หมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านเข็กน้อย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมศักยภาพและฐานรากด้านเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน
ชื่อชุมชนตั้งตามแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกสืบต่อกันมาคือ ลำน้ำเข็กน้อย
หมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านเข็กน้อย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมศักยภาพและฐานรากด้านเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน
บ้านเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งบรรพบุรุษมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีนลงมาอยู่ทางตอนใต้ ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือของพม่า ลาว เวียดนาม และไทย ในช่วงประมาณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ โดยชาวม้งบ้านเข็กน้อยเป็นกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเขตรอยต่อสามจังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2510 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีการต่อสู้ทำสงครามระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาเชิญชวนชาวม้งให้ต่อสู้กับรัฐบาล ชุมชนจึงถูกโจมตีจนเกิดความเสียหาย ชาวม้งต้องกระจัดกระจายไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ บางกลุ่มก็ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์และเข้าไปอยู่ในป่า บางกลุ่มก็อพยพเข้าไปอยู่ในเมืองและจังหวัดใกล้เคียง เช่น พิษณุโลก และเลย ปัญหาครั้งนี้ทำให้ชาวม้งที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นพี่น้องกันต้องแยกย้ายกระจายกันไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 มีการเปิดพื้นที่บ้านเข็กน้อยเป็นค่ายทหารต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่คืนจากคอมมิวนิสต์ในพื้นที่เขตรอยต่อสามจังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย โดยตกลงกับชาวม้งในพื้นที่และให้คำมั่นว่าหากการสู้รบสิ้นสุดลงเมื่อใดจะให้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินในพื้นที่ตลอดไป
พ.ศ. 2514 ตั้งหมู่บ้านเข็กน้อย ควบคู่ไปกับค่ายทหารกองร้อยชาวเขาอาสาสมัครที่ 31 มีราษฎรชาวม้งจากศูนย์อพยพบ้านรักไทย หรือบ้านหนองแส ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านเทิดไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และบ้านหนองผักก้าม ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย จำนวน 50-60 ครัวเรือน มาอยู่ในพื้นที่เป็นแนวร่วมในส่วนของพลเรือน ประชาชนได้เริ่มบุกเบิกและจับจองที่ทำกินเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่เคยจับจองที่ทำกินไหนอยู่ก่อนก็กลับมาทำกินในที่ซึ่งตนเองเคยจับจองและทำกินมาก่อนหน้านี้ มีการต่อสู้และปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ต่อมาเมื่อทหารสามารถควบคุมพื้นที่ได้จึงเริ่มก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านเข็กน้อย ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และที่ทำการของหน่วยงานอื่นที่จำเป็น และประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ต่อมาได้มีการแยกออกเป็นสองหมู่บ้านเนื่องจากจำนวนประชากรมากขึ้น
พ.ศ. 2515 ทหารขอใช้พื้นที่ 20,000 ไร่เพื่อความมั่นคง โดยประกาศของคณะปฏิวัติในขณะนั้น
พ.ศ. 2516 มีการก่อสร้างถนนสายทุ่งสมอ-เขาค้อ โดยตัดแยกบริเวณถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก กม. 100 (แคมป์สน) พ.ศ. 2520-2527 มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก จุดมุ่งหมายคือ ลดอิทธิพล ผกค. เพิ่มอิทธิพลแก่ฝ่ายรัฐบาล และเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับพื้นที่อื่นในเขตภาคเหนือ มีนโยบายตัดและโค่นต้นไม้ตลอดสองข้างถนนออกไปฝั่งละ 1 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแอบซุ่มโจมตีของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) พ.ศ. 2522 ชาวม้งในป่าที่เป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์เริ่มทยอยออกมามอบตัวต่อทางการ โดยมาอาศัยอยู่ร่วมกันที่บ้านเข็กน้อย เพราะว่ายังมีการสู้รบกันอยู่ทุกคนจึงต้องอยู่รวมกันที่บ้านเข็กน้อยไปก่อน
พ.ศ. 2523-2526 นโยบาย 66/23 ชาวม้งในป่าที่เป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ออกมามอบตัวต่อทางการทั้งหมด เป็นอันสิ้นสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและคอมมิวนิสต์ โดยชาวม้งบางส่วนจะถูกจัดให้อยู่ตามพื้นที่เดิม เช่น บ้านทับเบิก บ้านตูบค้อ บ้านน้ำคับ บ้านน้ำจวง บ้านห้วยทราย บ้านน้ำไซ และบ้านเล่าลือ แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ไปก็มารวมตัวกันอยู่ที่บ้านเข็กน้อย ทำให้บ้านเข็กน้อยในขณะนั้นมีจำนวนประชากรที่หนาแน่นเป็นอย่างมาก พ.ศ. 2527 นโยบายความมั่นคงให้มีการขยายพื้นที่ทำกินออกไปทางทิศใต้ของบ้านเข็กน้อยฝั่งห้วยน้ำขุ่น หรือฝั่งขวาของถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก แต่ไม่มีมาตรการรองรับ ต่อมามีการห้ามมิให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินทำให้ประชาชนไม่มีที่ทำกินและกระทบอย่างมากจนกลุ่มราษฎรผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ส่วนใหญ่ต้องแยกย้ายไปที่จังหวัดตาก และจังหวัดอื่น ระหว่าง พ.ศ. 2527-2531
พ.ศ. 2528 มีการลงทะเบียนและจัดทำรายการสัญชาติไทยให้แก่ชาวเขาที่ตกหล่น และชาวเขาที่ออกจากป่ามามอบตัว พ.ศ. 2532 บ้านเข็กน้อย ยกฐานะเป็นตำบลเข็กน้อยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เป็นสภาตำบลในปี พ.ศ. 2537 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
