Advance search

ป่าชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา เหมืองเก่าถ่านหินลิกไนต์ ฟอสซิลเหมืองเชียงม่วน อายุ 13-15 ล้านปี

หมู่ที่ 10
บ้านเหล่าพัฒนา
สระ
เชียงม่วน
พะเยา
อบต.สระ โทร. 0-5489-1513
กฤษพัช บ้านสระ
29 พ.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
4 มิ.ย. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
7 มิ.ย. 2024
บ้านเหล่าพัฒนา


ชุมชนชนบท

ป่าชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา เหมืองเก่าถ่านหินลิกไนต์ ฟอสซิลเหมืองเชียงม่วน อายุ 13-15 ล้านปี

บ้านเหล่าพัฒนา
หมู่ที่ 10
สระ
เชียงม่วน
พะเยา
56160
18.936287
100.235353
องค์การบริหารส่วนตำบลสระ

เดิมตำบลสระ เป็นป่าสวะ ( เป็นคำพื้นบ้าน ซึ่งมีความหมายคือ ป่าที่โล่งว่างเปล่า ต่อมาจึงให้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสระ หรือ ตำบลสระ) โดยมีลำน้ำห้วยสระไหลล้อมรอบเดิมตำบลสระ แบ่งเป็น 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านสระ และชุมชนบ้านท่าฟ้า ซึ่งเป็นชุมชนไทยลื้อ ต่อมาได้แยกออกมาเพิ่มทำให้ ตำบลสระมี 3 หมู่บ้านหลักคือ 

  • หมู่ที่ 1 บ้านท่าฟ้าเหนือ (อยู่อีกฝั่งของน้ำยม ปัจจุบัน แยกเป็น หมู่ 1 ท่าฟ้าเหนือ และ หมู่ 6 ท่าฟ้าหล่าย)
  • หมู่ที่ 2 บ้านท่าฟ้าใต้ (ปัจจุบันแยกเป็น ม.2 บ้านท่าฟ้าใต้ หมู่ 7 บ้านท่าฟ้าใหม่ และหมู่ 11 บ้านฟ้าสีทอง)
  • หมู่ที่ 3 บ้านสระเหนือ (ปัจจุบัน หมู่ที่ 3 แยกไปเป็นอีก 5 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 4, 5, 8, 10 และ 12) 

ตำบลสระ มีตำนานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2343 มีเรื่องเล่าว่าเจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองพะเยา มีการติดต่อค้าขายกัน โดยใช้เส้นทางจากจังหวัดน่าน-บ้านสวด ถึงเชียงม่วนและต่อไปอำเภอดอกคำใต้ โดยเมื่อเดินทางสมัยนั้นในบริเวณเขตอำเภอเชียงม่วนจะต้องข้ามแม่น้ำยมและหยุดพักอีก 1 คืน และได้สำรวจพบว่าด้านตะวันตกของแม่น้ำยมสามารถสร้างที่พักอาศัยและเพาะปลูกได้จึงขออนุญาตจากเจ้าเมืองน่านมาตั้งบ้านสร้างเมือง เริ่มแรกมีประมาณกว่าสิบหลังคาเรือน

พ.ศ. 2417 รัฐบาลสยามเริ่มปฏิรูปการปกครองล้านนาอย่างจริงจัง มณฑลลาวเฉียงภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพตั้งขึ้นในช่วง พ.ศ. 2417-2434 (รศ.93-110) มีเมืองในมณฑล ประกอบด้วย นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน เชียงม่วนในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของนครน่าน 

พ.ศ. 2427 โดยประมาณ เจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองพะเยา(เดิมชื่อภูกามยาว) มีการติดต่อค้าขายกันอยู่ โดยใช้เส้นทางเดินจากจังหวัดน่าน บ้านสวด (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน) ถึงเชียงม่วน และต่อไปอำเภอดอกคำใต้ โดยในอำเภอเชียงม่วนจะต้องข้ามแม่น้ำยมและหยุดพักอีก 1 คืน เมื่อว่างจากการรับใช้เจ้าเมือง คณะของผู้ติดตาม ได้ออกสำรวจบริเวณรอบ ๆ พบว่าด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำยม สามารถสร้างที่อยู่อาศัย และเป็นที่เพาะปลูกการเกษตรได้ ภายหลังจึงขอเจ้าเมืองน่านมาตั้งบ้านเรือนอาศัย เริ่มต้นมีอยู่ประมาณสิบกว่าครอบครัว

พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครอง ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น เมืองประเทศราชเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร เมืองประเทศราชทางเหนือ คือ นครเชียงใหม่, นครน่าน, นครลำปางนครลำพูน, แพร่ (มณฑลพายัพ, th.wikipedia.org/wiki) 

พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็นมณฑลพายัพซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของอดีตอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ (1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) (2.) เมืองนครลำปาง (ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว (3.) เมืองนครลำพูน (4.) เมืองนครน่าน ครอบคลุมพื้นที่ เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ, เมืองปง เมืองเชียงม่วน และแขวงไชยบุรี (สปป. ลาวปัจจุบัน ทั้งหมด) (5.) เมืองนครแพร่ (6.) เมืองเถิน (มณฑลพายัพ, th.wikipedia.org/wiki) เชียงม่วนในขณะนั้นก็ยังอยู่ในการปกครองของนครน่าน

พ.ศ. 2449 ด้วยพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีใบบอกมายังกระทรวงมหาดไทยให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า บริเวณน่านเหนือ ซึ่งได้ตัดขึ้นไปรวมอยู่ในบริเวณพายัพเหนือแล้วนั้น ควรจะเปลี่ยนวิธีการปกครองเสียใหม่ให้เหมาะกับท้องที่และผู้คนพลเมือง โดยตั้งกิ่งแขวงขึ้นที่เมืองปงแห่งหนึ่ง เมืองเทิง แห่งหนึ่ง ให้ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของแขวงเชียงคำ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนวิธีการปกครองบริเวณน่านเหนือใหม่(PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 : 751. 14 ตุลาคม รศ.125 ขณะนั้นเชียงม่วนยังอยู่ในเขตบังคับบัญชาของแขวงเมืองปง 

พ.ศ. 2451 ตั้งกิ่งอำเภอเชียงม่วน โดยที่ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่าท้องที่อำเภอที่ขึ้นกับนครเชียงใหม่และนครน่านยังก้าวก่ายกันอยู่ ขออนุญาตยุบและตั้งอำเภอกับกิ่งอำเภอ เพื่อเป็นการสะดวกแก่การปกครอง คือ ขอแยกตำบลเชียงม่วน ตำบลเมืองสวด ตำบลเมืองสะดำ ตำบลเมืองสระเอียบ รวม 4 ตำบล ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองน่านตั้งเป็น กิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งเชียงม่วน ขึ้นอำเภอเมืองน่าน

พ.ศ. 2455 รวมกิ่งอำเภอเชียงม่วนเข้ากับกิ่งอำเภอเมืองปง เป็นอำเภอเมืองปง ด้วยข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่า กิ่งอำเภอเมืองปง มีอาณาเขตที่กว้างขวาง เหลือความสามารถของกรมการอำเภอจะตรวจตราให้ตลอดทั่วถึงได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ขออนุญาต รวมกิ่งอำเภอเมืองปง เข้าสมทบกับกิ่งอำเภอเชียงม่วน เรียกว่า “อำเภอเมืองปง” ขึ้นกับเมืองน่าน (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041). 8 ธันวาคม รศ.131

พ.ศ. 2458 แยกท้องที่มณฑลพายัพคือ เมืองนครน่าน เมืองนครลำปาง เมืองแพร่ รวม 3 เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก มีนามว่า “มณฑลมหาราษฎร์” ตั้งศาลารัฐบาลที่เมืองแพร่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์ตรีพระยาเพ็ชร์รัตนสงคราม เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลมหาราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201). 12 กันยายน 2458

พ.ศ. 2465 ท้องที่มณฑลมหาราษฎร์ จังหวัดน่าน อำเภอบ้านม่วง ประกอบด้วยตำบลเมืองสวด ตำบลเมืองสระ และตำบลสะเอียบ ให้ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เพิ่มขึ้นอีก 97 ตำบล กำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2564 ในท้องที่มณฑลมหาราษฎร์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 39 (0 ก): 336–341). วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465

เดิมพื้นที่ตำบลสระ มีชื่อว่า "ตำบลเมืองสระ" เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านม่วง (อำเภอปง) จังหวัดน่าน ต่อมาอำเภอบ้านม่วง คืออำเภอปงในปัจจุบัน ตำบลเมืองสระ คือตำบลสระ ในปัจจุบัน

พ.ศ. 2468 โดยประมาณ การคมนาคม มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น มีบุคคลจากที่อื่นได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงมีต้นตระกูลครอบครัวของ นายเทพ ตอนแรกไม่มีนามสกุล ต่อมาจึงได้รับการตั้งนามสกุล จึงเป็น นายเทพ บ้านสระ บ้านสระ ( ได้รับข้อมูลมาจากนาย ถาวร ดาวเหนือ อดีตกำนันตำบล) ซึ่งได้อพยพมาจากจังหวัดน่านจากการหนีสงครามฝรั่งเศส เพื่อมาตั้งรกรากที่ตำบลสระ ซึ่งมากันแค่ 7 – 8 ครอบครัว

