Advance search

บ้านห้วยน้ำไซ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการย้ายถิ่นฐาน กับวัฒนธรรม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ม้งบ้านห้วยน้ำไซ

หมู่ที่ 15
บ้านห้วยน้ำไซ
เนินเพิ่ม
นครไทย
พิษณุโลก
องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม โทร. 055-363-084
วิไลวรรณ เดชดอนบม
11 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 มิ.ย. 2024
บ้านห้วยน้ำไซ


บ้านห้วยน้ำไซ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการย้ายถิ่นฐาน กับวัฒนธรรม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ม้งบ้านห้วยน้ำไซ

บ้านห้วยน้ำไซ
หมู่ที่ 15
เนินเพิ่ม
นครไทย
พิษณุโลก
65120
17.021932181894297
100.93072727322578
องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม

พื้นที่บริเวณชุมชนบ้านห้วยน้ำไซเดิมเป็นพื้นที่ป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ ขณะนั้นยังไม่มีการอยู่อาศัยของผู้คน ต่อมามีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อพยพมาจากประเทศจีนและจังหวัดน่านได้เดินทางออกแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก และตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยการส่งตัวแทนออกไปเสาะหาพื้นที่ต่าง ๆ โดยการนำของนายเกอ แซ่ลี และชาวบ้านคนอื่น ๆ ได้ออกเสาะหาพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดน่านมายังจังหวัดพิษณุโลก จนมาพบพื้นที่บริเวณภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และเห็นว่ามีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างมาก จึงกลับไปบอกชาวบ้านให้พากันย้ายมาตั้งชุมชนในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

ในปี พ.ศ. 2493 จึงเกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวม้งในจังหวัดน่าน โดยนายเกอ พรอมกับนายตั้ว และนายจงมา ผู้เป็นลูกชาย ได้นำชาวม้งกว่า 300 ครอบครัว เดินทางมาหาพื้นที่ทำกินใหม่ในพื้นที่บริเวณภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยในระยะแรกแบ่งออกเป็น 3 ชุมชน โดยแบ่งจำนวนชาวบ้านออกเป็นชุมชนละ 100 ครอบครัว จากนั้นแต่ละครอบครัวหรือสายตระกูลก็มีการขยายตัวของประชากร และขยับขยายมาตั้งชุมชนใหม่ จนกลายเป็นชุมชนชาวม้งหลายชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงชุมชนบ้านห้วยน้ำไซ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกด้วย

บ้านห้วยน้ำไซ ตั้งอยู่ในตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ลักษณะทางกายภาพของชุมชนพื้นที่ตำบลเนินเพิ่มโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและมีภูเขาสูง เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ด้วยลักษณะที่เป็นภูเขาสูงและเนินเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบทำให้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยมีฤดูกาล 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนกินระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน โดยในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อนมากที่สุด ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน มีระยะเวลาประมาณ 5 เดือน มีฝนตกในปริมาณมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โดยเดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำที่สุด 

บ้านห้วยน้ำไซ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 15 บ้านห้วยน้ำไซ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,079 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 548 คน ประชากรหญิง 531 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 231 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ม้ง

บ้านห้วยน้ำไซ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก มีการเพาะปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลหลากหลายสายพันธุ์ และยังมีการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ภายในครัวเรือนสำหรับจำหน่ายด้วย พื้นที่ชาวบ้านนิยมปลูก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ขิง กะหล่ำปลี มะม่วง มะขาม เป็นต้น โดยในการเพาะปลูกส่วนใหญ่จะเป็นการทำไร่ ซึ่งชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะมีไร่เป็นของตนเอง มีทั้งไร่ที่อยู่บริเวณโดยรอบบ้านห้วยน้ำไซ และไร่ของชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

ในการทำไร่สมาชิกทุกคนจะร่วมกันทำไร่ในพื้นที่ของตนเอง ด้วยกรถางป่า ทำความสะอาดพื้นที่ ปรับหน้าดินในฤดูแล้ง และเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านก็จะเริ่มทำการเพาะปลูก และดูแลพืชไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว และชาวบ้านยังเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน และแบ่งขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย โดยสัตว์ที่นิยมเลี้ยง คือ หมู และไก่ อีกทั้งยังมีการเลี้ยงมาไว้สำหรับใช้งาน เป็นม้าต่างเพื่อทุ่นแรงในการขนย้ายผลผลิตทางการเกษตร สิ่งของ สัมภาระต่างๆ ทั้งยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพด้านการค้าขาย และรับจ้างทั่วไป

ชุมชนบ้านห้วยน้ำไซเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้งที่มีความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับการนับถือผี เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าพื้นที่แวดล้อมต่างๆ ล้วนมีผีอาศัยอยู่ เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีเขา ผีบรรพบุรุษ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านอย่างหนึ่ง โดยมีการผสมผานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับการรับเอาความความเชื่อแบบพุทธศาสนามาถือปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีชุมชน ปัจจุบันมีประชากรนชุมชนบางส่วนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ยังอยู่ร่วมกับกับชาวบ้านได้อย่างปกติสุข

โดยประเพณีที่สำคัญของชาวม้ง คือ ประเพณีปีใหม่ม้งประเพณีปีใหม่ งานปีใหม่ของชาวม้งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ถือเป็นงานเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวม้ง เนื่องจากชาวม้งจะทำงาน ทำไร่ ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ชาวม้งจะหยุดงานภารกิจทุกอย่าง เพื่อมาร่วมฉลองวันปีใหม่เพราะมีความเชื่อว่าการได้มาร่วมงานเฉลิมฉลองปีใหม่จะทำให้ชีวิตราบรื่น มีความสุข และมีชีวิตที่ดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดดำเนินการในราวปี พ.ศ. 2538 โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ (ในขณะนั้น) โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของชาวม้ง ต่อมาศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ได้ย้ายออกไป ทางชุมชนและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อ โดยย้ายข้าวของออกมาจัดแสดงในอาคารที่เป็นสำนักงานเดิมของศูนย์ฯ ส่วนอาคารหลังเก่าได้รื้อทิ้งไป

ข้าวของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประกอบพิธีกรรม เครื่องดนตรี เช่น อานใส่หลังม้าสำหรับบรรทุกของ เขาควายสำหรับใส่ดินปืน หน้าไม้ หลัวจั๊วเก๋า (เชือกดักจับสัตว์) เค้งหรือแคนม้ง โม่งแข่ (เครื่องมือที่ใช้ทำสัญลักษณ์ตัดสินคดีความ) หวู (เคียวเกี่ยวข้าว) ช้อนตักแกงที่ทำจากไม้ไผ่ ตาชั่ง จอบ ทั้งนี้มีป้ายคำอธิบายภาษาไทยและคำเรียกของคนม้งคู่กัน

นอกจากนี้บริเวณผนังอาคาร มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ ประวัติการก่อตั้งหมู่บ้าน ภาพถ่ายเก่า เช่น ภาพครอบครัว ภาพขบวนม้าต่าง ภาพกีฬาและการละเล่นต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน เช่น กีฬาวิ่งแบกก๋วย ยิงหน้าไม้ ขว้างสากมอก เป็นต้น

ภาษาพูด : ภาษาม้ง ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปรารถนา มงคลธวัช. (2541). เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก. มานุษยวิทยามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์. (2555). พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2567, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/522

องค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม โทร. 055-363-084