บ้านแม่หอย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงสะกอ ชุมชนบนพื้นที่เนินสูงกลางหุบเขาที่มีทรัพยากรป่าไม่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งชีวิตของชุมชน และการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อท้องถิ่น
พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ลำห้วยซึ่งมีหอยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกลำห้วยนั้นว่า ห้วยน้ำแม่หอย และเมื่อเกิดเป็นชุมชนจึงได้นำมาตั้งชื่อชุมชนด้วย
บ้านแม่หอย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงสะกอ ชุมชนบนพื้นที่เนินสูงกลางหุบเขาที่มีทรัพยากรป่าไม่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งชีวิตของชุมชน และการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อท้องถิ่น
แต่เดิมพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หอยเป็นป่าธรรมชาติที่มีพันธุ์ไม้ขึ้นปกคลุม และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ก่อนที่ผู้คนจะเข้ามาแผ้วถางสร้างบ้านเรือน โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาในพื้นที่ คือ นายเปอะเลอะและครอบครัว ซึ่งย้ายมาจากอำเภอเชียงดาว โดยสร้างบ้านพักอาศัยบริเวณใกล้ลำห้วย ซึ่งในลำห้วยนี้มีหอยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกว่า "ห้วยน้ำแม่หอย" เรียกเป็นภาษาปกาเกอะญอว่า “โขล่-เหม่-โก๊ะ” และกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
ในระยะแรกนายเปอะเลอะและครอบครัวเข้ามาทำกินในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และอาศัยอยู่ริมลำห้วยเรื่อยมา ซึ่งการเข้ามาของเปอะเลอะและครอบครัวนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่ามาตั้งบ้านเรือนในปีใด แต่หากสืบทราบจากสายตระกูลและผู้คนในชุมชนก็สามารถสันนิษฐานได้ว่ามีอยู่อาศัยมามากกว่า 120 ปีมาแล้ว ในระยะต่อมาจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้งครอบครัวของนายเปอะเลอะก็ได้ขยายออกเป็นตระกูลที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาก แยกเรือนออกไปเป็นหลายครอบครัว
ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านแม่หอย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเหมาะสำหรับทำการเกษตร ชาวบ้านเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำนา ทำสวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยทดน้ำจากลำห้วยมาใช้ เมื่อกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมจึงเริ่มมีการทำปศุสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ซึ่งในอดีตเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามทำธรรมชาติ ทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรจึงเกิดความเสียหาย ต่อมาชาวบ้านจึงพากันโยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนถอยห่างจากลำห้วยและพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น เพื่อลดความเสียหายจากการเข้าไปทำลายของสัตว์เลี้ยง
ชาวบ้านแม่หอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมความเชื่อเฉพาะกลุ่ม โดยมีความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ วิญญาณ ผี และประเพณีพิธีกรรมของชนเผ่าที่ปฏิบัติกันมาตามการสืบทอดจากบรรพบุรุษ จนกระทั่งเมื่อมีการเผยแผ่คริสต์ศาสนาเข้ามาในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีความเชื่อจากนับถือผีมาเป็นนับถือศาสนาคริสต์แทน และก็มีผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง จนบ้านแม่หอยกลายเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มาจวบจนปัจจุบัน
