บ้านพลั่งแท ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
"พลั่งแท" เป็นภาษาปกาเกอะญอ โดยคำว่า “พลั่ง” หมายถึง กระบอกไม้ไผ่ และคำว่า “แท” หมายถึง ใต้ ซึ่งพื้นที่ตั้งชุมชนมีป่าไผ่อยู่ทางด้านทิศใต้ "บ้านพลั่งแท" จึงหมายถึงหมู่บ้านที่มีต้นไผ่อยู่มากทางด้านทิศใต้
บ้านพลั่งแท ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
บ้านพลั่งแท เป็นหย่อมบ้านของบ้านห่างหลวง ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของผู้คนมาติดต่อกันยาวนานมากกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว โดยผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่เป็นกลุ่มชาวปกาเกอะญอ โดยชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงเริ่มต้นเป็นกลุ่มชาวบ้านเพียง 5 คน อพยพมาจากพื้นที่เดิมเนื่องจากมีความเชื่อว่าทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ดี เกิดโรคระบาด ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ่อยครั้ง จึงชักชวนกันแยกออกมาหาพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ และเลือกที่จะลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนที่บริเวณบ้านพลั่งแท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นลำห้วยไหลผ่าน โดยสาเหตุที่ตั้งชื่อชุมชนว่า “พลั่งแท” มาจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โดยรอบชุมชน ซึ่งคำว่า “พลั่ง” หมายถึงกระบอกไม้ไผ่ และคำว่า “แท” หมายถึง ใต้ ซึ่งพื้นที่ตั้งชุมชนมีป่าไผ่อยู่ทางด้านทิศใต้ บ้านพลั่งแท จึงหมายถึงหมู่บ้านที่มีต้นไผ่อยู่มากทางด้านทิศใต้ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
หย่อมบ้านพลั่งแทมีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณที่เป็นหุบเขา ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยเป็นระยะทางประมาณ 47 กิโลเมตร โดยรอบชุมชนเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านชุมชนทางด้านทิศตะวันออก คือลำห้วยแม่ลอก ทำให้มีสภาพพื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ลักษณะภูมิอากาศของชุมชนแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ฤดูฝน อยู่ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1000 มิลลิเมตร/ปี ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่เคยวัดได้อยู่ที่ 2-4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม สภาพอากาศไม่ร้อนมากนัก มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วไปอยูที่ 17 องศาเซลเซียส หย่อมบ้านพลั่งแทมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หย่อมบ้านทิกะเย หมู่ที่ 10 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หย่อมบ้านทังที หมู่ที่ 20 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านอูตูม หมู่ที่ 6 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านใบหนาหมู่ที่ 4 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย
ชาวบ้านพลั่งแทเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ้านห่างหลวง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 12 บ้านห่างหลวง ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 702 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 358 คน ประชากรหญิง 344 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 256 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ
ปกาเกอะญอการประกอบอาชีพโดยส่วนใหญ่ของประชากรหย่อมบ้านพลั่งแท ชาวบ้านจะทำอาชีพหลักเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ปลูกข้าวไร่ เลี้ยงสัตว์ และประชากรบางส่วนก็จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และอาชีพรับจ้างทั่วไป
