Advance search

บ้านขุนอมลองกับประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพื่อแสวงหาที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงความเชื่อกับพัฒนาการชุมชน

หมู่ที่ 2
บ้านขุนอมลอง
แม่สาบ
สะเมิง
เชียงใหม่
อบต.แม่สาบ โทร. 093-581-1997
วิไลวรรณ เดชดอนบม
12 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 มิ.ย. 2024
บ้านขุนอมลอง


บ้านขุนอมลองกับประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพื่อแสวงหาที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงความเชื่อกับพัฒนาการชุมชน

บ้านขุนอมลอง
หมู่ที่ 2
แม่สาบ
สะเมิง
เชียงใหม่
50250
18.911073427459627
98.6037889122963
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาบ

บ้านขุนอมลองก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยชาวบ้านจากบ้านโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และชาวบ้านจากบ้านกิ่วเสือ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมายังพื้นที่บริเวณบ้านขุนอมลอง เนื่องจากต้องการแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ และได้ลงหลักปักฐานตั้งรกรากที่บริเวณบ้านขุนอมลอง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในระยะแรกมีครอบครัวประมาณ 7 ครอบครัว อยู่อาศัยในพื้นที่ ก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะลงหลักปักฐานที่บ้านขุนอมลองอย่างปัจจุบัน ในอดีตลักษณะการตั้งบ้านเรือนในช่วงแรกยังไม่เป็นหลักเป็นแหล่งมากนัก เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่าทุกพื้นที่มีเจ้าของผู้ดูแลอยู่ หากชาวบ้านไม่สบาย เจ็บป่วย ก็จะมีการเสี่ยงทายหาสาเหตุของอาการนั้น และบางครั้งอาจเป็นเพราะว่าที่อยู่อาศัยมีเจ้าของหรือผีอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว จึงทำให้ไม่สบาย ชาวบ้านจึงต้องโยกย้ายบ้านเรือนไปยังที่ใหม่โดยรอบ อีกทั้งพื้นที่โดยรอบชุมชนยังมีวัดร้างอยู่หลายแห่ง จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่าบ้านขุนอมลองมีการย้ายที่อยู่มาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนที่จะมาตั้งอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน จนมีการเข้ามาของศาสนาคริสต์ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนความเชื่อเป็นคริสตชนคาทอลิก ในปี พ.ศ. 2501 ชาวบ้านจึงไม่ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยเหมือนในอดีต และลงหลักปักฐานที่บ้านขุนอมลองอย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านขุนอมลองพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะทางกายภาพเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนในเขตป่าสงวน พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา มีภูเขาและแม่น้ำล้อมรอบ โดยแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำสายและแม่น้ำขาน บ้านขุนอมลองตั้งอยู่ในตำบลแม่สาบซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอสะเมิง มีระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 19 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสะเมิงเหนือ และตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลยั้งเมิน และตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมือง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านขุนอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านขุนอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 475 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 248 คน ประชากรหญิง 227 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 185 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

บ้านขุนอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรปลูกพืชตามฤดูกาล เนื่องจากสภาพพื้นที่ชุมชนมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อาชีพเกษตรกรจึงเป็นอาชีพที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตที่ได้นอกจากจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนหมุนเวียนตลอดทั้งปี หากมีผลผลิตในปริมาณที่มากในส่วนที่เหลือก็สามารถแบ่งขายได้ ทั้งยังมีพืชที่ปลูกเพื่อบริโภค และพืชเศรษฐกิจ โดยพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว กระเทียม สตรอว์เบอร์รี เก๊กฮวย หญ้าหวาน ถั่วแขก ถั่วแระ ถั่วลิสง หอมแดง กล้วยน้ำว้า ข้าวโพด ฯลฯ และยังมีการทำอาชีพด้านการปศุสัตว์ มีการเลี้ยงวัว ควาย หมู ไก่ และปลา เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตขนาดย่อม เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนระดับหมู่บ้าน เป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ดอกเก๊กฮวย หญ้าหวาน การทำกล้วยฉาบ ผ้าทอกะเหรี่ยง เป็นต้น

เดิมที่ชาวบ้านขุนอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี และประเพณีดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนความเชื่อมานับถือศาสนาคริสต์ มีการสร้างโบสถ์คาทอลิกในปี พ.ศ. 2522 โดยแรกเริ่มสร้างด้วยไม้ไผ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการบูรณะใหม่โดยบาทหลวงซาล่า ซึ่งเป็นมิชชันนารีร่วมกันกับชาวบ้าน เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว และในปี พ.ศ. 2545 ก็มีกลุ่มคริสเตียนเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในชุมชนโดยการสนับสนุนจากประเทศเกาหลี ทำให้บ้านขุนอมลองเป็นชุมชนที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง(ศศช.) บ้านขุนอมลอง

ก่อนที่จะมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง(ศศช.) บ้านขุนอมลอง เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านจะไปเรียนที่โรงเรียนบ้านแม่ปอน อำเภอจอมทอง เป็นโรงเรียนมิชชันนารี โรงเรียนจะเปิดทำการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับฤดูการผลิตของชุมชน เพื่อให้ลูกหลานมาช่วยงานพ่อแม่ได้และจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากพ่อแม่ด้วย และสมาชิกบางส่วนก็จะไปเรียนที่โรงเรียนบ้านกิ่วเสือ และศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนที่ตำบลบ่อแก้ว หรือที่ตัวอำเภอสะเมิง

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง(ศศช.) บ้านขุนอมลอง โดยการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ่านศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแม่แจ่ม เมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อจัดการศึกษาให้กับชาวบ้านที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ที่มีความสนใจในการแสวงหาความรู้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา อีกทั้งทางศูนย์การศึกษายังจัดการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ในชุมชน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ระยะสั้น การศึกษาสายอาชีพ การฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับชาวบ้าน เพื่อเสริมสร้างทักษะในการประกอบอาชีพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ในครัวเรือน รวมถึงยังเป็นสถานที่ร่วมกลุ่มจัดกิจกรรมของชุมชน เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พบปะ สานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประเสริฐ สาโรจน์ (2559). การผลิตอาหารปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับตลาดทางเลือกเพื่อยกระดับไปสู่เศรษฐกิจเชิงจิตวิญญาณชนเผ่าปกาเกอะญอ บ้านขุนอมลอง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ศศช.บ้านขุนอมลอง อำเภอสะเมิง. (2567). สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

อบต.แม่สาบ โทร. 093-581-1997