บ้านแม่สะป๊อก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและชนพื้นเมือง กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมที่สวยงาม
ชาวบ้านเข้ามาอาศัยในพื้นที่ที่มีลำห้วย จึงได้ตั้งชื่อลำห้วยว่า ห้วยแม่สะป๊อก หมายถึง กลับ ที่มาของชื่อนี้สันนิษฐานว่ามาจากสองสาเหตุ คือ จากลักษณะการไหลวนกลับของสายน้ำในลำน้ำ และจากการที่ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานกลับไปมาในพื้นที่เดิม จึงใช้เป็นชื่อเรียกของชุมชนด้วย
บ้านแม่สะป๊อก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและชนพื้นเมือง กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมที่สวยงาม
ชุมชนบ้านแม่สะป๊อกเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) ที่อพยพมาจากประเทศพม่าเมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว แรกเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านแม่มูดในปัจจุบัน และมีชาวพื้นเมืองย้ายเข้ามาสบทบเพิ่มเติม ทำให้ชาวปกาเกอะญอย้ายไปอยู่บริเวณลำห้วยที่ไม่จากพื้นที่ชุมชนเดิมมากนัก ต่อมาชาวบ้านได้ตั้งชื่อลำห้วยว่า แม่สะป๊อก หมายถึง กลับ ที่มาของชื่อนี้สันนิษฐานว่ามาจากสองสาเหตุ คือ จากลักษณะการไหลวนกลับของสายน้ำในลำน้ำ และจากการที่ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานกลับไปมาในพื้นที่เดิม
ในปี พ.ศ. 2518 ชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างวัดประจำชุมชนขึ้น และในปี พ.ศ. 2520 พระมหามรกตจากวัดเชิงดอยได้เข้ามาเผยแพ่พุทธศาสนา พร้อมทั้งจัดสรรที่ดินบริเวณดอยโตนให้กับชาวบ้าน ทำให้ชนพื้นเมืองและชาวปกาเกอะญอเข้ามาตั้งบ้านเรือนในชุมชนมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2526 มูลนิธิโครงการหลวงได้เลือกพื้นที่บ้านสะป๊อกเป็นพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชาวไทยภูเขาด้านการเกษตร จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อกช่วงส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับสมาชิกจนถึงปัจจุบัน
บ้านแม่สะป๊อก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่วางห่างออกไปเป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 60 กิโลเมตร ชุมชนมีพื้นที่ทั้งหมด 6,000 ไร่ ที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออก พื้นที่ความสูงประมาณ 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลักษณะพื้นที่เป็น 3 รูปแบบ คือ ที่ราบลุ่มลำห้วยจักไคร้ และลำน้ำแม่สะป็อก ส่วนที่สองเป็นที่ราบสูงเชิงเขา เนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ปลูกพืชไร่สวน และพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งเรียงรายโดยรอบบริเวณชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณ สลับกับป่าสน สภาพอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,700 มิลลิเมตร/ปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยในเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอากาศหนาวเย็นที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่เคยวัดได้อยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน โดยอุณหภูมิสูงสุดที่เคยวัดได้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส บ้านแม่สะป๊อกมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 16 บ้านหนองมณฑา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านขุนป๋วย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านแม่มูด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านห้วยเกี๋ยง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านแม่สะป๊อก ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 782 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 395 คน ประชากรหญิง 387 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 286 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ และอีกส่วนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่เข้าไปแต่งงานกับชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแล้วอาศัยอยู่ร่วมกัน
ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่สะป๊อก มีการตั้งบ้านเรือนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยจะปลูกบ้านติด ๆ กันในหมู่เครือญาติ โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกสาว เมื่อแต่งงานแล้วจะปลูกบ้านไว้ใกล้ ๆ กับพ่อแม่ ทำให้ลักษณะการตั้งบ้านเรือนไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก ส่วนชาวพื้นเมืองล้านนาในชุมชนจะมีการสร้างบ้านเรือนแบบกระจายตัวออกไป เว้นระยะห่างของบ้านแต่ละหลังพอประมาณ บ้านเรือนเรียงรายเป็นระเบียบ และยังคงไปมาหาสู่กันตามปกติ
ปกาเกอะญอชาวปกาเกอะญอบ้านแม่สะป๊อก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน โดยเป็นการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลในแต่ละรอบปี
- เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เตรียมพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าว และทำสวน
- เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มเพาะต้นกล้าสำหรับทำนา และปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือน
- เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม เริ่มลงมือปลูกข้าว ทำนา
- เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ดูแลจัดการไร่นา ทดน้ำเข้านา กำจัดวัชพืช หาของป่า
- เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเอามื้อ (ลงแขกเกี่ยวข้าว) หาของป่า
- เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น ปรับพื้นที่เตรียมปลูกพืชเสริม เช่น ถั่วเหลือง ผักต่าง ๆ และทำนาปรัง
- เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้และแบ่งขาย ผู้ชายจะให้เวลาว่างไปรับจ้างในพื้นที่ต่าง ๆ
ส่วนชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย โดยจะรับซื้อของป่าจากชาวปกาเกอะญอเข้าไปขายที่ตลาดในเมือง และชาวบ้านบางส่วนก็ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป
ชุมชนมีความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่ทั้งชาวพื้นเมืองและชาวปกาเกอะญอร่วมกันประกอบคือ พิธีเลี้ยงผีฝาย ซึ่งจะทำในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยจะเลี้ยงตรงบริเวณฝายน้ำ เชื่อกันว่าผีฝายเป็นผู้ดูแลรักษาต้นน้ำเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับการเกษตร พิธีกรรมเลี้ยงผีฝายจะกำหนดโดยหัวหน้าเหมืองฝาย ซึ่งชาวบ้านที่ใช้น้ำจากเหมืองฝ่ายนั้นจะนำไก่มาบ้านละ 1 ตัว เหล้าครึ่งขวด ดอกไม้ และขนมมารวมกัน หรือบางทีก็มีการรวมเงินกับซื้อหมูมาเป็นเครื่องเซ่น
พิธีผูกข้อมือให้เด็กของชาวปกาเกอะญอจะทำเมื่อเด็กอายุได้ 2 ขวบ โดยพ่อแม่จะเป็นคนผูกข้อมือให้ เครื่องเซ่นที่ใช้ ได้แก่ ไก่ เหล้า ข้าวต้ม ดอกไม้ และฝ้ายสีขาว โดยมีความเชื่อว่าในสมัยก่อนนั้นขณะที่ทำไร่ ทำนาต้องนำลูกไปด้วย ซึ่งเด็กอาจจะซุกซนล่วงละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเด็กอาจตกใจเสียขวัญ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมัดมือเพื่อเรียกขวัญเด็กให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว
พิธีเลี้ยงผีปู่ย่าของชาวพื้นเมือง จะทำเมื่อมีงานแต่งงานของลูกสาว โดยในตอนเช้าตรู่ก่อนวันแต่งงาน 1 วัน ญาติฝ่ายเจ้าสาวจะนำข้าวนึ่งและดอกไม้มารวมกันที่บ้านเก่าบ้านแก่ของตระกูล ส่วนเจ้าสาวจะนำไก่ต้มและหมูมาเลี้ยงผี วิธีการเสียงผีปู่ย่าขั้นแรกจะเลี้ยงด้วยไก่ต้ม 2 คู่ ผีปู่คู่ ผีย่าคู่ หลังจากที่ผีปู่ย่ากินเครื่องเซ่นชุดแรกหมดก็จะนำเครื่องเซ่นชุดที่สองที่เป็นข้าวนึ่ง คอกไม้และหมูขึ้นแทน การสังเกตว่าผีปู่ย่ากินของเซ่นหมด ดูได้จากการดับของไส้เทียน ถ้าไส้เทียนหมดแสดงว่าผีปู่ย่ากินของเซ่นไหว้หมดแล้ว หลังจากนั้นเจ้าสาวก็จะนำอาหารมาเลี้ยงญาติ ถ้ามีหมูเหลือจากการประกอบอาหารก็จะนำมาแบ่งหุ้นให้กับญาติที่มาเลี้ยงผีด้วยกัน การเลี้ยงผีปู่ย่านี้จะนับทางฝ่ายผู้หญิง
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย
วรัชญา บุญสมัคร. (2547). ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และแนวโน้มพฤติกรรมการยอมรับผู้ติดเชื้อของสตรีชาวปกาเกอะญอ: กรณีศึกษาบ้านแม่สะป๊อก ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.
บ้านแม่สะป๊อก. (2562). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/