Advance search

บ้านห้วยบง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่เนินเขาสูงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่คู่กับการดำรงชีวิตและวิถีชุมชน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยบง แหล่งเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพชุมชน

หมู่ที่ 14
บ้านห้วยบง
นาเกียน
อมก๋อย
เชียงใหม่
อบต.นาเกียน โทร. 0-5346-7119
วิไลวรรณ เดชดอนบม
6 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 มิ.ย. 2024
บ้านห้วยบง

"ห้วยบง" มีที่มาจากภาษาปกาเกอะญอว่า ทิกบงอ่านว่า ทิ-กะ-บง แปลว่า น้ำที่มาจากดงบอน ซึ่งที่ตั้งชุมชนในอดีตอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่มีต้นบอนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อชุมชนมีการติดต่อกับคนภายนอกชื่อชุมชนจึงถูกแปลไปเป็นภาษาทั่วไป โดย ทิ แปลว่า น้ำ หรือ ห้วย ส่วนคำว่า "บง" ยังคงไว้เหมือนเดิม จึงเป็นชื่อเรียกชุมชนว่า ห้วยบงมาจนถึงปัจจุบัน 


บ้านห้วยบง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่เนินเขาสูงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่คู่กับการดำรงชีวิตและวิถีชุมชน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยบง แหล่งเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพชุมชน

บ้านห้วยบง
หมู่ที่ 14
นาเกียน
อมก๋อย
เชียงใหม่
50310
17.899485378373953
98.10480256210046
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน

ชุมชนบ้านห้วยบงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในบริเวณนี้มามากกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว โดยในระยะแรกชาวบ้านตั้งบ้านเรือนในบริเวณด้านทิศตะวันตกของตำแหน่งหมู่บ้านปัจจุบัน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นเนินเขาที่มีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่านตลอดทั้งปี ต่อมาเกิดมีชาวบ้านเสียชีวิตติดต่อกันหลายคนในปีเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการตั้งชุมชนทับบนเส้นทางผีผ่าน จึงทำให้มีคนเสียชีวิต ชาวบ้านจึงได้ย้ายชุมชนไปทางด้านทิศตะวันออกของตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่าชุมชนเดิมและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เมื่ออยู่ไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดเหตุคนเสียชีวิตอีกครั้ง ชาวบ้านก็เชื่อว่ามีการตั้งบ้านเรือนทับทางผีน้ำ แต่ช่วงนั้นก็เริ่มมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์เข้ามาบ้างแล้ว และคาดว่าสาเหตุอาจมาจากการเกิดอหิวาตกโรค ชาวบ้านจึงมีการย้ายที่ตั้งชุมชนอีกครั้งมายังบริเวณชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งอยู่บริเวณไหล่เขา ห่างจากแหล่งน้ำพอสมควร และด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงในการไม่สร้างบ้านใกล้แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะตมมากับปัญหาน้ำเน่าเสีย

ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อชุมชนว่าบ้านห้วยบงนั้น มีที่มาจากภาษาปกาเกอะญอ จากคำว่า ทิกบงอ่านว่า ทิ-กะ-บง แปลว่าน้ำที่มาจากดงบอน ซึ่งที่ตั้งชุมชนในอดีตอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่มีต้นบอนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อชุมชนมีการติดต่อกับคนภายนอกชื่อชุมชนจึงถูกแปลไปเป็นภาษาทั่วไป โดย ทิ แปลว่า น้ำ หรือ ห้วย ส่วนคำว่า "บง" ยังคงไว้เหมือนเดิม จึงเป็นชื่อเรียกชุมชนว่า ห้วยบงมาจนถึงปัจจุบัน 

บ้านห้วยบงมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่บริเวณหุบเขาสลับกับเนินเขา มีทิวเขาและทรัพยากรป่าไม้ล้อมรอบ ด้านหลังชุมชนเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากเพราะเป็นเขตป่าอนุรักษ์ชุมชน เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค ลักษณะดินของชุมชนมีลักษณะเป็นดินร่วนสีแดงและปนกับเศษหิน ในชั้นใต้ดินจะพบชั้นหินแกรนิต และหินชนวน สภาพอากาศในชุมชนค่อนข้างมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ฤดูร้อน จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 35 องศาเซลเซียส ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม และฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 10 องศาเซลเซียส บ้านห้วยบงมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตป่าสงวนแห่งชาติ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านใบหนา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยครั่ง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตป่าสงวนแห่งชาติ

ชาวบ้านห้วยบงเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 14 บ้านห้วยบง ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 729 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 375 คน ประชากรหญิง 354 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 239 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านห้วยบงประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ชาวบ้านห้วยบงนิยมปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ซึ่งข้าวที่ทำจะเป็นข้าวไร่ เพราะมีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และใช้น้ำในปริมาณน้อยกว่าการทำนาข้าวทั่วไป โดยผู้ชายจะทำหน้าที่ในการขุดดินในขณะที่ผู้หญิงจะทำหน้าที่หยอดเมล็ดข้าว โดยจะใส่เมล็ดของพืชไร่หลาย ๆ ชนิดลงไปในหลุมเดียวกับเมล็ดข้าว และทำการกลบฝังไปในคราวเดียวกัน เมล็ดพืชและผักที่นิยมปลูกลงไปในหลุมเดียวกับเมล็ดข้าว ได้แก่ พริก ผักกาด แตงกวา เผือก มัน ผักทอง ถั่วฝักยาว เป็นต้น