พ.ศ. 2469 ยุบมณฑลมหาราษฎร์ แล้วให้กับเข้ามารวมกันมณฑลพายัพตามเดิม (มณฑลพายัพ, https://th.wikipedia.org/wiki)

พ.ศ. 2486 ขุนอภิรักษ์สารคาม (นายอภิรักษ์ สอสารคาม ) ได้เข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน และร่วมกันกันพัฒนาหมู่บ้าน และ บริจาคที่ดินเนื้อที่ 6,883 ตารางเมตร ให้เป็นที่สร้างสำหรับโรงเรียน โดยโรงเรียนหลังแรกจะอยู่ที่ ท้ายหมู่บ้าน (ปัจจุบัน คือ หลังพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระ ซึ่งภายหลังโรงเรียนได้ย้ายไปตั้งที่ ณ ปัจจุบัน โดยการบริจาคของ นายเพียว ตันบรรจง เนื่องจากมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่คับแคบ ) และต่อมามีราษฎรหมู่บ้านใกล้เคียงย้ายมาสมทบ ทำให้เป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น   จึงได้ขอก่อตั้งเป็นบ้านสระเหนือ ตำบลเชียงม่วน อำเภอปง จังหวัดน่าน(ในขณะนั้น)

พ.ศ. 2490 ตั้งตำบลสระ โดยแยกออกมาจากตำบลเชียงม่วน อำเภอเมืองปง จังหวัดน่าน ดังนี้ หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 5 ตำบลเชียงม่วน อำเภอเมืองปง หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 6 ตำบลเชียงม่วน อำเภอปง หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 7 ตำบลเชียงม่วน อำเภอปง นายอภิรักษ์ สอสารคาม ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กำนันตำบลสระ คนแรก เดิมตำบลสระ แบ่งเป็น 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านสระ และชุมชนบ้านท่าฟ้า ซึ่งเป็นชุมชนไทยลื้อ

พ.ศ. 2495 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ โดยโอนอำเภอปง เว้นตำบลสะเอียบและตำบลสวดจังหวัดน่าน มาขึ้นการปกครองของจังหวัดเชียงราย โอนตำบลสะเอียบ อำเภอปง จังหวัดน่าน ไปขึ้นอำเภอสอง จังหวัดแพร่ (พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495) ซึ่งเชียงม่วน ถูกรวมจากกิ่งอำเภอเชียงม่วนเข้ากับกิ่งอำเภอเมืองปง เป็นอำเภอเมืองปง ตั้งแต่ พ.ศ. 2455

พ.ศ. 2512 ตั้งกิ่งอำเภอเชียงม่วน ให้มีเขตการปกครอง รวม 2 ตำบล คือตำบลเชียงม่วนและตำบลสระ ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลเชียงม่วน ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2512 (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 86ตอนที่ 44 : 1729. 1 พฤษภาคม 2512

พ.ศ. 2517 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเชียงม่วน อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ขึ้นเป็นอำเภอเชียงม่วน จังหวัดเชียงราย (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอเขาวง อำเภอเชียงม่วน อำเภอ..... พ.ศ. 2517. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ฉบับพิเศษ เล่ม 91 ตอนที่ 54 : 30-33). 28 มีนาคม 2517)

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)

พ.ศ. 2539 บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 เดิมอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลสระโดยในขณะนั้น มีนายจันบาน บ้านสระ กำนันตำบลสระ เห็นว่ามีประชากรมากเกินไป จึงขออนุมัติแยกหมู่บ้าน ได้ชื่อว่า บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีนายเขียนทอง สืบแสน เป็น ผู้ใหญ่บ้านคนแรก

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กำหนดเขตตำบลสระ ในท้องที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 10 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541)

ปัจจุบันหมู่ 10 มี นายเสรี ฟ้าแลบ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

