บ้านแม่เตาดิน ชุมชนกับวิถีธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันในการดำรงชีวิต ความเงียบสงบท่ามกลางมนเสน่ห์ของกลิ่นไอธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์
พื้นที่บริเวณชุมชนในสมัยก่อนมีพรานป่ามาล่าสัตว์และหาของป่าเพื่อนำไปขาย และเดินไปพบเต่าตัวหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก จึงได้จับมัดและสะพายใส่บ่าเพื่อจะนำกลับบ้าน ในระหว่างทางเต่าได้หลุดหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปเมื่อใด จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "แม่เต่าดิ้น" นานวันเข้าจึงเพี้ยนเป็น "แม่เตาดิน" และเมื่อมีชุมชนมาตั้งบริเวณดังกล่าวจึงได้ใช้ชื่อชุมชนว่า บ้านเตาดิน
บ้านแม่เตาดิน ชุมชนกับวิถีธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันในการดำรงชีวิต ความเงียบสงบท่ามกลางมนเสน่ห์ของกลิ่นไอธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์
บ้านแม่เตาดินไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานกลายเป็นชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าและการอยู่อาศัยของชาวบ้านมาหลายรุ่น ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีการเข้ามาของผู้คนร่วมนับร้อยกว่าปีมาแล้ว เดิมทีนั้นพื้นที่บริเวณชุมชนนี้เป็นพื้นที่ป่า โดยมาเป็นป่าเบญจพรรณที่มีพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นปะปนกันไป ต่อมาได้มีนายทุนเข้ามาสัมปทานพื้นที่ป่าบริเวณนี้ และจ้างชาวบ้านโดยรอบในการตัดไม้ในป่า และชาวบ้านบางส่วนที่มารับจ้างตัดไม้ก็ได้ลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนในพื้นที่แห่งนี้ด้วย และก็เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุมชน เมื่อนายทุนสัมปทานไม้ไปหมดแล้วชาวบ้านก็ปรับเป็นพื้นที่ทำไร่ ทำนา หาของป่าในบริเวณโดยรอบเพื่อดำรงชีวิตละอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนสาเหตุที่ที่เรียกชุมชนว่าบ้านเตาดิน มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า พื้นที่แห่งนี้ในสมัยก่อนมีพรานป่ามาล่าสัตว์และหาของป่าเพื่อนำไปขาย และเดินไปพบเต่าตัวหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก จึงได้จับมัดและสะพายใส่บ่าเพื่อจะนำกลับบ้าน ในระหว่างทางเต่าได้หลุดหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปเมื่อใด จึงเรียกบริเวณนั้นว่า แม่เต่าดิ้น นานวันเข้าจึงเพี้ยนเป็น แม่เตาดิน และเมื่อมีชุมชนมาตั้งบริเวณดังกล่าวจึงได้ใช้ชื่อชุมชนว่า บ้านเตาดิน
บ้านแม่เตาดินมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบสลับพื้นที่ดอนและเนินเขา บริเวณลุ่มน้ำแม่ลายน้อย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตำบลห้วยแก้ว ที่ตั้งชุมชนอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางจุดสูงสุดทางด้านทิศตะวันตก ประมาณ 800 เมตร และจุดต่ำสุดทางด้านทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร มีป่าไม้แบบป่าเบญจพรรณขึ้นอยู่โดยทั่วไปรอบบริเวณหมู่บ้าน และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโป่งสามัคคี ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด และบ้านปางจำปี ตำบลห้วยแก้ว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปางกอง และบ้านห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป๊อก และบ้านแม่ลาย ตำบลห้วยแก้ว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลสหกรณ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านแม่เตาดิน ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 487 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 245 คน ประชากรหญิง 242 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 316 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านแม่เตาดิน ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก มีการปลูกพืชหลายชนิด ทั้งการทำไร่ ทำนา ทำสวน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกเพื่อการยังชีพเป็นหลัก และชาวบ้านจะมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งงานรับจ้างทั่วไปเป็นงานที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ และนอกจากนี้ยังมีสมาชิกในชุมชนบางส่วนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายด้วย
ชุมชนบ้านแม่เตาดินเป็นชุมชนพุทธศาสนา มีวัดแม่เตาดินเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เป็นวัดที่ไม่ใหญ่มากแต่มีความสวยงามแบบล้านนา มีความเงียบสงบ ร่มรื่น สะอาดตา เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม ภายในวัดมีพระธาตุสีทองตั้งอยู่ให้ไปสักการบูชา และมีพระสีวลี อันเป็นที่นับถือของชาวบ้านที่เล่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก วิถีวัฒนธรรมที่เห็นเด่นชัดในหมู่บ้าน คือการไปทำบุญที่วัดทุกวันพระ ผู้สูงอายุจะไปกันทุกวันพระ โดยจะมีจานข้าวตอกดอกไม้ ข้าว แกง ขนม ไปทำบุญที่วัด และถ้าในช่วงเข้าพรรษาจะมีการเทศน์ในตอนบ่ายของทุกวันพระ ผู้สูงอายุจะใส่ชุดขาวมาทำบุญตั้งแต่เช้า พอทำบุญช่วงเช้าเสร็จแล้ว จะนั่งคอยกันที่ศาลาวัดเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อรอให้ถึงเวลาฟังเทศน์ในช่วงบ่าย พอฟังเสร็จจึงจะกลับบ้านและจะปฏิบัติอย่างนี้จนครบ 3 เดือน ในช่วงเข้าพรรษา
