมแรงกันปลูกและดูแลรักษา
แหล่งน้ำ พื้นที่ชุมชนบ้านบวกอุ้มมีลำห้วยลายเล็ก ๆ ไหลตัดผ่านบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งจะมีน้ำไหลในเฉพาะช่วงฤดูฝนเพียงเท่านั้น โดยจะช่วยกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณโดยรอบ และเป็นทางระบายน้ำในยามที่ปริมาณน้ำมากจากการที่ฝนตกหนัก
นอกจากนี้ชุมชนบ้านบวกอุ้มยังมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านบวกอุ้ม ที่คอยสนับสนุนชุมชนและผลักดันการทำกิจกรรม และเป็นพื้นที่สนับสนุนทางด้านการศึกษาให้กับชาวไทยภูเขา ได้มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในตนเอง ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านอื่น ๆ การสร้างอาชีพ แนะแนวทางการจัดการทรัพยากร การส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ ให้ข้อมูลและความรู้ในด้านต่าง ๆ และเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ พื้นที่การศึกษาตามอัธยาศัย ฯลฯ
บ้านบวกอุ้ม ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ชาวบ้านจึงสื่อสารกันด้วยภาษาลัวะภายในชุมชน และใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษากลางในการติดต่อราชการ
นพดล กลิ่นถนอม. (2546). ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านบวกอุ้ม (ศศช. บ้านบวกอุ้ม) ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บ้านฮาอยู่น่าน. (2563). บ้านบวกอุ้ม. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/NanThailand.BanhayouNan
ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านบวกอุ้ม. (2567). บ้านบวกอุ้ม. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/sorsorchorbanbuakaumnfe