รายชื่อกำนัน

  • กำนันคนที่ 1 นายอภิรักษ์ สอสารคาม 
  • กำนันคนที่ 2 นายตุ๋น ไชยลังกา
  • กำนันคนที่ 3 นายเมือง ไชยลังกา
  • กำนันคนที่ 4 นายถาวร ดาวเหนือ วาระที่ 1 พ.ศ. 2512-2515, วาระที่ 2 พ.ศ. 2522-2526
  • กำนันคนที่ 5 นายจันทร์ รักดี พ.ศ. 2526-2537
  • กำนันคนที่ 6 นายจันบาน บ้านสระ พ.ศ. 2537-2544 
  • กำนันคนที่ 7 นายรังสรรค์ รักดี พ.ศ. 2544-2550
  • กำนันคนที่ 8 นายนพกร บ้านสระ พ.ศ. 2550-2556
  • กำนันคนที่ 9 นายรวย เขื่อนเก้ว พ.ศ. 2556-2562
  • กำนันคนที่ 10 นายสวิง สืบแสน พ.ศ. 2562-2567
  • กำนันคนที่ 11 นายนพกร บ้านสระ พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน

รายชื่อผู้ใหญ่บ้าน 

  • นายเขียนทอง สืบแสน 
  • นายมนตรี ฟ้าแลบ
  • นายเนติพงษ์ ฟ้าแลบ 
  • นายสวิง สืบแสน พ.ศ. 2553-2562 (ต่อมาดำรงตำแหน่ง กำนันตำบลสระ ปี 2562 -2567)
  • นายเสรี ฟ้าแลบ พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน 

อาณาเขต 

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 12 บ้านสระกลาง ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ 12 บ้านสระกลาง ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 9 บ้านนาบัว ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 4 บ้านสระใต้ ตำบลสระ สระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

การคมนาคม

บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 ตำบลสระ ในอดีตการคมนาคม อาศัยการเดินใช้เกวียน ใช้ม้าเป็นหลัก เนื่องจากต้องติดต่อระหว่าง น่าน แพร่ และอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ต่อมาทางรัฐบาลได้มีการสร้างถนนผ่านไปยังอำเภอปง จุน ดอกคำใต้ ทำให้มีการคมนาคมขนส่งทางบกที่สะดวกมากขึ้น จึงมีถนน ปง-พะเยาเกิดขึ้น หลังจากมีการสัมปทานป่าไม้ ณ บ้านบ่อเบี้ย ตำบลมาง ซึ่งมีพื้นที่ติดกับจังหวัดแพร่ จึงได้เกิดการสร้างถนน บ้านสระ-ดอกคำใต้ เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการคมนาคม ปัจจุบันเป็นถนนทางลาดยาง สะดวก สามารถลดระยะทางไปพะเยาได้ โดยใช้เส้นทางบ้านสระ-ดอกคำใต้ ปัจจุบันมีถนนลาดยางตลอดทาง ผ่านอำเภอเชียงม่วนไปอำเภอปง จังหวัดพะเยา และจากอำเภอเชียงม่วนไปอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขา โดยเฉลี่ยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม มีลำห้วยสระไหลผ่านหมู่บ้าน และที่ราบตามไหล่เขา ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำจะปลูกข้าวน 

บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีจำนวน 228 ครัวเรือน เรือน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 619 คน (พ.ศ. 2567) ชาย 316 คน หญิง 303 คน

บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 เป็นชุมชนที่แยกตัวมาจาก ม.4 บ้านสระใต้ ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากหมู่ 4 บ้านสระใต้ ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นคนพื้นเมืองที่อพยพมาจากชุมชนใกล้เคียง มีความสัมพันธ์มีระบบเครือญาติที่เชื่อมโยงกัน โดยจะมีนามสกุลใหญ่ ๆ ดังนี้ 

  1. นามสกุล บ้านสระ เป็นต้นตระกูลเดิมของชุมชน
  2. นามสกุล สืบแสน
  3. นามสกุล ฟ้าแลบ
  4. นามสกุล ขันทะบุตร
  5. นามสกุล รักดี 

นอกจากนั้น ยังมีระบบ ผีเจ้าบ้านเจ้าเรือน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมความประพฤติในชุมชน ซึ่งระบบผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนนี้จะยึดฝ่ายมารดาเป็นหลัก เช่น ถ้ามีอยู่ ผีฮักช้างเผือก ลูกที่เกิดมาก็ต้องอยู่ผีฮักช้างเผือก เพราะถือว่าเป็นคนเดียวกับมารดา สกุลผีบ้านผีเรือนที่ ใหญ่ ๆ ได้แก่ 

