ยวนนก เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมายาวนานนานกว่า 100 ปี
ชุมชนบ้านยวนนกก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 100 ปีมาแล้ว ผู้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้สูงอายุในชุมชนซึ่งคาดว่าอาจตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 กลุ่มที่สองเป็นพวกที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงปี พ.ศ. 2478 คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่หลบหนีคดีความมาจากที่อื่น ทั้งจากจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่อพยพเข้ามาหลังสุด เป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากชุมชนทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลา กลุ่มหลังนี้เข้ามาเพื่อจับจองที่ดินสำหรับปลูกข้าวและสร้างบ้านเรือน ซึ่งต่อมาได้เชิญชวนญาติพี่น้องเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนปัจจุบัน (จิตภาณุ ไกรนรา, 2555:77)
ที่ตั้งบ้านยวนนกเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง เรียกว่า “พรุ” ในอดีตป่าพรุบริเวณบ้านยวนนกเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีพรรณไหลากชนิด ฤดูร้อนน้ำไม่แห้ง ดินเป็นดินดาน ต้นไม้มีขนาดหลายคนโอบยาวหลายสิบเมตร รวมถึงไม้ขนาดเล็ก เช่น ไม้พุ่ม และเถาวัลย์อีกหลายชนิด
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลขอนหาดระบุว่า บ้านยวนนก ตำบลขอนขาด มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 399 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,295 คน แยกเป็นประชากรชาย 634 คน และประชากรหญิงจำนวน 661 คน
การประกอบอาชีพ
สืบเนื่องจากลักษณะที่ตั้งของชุมชนยวนนกที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าพรุ ชาวบ้านจึงมีวิถีการดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เศรษฐกิจของชุมชนยวนนกส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกร ทั้งการทำนา ทำสวนปาล์มน้ำมัน การหาปลา หาของป่า และการทำหัตถกรรมกระจูด
การทำนา: ในช่วงประมาณปลายปี 2500 เป็นช่วงที่ชาวบ้านในชุมชนยวนนกต่างก็พยามจับจองที่นาบริเวณรอบ ๆ ป่าพรุ เพื่อทํานาให้พอมีข้าวบริโภค ครัวเรือนใดไม่มีที่นาก็จะไปทํานาในป่าพรุ เรียกว่า “นาฟางลอย” หรือข้าวลอยน้ำ เป็นลักษณะการทำนาที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นนาที่ใช้พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำที่ได้เมล็ดพันธุ์มาจากอยุธยา เพื่อให้สามารถทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงได้ แต่การทำนาฟางลอยสำหรับชาวยวนนกนั้นมีความหมายเฉพาะ เนื่องจากในป่าพรุนั้นน้ำไม่แห้งและมีต้นไม้ขึ้นทั่วไป มีกิ่งไม้ระเกะระกะ นาฟางลอยในป่าพรุจึงเป็นนาที่รากข้าวสามารถงอกเกาะกับอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องงอกกับดินเท่านั้น เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ กอหญ้า โดยพันธุ์ข้าวที่ใช้จะเป็นข้าวพันธุ์เฉพาะ เรียกว่า “ข้าวพันธุ์ฟางลอย” (จิตภาณุ ไกรนรา, 2555: 80)
การทำสวนปาล์มน้ำมัน: จุดเริ่มต้นการทำสวนปาล์มน้ำมันในชุมชนยวนนกเนื่องมาจากรายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังประสบปัญหาเรื่องน้ำและศัตรูพืช เช่ นก หนู หอยเชอร์รี่ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชาวบ้านจึงเริ่มหันเหหาหนทางประกอบอาชีพใหม่เพิ่มเติม คือ การทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งในระยะแรกของการทำสวนปาล์มน้ำมันทำให้เกิดปัญหาคดีความกับรัฐบาล เพราะชาวบ้านหลายรายไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน การเรียนรู้วิธีการทําสวนปาล์มของชาวบ้านยวนนกในช่วงเริ่มแรกก