บ้านแม่หอย หมู่ที่ 12 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ดอนสูง ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน และมีป่าไม้ตามธรรมชาติโดยทั่วไป ด้วยเหตุที่ชุมชนอยู่ในบริเวณที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทางกรมป่าไม้จึงมีการกำหนดเขตป่าต่าง ๆ โดยรอบชุมชนไว้ เป็นเขตที่ทำกิน เขตป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ พื้นที่สงวนพันธุ์สัตว์ป่า ตามที่ทางหน่วยงานกำหนด และชาวบ้านก็มีส่วนในการร่วมดูแลทรัพยากรในพื้นที่ หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ มีเขตที่ดินทำกินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ 2,000 ไร่ เขตป่าใช้สอยพื้นที่ 500 ไร่ เขตป่าอนุรักษ์ 10,000 ไร่ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอีก 2,000 ไร่ โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่ซา หมู่ที่ 2 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่นาจร หมู่ที่ 16 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่มุ หมู่ที่ 4 และบ้านแม่เอาะ หมู่ที่ 10 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนากลาง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ชาวบ้านแม่หอยเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่บริเวณลำห้วยแม่หอย โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 12 บ้านแม่หอย ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 426 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 229 คน ประชากรหญิง 197 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 156 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอชาวบ้านแม่หอย ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนเกษตรกรรมมาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งชุมชน โดยประชากรที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่นี้ไม่เพียงแต่หาพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องการพื้นที่ทำกินเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งบริเวณบ้านแม่หอยก็ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านแม่หอยจึงทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่แรกเริ่มและยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน การทำการเกษตรในชุมชนมุ่งเน้นผลผลิตเพื่อยังชีพเป็นเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะการปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ราบสูงและมีความลาดชัน การทำนาข้าวของชาวบ้านจึงเป็นการทำข้าวไร่ตามลักษณะความลาดชันของพื้นที่ และการทำข้าวไร่จะใช้ปริมาณน้ำในการดูแลน้อยกว่าการทำนาทั่วไป ข้าวไร่จึงมีความเหมาะสมในการเพาะปลูก ส่วนการทำนาแบบทั่วไปมีเพียงส่วนน้อยเพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการทำไร่แบบหมุนเวียน คือ การเปลี่ยนพื้นที่การทำเกษตรกรรมไปยังที่ใหม่ในแต่ละปี ซึ่งแต่ละครอบครัวก็จะมีที่ดินหลายแปลงไว้เพาะปลูก เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวหากพื้นที่นั้นได้ผลผลิตที่มีปริมาณน้อยกว่าปกติ หรือพืชผลไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะเวียนไปปลูกพืชในพื้นที่ใหม่ของฤดูกาลถัดไป เพื่อให้พื้นดินได้ฟื้นฟูสภาพให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงจะเวียนกลับมาเพาะปลูกในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง และในปัจจุบันชาวบ้านก็มีการใช้พื้นที่ในไร่มาปลูกข้าวโพดกันมากยิ่งขึ้น
ด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติโดยรอบบริเวณชุมชน การเก็บหาของป่าจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บของป่าตามฤดูกาลต่าง ๆ เพื่อนำออกมาขาย เช่น หน่อไม้ เห็ดหลากชนิด ดอกไม้กวาดสำหรับทำไม้กวาด ฯลฯ รวมไปถึงการล่าสัตว์ป่าบางชนิดเพื่อนำมาประกอบอาหารและแบ่งขายสร้างรายได้เสริมอีกทางด้วย และหลังจากการว่างเว้นจากงานทำไร่ทำนา หรือกิจกรรมอื่น ๆ ชาวบ้านบางส่วนก็จะออกไปหารับจ้างในพื้นภายนอกชุมชนเพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกทาง แต่เป็นงานชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้เป็นงานที่ต้องทำประจำ
ศาสนาและพิธีการสำคัญ