  1. คุ้มผีฮักช้างเผือก คุ้มผีนี้ ชาย หญิง ผีเดียวกัน(สายเลือดเดียวกัน) จะมาแต่งงานด้วยกันไม่ได้โดยเด็ดขาด เป็นคุ้มผีที่ดุที่สุด เป็นต้นตระกูลของคุ้มผีทั้งหมด มีหน้าที่ปกปักรักษาทั้ง 5 หมู่บ้าน (โดยจะมีสัญลักษณ์ คุ้มปี เป็นช้างเผือกสีขาว) โดยมีเรื่องเล่ากันว่า คุ้มผีนี้ได้ตั้งขึ้นเพื่อปกปักรักษาคนในชุมชนจากอันตรายของ ผีกะ หรือ ผีปอบ ซึ่งหาก ผู้ใดเป็นผีกะหรือผีปอบ แล้วเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน ตอนกลางคืน คน ๆ นั้นจะได้ยินเสียง ช้าง ไปกระทืบอยู่หน้าบ้าน และรบกวน ทำให้อยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ ต้องออกไปจากหมู่บ้าน
  2. คุ้มผีพญาคำปิน คุ้มผีนี้ ชาย หญิง ผีเดียวกัน แต่งงานกันได้ แต่ต้องใช้ควาย 1 ตัว เป็นเครื่องขอขมา
  3. คุ้มผีสม-ส่อง คุ้มผีนี้ ชาย หญิง ผีเดียวกัน แต่งงานกันได้ แต่ต้องใช้ควาย 1 ตัว เป็นเครื่องขอขมา
  4. คุ้มผีลุงคำมี คุ้มผีนี้ ชาย หญิง ผีเดียวกัน แต่งงานกันได้ แต่ต้องใช้ควาย 1 ตัว เป็นเครื่องขอขมา
  5. คุ้มผีสำรวย คุ้มผีนี้ ชาย หญิงผี เดียวกัน แต่งงานกันได้ แต่ต้องใช้หมู 1 ตัว เป็นเครื่องขอขมา
  6. ผียายเกี้ยว คุ้มผีนี้ ชาย หญิง ผีเดียวกัน แต่งงานกันได้ ไม่ต้องใช้เครื่องขอขมา แต่ต้องไปบอกคุ้มผีบ้านหลัก และต้องมีการเสี่ยงไม้วา  (ไม้วาคือ การที่มีม้า หรือคนทรง นำไม้ที่ได้ มาวัดกับวาของตนเอง โดย ไม้จะหดเข้าหรือขยายออก ตามแต่ ม้า หรือคนทรงจะกำหนด)

โดยบ้านตระกูลทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ หมู่ 3 บ้านสระเหนือ เพราะเป็นพื้นที่ดั้งเดิมก่อนจะแยกเป็นแต่ละหมู่บ้าน และจะมีประเพณี เลี้ยงคุ้มผี ทุก ปีใหม่ไทย หรือเดือนเมษายน ของทุกปี ทุก ๆ ปีสมาชิก จะต้องไปร่วมเลี้ยงผีคุ้ม หากสมาชิกมาไม่ได้ ต้อง นำเสื้อผ้า ของสมาชิกนั้น ๆ มาเข้าร่วมด้วย 

หากมีสมาชิกผีคุ้มไหนทำผิดกฎ ต้องทำพิธี เรียกว่า พิธีขอขมากลางบ้าน บริเวณ 4 แยก บ้านหมู่ 12 บ้านสระกลาง และหมู่ 3 บ้านสระเหนือ โดยจะตั้งทำพิธีพร้อมกับตอนเลี้ยงผีคุ้มในช่วงปีใหม่ไทยหรือเดือนเมษายน 

ช่วงเดือน เมษายน ทุกคุ้มผี ต้องเลี้ยงผีคุ้มตนเอง บ้านต้นคุ้มผี และต้องมาร่วมกันเลี้ยงคุ้มผีกลาง คือ เชิญทุกคุ้มผี มาทำพิธี ตรงกลาง หมู่บ้านบริเวณ สี่แยกบ้านหมู่ 12 บ้านสระ และในตอนนี้นี่เอง หากคุ้มผีไหน สมาชิกทำคุ้มทำผิดศีลธรรม เช่น ลอบมีชู้  ต้นคุ้มผีต้องมาทำพิธีขอขมาให้ทำปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าหากไม่ทำการขอขมา มีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดอาเพศในชุมชน เช่น ทำให้เกิดคนตายต่อเนื่องกัน หรือคนในบ้านนั้นตระกูลนั้นจะไม่ได้ตายดี ซึ่งก่อนเลี้ยงผีกลางบ้านนั้น คนที่ทำผิดต้องทำการทำพิธีขึ้นดอกไม้แดง เพื่อแสดงเจตนาว่าได้สำนึกผิด และขอไปขอขมาในวันเลี้ยงผีกลาง