ใช้กระบวนการเรียนรู้จากเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน และอาศัยดูตัวอย่างจากพื้นที่ข้างเคียง เช่น ตําบลเคร็ง การปลูกปาล์มน้ำมันในระยะแรก ชาวบ้านต้องตัดทางปาล์ม เนื่องจากหากไม่ตัดลูกปาล์มจะมีขนาดเล็กและไม่มีน้ำมัน และจะต้องเลี้ยงโคนให้ใหญ่เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ หากต้นปาล์มมีขนาดโคนเล็กจะทําให้ลูกไม่ดก การขายปาล์มในปี 2540 ซึ่งเป็นการปลูกปาล์มน้ำมันระยะแรกของชาวยวนนก ขายได้ราคากิโลกรัมละ 1.90 บาท ต่อมาขายได้ในราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท จนในปัจจุบันการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมจากชาวยวนนกมากที่สุด
การหาปลา และหาของป่า: เนื่องจากป่าพรุบ้านยวนนกเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำ ในช่วงเช้าชาวบ้านมักจะออกไปหาปลา เต่า ตะพาบ และของป่าอื่น ๆ เพื่อนำออกไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกับชุมชนภายนอก หรืออาจนำมาแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาหนาง แล้วจึงส่งออกขายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน
หัตถกรรมกระจูด: ปัจจุบันการทำหัตถกรรมกระจูดนับได้ว่าป็นฐานเศรษฐกิจหลักของชุมชนยวนก โดยชาวบ้านจำแนกประเภทของผลิตภัณฑ์กระจูดว่าเป็นสินค้าพื้นเมือง เนื่องจากตัวผลิตภัณฑ์ยังคงออกแบบโดยชาวบ้านผู้ผลิต และตลาดขายผลิตภัณฑ์ยังคงอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งมีชาวบ้านยวนนกจํานวนไม่น้อยที่สามารถยึดเอาการสร้างผลิตภัณฑ์จากกระจูดเป็นอาชีพของตนอย่างจริงจัง และรายได้จากกระจูดก็กลายเป็นรายได้หลักของชาวยวนนกหลายครัวเรือน
กลุ่มองค์กรชุมชน
ชาวบ้านยวนนกได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแปรรูปกระจูดยวนนกในพื้นที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือผู้ทำหัตกรรมการแปรรูปกระจูดในกลุ่มสมาชิก
การตั้งที่อยู่อาศัย
ลักษณะการสร้างบ้านเรือนของชาวยวนนกมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก คือ การสร้างบ้านเรือนในพื้นที่น้ำท่วมขังหรือป่าพรุ ลักษณะที่สอง ตั้งบ้านเรือนเป็นหย่อมหรือละแวกตามหมู่เครือญาติ บ้านที่อยู่ละแวกเดียวกัน จึงมักเป็นเครือญาติเดียวกัน ซึ่งชาวบ้านยวนนกส่วนใหญ่นิยมตั้งบ้านเรือนลักษณะนี้ และลักษณะสุดท้ายคือการตั้งบ้านเรือนเป็นหย่อมเล็ก ๆ บริเวณริมคลอง
ในอดีตชาวยวนนกนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ยกพื้นสูง เพื่อปล่อยพื้นที่ใต้ถุนบ้านให้โล่งสำหรับใช้ประโยชน์ เช่น สานเสื่อ สานกระสอบ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนบริเวณที่ราบที่น้ำท่วมไม่ถึง ชาวบ้านจะใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและปลูกผัก ส่วนในเวลาที่น้ำท่วมขังป่าพรุซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน ในเวลานี้ป่าพรุจะกลายเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำตามธรรมาชาติ เปรียบเสมือนห้องครัวชุมชนของชาวบ้านยวนนก
ความเชื่อ
ชาวบ้านในชุมชนยวนนกในอดีตมีความเชื่อเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบรุษ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าทวด และความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยจะมีการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ทํางานประสบผลสําเร็จ และสมหวังได้ในสิ่งที่ต้องการ
เนื่องจากชาวบ้านยวนนกเป็นชุมชนที่มีวิถีการดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เช่น การทํานา การใช้น้ำจากลําธาร ห้วย น้ำฝน ลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นชุมชนจึงได้พยายามสร้างความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับกับธรรมชาติ ให้สามารถดลบันดาลน้ำจากห้วย ฝนจากฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล จนกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของคนยวนนก
ความเชื่อเรื่อง “ทวด” เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดํารงชีวิต และการประกอบอาชีพของชาวยวนนก ทวดเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจรวมใจของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในชุมชน ทวดที่ชาวบ้านเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตําบลขอนหาดมีหลายทวด เช่น ทวดตาอินทร์แก้ว ตาหลวงสุข ทวดควนนางเหวน เจ้าแม่สายวารี พระนางหม่อมรองมเหสี และตาขุนพลายดํา ซึ่งแต่ละทวดล้วนให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น ทวดที่ให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ ทวดที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเดินทาง ทวดที่บันดาลโชคลาภและความสําเร็จในชีวิต เป็นต้น
หัตถกรรมการสานเสื่อกระจูด
การสานเสื่อกระจูดของชาวบ้นยวนนกเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่ชาวบ้านเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยการนำตอกกระจูดย้อมสี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีหลัก 3 สี คือ แดง เขียว เหลือง ทำให้เสื่อที่สานออกมามีสีสัน และยังสามารถออกแบบลายให้มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นเพราะเนื่องจากสีของกระจูดที่นำมาสานเสื่อค่อนข้างสด ฉะนั้นจึงทำให้สามารถมองเห็นลวดลายได้เด่นชัด ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านได้พัฒนารูปแบบการสานกระจูดขึ้นใหม่ เช่น การผ่ากระจูดแล้วนำไปสานเป็นเปียไว้สำหรับตกแต่ง การนำวัสดุชนิดอื่นมาตกแต่งเพิ่มเติม การนำเส้นตอกกระจูดมาสาเป็นผลิตอื่นนอกเหนือกจากเสื่อ ลายที่ใช้สานในช่วงนี้มีการพัฒนาและเรียนรู้เทคนิควิธีการโดยใช้สีย้อมกระจูดแล้วนำมาสอดสานเพื่อให้มองเห็นลายได้ชัดเจนมากขึ้น ลวดลายต่าง ๆ ที่ใช้ ได้แก่ ลายสอง ลายสาม ลายสี่ ลายดอกจันทร์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน ลายดอกพิกุล ลายพัด ลายก้างปลา ลายดอกไม้ ลายชิงเมือง ลายใยแมงมุม ลายลูกแก้ว ลายกระดานหมาก และลายประดิษฐ์อื่น ๆ (จิตภาณุ ไกรนรา, 2555: 82)
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน: ภาษาไทยภาคกลาง
สืบเนื่องจากที่ตั้งชุมชนยวนนกอยู่ในพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง ทำให้หมู่บ้านมียุงชุกชุมเป็นจำนวนมาก เป็นพาหะให้กิดโรคเท้าช้าง โรคไข้ป่า การดูแลรักษาโรคจะอาศัยหมอพื้นบ้านต้มยาสมุนไพรเพื่อทำการรักษา การคลอดบุตรก็อาศัยหมอตําแย แต่ปัจจุบันโรคเท้าช้างไม่ปรากฏในพื้นที่หมู่บ้านแล้ว ส่วนการรักษาโรคทั่วไปก็อาศัยสถานีอนามัยบ้านตรอกแค และโรงพยาบาลในตัวอําเภอชะอวด
ในอดีต “วัด” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สําคัญของชุมชนยวนนก แต่สําหรับการศึกษาในระบบโรงเรียน ปัจจุบันชาวบ้านนิยมส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านตรอกแค หมู่ที่ 4 ตําบลขอนหาด และศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมประจําตําบล คือ โรงเรียนขอนหาดประชาสรรค์
ทะเลน้อย
จิตภาณุ ไกรนรา. (2555). วิถีเศรษฐกิจชุมชนในระบบนิเวศป่าพรุเคร็งชุมชนยวนนก ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อกาพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.
Taluitamtawan. (ม.ป.ป.). SADGE HANDICRAFT BAAN YAUN NOK : กลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูด บ้านยวนนก. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.taluitamtawan.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566].