
ชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ บนพื้นที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับการจัดการทรัพยากรและการปลูกกาแฟจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน
ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อของลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านจากด้านทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
ชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ บนพื้นที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับการจัดการทรัพยากรและการปลูกกาแฟจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน
ในอดีตพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านแม่ตอนหลวงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยไหลผ่าน คือ ลำห้วยแม่ตอน ต่อมาจึงมีกลุ่มคนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ โดย “ชาวขมุ” ซึ่งมีเชื้อสายมาจากเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในฝั่งไทย บริเวณลำน้ำขุนตอน จนเกิดเป็นชุมชนเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า 200 ปีมาแล้ว
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2529 บ้านแม่ตอนหลวงได้ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง (หมู่บ้าน อพป.) เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและมีการแทรกแซงเข้ามาในพื้นที่ ประกอบกับมีการลักลอบปลูกฝิ่นบริเวณผืนป่าด้านทิศเหนือของชุมชน ในปี พ.ศ. 2535 มีการพัฒนาหมู่บ้านจนได้รับรางวัลหมู่บ้าน อพป. ดีเด่นระดับตำบล และรางวัลหมู่บ้าน อพป. ดีเด่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติระดับภาค
บ้านแม่ตอนหลวงเดิมอยู่ในพื้นที่การปกครองของตำบลเชิงดอย ต่อมาแยกเป็นตำบลป่าเมี่ยง และในปี พ.ศ. 2534 จึงได้แบ่งพื้นที่อีกครั้ง ทำให้อยู่ในการปกครองของเขตตำบลเทพเสด็จ และด้วยชุมชนมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นสองหย่อมบ้าน มีระยะห่างกันประมาณ 800 เมตร ในเวลาต่อมาจึงมีการแบ่งแยกออกเป็นสองหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแม่ตอนหลวง และหมู่บ้านปางกำแพงหิน ในปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา
ชาวขมุที่เข้ามาในบริเวณลำห้วยแม่ตอนหรือลำน้ำขุนตอน ส่วนใหญ่เป็นประชากรชายที่อพยพเข้ามา ทำให้เมื่อมีการสร้างครอบครัวตอนแต่งงานกับชาวขมุด้วยกันเอง และแต่งงานกับหญิงชาวพื้นเมือง วัฒนธรรมชาวขมุจึงถูกกลืนและเริ่มจางหายไปทีละน้อย และหายไปในที่สุด ประชากรกลุ่มแรกที่มาอาศัยในพื้นที่จะพากับประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีต้นเมี่ยงขึ้นตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเมี่ยงสายพันธุ์ “อีอาม” และตอนมาก็ได้มีการนำเมี่ยงสายพันธุ์ “อัสสัม” เข้ามาปลูกแทนที่เพาะให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมากกว่า และกลายเป็นอาชีพของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางกายภาพของชุมชนบ้านแม่ตอนหลวง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสลับกับเนินเขา โดยมีผืนป่าและทิวเขาอยู่รายรอบ ทำให้พื้นที่ชุมชนมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะบนพื้นที่ราบสูง ที่ลาดเอียงจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก โดยจุดสูงสุดอยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน มีระดับความสูง 1,600 เมตร จุดต่ำสุดอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก ในระดับความสูงประมาณ 1,100 เมตร และชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง มีลำน้ำแม่ตอนไหลผ่านหมู่บ้าน สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิค่อนข้างหนาวเย็น โดยเฉพาะในฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีอากาศหนาวมาก ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคม และในฤดูร้อนสภาพอากาศจะไม่ร้อนมากนัก โดยชุมชนบ้านแม่ตอนหลวงมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอำเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลเทพเสด็จ ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่บ้านแม่ตอนหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 8 ตำบลเทพเสด็จ