เมื่อทำผิดแล้วไม่ยอมขอขมาบ้านหรือบุคคลที่อยู่คุ้มนั้น ก็จะร่วมกันทำพิธีขึ้นดอกไม้ขาว หมายความว่า ยินยอมพร้อมใจ ไม่ให้ผีคุ้มตนเองไปปกปักรักษาคนที่ทำผิดนั้น ถือว่าคน ๆ นั้นก็จะไม่มีคุ้มผีดูแล และคนคนนั้นจะไปอยู่คุ้มผีไหนก็ไม่ได้ จนกว่าจะมีการขอขมา

ผู้ใหญ่บ้าน นายเสรี ฟ้าแลบ

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

  • ชเนรินทร์ อิต๊ะยศ
  • นางสาวจุรารัตน์ ฟ้าแลบ
  • นายขวัญ บ้านสระ

กลุ่มองค์กรในชุมชน

  • กลุ่มกรรมการแม่บ้าน
  • กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)
  • กลุ่มอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มอาสาสมัครเกษตร
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กองทุนด้านการเงินในหมู่บ้าน
  • กลุ่มเงินล้าน
  • กลุ่มออมทรัพย์
  • กลุ่มกองทุน SML
  • กองทุนเงินแสน
  • กองทุนปุ๋ย
  • กองทุนแม่ของแผ่นดิน

อาชีพ

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขา โดยเฉลี่ยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบติดเชิงเขา มีลำห้วยสระไหลผ่านหมู่บ้าน ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณที่ราบจะปลูกข้าว บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จึงมีอาชีพหลัก คือ ทำไร่ ทำนา โดยพืช เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว แต่หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา ได้มีการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ระหว่างฤดูกาล ซึ่งพืชที่ปลูก ได้แก่ ถั่วแระญี่ปุ่น แตงกวา มะระจีน มะเขือม่วง และข้าวโพด

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 10 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จะมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยส่วนใหญ่จะมาจากทางการเกษตร

กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ

  • เดือนมกราคม-พฤษภาคม ชาวบ้านเตรียมดินเพื่อปลูกไร่ข้าวโพด จากนั้นช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือกระเทียมและข้าวโพดเหมย ที่ได้ปลูกไว้ตอนสิ้นปี ในช่วงเดือนมีนาคมเริ่มเก็บใบยาสูบ
  • เดือนมิถุนายน-สิงหาคม หว่านกล้าข้าว เพราะช่วงเดือนมิถุนายนนั้นเป็นช่วงที่ฝนเริ่มโปรยปรายเมื่อใส่ปุ๋ยหรือหว่านกล้าข้าว ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลามาสูบน้ำเข้านา เพื่อให้กล้าข้าวได้รับน้ำมากนักช่วงนี้จะได้กลิ่นโคลนอ่อน ๆ ลอยมาแตะจมูกเข้ากับอากาศที่เย็นสบายของฤดูฝน
  • เดือนตุลาคม-ธันวาคม ในเดือนกันยายนช่วงเดือนตุลาคม ชาวบ้านเริ่มปรับดินใส่ปุ๋ยและเริ่มทำไร่ถั่วแระและถั่วเหลืองกัน จากนั้นในช่วงพฤศจิกายนเป็นช่วงการเตรียมและปรับปรุงดิน เพื่อทำไร่ใบยาสูบและทำไร่ข้าวโพดอีกครั้ง ชาวบ้านเรียกกันว่าข้าวโพดเหมย จากนั้นชาวบ้านก็จะเตรียมดินเพื่อปลูกกระเทียม, หอมในช่วงเดือนพฤศจิกายน
  • เดือนมกราคม-เดือนธันวาคม เป็นเวลาทำงานของคนที่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และมีอาชีพถักผ้า 

กิจกรรมทางด้านสังคมและวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม ประเพณีตานข้าวใหม่โดย เป็นการนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้นั้นไปถวายที่วัด เพื่อเป็นการทำบุญ โดยประเพณีนี้จัดเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากได้ทำแล้วจะทำให้ข้าวที่ปลูกได้ผลผลิตดีตามที่ต้องการ เดือนมกราคมชาวบ้านมีการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ งานวันเด็กแห่งชาติที่เทศบาลตำบลสระ เป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเรียนของลูกหลานในหมู่บ้าน
  • เดือนเมษายน งานบุญวันสงกรานต์ตานไม้ค้ำศรี ทำพิธีสงเคราะห์บ้าน เลี้ยงเจ้าบ้านซึ่งเป็นศาลประจำหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถืออย่างมาก รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ ญาติพี่น้องที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดก็จะกลับมารวมญาติกันที่บ้าน 
  • เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปทำบุญตักบาตรกันทุกวันพระ ช่วงระหว่างเดือนนี้ส่วนมากจะไม่ค่อยมีงานหรือประเพณีใด ๆ
  • เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ออกพรรษาจะเข้าวัดทำบุญตานก๋วยสลาก และในเดือนพฤศจิกายนจะมีการจัดงานประเพณียี่เป็ง
  • เดือนมกราคม-ธันวาคม ทำบุญตักบาตรวัดพระทุกเดือน เดือนละ 4 ครั้ง ณ วัดสระเหนือเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาและเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วนั้นอีกด้วย

