Advance search

ขุนน้ำคะ พุน้ำธรรมชาติที่ไหลขึ้นมาจากใต้ดินบริเวณผาหิน ตั้งอยู่บนยอดดอยกลางป่า น้ำจะรินไหลรวมกันเป็นลำธาร บริเวณโตรกเขา ระหว่างเทือกเขาภูลังกาและผาขี้นก น้ำใสสะอาด ไหลตลอดปี ขุนน้ำคะ เป็นต้นน้ำงิม ที่ไหลรวมกับน้ำควร จนกลายเป็นต้นกำเนิด "แม่น้ำยม"

หมู่ที่ 6
บ้านปางค่าเหนือ
ผาช้างน้อย
ปง
พะเยา
อบต.ผาช้างน้อย โทร. 0-5443-0980
นาถอนงค์ ชนาธิป
3 มิ.ย. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มิ.ย. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
13 มิ.ย. 2024
บ้านน้ำคะ


ขุนน้ำคะ พุน้ำธรรมชาติที่ไหลขึ้นมาจากใต้ดินบริเวณผาหิน ตั้งอยู่บนยอดดอยกลางป่า น้ำจะรินไหลรวมกันเป็นลำธาร บริเวณโตรกเขา ระหว่างเทือกเขาภูลังกาและผาขี้นก น้ำใสสะอาด ไหลตลอดปี ขุนน้ำคะ เป็นต้นน้ำงิม ที่ไหลรวมกับน้ำควร จนกลายเป็นต้นกำเนิด "แม่น้ำยม"

บ้านปางค่าเหนือ
หมู่ที่ 6
ผาช้างน้อย
ปง
พะเยา
56140
19.36885631791654
100.4733867917025
องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อย

เดิมชาติพันธุ์ในตำบลผาช้างน้อย ประกอบด้วยชาติพันธุ์เย้า (เมี่ยน) แม้ว (ม้ง) อีก้อและมูเซอ บรรพบุรุษมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ โดยอาศัยอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง กวางสี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2345 เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงติดต่อกันหลายปี ทำให้ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจีนได้อพยพออกจากประเทศจีน เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะชาติพันธุ์เย้าและม้งได้อพยพจากมลฑลกวางตุ้ง เข้ากวางสี เข้ามณฑลยูนาน โดยใช้เวลาในการอพยพร่วม 50 ปี และเข้าสู่ประเทศลาว ประมาณปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1856) โดยการนำของ นายเติ๋น ได้นามสกุลภายหลังคือ "จันควร" ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดหลวงน้ำทาและหลวงพระบาง

จากการบอกเล่าจากนายเจียจัน แซ่จ๋าว อายุ 75 ปี อดีตผู้ใหญ่เมืองช่วน เมืองฮุ้น ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่ประเทศลาว ในช่วงนี้ นายเติ๋น จันควร ได้ช่วยเหลือเจ้าเมืองน่านสู้รบกับพม่าและกองโจรจีนที่มาจากยูนานจนชนะหลายครั้ง เจ้าเมืองน่านจึงได้แต่งตั้งเป็นแม่ทัพคุมพื้นที่ด้านทิศเหนือของประเทศลาว และเก็บส่วยส่งเจ้าเมืองน่านตลอดไป ต่อมาเจ้าเมืองน่านเห็นว่านายเติ๋น จันควร เป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ทำความชอบให้กับประเทศไทยมาก จึงขอพระราชทานยศ เป็นพญาอินทร์ต๊ะคีรี ศรีสมบัติ ดูแลพื้นที่ในเขตแดนระหว่างไทยลาว ต่อมาพญาอินทร์ต๊ะคีรี เห็นว่าพื้นที่ในประเทศลาวคับแคบ จึงได้ส่งผู้แทนคือ นายลีวุ่นเฟย นำเครื่องบรรณาการและนอแรดเข้าเฝ้าเจ้าเมืองน่านเพื่อขอพื้นที่ทำกิน เข้ามาแถบทิศเหนือของจังหวัดน่าน บริเวณดอยภูแวทั้งหมด เจ้าเมืองน่านทรงยินดี พญาอินทร์ต๊ะคีรี จึงได้เคลื่อนย้ายประชาชนมีทั้งชาติพันธุ์เย้า เผ่าม้ง เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณดอยภูแวและจัดงานเลี้ยงสาบานตน ให้ทุกฝ่ายได้มีความสามัคคีกันและอยู่ในพื้นที่อย่างสงบสุข เรียกงานนี้ว่า "เงี่ยนโฌ่ง