ชาวบ้านแม่ตอนหลวงเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ที่อพยพมาจากประเทศลาวและตั้งชุมชนบริเวณลำห้วยแม่ตอน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านแม่ตอนหลวง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 190 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 91 คน ประชากรหญิง 99 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 120 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
กำมุประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่บ้านแม่ตอนหลวงจะประกอบอาชีพหลักด้านการทำเกษตรกรรม คือการทำสวนเมี่ยง และการทำไร่กาแฟเป็นหลัก โดยการทำสวนเมี่ยงเป็นอาชีพที่มีมาแต่ดั้งเดิมในช่วงแรกตั้งชุมชน เพาระพื้นที่ชุมชนมีต้นเมี่ยงเกิดขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เดิมจากเมี่ยงพันธุ์ อีอาม มาเป็นสายพันธุ์อัสสัม เพื่อผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมากกว่า โดยการทำสวนเมี่ยงจะสามารถเก็บผลผลิตได้ 4 รอบ รอบแรก คือ เมี่ยงหัวปี เก็บในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายน เมี่ยงกลางปี เก็บช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม เมี่ยงซ้อย เก็บในช่วงต้นเดือนกันยายนถึงปลายเดือนตุลาคม และเมี่ยงเหมย เป็นเมี่ยงรุ่นสุดท้าย จะเก็บในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะไม่เก็บเมี่ยงเหมย เพราะมีปริมาณไม่มาก และปล่อยให้ต้นเมี่ยงได้ฟื้นตัวเพื่อเก็บผลผลิตในฤดูกาลถัดไป
ในระหว่างที่ชาวบ้านเริ่มเก็บใบเมี่ยงรุ่นที่ 3 หรือเมี่ยงซ้อย ชาวบ้านกลุ่มที่ทำไร่กาแฟก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่กาแฟด้วย โดยกาแฟที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันคือสายพันธุ์ “อาราบิกา” ซึ่งสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนและตำบลเทพเสด็จ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีอาชีพด้านการค้าขาย และการรับจ้างทั่วไป อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มของสมาชิกในแต่ละกลุ่มอาชีพเพื่อทำกิจกรรมและจัดสรรการระบบของอาชีพเดียวกัน เช่น กลุ่มผู้ปลูกกาแฟ กลุ่มชาใบเมี่ยง กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ฯลฯ
ความเชื่อและศาสนา
การนับถือศาสนา บ้านแม่ตอนหลวงเป็นชุมชนพุทธศาสนา มีการผสมผสานความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติเข้ากับศาสนาได้อย่างกลมกลืน โดยมีวัดเทพขุนตอนวิหารเป็นวัดประจำชุมชน ก่อสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2446 มีการสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในปี พ.ศ. 2516 และชาวบ้านในอดีตยังใช้วัดเป็นที่เรียนหนังสือด้วย อีกทั้งวัดยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน เช่น การประชุมชาวบ้าน เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องการนับถือผี เป็นความเชื่อดั้งเดิมในอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอำนาจของสิ่งที่มองไม่เห็น จึงต้องให้ความเคารพยำเกรง และมีการบอกกล่าว ไม่เป็นนั้นอาเกิดเรื่องไม่ดีได้ เช่น การเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา เมื่อชาวบ้านเข้าไปเก็บของป่า เป็นต้น
ประเพณีและวัฒนธรรม เช่น
ประเพณีทานประจำปี หรือทานต้นเงิน หลังวันออกพรรษาชาวบ้านจะกำหนดจัดงานตามความสะดวกของคนในชุมชน โดยจะเป็นการไปทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ช่วงบ่ายจะมีการแห่ทานต้นเงิน พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จัดเตรียมไว้ โดยผูกติดกับกิ่งไม้ที่นำมาทำเป็นต้นเงินไปถวายที่วัด และประเพณีนี้จะมีชาวบ้านจากต่างชุมชนมาร่วมด้วย ซึ่งหมู่บ้านที่จัดงานก็จะเตรียมอาหารไว้รับแขกต่างบ้านที่มาร่วมทำบุญ และเมื่อบ้านอื่นจัดงานชาวบ้านก็จะออกไปร่วมด้วยเช่นเดียวกัน
