Advance search

โรงช้อนบางบัว

ชุมชนที่ผู้คนส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทราและใกล้เคียง เข้ามาลงหลักปักฐานในเมือง และยึดอาชีพทำเครื่องทองลงหิน

ชุมชนประดิษฐ์โทรการ
ลาดยาว
จตุจักร
กรุงเทพมหานคร
ชุมชนประดิษฐ์โทรการ โทร. 0-2579-2861, สำนักงานเขตจตุจักร โทร. 0-2513-3444
ภัททิรา สอนจันทร์
24 เม.ย. 2023
ภัททิรา สอนจันทร์
24 เม.ย. 2023
ประดิษฐ์โทรการ
โรงช้อนบางบัว


ชุมชนที่ผู้คนส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทราและใกล้เคียง เข้ามาลงหลักปักฐานในเมือง และยึดอาชีพทำเครื่องทองลงหิน

ชุมชนประดิษฐ์โทรการ
ลาดยาว
จตุจักร
กรุงเทพมหานคร
10900
13.854981
100.582304
กรุงเทพมหานคร

ชาวบ้านชุมชนประดิษฐ์โทรการส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแรกเริ่มอยู่ในซอยกิ่งเพชร ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ แต่ต่อมาเมื่อบ้านเรือนถูกไฟไหม้ และเจ้าของที่ไม่ยอมให้เช่าที่ต่อ เนื่องมาจากการทำเครื่องทองลงหินก่อให้เกิดเสียงดังและมีฝุ่นควัน เป็นการรบกวนคนในชุมชนใกล้เคียงซึ่งมีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายออกมาหาที่อยู่ใหม่ โดยมีสมาชิกบางส่วนที่ย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนแถบถนนลาดพร้าว และอีกกลุ่มได้มาสำรวจหาพื้นที่ในเขตชานเมือง โดยได้มาพบและทำการตั้งบ้านบริเวณที่ทำการไปรษณีย์หน้าชุมชนประดิษฐ์โทรการ ซึ่งอยู่ใกล้ถนนพหลโยธินและขยายตัวลึกเข้าสู่ภายในชุมชนประดิษฐ์โทรการในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนมาจากรายได้จากการทำเครื่องทองฯ ซึ่งนับได้ว่าสร้างความสนใจให้กับเครือญาติและเพื่อนฝูงของช่างทองฯ มาก เนื่องจากกลุ่มญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเหล่านั้นได้มีการติดต่อกับช่างเครื่องทองฯ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางส่วนที่ประกอบอาชีพทำนาได้เปลี่ยนมาทำเครื่องทองฯ เนื่องจากรายได้ดีและไม่ต้องเสี่ยงต่อปัญหาจากการเกษตร เช่น ราคาข้าวที่ไม่แน่นอน โรคจากแมลงและราคาสารเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้กลุ่มญาติและเพื่อนฝูงจากจังหวัดฉะเชิงเทราและใกล้เคียงจำนวนไม่น้อยทำการขายที่นาและบ้าน เพื่อนำมาซื้อที่และปลูกบ้านในชุมชน มาลงหลักปักฐานเป็นช่างทำเครื่องทองลงหินอย่างถาวร ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการซื้อขายที่ดินจากเจ้าของเพิ่มขึ้นจนชุมชนมีการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ จนจรดคลองลาดยาวทางท้ายชุมชน ทั้งนี้การขยายตัวของชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีแรกของการก่อตั้งชุมชน (2497–2505)

ชุมชนประดิษฐ์โทรการตั้งอยู่ระหว่างซอยพหลโยธิน 47-49 ทำเลที่ตั้งดังกล่าวจัดได้ว่าอยู่ในเขตเมือง ใกล้แหล่งชุมชน ร้านค้า การคมนาคมสะดวก และมีสาธารณูปโภคที่จำเป็นเข้าถึงทุกประเภท และพื้นที่ภายในชุมชนแต่เดิมนั้นมีสภาพเป็นทุ่งนา มีเพียงการตั้งอยู่ของบ้านคนที่ทำนาในพื้นที่นั้นเป็นประปราย หลังจากมีการตกลงที่จะมาตั้งชุมชนที่นี่ ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันขอซื้อที่ดินและทำการจัดสรรกันในกลุ่ม ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 18-30 ตารางวา โดยสร้างรูปแบบบ้านเป็นบ้านไม้ยกพื้นใต้ถุนสูงและใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านสำหรับการทำงานเครื่องทองฯ ในช่วงแรกเริ่มการตั้งบ้านเรือนจับกลุ่มเครือญาติ และมีการใช้พื้นที่ว่างสำหรับการใช้สอยร่วมกัน จากนั้นก็มีการขยายตัวของชุมชนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการตั้งบ้านเรือนในชุมชนอย่างถาวร

