
บ้านห้วยโก๋น พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อบนพื้นที่บริเวณชายแดน และวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
มาจากชื่อลำห้วยโก๋น ซึ่งหมายถึงห้วยที่มีน้ำไหลผ่านรูกลวงทะลุออกมา
บ้านห้วยโก๋น พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อบนพื้นที่บริเวณชายแดน และวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
บ้านห้วยโก๋นเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อที่อพยพมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองเงิน ในช่วงปี พ.ศ. 2478 โดยเป็นการหลีกหนีการถูกกดขี่จากทหารฝรั่งเศสในสมัยนั้น เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านน้ำรี บ้านนาไคร้ และบ้านห้วยโก๋น บริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยทรายขาวในปัจจุบัน
- พ.ศ. 2480 อำเภอทุ่งช้างในสมัยนั้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายยม มีสา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และมีการตั้งชุมชน 2 ชุมชน คือ บ้านสบห้วยโก๋นน้อย และบ้านสบแหว เป็นหมู่ที่ 6 ตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
- พ.ศ. 2482-2483 เกิดกรณีข้อพิพาทสงครามอินโดจีน ทางการไทยจึงตรึงกำลังทหารตามแนวชายแดนบริเวณบ้านห้วยโก๋น
- พ.ศ. 2490 ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บ้านห้วยโก๋นได้ย้ายกลับไปที่เมืองเงิน ประเทศลาว ชาวบ้านที่เหลือก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านสบเลาะ
- พ.ศ. 2491-2492 เกิดสภาวะสงครามในเมืองเงิน จึงมีการอพยพหนีกลับมาอยู่กับชาวบ้านห้วยโก๋นบริเวณสบเลาะ
- พ.ศ. 2497-2498 นายอำเภอทุ่งช้างในขณะนั้นได้มาตรวจเยี่ยมพื้นที่และมีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายเข้ามารวมกลุ่มกันเป็นชุมชน ตั้งเป็นหมู่บ้านห้วยแห้ว และจัดทำทะเบียนราษฎร์ให้ประชาชน
- พ.ศ. 2511-2512 เกิดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวบ้านต้องแยกย้ายหาถิ่นที่อยู่ใหม่อีกครั้ง โดยไปอยู่ที่บ้านปอน
- พ.ศ. 2518 ชาวบ้านที่ย้ายมาอยู่บ้านห้วยปอนพากันกลับไปยังบ้านห้วยโก๋นอีกครั้ง และพรรคคอมมิวนิสต์ได้โจมตีฐานทัพบ้านห้วยโก๋นทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ไปยังบ้านหล่ายทุ่ง บ้านน้ำเลียง
- พ.ศ. 2521 นายอำเภอทุ่งช้างพร้อมกับผู้นำท้องถิ่นได้นำชาวบ้านกลับไปยังพื้นที่บ้านห้วยโก๋นอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์สงบลง เมื่อปี พ.ศ. 2525 แต่ก็มีเพียงประชาชนบางส่วนเท่านั้นที่ย้ายกลับมา ประชาชนส่วนที่เหลือก็ยังคงอยู่ที่ชุมชนที่ได้ย้ายออกไปตามเดิม
บ้านห้วยโก๋น หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดน่านเป็นระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร ชุมชนมีเนื้อที่ทั้งหมด 4,400 ไร่ ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สภาพพื้นที่เป็นภูเขาล้อมรอบ มีป่าไม้โดยทั่วไป ชุมชนตั้งอยู่ตามพื้นที่ไหล่เขา มีแม่น้ำน่านไหลผ่านด้านทิศใต้ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยทรายขาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านใหม่ไชยธงรัตน์
บ้านห้วยโก๋น เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 995 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 520 คน ประชากรหญิง 475 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 681 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ไทลื้อบ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม โดยพื้นที่ของชาวบ้านที่นิยมใช้ทำการเกษตรจะเป็นพื้นที่ไร่ ได้แก่ การทำไร่ข้าวโพด การทำไร่ขิง และเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ชาวบ้านก็มีการประกอบอาชีพค้าขาย และการรับจ้างทั่วไป ทั้งยังมีการทอผ้าแบบไทลื้อสำหรับใช้ภายในครัวเรือนอีกด้วย
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อบ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ชาวบ้านมีการนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าพื้นที่ต่างๆ ย่อมมีผู้ปกปักรักษาคุ้มครอง ชาวบ้านจึงต้องมีการทำพิธีกรรมเลี้ยงผี เพื่อให้ช่วยดูแลชาวบ้านให้มีความปลอดภัย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ และหากไม่ทำพิธีเลี้ยงผีก็อาจจะทำให้ผีโกรธ และลงโทษชาวบ้านไม่ให้อยู่เย็นเป็นสุข และเกิดอันตรายกับผู้คนได้ โดยผีที่ชาวไทลื้อบ้านห้วยโก๋นนับถือร่วมกันคือ ผีเจ้าพ่อม้าขาว ซึ่งจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ ความเชื่อแบบพุทธศาสนา และมีวิถีปฏิบัติแบบวัฒนธรรมล้านนาโดยทั่วไปด้วย
เจ้าพ่อม้าขาว นับได้ว่าเป็นผีที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวไทลื้อบ้านห้วยโก้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้จากตำนานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อม้าขาวจะเห็นได้ว่า เจ้าพ่อผ้าขาวคือผู้ที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถดลบันดาลหรือให้พรในสิ่งที่ชาวบ้านขอได้ โดยชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งศาลเจ้าพ่อและจัดพิธีเลี้ยงเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่ง ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 2 และเลี้ยงครั้งที่สอง ในวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 8 โดยการเลี้ยงครั้งแรกถือเป็นการเลี้ยงแก้บน ส่วนการเลี้ยงครั้งที่ 2 ถือเป็นการเลี้ยงครบรอบปีตามจารีตประเพณีเดิมของชาวบ้าน
ภาษาพูด : ไต, ไทยถิ่นเหนือ, ไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา, ไทย
ด่านถาวรบ้านห้วยโก๋น แรกเริ่มจัดตั้งเป็นจุดผ่านแดนถาวรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2537 โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ซึ่งในขณะนั้นด่านห้วยโก๋น ประเทศไทย มีฐานะเป็นด่านสากล แต่ด่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรี เป็นด่านในระดับท้องถิ่น จึงมีปัญหาในการเข้าออกผ่านแดนของชาวต่างชาติ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้ทำการก่อสร้างอาคารร้านค้า ถนน ตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว และซุ้มประตูด้วยงบประมาณ 28 ล้านบาทเศษ บนพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 19 ไร่ และในปีงบประมาณ 2550 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้จัดสรรงบประมาณจากจังหวัดน่าน ก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 ล้านบาท โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการยกระดับเป็นด่านสากลห้วยโก๋น-น้ำเงิน จนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งพื้นที่ด่านถาวรบ้านห้วยโก๋นยังมีการเปิดเป็นตลาดสินค้าชายแดนห้วยโก๋น-น้ำเงิน ที่มีการนำสินค้าหลากหลายประเภทมาวางจำหน่ายกันอย่างคึกคัก ทั้งสิ้นค้าอุปโภคบริโภค ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถืงพืชผัก ผลไม้ และอาหารท้องถิ่นที่อาจจะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน โดยมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นและพ่อค้าแม่ค้าจากฝั่งลาวนำสินค้ามาให้จับจ่ายอย่างหลากหลาย
พุ่มพวง อภิวงศ์. (2550). คติชนกับการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น. (2567). สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/