การทำนา พื้นที่ที่ใช้สำหรับทำนาจะเป็นพื้นที่ที่แต่ละครอบครัวจับจองกันมาตั้งแต่ในอดีต เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับลำหัวยแม่ลอก การทำนาของชาวบ้านพลั่งแทเป็นการทำนาแบบขั้นบันได โดยชาวบ้านจะทำนาเพียงปีละหนึ่งครั้งแม้ว่าจะมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากการเกี่ยวข้าวแล้วหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะปล่อยวัว ควาย ออกมาหากินใกล้บริเวณลำห้วยแม่ลอก ถ้าชาวบ้านทำนาอีกก็จะเกิดความเสียหายจากการเข้ามาหาอาหารกินของวัว ควาย โดยการทำนาของชาวบ้านเป็นการทำเพื่อยังชีพ สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน
การปลูกข้าวไร่ เป็นการทำไร่แบบหมุนเวียน คือ ทำไร่ครั้งหนึ่งแล้วก็ทิ้งพื้นที่พักไว้ให้พื้นดินฟื้นตัวประมาณ 5-7 ปี แล้วจึงกลับมาทำที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง การทำไร้ข้าวแบบหมุนเวียนนี้จะมีการตัดต้นไม้โดยจะตัดกิ่งก้านออกและเหลือลำต้นไว้ ซึ่งลำต้นนี้จะแตกกิ่งและใบใหม่ได้อีก เมื่อตัดไม้แล้วก็จะเผาไร่ แล้วเริ่มปลูกข้าว จากนั้นก็จะเป็นการกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวจนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว
อาชีพเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ วัว หมู ไก่ การเลี้ยงหมูและไก่นั้นเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน หรือเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ การเลี้ยงหมู และไก่ จะเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ อาหารที่ใช้เลี้ยง คือ ปลายข้าวที่เหลือจากการดำข้าวสำหรับบริโภคแล้ว แต่สำหรับการเลี้ยงวัวนั้นจะเลี้ยงเพื่อขาย โดยเลี้ยงแบบพื้นบ้านทั่วไป คือ ปล่อยให้กินหญ้าตามทุ่งหญ้าอย่างอิสระ โดยตอนเช้าจะพาวัวไปปล่อยไว้บริเวณทุ่งหญ้า พอตอนเย็นก็จะพาวัวกลับเข้าบ้าน ในช่วงหลังฤดูทำนาชาวบ้านนำวัวไปปล่อยไว้ในทุ่งนา ซึ่งเจ้าของวัวจะไปดูวัวเป็นครั้งคราวเท่านั้น สำหรับการชายวัวนั้นจะมีคนภายนอกหมู่บ้านเข้ามารับซื้อ
ประชากรหย่อมบ้านพลั่งแทนับถือศาสนาพุทธ และนับถือผี แบบผสมผสานกัน ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อเรื่องผีที่ประจำอยู่ในป่า ในไร่ ในน้ำ ภูเขา ในหมู่บ้านมีผีเจ้าที่ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ดังนั้นชีวิตของชาวบ้านจึงอยู่กับพิธีกรรมการเซ่นไหว้ผีเป็นประจำ เพื่อผีจะได้ไม่ทำร้าย ไม่ทำให้เจ็บป่วยและจะได้คุ้มครองให้มีชีวิตที่ดี พิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านบ้านพลั่งแท ตัวอย่างเช่น
การมัดมือ มีการทำพิธีกรมนี้เพื่อรับขวัญสมาชิกในครอบครัวที่ไปต่างถิ่นเป็นเวลานาน แล้วกลับมาบ้าน ของที่ใช้สำหรับพิธีกรรม ได้แก่ หมู ไก่ เหล้า ด้ายผูกข้อมือ จัดใส่ถาดไว้ และในตะกร้าจะมีของใช้จำเป็นต่างๆ และเหล้า 3 ขวด ซึ่งผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้ทำการผูกข้อมือให้ หลังจากนั้นผู้พี่ถูกผูกข้อมือจะรินเหล้าให้ผู้อาวุโสดื่ม เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นก็จะมีการกินเลี้ยงกันโดยมีคนในหมู่บ้านมาร่วมงาน การมัดมืออาจทำในกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวเกิดเจ็บป่วยด้วย
การเลี้ยงผีไร่ ผีนา นับตั้งแต่การเลือกพื้นที่ทำไร่ ทำนา จะมีการทำพิธีขออนุญาต จะทำพิธีบอกกล่าวเมื่อเลือกพื้นที่ เมื่อเริ่มถางไร่ เริ่มเพาะปลูกข้าว ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีต่างๆ ประจำไร่ ประจำนาเมื่อต้นข้าวเริ่มเติบโต จะทำพิธีกรรมรับขวัญข้าวเมื่อต้นข้าวออกรวง โดยจะใช้ไก่ เหล้า ข้าว ในการเซ่นไหว้