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนประดิษฐ์โทรการ จำนวน 29,576 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 39,689 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 18,334 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 21,355 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)

จากพื้นฐานของสมาชิกที่มาจากญาติมิตรและมีพื้นเพที่เดียวกัน ทำให้ชาวชุมชนประดิษฐ์โทรการอยู่ร่วมกันในบรรยากาศที่เป็นเสมือนญาติพี่น้อง และมีความร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ สูง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มตั้งชุมชนใหม่ ๆ ที่ทางราชการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากเท่าปัจจุบัน ผู้นำของชุมชนก็จะเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับการนับถือและเป็นผู้ที่เริ่มบุกเบิกตั้งแต่การก่อตั้งชุมชน บทบาทของผู้นำโดยรวมไม่มีความแตกต่างไปจากชาวบ้านอื่น ๆ อย่างชัดเจน นอกจากการเป็นตัวแทนหรือหัวหน้าในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การจัดฉลองศาลเจ้าที่ปู่ธรรมมิกราชของชุมชน ความร่วมมืออย่างสูงของชุมชนได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการร่วมมือกันทำโครงการต่าง ๆ กับราชการส่วนท้องถิ่น เช่น กับทางเขตหรือกรุงเทพฯ จนชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนตัวอย่างของทางราชการ นอกจาการนับถือศาลเจ้าที่ของคนในชุมชนแล้ว ชาวบ้านในชุมชนก็นับพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน เมื่อในยามที่มีเทศกาลงานบุญชาวบ้านก็มักจะรวมกลุ่มกันไปทำบุญที่วัดบางบัว ซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียงชุมชน

กลุ่มอาชีพ

ชาวชุมชนประดิษฐ์โทรการเกือบทั้งหมดยึดถืออาชีพการเป็นช่างเครื่องทองลงหินมากว่า 50 ปีแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวนาในจังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ที่โยกย้ายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากที่ได้เห็นญาติรุ่นก่อน ๆ ที่เข้ามาฝึกฝนเป็นช่างทองฯ มีรายได้ดีกว่าเมื่อตอนยังทำนา

ช่างทองฯ ที่อยู่รวมกันในชุมชนแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ช่างทองที่มีแหล่งรับงานไปขายประจำในรูปของร้านที่ระลึกและเครื่องประดับ กลุ่มที่สองคือ ช่างทองฯ ที่รับงานในการสั่งเข้ามาทีละมาก ๆ เป็นครั้งคราว เพื่อส่งขายต่างประเทศเป็นหลักและกลุ่มที่สามคือ ช่างทองฯ ที่ไม่เคยเข้าไปติดต่อกับตลาดเอง แต่จะรับปันงานส่วนที่กลุ่มที่ 1 และ 2 ทำเองไม่ได้มาทำ โดยกลุ่มที่สามนี้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดในชุมชน ทำให้ในช่วงประมาณ 50 ปีผ่านมา อาชีพทำเครื่องทองลงหินฯ สามารทำรายได้ให้แก่ช่างทองฯ พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขได้ และเป็นวิถีการผลิตที่รับสืบทอดกันในครอบครัว โดยสมาชิกจะได้เรียนรู้งานทำเครื่องทองฯ ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะโรงงานก็จะอยู่ในบริเวณบ้าน และสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายล้วนทำงานนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งการประกอบอาชีพช่างทองลงหินของสมาชิกในชุมชนประดิษฐ์โทรการ สื่อให้เห็นถึงการปรับตัวจากวิถีชีวิตดั้งเดิมชองชาวบ้านจนเกิดเป็นวัฒนธรรมในชุมชนของตนที่มีการสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างอาชีพรวมถึงมีการต่อยอดเป็นสหกรณ์ชุมชน

องค์กรชุมชน

ช่วงหลัง ๆ ของการทำเครื่องทองลงหิน ได้ประสบปัญหาอย่างมากเนื่องมาจากปริมาณการสั่งสินค้าน้อยลง และชุมชนขาดอำนาจในการต่อรองราคากับแหล่งวัตถุดิบและตลาด จึงมีการคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ เพื่อปรับตัวทำให้อาชีพเครื่องทองลงหินคงอยู่ต่อไปได้ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ขึ้น เพื่อสร้างกำลังในการต่อรองกับร้านค้าและดำเนินการหาตลาดอย่างจริงจัง