ต่อมาพญาอินทร์ต๊ะคีรี เห็นว่าพื้นที่ดอยภูแวนั้นไม่เพียงพอกับราษฎร จึงขอเข้าเฝ้าเจ้าเมืองน่านองค์ที่ 3 นำเครื่องราชบรรณาการพร้อมเงินแท่ง 1,000 ต่างม้า ไปขอซื้อพื้นที่ภูเขาด้านทิศตะวันออก ของจังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วย ดอยวาว ดอยผาช้าง ดอยภูลังกา ดอยผาแดงดอยต้มฮ๋อง ติดเขตอำเภอเชียงคำ-เชียงของทั้งเขต ให้ราษฎรเข้ากิน เจ้าเมืองน่านจึงยกพื้นที่เหล่านั้นให้ และมอบสาส์นตราตั้งให้มีสิทธิ์ 

ต่อมาพยาอินทร์ต๊ะคีรี ได้ย้ายออกจากภูแวได้เดินทางเข้าไปอยู่ดอยวาว ดอยผาช้าง อยู่ที่นั่นได้ 44 ปี จึงย้ายขึ้นไปอยู่ที่ดอยภูลังกา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดและทำเลดีเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางชนเผ่า ต่อมาพญาอินทร์ต๊ะคีรีได้เสียชีวิต ในปี พ.ศ. 2468 บริเวณบ้านปางหมูในปัจจุบันและพญาท้าวหล้า ศรีสมบัติ บุตรชายขึ้นปกครองชนเผ่าต่อไป จนถึงปี พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตย ตำแหน่งพญาจึงถูกยกเลิก และแต่งตั้งตำแหน่งกำนันแทน กำนันคนแรกคือนายฟุเจียม ศรีสมบัติ บุตรชายคนที่ 4 ของพญาท้าวห้า นายฟุเจียม อยู่ในตำแหน่งกำนันได้ 2 ปี ก็ลาออกเพราะต้องไปค้าขายที่อำเภอเชียงคำ จึงให้พี่ชาย คือ นายเลาสาร ศรีสมบัติ เป็นกำนันต่อในช่วงกำนันเลาสาร ปกครองในระยะแรก เหตุการณ์บ้านเมืองปกติ ราษฎรมีความสงบร่มเย็น จนถึงปี พ.ศ. 2508 พญาท้าวหล้าได้เสียชีวิตลง

ในปี พ.ศ. 2511 เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติคือ เริ่มมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เข้ามาปลุกระดมรุกราน เข้าถึงครูตำรวจตระเวนชายแดนที่โรงเรียน ตชด.เบ็ตตี้ดูเมน แม้วหม้อ เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต ให้ผู้ใหญ่บ้านต่าง ๆ ในตำบลผาช้างน้อย ในตำบลผาช้างน้อย เกิดความไม่สงบสุข ทางราชการจึงสั่งอพยพชนเผ่าต่าง ๆ จากภูลังกามายังปางค่าในปี 2513 แต่ช่วงนั้นเหตุการณ์ ยังอยู่ในความรุนแรง มีการสู้รบกันระหว่างทหาร ตำรวจตระเวนชายแดนกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ราษฎรจึงอพยพต่อไปที่บ้านหนองบัว บ้านแฮะ และบ้านดอนไชย อำเภอปง จนถึง ปี พ.ศ. 2518 ราษฎรจึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ที่บ้านใหม่ปางค่าโดยมีนายไพศาล ศรีสมบติ เป็นกำนันปกครองหมู่บ้านและตำบลตลอดมา ในด้านการพัฒนาในสมัยของนายไพศาล ศรีสมบติ เป็นช่วงที่มีงบประมาณโครงการสร้างงานในชนบทของรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือจึงมีแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะระบบน้ำประปาภูเขา ประปาเพื่อการเกษตรเกิดขึ้นทุกหมู่บ้าน ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกไม้ผล ทดแทนป่าที่ถูกทำลาย ส่งเสริมการศึกษา มีโรงเรียนและโรงเรียนสาขาทุกหมู่บ้าน ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ นั้น นายไพศาล ศรีสมบติ มีเลขานุการตำบลชื่อนายแคะแว่น ศรีสมบัติ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถคอยให้ความร่วมมือช่วยวางแผนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ จนสภาพของหมู่บ้านในตำบลอยู่ในสภาพดีขึ้น ปัจจุบันมีนายอุ่งโหล ศรีสมบัติ เป็นกำนัน และเริ่มมีการวางแผนงาน การท่องเที่ยวระบบเชิงอนุรักษ์ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