และในปี พ.ศ. 2540 สภาตำบลเข็กน้อยได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540
บ้านเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่โดยรอบชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณภูเขาสูง ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นเนินเขาติดต่อกันหลายลูก เป็นเนินสูงต่ำสลับกันไป แวดล้อมด้วยพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความสวยงาม มีลำน้ำเข็กเป็นแหล่งน้ำในพื้นที่ มีพื้นที่ป่าไม้โดยส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และมีพันธุ์ไม้ที่เป็นพืชตระกูลปาล์มขึ้นอยู่โดยทั่วไป ด้านสภาพภูมิอากาศ มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศเย็นจัด อุณหภูมิต่ำสุดที่เฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และในฤดูฝนจะมีฝนตกชุก เขตพื้นที่ตำบลเข็กน้อยเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัด ได้แต่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยทราย ตำบลห้วยเฮี้ยะ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
บ้านเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอาศัยอยู่รวมกันมากที่สุดในประเทศไทย เปรียบเป็นเสมือนกับเมืองหลวงของชนเผ่าม้งเลยก็ว่าได้ ซึ่งชุมชนบ้านเข็กน้อยแยกออกเป็นสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านเข็กน้อย ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,077 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 518 คน ประชากรหญิง 559 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 361 หลังคาเรือน และหมู่ที่ 2 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,322 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 629 คน ประชากรหญิง 693 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 439 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ม้ง
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก พืชที่นิยมปลูก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันเทศ กะหล่ำปลี แคร์รอต กระชายดำ กระชายขาว แมคคาเดเมีย ไม้ผลชนิดต่าง ๆ โดยระบบการเกษตรจะอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ในการทำการเกษตรเกือบทั้งหมดเป็นที่ลาดชัน จึงไม่สามารถสร้างระบบชลประทานเพื่อการเกษตรได้
นองจากนี้ บ้านเข็กน้อยยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชน มีวิถีชีวิต ภูมิปัญญาในการทอผ้าเขียนเทียน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุท้องถิ่นที่มีในชุมชน ช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
เทศกาลปีใหม่ม้ง เป็นงานที่มีการจัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ภายในงานจะมีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่สืบทอดต่อกันมา ให้นักท่องเที่ยวได้ชม และยังมีร้านค้า ร้านขายของฝาก ร้านอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ในงานเทศกาลจะมีกิจกรรมการโยนลูกช่วง ลูกช่วง นั้นทำมาจากเศษผ้า ที่นำมาม้วน ๆ รวมกัน ทำให้เป็นลูกกลม ๆ แล้วก็เย็บให้ติดกัน ขนาดของลูกช่วงมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร การโยนลูกช่วงนั้นจะโยนกันเฉพาะหนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงานเท่านั้น ในแต่ละปีก็จะมีหนุ่ม ๆ สาว ๆ จากที่ต่าง ๆ และในหมู่บ้านสวมใส่ชุดม้งเพื่อมาโยนลูกช่วงกัน แต่ละคนอาจจะรู้จักกันก่อนค่อยมาโยนลูกช่วงด้วยกันก็ได้ หรือว่าไม่รู้จักกันก็สามารถโยนลูกช่วงด้วยกันได้ แค่สองฝ่ายนั้นยินยอม การโยนลูกช่วงนั้นไม่จำกัดเวลาว่า เราจะโยนนานแค่ไหน สามารถโยนได้ตลอดทั้งวัน
ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่มีกันสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การกินข้าวใหม่จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในทุก ๆ ปี การเซ่นไหว้บรรพบุรุษก็จะมีในเดือนตุลาคม เป็นเดือนของการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่
อัวเน้ง ชาวม้งเข็กน้อยส่วนใหญ่นั้นจะยังคงนับถือบรรพบุรุษเป็นหลัก พิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ยังคงจะใช้หมอผีหรือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เป็นคนประกอบพิธีกรรม เช่น การอัวเน้ง (เป็นพิธีกรรมทางศาสนา) ที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ไม่สบายโดยไม่รู้สาเหตุ หรือคิดว่าคนที่โดนผีเข้าหรืออาการเสียขวัญ การอัวเน้งนั้นหมอผีหรือผู้ทำพิธีกรรมจะช่วยทำให้คน ๆ นั้นมีจิตใจที่เข้มเเข็งขึ้น และมีกำลังใจที่ดีขึ้น สิ่งที่ต้องใช้ในการประกอบพิธีประกอบด้วย ผัวะเน้ง ผ้าสีดำใช้สำหรับปิดหน้าคนที่ทำพิธีกรรม กัวะเน้ง ไม้คู่ ใช้เสี่ยงทาย ทำจากไม้ จื๊อเน้ง ลูกกระพรวน หมอสวมนิ้วหัวแม่มือ เซี้ยเน้ง เหล็กเส้นขดเป็นวงกลมร้อยแผ่นเหล็ก ตรงเน้ง ม้านั่งยาว สัตว์ที่ใช้ในการประกอบพิธี ได้แก่ หมู ไก่
ภาษาพูด : ภาษาม้ง ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
กรมพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป). บ้านเข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2567, จาก https://www.otoptravel.net/
บ้านเข็กน้อย. (ม.ป.ป). สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2567, จาก https://www.บ้านเข็กน้อย.com/
ปัทมาพร เอี่ยมสังวาลย์. (2554). ความเชื่อเรื่องผีกับการรักษาความเจ็บป่วยของชาวม้ง: กรณีศึกษาหมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์.