ประเพณีเดือนยี่เป็ง จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน คล้ายกับวันลอยกระทง มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า จากนั้นกลุ่มชาวบ้านผู้ชายก็จะร่วมกันสานไม้ไผ่สำหรับวางดอกไม้ธูปเทียน และทำซุ้มประตูหน้าวิหาร ช่วงเย็นถึงค่ำจะมีการประกวดโคมลอย ประกวดกระทง และการลอยกระทง
ประเพณีเดือนสี่เป็ง ตรงกับช่วงเดือนมกราคม ในอดีตเป็นการนำผลผลิตข้าวจากการเก็บเกี่ยวมาทำบุญร่วมกันของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าหลังเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องนำไปทำบุญก่อนถึงจะนำมารับประทานได้ และในปัจจุบันถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนจาการทำนาเป็นสวนเมี่ยง ไร่กาแฟ แต่ชาวบ้านยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ โดยปรับเป็นการจัดงานบูชาศาลประจำหมู่บ้านแทน
งานสรงน้ำพระธาตุ จะจัดขึ้นในเดือนเจ็ดเป็ง หรือช่วงเดือนเมษายน เป็นการสรงน้ำพระธาตุที่วัดซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยการนำน้ำส้มป่อยไปสรงที่พระธาตุ
ประเพณีเดือนเก้าเป็ง ตรงกับเดือนมิถุนายนในวันแรม 9 ค่ำ โดยชาวบ้านจะนำไก่ไปไหว้ศาลประจำบ้านของตนเอง เป็นศาลไม้เสาต้นเดียว มีคานไม้ยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ สำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ
วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมทำบุญตักบาตรที่วัด มีการถวายต้นเทียนพรรษา และร่วมฟังเทศนาจากพระสงฆ์ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ในวันนี้ชาวบ้านจะหยุดงานพักผ่อน ผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารร่วมกันในชุมชน เด็กก็จะมีกิจกรรมละเล่นสนุกสนานร่วมกัน
ทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่สามแหล่งหลัก ได้แก่ ลำน้ำขุนตอน เป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านจากทางด้านทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ลำน้ำห้วยหาญ เป็นลำห้วยที่ชาวบ้านใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคภายในครัวเรือน โดยใช้ระบบน้ำประปาภูเขา และลำห้วยน้ำดั้น ซึ่งชาวบ้านจะใช้น้ำเพื่อประกอบการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ โดยแหล่งน้ำทั้งสามแหล่ง มีสภาพที่สมบูรณ์ มีการสร้างฝายทดน้ำ และระบบส่งน้ำจากลำห้วยขุนตอนมายังลำห้วยน้ำดั้น
พื้นที่ป่าในชุมชน สภาพผืนป่าบริเวณหมู่บ้านทางด้านทิศเหนือจะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ลักษณะเป็นภูเขาลาดชัน เป็นป่าไม้เบญจพรรณ โดยสมาชิกในชุมชนเป็นผู้ร่วมกันดูแลจัดการในการใช้พื้นที่ป่าแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการตัดไม้ใหญ่ในป่า อีกทั้งความสวยงามของพื้นที่ทางธรรมชาติโดยรอบบริเวณชุมชนยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกให้เข้ามาเยี่ยมชมด้วย
ภาษาพูด : กำมุ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลางภาษาเขียน : ชาวขมุ (กำมุ) ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน ปัจจุบันเด็ก ๆ ชาวขมุในหมู่บ้านเริ่มสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้มากกว่าแต่ก่อน อักษรไทยจึงเป็นตัวอักษรที่คนในชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ใช้กัน
พลากร สะอาดนัก. (2545). แนวโน้มความสำเร็จของการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท: ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านแม่ตอน หมู่ที่ 4 ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณ แม่ตอนหลวง. (2567). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/AtMaetonluang/