แต่เดิมชาวบ้านแม่หอย เคยนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิม ก่อนจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์จากการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีที่ใด้เข้ามาเมื่อประมาณกว่า 60-70 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันชาวบ้านทุกหลังคาเรือนหันมานับถือศาสนาคริสต์ มีการประกอบพิธีกรมทางศาสนาเป็นประจำ และเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่หอย เมื่อมีการก่อตั้งคริสตจักรบ้านแม่หอยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2509 ก็มีการตั้งคณะกรรมการคริสตจักร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางศาสนาเรื่อยมา การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในหมู่บ้านเกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อนมัสการพระเจ้าหรือร่วมกันอธิษฐานให้พระเจ้าปกป้องคุ้มครอง โดยจะทำพิธีในโบสถ์ของหมู่บ้าน ในการทำพิธีต่าง ๆ มักจะใช้เพลงประกอบ ซึ่งมีอนุชนในหมู่บ้านร้องนำ โดยมีการเล่นกีตาร์และคีย์บอร์ดประกอบเพลง ในบทเพลงที่ร้องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของพระเจ้า หรือสรรเสริญพระเจ้าเหมือนในโบสถ์ทั่วไป ต่างกันก็ตรงภาษาที่ร้องเป็นภาษากะเหรี่ยง
กิจกรรมและเทศกาลสำคัญ
วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ในทุกปีชาวบ้านจะเริ่มงานฉลองคริสต์มาสตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ชาวบ้านจะจัดรถออกไปร่วมงานฉลองกับคริสตจักรของหมู่บ้านอื่นตามที่ตกลงกันในแต่ละปี เมื่อถึงวันที่ 25 ธันวาคม ก็จะฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อระลึกถึงพระเยซู โดยการประกอบพิธีทางศาสนา เข้าโบสถ์อธิษฐานนมัสการพระเจ้า ทำอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงานและรับประทานด้วยกัน และมีกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ เช่น แข่งกีฬา ร้องเพลง แสดงดนตรี ฯลฯ
วันปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม แต่จะเริ่มงานตั้งแต่เย็นวันที่ 31 ธันวาคม โดยทำอาหารเลี้ยงรับประทานร่วมกัน แล้วเข้าโบสถ์อธิษฐานนมัสการพระเจ้า จากนั้นกลุ่มอนุชนรวมทั้งเด็ก ๆ เยาวชนจะออกไปอวยพรตามบ้านจนครบทุกหลังคาเรือน รุ่งเข้าก็เข้าโบสถ์ เมื่อเสร็จกิจกรรมก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นก็มีกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น กีฬา เกมการแข่งขันต่าง ๆ ในช่วงหัวค่ำก็มีกิจกรรมการแสดงสันทนาการต่าง ๆ ไปจนถึงประมาณเที่ยงคืน
พิธีกรรมทางศาสนา มีหลายพิธีด้วยกัน เช่น
- พิธีรับบัพติสมา (ศีลจุ่ม) เป็นการรับเชื้อพระเจ้า ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าจะได้เป็นคริสเตียนเต็มตัว โดยมีศาสนาจารย์เป็นผู้ทำพิธีให้ ส่วนผู้เข้ารับบัพติสมาจะต้องให้คำปฏิญาณว่าจะประพฤติตัวดี ไม่ทำความชั่วตามข้อกำหนด 10 ประการอีกต่อไป การทำพิธีก็จะทำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เตรียมเอาไว้ หรืออาจทำในห้วยน้ำธรรมชาติก็ได้
- พิธีศีลมหาสนิท ผู้เข้าร่วมพิธีได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับบัพติสมาแล้วเท่านั้น พิธีถูกจัดขึ้นในโบสถ์ของหมู่บ้าน เพื่อระลึกถึงพระเจ้าผู้ไถ่บาปของมนุษย์ โดยใช้น้ำองุ่นและขนมปังซึ่งมีความหมายถึงเลือดเนื้อของพระเจ้า มารับประทานในการประกอบพิธี
- การอธิษฐานในงานต่าง ๆ เช่น การตั้งชื่อเด็ก การขึ้นบ้านใหม่ นมัสการพระเจ้าก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว ฯลฯ ซึ่งงานต่างๆ ในหมู่บ้านล้วนประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนาแทบทั้งสิ้น
ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย
คมลักษณ์ ไชยยะ (2543). การจัดทำคู่มือบทสนทนาและแถบบันทึกเสียงภาษากะเหรี่ยงสะกอ: กรณีศึกษาบ้านแม่หอย หมู่ 12 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. (2563). บ้านแม่หอย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2567, จาก https://www.mae-chaem.com/
อนุชนคริสตจักรแม่หอย เยาวชน คจ แม่หอย. (2567). สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2567, https://www.facebook.com/sathis53/