1.นางอาน ยอดสุคำ

เกิดปี พ.ศ. 2498

ภูมิลำเนา หมู่ 10 บ้านเหล่าพัฒนา

การศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านสระ

อาชีพ เกษตรกรรม

ความสามารถ

  1. มีความเชี่ยวชาญสมุนไพรและเป็น หมอสมุนไพร ในชุมชน โดยหลังจากสมรสกับ นายสนธิชัย ยอดสุคำ ซึ่งเป็นปราชญ์สมุนไพร ประจำชุมชน ก็ได้ช่วยสามีในการจัดเตรียมสมุนไพรต่าง ๆ จึงได้เริ่มศึกษาสมุนไพร จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพรในชุมชน และได้คิดค้นตำรับสมุนไพรที่หลากหลาย ปัจจุบันนายสนธิชัย ยอดสุคำ ซึ่งเป็นสามีและเป็นปราชญ์สมุนไพร ได้เสียชีวิตแล้ว นางอาน ยอดสุคำ ก็ได้ดำเนินการในเรื่องสมุนไพรในชุมชนแทน
  2. มีความเชี่ยวชาญด้านการนวดแพทย์แผนไทย โดยเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมจาก ได้รับการรับรอง การทดสอบฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้านการนวดแผนไทย จำนวน 150 ชั่วโมง จาก กรมฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และเคยได้เป็นเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระ ประมาณ 1 ปี จึงขอยุติหน้าที่ เนื่องจากภาระงานในครอบครัว
  3. ปัจจุบันเป็นวิทยากรด้านสมุนไพรในชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นผู้ให้การสนับสนุน การดำเนินงานสมุนไพรในชุมชน

ประสบการณ์การทำงานในชุมชน

  1. พ.ศ. 2553-2554 เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระ
  2. พ.ศ. 2555 ได้รับการรับรอง การทดสอบฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้านการนวดแผนไทย จำนวน 150 ชั่วโมง จาก กรมฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
  3. พ.ศ. 2559 ได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นบุคคลที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ ในชุมชน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดแผนไทยและสมุนไพรในชุมชน 

1.ทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ติดกับลำน้ำห้วยสระ เป็นแหล่งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ให้แก่คนในชุมชน

  • ทำนาปีละ 1 ครั้ง
  • แหล่งน้ำสาธารณะ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสระ อ่างเก็บน้ำห้วยแหน และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว และ บ่อเหมืองแร่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญ รองมาจากลำน้ำยม ใช้ในการเกษตร และการทำประมง
  • ประปา 2 แห่ง (ประปาภูเขา และประปาเหมืองแร่) 

จุดชมวิวหนองน้ำสีมรกต ณ เหมืองเก่าถ่านหินลิกไนต์บ้านสระ อีกหนึ่งพิกัดวิวหลักล้านที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนถึงถิ่นเชียงม่วน “จุดวิวเหมืองเก่าถ่านหินลิกไนต์บ้านสระ” เป็นบึงน้ำลึกขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ มีลักษณะเป็นบึงน้ำสีเขียวอมฟ้าตัดกับภูเขา สามารถมาถ่ายรูป นั่งรับลมเย็นสบาย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์จากการทำเหมือง ซึ่งปัจจุบันบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์พร้อมทั้งจัดแสดงซากฟอสซิล เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามต่อไปศาลาประชาคม 1 แห่ง (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

เหมืองถ่านหินลิกไนต์ เชียงม่วน (เหมืองเก่า) เหมืองเชียงม่วน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในความดูแลของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในตำบลบ้านสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยเหมืองนั้นตั้งอยู่บนเนื้อที่รวม 2,570 ไร่ ดำเนินการผลิตถ่านหินเชิงพาณิชย์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539