การเลี้ยงผีถนน พิธีกรรมนี้จะทำเมื่อสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย เชื่อว่าถนนที่ตนเองเดินผ่านทุกวันมีผีวนเวียนอยู่ เมื่อเกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกายขึ้นต้องทำการขอขมาถนนเส้นหลัก ซึ่งพิธีกรรมจะทำขึ้นโดยหมอผีประจำหมู่บ้านหรือผู้อาวุโสก็ได้ โดยเจ้าบ้านจะต้องเตรียมไก่ขาว 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ข้าวสวยพร้อมทั้งเครื่องต้มยำ สำหรับต้มยำไก่บริเวณถนนที่ทำพิธีกรรม และต้องทานข้าว เหล้า ต้มไก่ให้หมด ถ้าเหลือก็ให้ทิ้งไม่ให้นำกลับบ้าน และคนที่มาจากนอกหมู่บ้าน เช่น ครูที่มาจากถิ่นอื่น จะมาร่วมรับประทานด้วยไม่ได้ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าถ้าครูมาร่วมรับประทานเครื่องเซ่นไหว้แล้วจะทำให้ไม่ถูกกับชาวบ้าน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้ บริเวณโดยรอบหย่อมบ้านพลั่งแท เป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน และยังคงมีทรัพยากรป่าไม่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีพรรณไม้หลากหลายสายพันธุ์กระจายกันไปอยู่ทั่วบริเวณ เช่น ไม้สัก ไม้สบเขา ไม้ก่อ ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ฯลฯ ซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านมีการใช้ประโยชน์จากผืนป่าโดยรอบชุมชนในการนำไม้มาสร้างอาคารที่อยู่อาศัย และทำโครงสร้างต่าง ๆ มีการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ซึ่งส่งผลให้ผืนป่าลดลงในพื้นที่นั้นในช่วงที่มีการเพาะปลูก นอกจากนี้ชาวบ้านยังเข้าไปเก็บหาของป่ามาเพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน เช่น เห็ดป่าหลายชนิด หน่อไม้ ผักตามฤดูกาล ฯลฯ และมีการเข้าไปเก็บฟืนในป่ามาเพื่อนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม การประกอบอาหาร
แหล่งน้ำธรรมชาติ หย่อมบ้านพลั่งแทมีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของชุมชน เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี คือ ลำห้วยแม่ลอก ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีความสำคัญต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านใช้น้ำจากลำห้วยในการทำเกษตรกรรม การทำนา ปลูกพืช และใช้น้ำในการอุปโภคอื่น ๆ รวมถึงเป็นแหล่งอาหารที่ชาวบ้านจะหาจับสัตว์น้ำนำมาบริโภคภายในครัวเรือน
น้ำตก พื้นที่หย่อมบ้านพลั่งแทมีแหล่งน้ำตกอยู่ใกล้ชุมชน เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีจำนวน 5 ชั้น มีต้นกำเนิดอยู่บนยอดเขาซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของชุมชน บริเวณพื้นที่โดยรอบน้ำตกค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจะเข้าไปในพื้นที่เพื่อเก็บหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ปลาและปูในลำน้ำ เพื่อนำมาประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือน
แหล่งเรียนรู้ชุมชน
พื้นที่หย่อมบ้านพลั่งแทยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านพลั่งแท ซึ่งดูแลเรื่องการศึกษานอกระบบให้กับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพ การจัดอบรม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน เป็นพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มทำกิจกรรมอีกพื้นที่หนึ่งของชุมชน เช่น การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ การสร้างเสริมสมรรถภาพและการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของส่วนกลาง มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เพื่อการพัฒนาชุมชน และช่วยสร้างเสริมศักยภาพให้กับสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย
นันทนา บัณฑิตาโสภณ (2553). พฤติกรรมด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงโปว์: กรณีศึกษา บ้านพลั่งแท หมู่ที่ 12 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.
ศศช บ้านพลั่งแท. (2565). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/banphungtae/
ศศช บ้านพลั่งแท. (2566). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/banphungtae/
ศศช บ้านพลั่งแท. (2567). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/banphungtae/