ชุมชนพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน กับวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
ชุมชนพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน กับวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
พื้นที่ชุมชนบ้านแม่แจ๋มแต่เดิมนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมการทำไร่เลื่อนลอยของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งมีการโยกย้ายพื้นที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ไม่เป็นหลักเป็นแหล่งถาวร จากนั้นก็ได้อพยพออกจากพื้นที่ไป และมีชนกลุ่มชาติพันธุ์หลายชนเผ่าเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ เนื่องจากในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทำให้เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำไร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อทำเกษตรกรรม โดยโยกย้ายหมุนเวียนสับเปลี่ยนพื้นที่กันไป เมื่อชาวไทยภูเขาย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งในระยะแรกมีกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกันเพียงไม่กี่ครอบครัว ต่อมาคนพื้นเมืองจึงได้พากันเข้ามาอยู่แทนในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2497 มีชาวลาหู่ (มูเซอ) และอิ้วเมี่ยน (เย้า) เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมด้วย จนชุมชนได้รับการประกาศจากทางการเป็นบ้านแม่แจ๋มในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งในอดีตบ้านแม่แจ๋มประกอบไปด้วยชุมชนย่อยหลายชุมชน ได้แก่ แม่แจ๋มเมือง แม่แจ๋มเย้า แม่แจ๋มป่าคา (ลาหู่) และป่งต้นหนุน และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ปางต้นหนุนจึงได้ประกาศเป็นหมู่บ้านใหม่จากทางการซึ่งแยกออกจากบ้านแม่แจ๋ม จนถึงปัจจุบัน โดยชาวไทยภูเขาที่อยู่ในชุมชนบ้านแม่แจ๋ม มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย
คนพื้นราบ (คนเมือง) ไม่ทราบแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ให้ข้อมูลว่ามีการเข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนมากกว่า 100 ปีมาแล้ว
อิ้วเมี่ยน เป็นชนชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่เดิมอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเข้ามายังประเทศเมียนมาร์ มาสู่บ้านแม่แจ๋มโดยการนำของหัวหน้า จั่นโจ แซ่ลิ่ว ในปี พ.ศ. 2522 โดยมีชื่อเรียกพื้นที่ชุมชนกลุ่มนี้ว่า “แม่แจ๋มห้าห้อง” ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคนที่ราบอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีคนเมือง อีก้อ ลีซอ และชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกัน
ลาหู่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์ เข้ามาอยู่ในบ้านป่าคา (แม่แจ๋ม) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 โดยการนำของนายไว พัฒนะกายา จำนวน 7 ครอบครัว และในปี พ.ศ. 2529 ก็มีการย้ายเข้ามาเพิ่มอีก 8 ครอบครัว
บ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขา เป็นที่ราบสูงในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,703 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร 1,608 ไร่ และพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 95 ไร่ โดยเป็นที่ราบสูงที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี พื้นที่เป็นลักษณะป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นผืนป่าต้นน้ำลำธาร มีแม่น้ำแม่แจ๋มไหลผ่าน ด้วยความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำให้สภาพอากาศของชุมชนมีความชื้นอยู่ตลอดทั้งปี ในลักษณะของอากาศร้อนชื้น โดยมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่พัฒนา ตำบลแจ้ซ้อน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอแม่ออน ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
บ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมประกอบไปด้วยสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่มหลัก คือ ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 592 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 304 คน ประชากรหญิง 288 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 289 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ลาหู่, อิ้วเมี่ยนการประกอบอาชีพของชาวบ้านบ้านแม่แจ๋ม ส่วนใหญ่เป็นการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำสวนพืชผักชนิดต่างๆ การทำสวนป่าเมี่ยง สวนกาแฟ รวมไปถึงพืชเมืองหนาวอื่น ๆ อีกหลากหลาย เช่น บ๊วย ท้อ แมคคาเดเมีย ใบชา ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านแม่แจ๋มที่เป็นคนพื้นราบ (คนเมือง) จะประกอบอาชีพการทำใบเมี่ยง เก็บใบชา ปลูกกาแฟ ท้อ บ๊วย แมคคาเดเมีย การค้าขาย และรับราชการ ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนก็มีการประกอบอาชีพในลักษณะเดียวกันคือ ทำใบเมี่ยง เก็บใบชา ปลูกกาแฟ บ๊วย ปลูกผัก ปักผ้าชาวเขา ส่วนชาวลาหู่จะนิยมทำสวยกาแฟเป็นหลัก ไม่ทำใบเมี่ยง
และนอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มการแปรรูปกาแฟ โดยมีเครื่องโม่กาแฟ เครื่องบดกาแฟ เครื่องขั้วกาแฟ และเครื่องบรรจุกาแฟ ทั้งชุมชนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน การแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ภายในชุมชน รวมไปถึงด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ประชากรบางส่วนยังมีการปรับพื้นที่ให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
คนเมือง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายหินยาน มีวัฒนธรรมการแต่งกายเป็นแบบชนพื้นราบชาวล้านนาโดยทั่วไป มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพรีท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น งานปีใหม่เมือง (วันสงกรานต์) ประเพณีวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีเดือนยี่เป็ง (ลอยกระทง) ประเพณีกิ๋นก๋วยสลากหรือทานต้นเงิน ฯลฯ
ชาวอิ้วเมี่ยน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ และความเชื่อดั้งเดิมคือนับถือผี มีวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า มีการใช้ภาษาพื้นเมืองปะปนอยู่บ้าง วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ คือ เทศกาลปีใหม่ของชาวอิ้วเมี่ยน ซึ่งจะตรงกับช่วงวันตรุษจีน มีการฉลองโดยการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ ในช่วงตลอดระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ประเพณีวันเข้าพรรษาจะตรงกับวันสารทจีน มีการไหว้บรรพบุรุษ กิจกรรมตีลูกข่าง และการทำพิธีแบบชาวพุทธ และมีประเพณีความเชื่อการนับถือผี
ชาวลาหู่ ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์ มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลุ่มชาติพันธุ์ และใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารกัน สำหรับด้านประเพณีพิธีกรรมมีความผสมผสานกันระหว่างวิถีปฏิบัติของชนเผ่าดั้งเดิมกับความเชื่อแบบศาสนาคริสต์ ตัวอย่างเช่น ประเพณีปีใหม่ หรือ กินวอ ตรงกับวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ มีการทำพิธีทางศาสนา การโยนลูกข่าง กิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ เทศกาลวันคริสต์มาสในช่วงปลายเดือนธันวาคม การทำพิธีทางศาสนาและการเชิญแขกในชุมชนมาร่วมงาน
ภาษาพูด : ภาษาเมี่ยน (กลุ่มชาวอิ้วเมี่ยน) ภาษาลาหู่ (กลุ่มชาวลาหู่) ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรจีน (ชาวอิ้วเมี่ยน) อักษรไทย
อนุชาติ ยศปัน. (2551). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง (รายงานการวิจัย). ลำปาง : มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
บ้านแม่แจ๋ม. (2567). บ้านแม่แจ๋ม. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/banmeajam/