  • สหกรณ์ศูนย์ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมชุมชนกรุงเทพฯ (สหกรณ์เครื่องทองลงหิน ชุมชนประดิษฐ์โทรการ) จากปัญหาการขาดอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้า ทั้งกลุ่มผู้ค้าวัตุดิบ และร้านค้าที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการตลาดเครื่องทองลงหินได้เอง การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาทางหนึ่งก็คือ การเข้ารวมกลุ่มกับช่างฝีมือจากชุมชนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ มีการจัดตั้งสหกรณ์ศูนย์ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมชุมชนกรุงเทพฯ ขึ้น โดยกลุ่มช่างทองฯ ของชุมชนประดิษฐ์โทรการเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่ที่สุด เป้าหมายของการจัดตั้งสหกรณ์ฯ คือการทำให้อาชีพช่างสาขาต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันมีความสืบเนื่องยั่งยืน โดยสร้างหลักประกันที่จะจูงใจให้คนรุ่นปัจจุบันตลอดจนคนรุ่นใหม่เลือกประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ และทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อนำไปสู่พลังในการต่อรองราคากับตลาดและแหล่งค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ในส่วนของการแก้ปัญหาให้แก่ช่างทองลงหิน สหกรณ์ ได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำในการหาตลาดใหม่ ๆ และออเดอร์ มีการจ่ายงานให้สมาชิกเพื่อเป็นตัวอย่าง ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่มนี้ปรับตัวจากเดิม โดยให้กลุ่มที่มีแหล่งป้อนสินค้าประจำหรือมีออเดอร์เข้ามาโอนตลาดดังกล่าวมาให้สหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรองราคามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้สมาชิกช่วยกันออกหาตลาดใหม่ ๆ เป็นที่น่าสนใจว่าแม้ชาวบ้านจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและให้ความร่วมมือกับสหกรณ์ฯ ด้วยดี แต่การปรับตัวจากช่างทองฯ ทั้งสองกลุ่มยังไม่เป็นที่อยู่ในระดับน่าพอใจ

เดือนมีนาคมทุกปี มีการจัดฉลองศาลเจ้าที่ปู่ธรรมมิกราช ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนประดิษฐ์โทรการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เครื่องทองลงหิน เป็นสินค้าหัตถกรรมที่ผลิตกันในครัวเรือน ได้รับการประยุกต์มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายถอดจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง เนื่องจากเป็นงานหัตถกรรมที่ผลิตด้วยมือ จึงไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตมากนัก ขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่เป็นการผสมระหว่างเครื่องจักรและฝีมือแรงงานของช่างที่มีความชำนาญ ซึ่งกว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้นมีขั้นตอนคร่าว ๆ คือ การหลอม การลงแม่พิมพ์ การย้ำลาย การขัดแต่งผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ (สุภาภรณ์ เลิศศิริม, 2546) ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความชำนาญและความปราณีตในการทำ ซึ่งชุมชนประดิษฐ์โทรการมีการทำเป็นอาชีพและจัดตั้งสหกรณ์สำหรับช่วยเหลือในด้านของการหาตลาดและการต่อรองอำนาจ รวมถึงมีการสืบทอดภูมิปัญญานี้รุ่นต่อรุ่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อุปสงค์ความต้องการของเครื่องทองลงหินได้ลดลงจากเดิมเป็นอย่างมาก ทำให้ช่างทองฯ จำนวนมากต้องดิ้นรนในทางที่ต่างกัน โดยกลุ่มหนึ่งผันตัวไปทำอาชีพอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานรับจ้างทั่วไป อีกกลุ่มหนึ่งยังคงทำอาชีพเดิม และพยายามร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้อาชีพนี้เป็นอาชีพหลักของชุมชนให้มีอยู่ต่อไป นอกจากปัญหาเรื่องงานลดลงแล้ว ช่างทองลงหินยังมีปัญหาสำคัญและมีมานานตั้งแต่การเริ่มทำอาชีพช่างทองฯ คือการขาดอำนาจต่อรองราคากับตลาดและร้านค้าในการซื้อวัตถุดิบ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เบญจรัชต์ เมืองไทย และคณะ. (2542). การศึกษามิติวัฒนธรรมในยุคเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 24 เมษายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

สุภาภรณ์ เลิศศิริ. (2546). ชุมชนประดิษฐ์โทรการเจ้าของเครื่องทองลงหิน สินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ของเขตจตุจักรเกษตรก้าวหน้า, 16 (4), 42-48

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/

ชุมชนประดิษฐ์โทรการ โทร. 0-2579-2861, สำนักงานเขตจตุจักร โทร. 0-2513-3444