พ.ศ. 2449 ด้วยพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีใบบอกมายังกระทรวงมหาดไทยให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า บริเวณน่านเหนือ ซึ่งได้ตัดขึ้นไปรวมอยู่ในบริเวณพายัพเหนือแล้วนั้น ควรจะเปลี่ยนวิธีการปกครองเสียใหม่ให้เหมาะกับท้องที่และผู้คนพลเมือง โดยตั้งกิ่งแขวงขึ้นที่เมืองปงแห่งหนึ่ง เมืองเทิง แห่งหนึ่ง ให้ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของแขวงเชียงคำ (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนวิธีการปกครองบริเวณน่านเหนือใหม่. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 : 751. 14 ตุลาคม ร.ศ. 125)

พ.ศ. 2455 รวมกิ่งอำเภอเมืองปงเข้ากับกิ่งอำเภอเชียงม่วน เป็นอำเภอเมืองปง ด้วยข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่า กิ่งอำเภอเมืองปง มีอาณาเขตที่กว้างขวาง เหลือความสามารถของกรมการอำเภอจะตรวจตราให้ตลอดทั่วถึงได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ขออนุญาต รวมกิ่งอำเภอเมืองปง เข้าสมทบกับกิ่งอำเภอเชียงม่วน เรียกว่า "อำเภอเมืองปง" ขึ้นกับเมืองน่าน (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม รศ.131)

พ.ศ. 2458 บริเวณบ้านปางค่า บ้านน้ำคะ ในขณะนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอปง อยู่ในการปกครองของจังหวัดน่าน มณฑลมหาราษฎร์ ที่แยกออกมาจากมณฑลพายัพ ประกอบด้วย ลำปาง น่าน แพร่ ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลอยู่ที่นครลำปาง แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ (ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201. 12 กันยายน 2458

พ.ศ. 2490 ตั้งตำบลผาช้างน้อย ในเขตอำเภอปง จังหวัดน่าน โดยโอนหมู่บ้านมาจากตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดน่าน จำนวน 5 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ . (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490) ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านปางค่า หมู่ 2 บ้านห้วยกอก หมู่ 3 บ้านปางพริก หมู่ 4 บ้านปางมะโอ และ หมู่ 5 บ้านน้ำต้ม

พ.ศ. 2493 ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มบ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ในท้องที่ ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ในยุคแห่งความขัดแย้งทางด้านความคิด ชุมชนม้ง ได้กลายเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลง ชาวเขาเผ่าม้งได้เข้ามอบตัวกับทางราชการ กองทัพภาคที่ 3 ได้อพยพกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ของชาวเขาเผ่าม้งมาอยู่ร่วมกัน และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้น

พ.ศ. 2495 ก่อนหน้านั้นอำเภอปง อยู่ในการปกครองของจังหวัดน่าน และได้มีการโอนอำเภอปง ยกเว้นตำบลสะเอียบและตำบลสวด จังหวัดน่าน ไปขึ้นกับจังหวัดเชียงราย (พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495) หลังจากนั้นอำเภอปงจึงเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

ก่อนปี พ.ศ. 2500 ชาวม้งดำที่ได้อพยพมาจากบ้านปางค่า หมู่ที่ 1 ตำบลผาช้างน้อย ในเขตอำเภอปง เพื่อแสวงหาที่ดินทำกิน และการประกอบอาชีพการเกษตร เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำคะ มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการอพยพเข้ามาครั้งแรกนั้นเป็นการตั้งถิ่นฐานในลักษณะของการสร้าง "ปาง" เป็นที่พักชั่วคราว

ตั้งชื่อกลุ่มบ้านตามภูมิศาสตร์คือ บ้านน้ำคะ เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งดำ (Hmong njua) ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกตัวเองว่า "ฮมูงจั๊ว" หรือ ม้งน้ำเงินม้งเขียว จากการบอกเล่าของพ่อหลวงสมชาย (ลากั้ว) วารีพิทักษ์ ดังนี้ ดารุณี บุญธรรม. (2543).