วิถีชีวิตของชาวบ้านแม่เตาตินนั้นอยู่กับป่ามาตั้งแต่โบราณ ความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ก็จะเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ความเชื่อที่ว่า เมื่อเข้าป่าถ้าเจองูตัวใหญ่ก็จะเชื่อว่างูตัวนั้นเป็นงูเจ้าที่ ห้ามไปทำอันตรายมิฉะนั้นจะทำให้เกิดอันเป็นไป หรือถ้ามีสัตว์ที่อยู่ในป่าเข้ามาอาศัยเขตบริเวณบ้านของตน เช่น ผึ้ง ต่อ ฯลฯ ก็จะไม่ให้ใครทำอันตรายต่อสัตว์นั้น เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น การเข้าป่าหรือเดินทางไกลไปที่ใดก็ตาม เวลาจะกินอาหารก็จะต้องแบ่งของที่เราจะกินอย่างละหน่อยแล้วบอกกล่าวเจ้าที่ว่าเรามาทำอะไรขอให้ท่านคุ้มครองด้วย ชาวบ้านยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตัวอย่างเช่น
การผิดผี หมายถึง การกระทำผิดประเพณีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมาหรือยึดถือกันมาเนิ่นนาน เช่น การที่ฝ่ายหญิงและชายมีความสัมพันธ์กันโดยไม่ได้แต่งงานกับฝ่ายชาย ต้องทำพิธีไหว้ผีหรือใส่ผีที่บ้านฝ่ายหญิงโดยการนำข้าวตอกดอกไม้ รูปเทียน หัวหมูมาไหว้ และพิธีดังกล่าวยังเป็นการแสดงว่าฝ่ายชายพร้อมที่ทำพิธีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมต่อไป หากฝ่ายชายมาทำพิธีขอขมาโดยนำเงินทองตามที่ตกลงกันและนำข้าวของมาทำการขอขมาโดยไม่มีการไหว้ผี ซึ่งจะถือว่าไม่มีพิธีการแต่งงานระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
พิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับท้าวทั้งสี่ว่าเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ 4 ทิศ จะช่วยขจัดทุกข์และให้การคุ้มครองป้องกันอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งอำนวยความสุขความเจริญให้แก่มนุษย์ ในการทำพิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 มีธรรมเนียมว่าจะทำในงานพิธีมงคลต่าง ๆ เป็นต้นว่า วันขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน บวชนาค งานประเพณีต่าง ๆ เช่น เทศกาลตรุษสงกรานต์ การทำพิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 เพื่อเป็นสิริมงคลแต่ตนเองและครอบครัว
แหล่งน้ำธรรมชาติ
แหล่งน้ำธรรมชาติถือว่ามีความสำคัญต่อชุมชนเป็นอย่างมากเพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ในการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิต โดยหมู่บ้านแม่เตาดินมีแม่น้ำแม่ลายน้อยไหลผ่านทางทิศเหนือถึงทิศใต้ ไหลในลักษณะคดเคี้ยวไปทั่วทุกทิศรอบหมู่บ้าน ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ในฤดูแล้งน้ำจะเหลือน้อย ชาวบ้านใช้น้ำทำการเกษตร เป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน ซึ่งมีสัตว์ต่าง ๆ ที่นำมาประกอบอาหารได้ ชาวบ้านได้เข้าไปจับจองพื้นที่ริมฝั่งน้ำ ทำการปลูกผักชนิดต่าง ๆ ไว้กินภายในครัวเรือน บริเวณใกล้ ๆ สะพานโดยไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่อาศัยว่าเคยมาทำทุกปี จึงไม่มีปัญหาเรื่องการจับจองและใช้สอยบริเวณที่ดินข้างแม่น้ำนี้
ที่ดินสาธารณะ
หมู่บ้านแม่เตาดินมีที่ดินสาธารณะภายในหมู่บ้านอยู่ 2 บริเวณด้วยกัน บริเวณแรกในหมู่บ้าน คือ บริเวณโรงเรียนบ้านแม่เตาดินร้าง อยู่ใกล้กับวัด เป็นพื้นที่สาธารณะใช้เล่นกีฬาต่าง ๆ ของวัยรุ่นในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครได้มาใช้แล้วจึงรกร้าง เนื่องจากวัยรุ่นได้เข้าไปเรียนหนังสือในเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ บริเวณที่สองคือ ป่าช้า อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีป่าไม้ขึ้นหนาแน่นมาก นาน ๆ ทีจะมีคนเข้าไปหาเห็ดหาหน่อไม้มารับประทาน หรือเวลามีงานศพครั้งหนึ่งก็ได้มีการแผ้วถางบริเวณป่าช้าให้เตียน เพื่อใช้ประกอบพิธี ถ้าไม่มีงานศพก็จะปล่อยให้รกร้าง ส่วนที่เป็นบริเวณแนวภูเขานี้เป็นเขตป่าสงวนของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ชาวบ้านสามารถเข้าไปตัดไม้มาใช้สอยได้เล็ก ๆ น้อย ๆ และยังใช้พื้นป่านี้ในการหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพ เช่น หน่อไม้ เห็ด และสัตว์ต่าง ๆ นำมาประกอบอาหาร
นายนักเดินทาง. (2564). วัดแม่เตาดิน เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2567, จาก https://th.trip.com/moments/detail/
สมภพ ไล้รักษา. (2545). การส่งเสริมอาชีพของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริและบริษัทเอกชนสนับสนุน: การศึกษาเฉพาะกรณี หมู่ 4 บ้านแม่เตาดิน ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.