ถ่านหินของเหมืองเชียงม่วนเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับลูกค้าภายในประเทศ ทั้งในธุรกิจไฟฟ้า ซีเมนต์และเยื่อกระดาษ ได้มีการขุดพบซากฟอสซิลภายในบริเวณเหมืองมากมายหลายชนิด โดยซากฟอสซิลที่พบส่วนใหญ่จะเป็นกระดูกและฟันของช้างไตรโลโฟดอน กอมโฟแทร์ (Triphodont Gomphothere) ซึ่งเป็นช้างโบราณที่มี 4 งา จระเข้ ปลา อีเก้ง หมู ลิงอุรังอุตัง เต่า หอยชนิดต่างๆและเมล็ดพืชโบราณ ซึ่งซากฟอสซิลเหล่านี้มีอายุในช่วงยุคไมโอซีน (Myosin) ตอนกลางหรือราว 13-15 ล้านปีก่อน (กระทรวงวัฒนธรรม, 2554)

2.ทุนวัฒนธรรมประเพณี บ้านเหล่าพัฒนา เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งใหม่ แต่ก็มีประชาชนที่ย้ายมาจากหมู่บ้านอื่น ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านสมุนไพร ทำให้บ้านเหล่าพัฒนาเป็น พื้นที่แหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรที่สำคัญในชุมชน 

3.ทุนทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม 

  • กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินล้าน กองทุนเงินแสน
  • กองทุน SML
  • กองทุนเงินฌาปนกิจ
  • กองทุนแม่บ้าน
  • กองทุนแม่ของแผ่นดิน
  • กองทุน อสม.
  • กองทุนปุ๋ย 

บ้านเหล่าพัฒนาอยู่ในชมุชนที่เรียกว่า ชุมชนบ้านสระ ร้อยละ 99 เป็นคนพื้นเมือง ภาษาที่ใช้พูดสื่อสาร จึงเป็นภาษาพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์ จึงเรียกว่า "ภาษาบ้านสระ" ในอำเภอเชียงม่วน สามารถแยกได้ว่า เป็นคนพื้นที่ใด โดยใช้ภาษาในการพูดแยก ถ้าคนบ้านสระไปพูดที่ไหนเขาก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นคนบ้านสระ 


เดิมประชาชน หมู่ที่ 10 บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีความเป็นอยู่เป็นคนพื้นเมือง การบริโภคต่าง ๆ เน้นในเรื่องผัก เนื้อสัตว์ที่ได้จากการบริโภคจะมาจากการเลี้ยงเอง เมื่อ กาลเวลาเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนได้เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก เมื่อก่อนคนในชุมชนจะนิยมทำอาหารไว้กินเอง โดยใช้พืชผักสวนครัวทำเอง และหาจากแหล่งธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการบริโภคอาหารสำเร็จรูปมารับประทาน มีค่านิยมดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น อายุเฉลี่ยของผุ้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ค่านิยมการรับประทานอาหารขยะ พืชผักก็มักมีการฉีดสารเคมีพ่นยาฆ่าแมลง ใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในร่างกาย ทำให้ประชาชน เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโรคอันดับ 1 ในพื้นที่ และอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 5 ของสาเหตุการเสียชีวิต การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทำให้สูญเสียรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). ป่าชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา. https://forestinfo.forest.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เหมืองเก่าถ่านหินลิกไนต์บ้านสระ. https://thai.tourismthailand.org/

สำนักงานจังหวัดพะเยา. (2566, 31 สิงหาคม). เหมืองถ่านหินเก่าที่ อ.เชียงม่วน. http://www.phayao.go.th/

Fossil World. แหล่งซากดึกดำบรรพ์เหมืองเชียงม่วนhttps://www.facebook.com/fossil.world/posts/

Amrit Suvunsavate, Arong Sritulakarn and Nikorn Wongchai. (2003). Note on the fossil localities in the Chiang Muan Mine. http://library.dmr.go.th/

ThaiPR.net. (2558, 9 กรกฎาคม). บ้านปูฯ ส่งมอบฟอสซิลเหมืองเชียงม่วน อายุ 13-15 ล้านปี สู่ภาครัฐ. https://www.ryt9.com/

คุณนายปิ่นแก้ว. (2557, 12 มิถุนายน). เหมืองเชียงม่วน. Youtube. https://www.youtube.com/

อเนก กระเเจ่ม. (2556, 1 มิถุนายน). คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/

มณฑลพายัพ. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนวิธีการปกครองบริเวณน่านเหนือใหม่. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 : 751. 14 ตุลาคม รศ.125

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม รศ.131

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ(PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201. 12 กันยายน 2458

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2564 ในท้องที่มณฑลมหาราษฎร์. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 39 (0 ก): 336–341. วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465

พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 86ตอนที่ 44 : 1729. 1 พฤษภาคม 2512

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69  : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541

อบต.สระ โทร. 0-5489-1513