พ.ศ. 2510 โดยประมาณ ได้มีขบวนการทางการเมืองหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาเคลื่อนไหวบริเวณบ้านปงอาง ปลุกระดมลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่บริเวณบ้านผาจิ แนวแถบดอยผาจิ

พ.ศ. 2511-2525 ในช่วงนั้น มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันเป็นเหตุให้มีนักศึกษาเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลายร้อยคนเดินทางเข้าป่ามาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชนม้ง ตั้งแต่ดอยผาตั้ง-ภูลังกา-ดอยผาจิ ชาวบ้านบนดอยผาจิ ทั้งหมดจึงได้พร้อมใจกันเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล ในช่วง 14 ปี ที่ชาวบ้านบนดอยผาจิอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2516 ได้มีนิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นับพันคนขึ้นมาอยู่ร่วมกันที่ดอยผาจิ ผาหม่น เป็นจำนวนมากขึ้น

ภายหลังเหตุการณ์สงบลงนักศึกษาพากันออกจากป่าสู่เมือง รัฐบาลได้ผลักดันให้ชาวม้งที่เป็นแนวร่วมของ พคท.ให้ลงสู่พื้นราบและได้จัดตั้งชุมชนขึ้นเป็น 2 หย่อมบ้าน คือบ้านน้ำคะและบ้านสานก๋วย (เชียงใหม่นิวส์, 27 กุมภาพันธ์ 2562)

ในช่วงปี 2517 ชาวบ้านต้องลี้ภัยสงครามการสู้รบระหว่างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และรัฐบาลไทย ชาวบ้านจึงอพยพกลับลงไปยังหมู่บ้านปางค่า

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา) อำเภอปงจึงอยู่ในการปกครองของจังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศนโยบายโดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญ ในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็งที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลฝ่ายขวาธานินทร์ กรัยวิเชียร (ครองอำนาจ 2519 ถึง 2520) มาสู่สายกลางมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญมาตรการทางการเมืองเหนือการปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการ คำสั่งนี้กำหนดให้มีการจัดการความอยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสอดคล้องกับคำสั่งอนุญาตให้ผู้แปรพักตร์ผละขบวนการก่อการกำเริบ ซึ่งเมื่อประกอบกับการเสื่อมลงของการสนับสนุนจากต่างชาติ นำไปสู่การเสื่อมลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (Wikipedia.org) จนเหตุการณ์ได้สงบลง ชาวบ้านจึงได้กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านน้ำคะอีกครั้ง จำนวน 10 ครอบครัว

พ.ศ. 2525 นโยบายของรัฐบาลตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 แผนยุทธการการเมืองนำการทหารมาโฆษณาให้ประชาชน กลุ่มชาติพันธ์ม้ง จึงพร้อมใจกันเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลที่ศูนย์กรุงเทพฯ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ประชาชนที่เข้ามอบตัวถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง กองทัพภาคที่ 3 ได้อพยพกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมาอยู่ร่วมกันที่บ้านสันติสุข และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้น ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาคที่ 3 และได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นป่าไม้ เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงดอยยาว-ผาหม่น-ผาจิ โดยมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ (กรมป่าไม้, 2543 : 3-26- 3-27) 

พ.ศ. 2526 กองทัพภาคที่ 3 ก็ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง จังหวัดพะเยา (สำนักงาน กปร.) โดยเริ่มสร้างถนนจากบ้านผาจิ เข้าถึงบริเวณลำน้ำสาว และออกไปยังบ้านสบขุ่นและอีกสายหนึ่งจากบ้านปี้เหนือมาบรรจบที่ลำน้ำสาว และพัฒนาพื้นที่ลำน้ำสาวให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อให้ทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ลดการขยายพื้นที่การแผ้วถางป่า และปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่มาเป็นการทำนาขั้นบันได เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่า และป่าให้ความร่มเย็นและเป็นแหล่งผลิตอาหารของคน

พ.ศ. 2527 ชาวบ้านเข้ามาตั้งหมู่บ้านในพื้นที่จัดสรรในบริเวณลำน้ำสาวตามโครงการพัฒนาความมั่นคง

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ตำบลผาช้างน้อย มี 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านปางค่า หมู่ 2 บ้านห้วยกอก หมู่ 3 บ้านปางพริก หมู่ 4 บ้านปางมะโอ หมู่ 5 บ้านน้ำต้ม หมู่ 6 บ้านปางค่าเหนือ (แยกออกมาจากหมู่ 1) และ หมู่ 7 บ้านสิบสองพัฒนา บ้านน้ำคะยังเป็นหย่อมบ้าน ในเขตการปกครองของบ้านปางค่าเหนือ หมู่ 6 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 332-353. 12 ตุลาคม 2541)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านน้ำมินและบ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านปางค่าเหนือและบ้านปางค่าใต้ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านปางมะโอ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา

การตั้งบ้านเรือน

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชุมชนม้ง บ้านน้ำคะ ตั้งบ้านเรือบตามแนวสันเขาและพื้นที่ราบที่มีเพียงน้อยนิด การปลูกบ้านจะปลูกบ้านติดกันเป็นหย่อม ๆ หย่อมบ้านหนึ่งมีประมาณ 1-10 หลังคาเรือน จากการสอบถามผู้อาวุโสได้ข้อมูลว่า ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อพยพมาจากประเทศจีน และเป็นกลุ่มที่รักความสงบ จึงได้เลือกทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลกลุ่มคน และมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ทั้งดิน น้ำ ป่า เพื่อการทำมาหากินเลี้ยงชีพและครอบครัวตามความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวม้งจะให้ความเคารพและนับถือผีมาก ฉะนั้นในการเลือกพื้นที่ต้องเลือกทำเลที่ตั้งตามสันเขาที่อยู่ระหว่างภูเขา 3-4 ลูก เพราะตามยอดเขาจะมีผีป่า "ตูเชงตูชี" ให้ความคุ้มครองหมู่บ้านให้รอดปลอดภัยจากอันตราย และให้ทำมาหากิน ค้าขายคล่องมีแต่ความสงบสุข ในอดีตชาวเขาเผ่าม้ง มักอพยพถิ่นฐานทุก ๆ 10-15 ปี แต่ปัจจุบันการตั้งถิ่นฐานเป็นการตั้งแบบถาวร เพราะว่ารูปแบบการผลิตทางการเกษตรได้ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการปลูกไม้ผลเข้ามาแทนที่การทำไร่แบบย้ายที่

ลักษณะการสร้างบ้านเรือน สร้างแบบกระท่อมคล่อมดิน ภายในบ้านม้งตามจารีตประกอบด้วยสิ่งสำคัญ คือ หิ้งผี สึกลั้ง คือเสากลางบ้าน ประตูบ้าน เตาไฟเล็กและเตาไฟใหญ่ บริเวณเหล่านั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ "ผี" สิงสถิตอยู่ประจำ ซึ่งผีที่สิงสถิตตามบริเวณต่าง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้ความคุ้มครองที่ต่างกัน ส่วนการแบ่งเขตหรือกำหนดบริเวณกั้นห้องมีห้องนอนพ่อแม่ ลูกชายและลูกสาว ภายในห้องทำแคร่แบบเตียงนอนซึ่งจัดเป็นสัดส่วน ห้องครัวจัดมุมอีกมุมหนึ่งภายในบ้าน มุมห้องครัวมีครกกระเดื่องและเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่สำคัญตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง ในฤดูหนาวในบ้านที่สร้างแบบกระท่อมคล่อมดิน จึงได้รับความอบอุ่นของเปลวไฟจากเตาไฟ

การคมนาคม

เส้นทางการคมนาคมใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 เซียงคำ-น่าน มีระยะทาง 45 กิโลเมตร จากเชียงคำถึงทางแยกเข้าสู่หมู่บ้านน้ำคะ-สานก๋วย 40 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางที่รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง และจากทางแยกถึงหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง ระยะทาง 5 กิโลเมตร การเดินทางในช่วงฤดูฝนจะลำบากเพราะถนนเฉอะแฉะและลื่น ช่วงฤดูร้อนกับฤดูหนาวถนนจะมีฝุ่นมาก นอกจากนี้ยังใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1092 จากทางแยกโรงเรียนประชานุเคราะห์บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย โดยแยกจากทางหลวงหมายเลข 1148 ไปยังอำเภอประมาณ 48 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางที่สะดวกในการเดินทาง และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1188 จากหมวดการทางห้วยอ่วม ถึงอำเภอปงเป็นถนนดินลูกรังผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้า และผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร และจากหมวดการทางห้วยอ่วมถึงหมู่บ้านประมาณ 16 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 72 กิโลเมตร

บ้านน้ำคะประกอบด้วยจำนวนประชากรทั้งสิ้น 353 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 183 คน และเพศหญิงจำนวน 170 คน

ประชากรบ้านน้ำคะ ในอดีตมีการปกครองแบบสังคมนิยมผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำในชุมชนจะต้องเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนจะต้องเป็นคนที่มีความกล้าในด้านความสามารถมีความรู้และมีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนได้ เป็นผู้ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ เพื่อที่จะให้คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติตามได้ การพัฒนาสมัยก่อนทุกคนร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีการเคารพในกฎกติกาของชุมชนมีการนำเรื่อง ผีปู่ ย่า ตา ทวด มาเป็นเครื่องร้อยรัดบุคคลในชุมชนเอาไว้เพื่อให้เกิดความสามัคคี