โดยปกติชาวห้วยบงจะนิยมปลูกข้าว และพืชผักไว้เพื่อรับประทานแต่ถ้าปีไหนพื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์และฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตมีปริมาณมาก ในส่วนที่เหลือจากการรับประทานจะถูกเก็บไว้เพื่อขายให้กับพ่อค้าที่จะแวะเวียนเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อทำการค้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตที่นิยมปลูกเพื่อขายคือ พริก สามารถเรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัวและหมู่บ้านที่สำคัญอีกทางหนึ่ง นอกจากการทำการเกษตรแล้ว ชาวห้วยบงยังทำการเลี้ยงสัตว์เอาไว้ เพื่อรับประทานภายในครัวเรือน และใช้เป็นเครื่องเซ่นในการประกอบพิธีเลี้ยงผี และยังสามารถแบ่งขายได้ สัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ วัว และแพะ

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วชาวห้วยบงยังมีอาชีพเสริมคือ อาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นงานรับจ้างเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล เช่น การไปทำงานรับจ้างเก็บลำไย โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี ชาวห้วยบงจะพากันเดินทางออกจากหมู่บ้าน เพื่อตระเวนไปยังอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานรับจ้างเก็บลำไย และบางครั้งอาจเดินทางไปรับจ้างเก็บลำไยถึงจังหวัดลำพูนก็มี

พื้นที่บริเวณบ้านห้วยบงยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยบง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูแลเรื่องการศึกษานอกระบบให้กับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพ การจัดอบรม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านอีกด้วย เช่น การส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว การสร้างอาชีพเสริมจากการเลี้ยงกบ การทำไข่เค็มเพื่อถนอมอาหาร เป็นต้น

หมู่บ้านห้วยบงมีความเชื่อท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ และชาวพื้นเมืองทั่วไป ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องการนับถือผี โดยความเชื่อเรื่องผีมีความสำคัญต่อทุกกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมตลอดทั้งปี พิธีกรรมเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมที่มีการประกอบอยู่ตลอดทั้งปี เมื่อมีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านโดยมีความเชื่อสาเหตุที่คนป่วยเกิดมาจากผี เพราะฉะนั้นความเชื่อเรื่องผีของชาวปกาเกอะญอจึงมีความเกี่ยวข้องกับชาวห้วยบงตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย นอกจากนั้นคำว่า “ผี ของชาวไทยภูเขามีความหมายถึง กฎ ระเบียบ จารีต ประเพณี ที่ควรยึดถือประพฤติปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอยู่ร่วมกัน ช่วยขจัดความขัดแย้งของสังคมและระงับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมู่บ้านห้วยบงมีความเชื่อเรื่องผีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงทำให้ประเพณีของชาวห้วยบงได้รับอิทธิพลจากความเชื่อในเรื่องผีอย่างหลีกเลียงไม่ได้ และประเพณีดังกล่าวของชาวห้วยบงก็มีหลายประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น

การเลี้ยงผี (อังเค) ชาวบ้านมีความเชื่อที่เกิดมาจากความต้องการหาที่พึ่งทางด้านจิตใจ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย ความเชื่อของชาวไทยภูเขา มีความเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยเกิดมาจาก “ขวัญ ที่หายไปจากกายของผู้เจ็บป่วย การหายไปของขวัญจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจ็บป่วย ซึ่งการที่ขวัญหายไปชาวบ้านเชื่อว่าอาจมีเหตุมาจากการที่ผีมาขโมยขวัญไป หรือขวัญตกใจบางสิ่งบางอย่าง จึงต้องมีการทำพิธีเลี้ยงผี เพื่อให้ผีบรรพบุรุษช่วยตามหาขวัญ เจรจาต่อรองกับผีที่เอาขวัญไป และนำกลับคืนมาให้ผู้ป่วย เพื่อที่จะได้หายเป็นปกติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ 

บ้านห้วยบงถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถจัดประเภทของทรัพยากรป่าไม้ตามการใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้

ป่าใช้สอย หมู่บ้านห้วยบงเป็นหมู่บ้าน ที่มีความพร้อมพื้นฐานทางด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงตั้งแต่ในอดีต แต่ในปัจจุบันทรัพยากรป่าไม้ถูกแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นไร่ สำหรับใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร การปลูกพืชหมุนเวียนที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษกลับไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน เพราะจำนวนประชากรที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้จำนวนพื้นที่ที่ทำการจัดสรรให้กับลูกหลานมีจำนวนลดน้อยลง จำนวนรอบปีที่ใช้ในการปลูกพืชหมุนเวียนก็สั้นลงตามไปด้วย ทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ในบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านส่วนใหญ่จึงเหลือเพียงแต่ไม้ที่มีขนาดเล็กสำหรับทำฟืนเพื่อใช้ในการหุงหาอาหาร ส่วนไม้ที่มีขนาดใหญ่มีจำนวนลดน้อยลง โดยส่วนใหญ่จะมีอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากตัวหมู่บ้าน

ป่าอนุรักษ์ ป่าที่ตั้งอยู่ด้านหลังของหมู่บ้านเป็นแหล่งต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับสูง ด้านบนของป่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดน้ำที่ใช้ในหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่อาศัยอยู่โดยรอบป่าแห่งนี้ ในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์กลับลดลง เพราะถูกใช้ในการทำการเกษตรจนเหลือพื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์เพียงส่วนน้อย ส่งผลให้ปริมาณของน้ำลดลงและจะขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง

ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชัยสิทธิ์ รัตนตันหยง. (2548). สาเหตุและกระบวนการการเป็นแรงงานรับจ้างเก็บลำไย กรณีศึกษา: หมู่บ้านห้วยบง หมู่ 14 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์.

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยบง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่. (2565). สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยบง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่. (2566). สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

อบต.นาเกียน โทร. 0-5346-7119