Advance search

งดงามวิหารไทลื้อ ลือชื่อผ้าทอสีธรรมชาติ น้ำใสสะอาดวังปาล ผืนป่าเขียวขจี ยึดวิถีวัฒนธรรมไทลือชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดน่าน กับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณี และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในโลกยุคปัจจุบัน

หมู่ที่ 2
บ้านดอนมูล
ศรีภูมิ
ท่าวังผา
น่าน
อบต.ศรีภูมิ โทร. 0-5468-5611-2
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
7 มิ.ย. 2024
บ้านดอนมูล


งดงามวิหารไทลื้อ ลือชื่อผ้าทอสีธรรมชาติ น้ำใสสะอาดวังปาล ผืนป่าเขียวขจี ยึดวิถีวัฒนธรรมไทลือชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดน่าน กับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณี และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในโลกยุคปัจจุบัน

บ้านดอนมูล
หมู่ที่ 2
ศรีภูมิ
ท่าวังผา
น่าน
55140
19.0668648468997
100.77900275588
องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ

ชาวบ้านดอนมูลเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่อพยพมาจากบริเวณแคว้นสิบสองปันนาในประเทศจีน โดยการเข้ามาของชาวไทลื้อในจังหวัดน่าน บ้านดอนมูลมีสาเหตุมาจากนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองของเจ้าผู้ครองนครน่าน เพื่อเพิ่มกำลังและสร้างความเข็มแข็งให้กับเมืองน่าน ทำให้มีการกวาดต้อนชาวไทลื้อจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก มีทั้งข้า ไพร่ และเจ้านายชั้นสูง ชาวไทลื้อบ้านดอนมูลอพยพมาจากหัวเมืองล้าในสิบสองปันนาในช่วงปี พ.ศ. 2355 และหลังจากนั้นก็มีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติมบางส่วน ในการนี้เจ้าหลวงอานุภาพซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าหลวงเมืองล้าก็ได้อพยพเข้ามาด้วย ในเวลาต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองน่านให้เป็นเจ้าชัยสงคราม ดูแลเขตพื้นที่เมืองศรีพรม (ตำบลศรีภูม-ป่าคา-ตาลชุมในเวลานั้น)

ต่อมาเจ้าหลวงอานุภาพได้นำชาวไทลื้อบางส่วนมาตั้งบ้านเรือนในฝากตะวันตกของแม่น้ำน่าน ทำให้บ้านดอนมูลแยกออกเป็นสองชุมชน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514-2517 ชาวบ้านได้ย้ายกับมารวมกันในพื้นที่เดิมด้านฝากตะวันตกกลายเป็นหมู่บ้านเดียวจนถึงปัจจุบัน

บ้านดอนมูล ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าวังผาไปทางด้านทิศใต้ เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดน่านไปทางด้านทิศเหนือ ประมาณ 38 กิโลเมตร สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ลาดเอียง และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาสูง ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำ บริเวณชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน คือแม่น้ำน่าน 

บ้านดอนมูล ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านดอนมูล ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 549 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 265 คน ประชากรหญิง 284 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 194 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ไทลื้อ

เดิมสังคมของชาวไทลื้อเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นการที่จะตั้งถิ่นฐาน หรือสร้างบ้านเรือนนั้นจะต้องเลือกให้สัมพันธ์กับการเกษตรเป็นหลัก บ้านจะมีลักษณะเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง สามารถใช้งานใต้ถุนเรือนได้ แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่จากเดิมทำการเกษตรเป็นหลัก กลับเหลือเพียงแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังคงทำการเกษตรอยู่ อาชีพเกษตรกรรมจึงไม่ใช่อาชีพส่วนใหญ่ของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านมีการกระจายออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้างก็ออกไปรับราชการ ทำงานรับจ้างทั่วไป และวัยรุ่นวัยหนุ่มสาวก็ออกไปทำงานในเมืองใหญ่ ยังคงมีเพียงแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในหมู่บ้านที่คงอาชีพเกษตรกรรมอยู่ พืชที่ปลูกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดและใบยาสูบ พืชผักสวนครัว เป็นต้น รวมไปถึงการหาปลาในแม่น้ำน่านเพื่อบริโภคและแบ่งขายเป็นรายได้เสริม

นอกจากนี้ประชากรในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ชุมชนใกล้เคียง และมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานการปกครองส่วนกลาง มีการทำกิจกรรมรวมทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เป็นการผลักดันสินค้าชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์คือผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอลายน้ำไหลและได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอปในระดับจังหวัด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน มีการสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น และยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเอาไว้ได้ มีการจ้างงานกลุ่มแม่บ้านในการทำงานฝีมือ การทอผ้า แปรรูปสินค้า จนมีการผลักดันชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มกันสร้างที่พักรูปแบบโอมสเตย์เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว มีการเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพัก การนำเสนออาหารท้องถิ่นไทลื้อในรูปแบบขันโตก ซึ่งเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างศักยภาพของชุมชนด้านเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของไทลื้อบ้านดอนมูลมีระยะเวลามาอย่างยาวนาน และในการเข้ามานั้นได้นำวิถีวัฒนธรรมและสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ จากสิบสองปันนาที่เคยยึดถือปฏิบัติที่ยังคงรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วที่เข้ามาในชุมชน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างของชุมชนถูกเจอจางและลดบทบาทลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชุมชนรวมถึงวิถีชีวิตแบบไทลื้อที่ยังคงดำเดินอยู่ทำให้ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ยังรักษาและปฏิบัติร่วมกับการรับวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันได้ ชาวบ้านยังคงมีคติความเชื่อในเรื่องการนับถือผี และคติความเชื่อแบบพุทธ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และยังคงประกอบพิธีและมีวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาอยู่เป็นประจำ และสิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปคือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เทวดา อำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ เช่น พิธีเลี้ยงผีเมือง เทวดาเมือง พิธีบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองล้า พิธีก๋ำเมืองที่ยังคงปรากฏให้เห็นกันอยู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านในชุมชนมีการสื่อสารด้วยภาษากลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อเฉพาะชาวบ้านกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงสืบทอดการใช้ภาษาไทลื้อและสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ในบางครอบครัว แต่ประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันเมื่อได้รับการศึกษาตามระบบก็มีการติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาไทยมาตรฐานกันมากขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ญานิกากร เลิศศักดิ์ศรีสกุล. (2554). พิธีก๋ำเมือง : การดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทลื้อ กรณีศึกษา ชุมชนไทลื้อบ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน. คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เสน่ห์น่านวันนี้. (2566). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/CharmNanToday

หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว ไทลื้อดอนมูล. (2566). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Tailue.BaanDonmoon.Homestay

หมู่บ้านโฮมสเตย์ ไทลื้อ บ้านดอนมูล. (2566). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Tailue.Donmoon.HomeStay

อบต.ศรีภูมิ โทร. 0-5468-5611-2