ลักษณะสังคมชาวม้งให้ความสำคัญกับ "วงศ์ตระกูล" ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมจัดระเบียบกลุ่มสังคมและทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรม โดยเป็นเครื่องเชื่อมโยงพฤติกรรมต่าง ๆ ทางสังคมการเมืองเศรษฐกิจและศาสนาของม้งไว้ด้วยกัน วงศ์ตระกูล (หรือแซ่) ของม้งในหมู่บ้านน้ำคะมีทั้งหมด 6 แซ่ คือ แซ่ว่าง แซ่กือ แซ่เท้า แช่ย่าง แซ่โย่ง และแช่โซ้ง โครงสร้างวงศ์ตระกูลของม้ง นับถือและสืบวงศ์ตระกูลทางญาติฝ่ายผู้ชาย

กล่าวคือ ลูกผู้ชายเป็นสมาชิกของตระกูลของบิดา ลูกสาวเป็นสมาชิกของวงศ์ตระกูลของพ่อจนถึงเวลาแต่งงาน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสมาชิกของวงศ์ตระกูลของสามี ตระกูลเป็นกลุ่มทางสังคมที่สมาชิก ต้องแต่งงานกับคนภายนอกกลุ่ม แต่ละตระกูลมีพิธีกรรมศาสนาของตนเอง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันมากน้อยกับตระกูลบ่อยอื่น ๆ เมื่อสมาชิกของวงศ์ตระกูลมาจากแดนไกล ก็มักถามกันว่าถือผีบรรพบุรุษคนไหนเพื่อที่กำหนดได้ว่าอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกันหรือไม่

ครอบครัวของม้งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงาน จนถึงครอบครัวขยาย คือ ญาติ ที่น้องฝ่ายชายที่แต่งงานแล้ว ครอบครัวของม้งสังเกตได้จากหัวหน้าครอบครัว ถ้าหัวหน้าครอบครัวคือบุคคลเดียวกันแสดงว่า สมาชิกในครัวเรือนนั้น คือ ครอบครัวเดียวกัน จำนวนสมาชิกในครอบครัวมีตั้งแต่ 2-10 คน และภายในหนึ่งหลังคาเรือนมี 1-2 ครอบครัว

ครอบครัวหนึ่ง มีผู้อาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้า และเป็นผู้นำในครอบครัว สมาชิกคนอื่น ๆ ต้องเชื่อฟัง ในขณะที่บิดา มารดามีชีวิตอยู่ บุตรชายทุกคนต้องอยู่กับบิดามารดา แยกเรือนไปอยู่ต่างหากไม่ได้ ถ้าบุตรชายคนใดแต่งงานต้องนำภรรยามาอยู่ด้วย แต่สำหรับบุตรหญิงเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่ครอบครัวของสามี เมื่อ บิดา มารดาทั้งสองสิ้นชีวิตลง บรรดาลูก ๆ สามารถแยกเรือนไปอยู่ต่างหากได้ เรือนเดิมให้บุตรชายหัวปีครอบครองต่อไป ส่วนน้องต้องแยกเรือนและพาภรรยาและลูกหลานที่เป็นผู้สืบสกุลของตนติดตามไปอยู่ด้วย ครอบครัวม้งบางครอบครัวมีจำนวนสมาชิกอยู่มากมาย เนื่องจากตราบใดที่บิดา มารดามีชีวิต ก็ไม่สามารถแยกไปอยู่ต่างหากได้ จึงต้องต่อบ้านให้กว้างออกไป สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องมีความสัมพันธ์กันในฐานะญาติ แต่คำว่า ป้า อา พี่สาว น้องสาว และหลานสาว หลานสาวก็อาจใช้เรียกต่างกัน แต่ผู้ที่ถูกเรียกอาจไม่ได้แสดงความเป็นญาติกันจริง ๆ

ลักษณะความสัมพันธ์ของชาวม้งให้ความสำคัญทางสายเลือดอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งในความสัมพันธ์ทางเครือญาติสังเกตได้จากการนับถือผีเดียวกัน ลูกพี่ลูกน้อง และกลุ่มคนที่ใช้แซ่เดียวกัน ความสัมพันธ์แบบ "นับถือผีเดียวกัน" (ตั้วตู่กลั้ง Tuaj tus kilkab) เป็นความสัมพันธ์ทางสายเดือดที่เข้มข้นมากมีความใกลัชิดกันมากที่สุด เพราะเป็นพี่น้องที่สืบเชื้อสายจากบิดามารดาเดียวกันนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน "ตั้วตู่กลั้ง" เป็นพี่น้องที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากทั้งในด้านของแรงงานในไร่ ด้านเศรษฐกิจ แม้กระทั่งการให้ยืมพื้นที่ทำกินโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ กลุ่ม "ตั้วตู่กลั้ง" มีประกอบพิธีกรรมที่เหมือนกัน ในการประกอบพิธีกรรมให้ความช่วยเหลือกันและมีการรวมญาติเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ร่วมกัน ชาวม้งถือว่าผู้ที่นับถือผีบรรพบุรุษเดียวกันสามารถจัดพิธีงานศพในบ้านของกันและกันได้ 

ความสัมพันธ์แบบ "ลูกพี่ลูกน้อง" (กือตี้ Kwvttij) เป็นความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่มีความใกล้ชิดน้อยกว่าระดับของกลุ่ม "ตั้วตู่กลั้ง" ชาวบ้านถือว่าผู้ที่มีแซ่เดียวกันเป็นพี่น้องกัน ถึงแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ชาวม้งที่พบในหมู่บ้านน้ำคะ มีทั้งหมด 6 แซ่ คือ แซ่ย่าง เท้า โซ้ง โย่ง ว่าง และ แซ่กือ ซึ่งถือว่า แซ่ย่างในบ้านน้ำคะ จังหวัดพะเยา เป็นพี่น้องกับแซ่ย่างในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่ญาติกันโดยตรง แต่ในระบบความสัมพันธ์ก็ถือเป็นกลุ่มเครือญาติเดียวกัน และในความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมา มีข้อห้ามไม่ให้ ชาย-หญิง ที่มีแซ่เดียวกันแต่งงานกัน ในอดีตมีวงศ์ตระกูล 5 แซ่ สาเหตุที่มีแซ่เพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มแซ่โย่งเป็นกลุ่มที่แยกมาจากกลุ่มแซ่โซ้ง แต่ด้วยการสื่อสารผิดพลาดจึงทำให้เขียน "โย่ง" เป็น "โซ้ง" ปัจจุบันแต่ละแซ่เปลี่ยนมาใช้นามสกุลตามแบบไทย เช่น แซ่ย่าง เปลี่ยนเป็น วารีพิทักษ์ บางแซ่มีการเปลี่ยนนามสกุลแยกไปอีกหลายนามสกุล เช่น แซ่ท้าวเปลี่ยนเป็นอาชาสกุล, วีรกรรม ซึ่งทำให้ระบบของวงศ์ตระกูลต้องสูญหายไป โอกาสที่วงศ์ตระกูลเดียวกันจะแต่งงานกันในอนาคตเป็นไปได้สูง

ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมชาวม้ง ให้ความสำคัญกับการสืบเชื้อสายของแซ่ ในสังคมม้งมีแซ่ที่ต่างกัน แต่ละแซ่มีความเชื่อพิธีกรรมที่ปฏิบัติต่างกัน นอกจากข้อห้าม ข้อปฏิบัติที่มีพิธีกรรมเฉพาะกลุ่มแล้ว ในระดับชุมชน ก็มีข้อห้ามข้อปฏิบัติทางพิธีกรรมร่วมกัน กรณีกลุ่มแซ่ย่าง เป็นกลุ่มแซ่ที่มีข้อห้ามรับประทานอาหารส่วนที่เป็นหัวใจของสัตว์ แต่ม้ง ซึ่งมีความเชื่อตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นเรื่องของพี่น้องตระกูลแซ่ย่างสองคน ที่การประกอบพิธีกรรมและต้องใช้ส่วนของหัวใจ

ม้ง

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำไร่ข้าวโพด ไร่ข้าว สวนมะม่วง สวนทุเรียน สวนอโวคาโด

กลุ่มอาชีพในหมู่บ้านน้ำคะ

  1. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มีสมาชิกจำนวน 15 คน
  2. กลุ่มปลูกมะม่วงโชคอนันต์ มีสมาชิกจำนวน 40 คน
  3. กลุ่มปลูกอะโวคาโด มีสมาชิกจำนวน 15 คน
  4. กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง มีสมาชิกจำนวน 10 คน
  5. กลุ่มรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าแต่งลายชาวเขา มีสมาชิกจำนวน 5 คน
  6. กลุ่มแปรรูปผ้าปักชาวเขา เช่น ย่ามชนเผ่าม้ง กระเป๋าสตางค์จากผ้าปักม้ง พวงกุญแจ มีสมาชิกจำนวน 10 คน

วิธีการปกครอง และภาวะผู้นำ

บ้านน้ำคะ เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านปางค่าเหนือ หมู่ที่ 6 การปกครองจึงอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านปางค่าเหนือ โดยหมู่บ้านน้ำคะจะมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรักษาการแทน จำนวน 1 คน และมีสมาชิก อบต. จำนวน 1 คน ในอดีตการปกครองของท้องถิ่นชาวม้งให้ความสำคัญกับหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมาจากการคัดเลือกกลุ่มผู้อาวุโสที่มาจากแซ่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน แซ่ไหนที่มีฐานะมั่นคงและมีสมาชิกของวงศ์ตระกูลจำนวนมากก็จะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของหมู่บ้าน การสืบทอดตำแหน่งเลือกจากบุคคลในวงศ์ตระกูลเดียวกัน หรือลูกชายของผู้อาวุโสสูงสุด แต่ปัจจุบันการคัดเลือกผู้นำเป็นไปตามกฎหมายการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีสารตราตั้งให้มีฐานะดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งระบบการปกครองจะผสมผสานควบคู่กันไปแบบจารีตและแบบเป็นทางการ สิทธิทางการเมืองของหมู่บ้านในสังคมม้ง ในอดีตผู้ชายมีบทบาททางการเมืองมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมยกเว้นกรณีสามีไม่อยู่ก็สามารถไปประชุมแทนได้ แต่ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นใด ๆ 

วิธีการปกครองได้เปิดกว้างมากขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น แต่ผู้หญิงชาวม้งที่ไม่ได้เรียนหนังสือจึงขาดความเชื่อมั่นและให้เกียรติกับสามี หรือผู้ชายมาก จึงไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น สำหรับผู้หญิงที่ได้เรียนหนังสือมีความกล้าแสดงความคิดเห็น และมีภาวะความเป็นผู้นำสูงในกลุ่มของผู้หญิงด้วยกัน

อำนาจการปกครอง คนม้งเชื่อว่าอำนาจเกิดจากเบื้องบน ผีฟ้าเป็นผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎระเบียบข้อบังคับ และบัญญัติขึ้นมาให้คนในชุมชนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา เพื่อเป็นแนวทางในการให้ประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข แต่โดยความจริงผู้บัญญัติบทบัญญัตินี้ขึ้นมาคือ ผู้นำชุมชนในสมัยโบราณ เนื่องจากกลัวว่าไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ คนไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงได้สมมติขึ้นว่าผีฟ้าเป็นผู้บัญญัติขึ้นมา โดยมีกฎเกณฑ์และบทลงโทษผู้ที่ทำผิดจารีตประเพณีด้วยการปรับไหมเป็นจำนวนเงินและสัตว์เลี้ยง เพื่อนำมาเซ่นไหว้ขอขมาผีให้ยกโทษจากการทำความผิด ถ้าหากผู้ปกครองไม่สมมติว่าเป็นบัญญัติของผีฟ้าและมีบทลงโทษเช่นนี้ เกรงว่าคนในชุมชนไม่ให้ความยอมรับนับถือและไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ปกครอง และเกรงว่าจะเกิดความแตกแยกกัน หากมีคนทำผิดทางอาญา ผู้นำหมู่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านจึงดำเนินการตามกฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ แต่ถ้าละเมิดกฎเกณฑ์ของหมู่บ้านขั้นรุนแรงโดยไม่สามารถยอมความกันได้ จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่อำเภอและเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีความขัดแย้งระหว่างวงศ์ตระกูลเดียวกันไม่ว่าเป็นเรื่องใดก็ตาม ผู้อาวุโสในวงศ์ตระกูลมีอำนาจในการตัดสินข้อขัดแย้งได้โดยไม่ต้องส่งคดีถึงหัวหน้าหมู่บ้าน แต่ถ้าคดีร้ายแรงก็ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน

ศาสนา

ชาวบ้านนับถือผี ยังคงยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ว่าเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติกันมาโดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษาซึ่งเป็นการสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย คนในหมู่บ้านก็ยังคงรักษาและใช้สื่อสารกันมา

ชุมชนบ้านน้ำคะ มีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษและให้ความสำคัญกับวงศ์ตระกูลมาช้านาน เมื่อถึงช่วงเวลาวันสำคัญในวันขึ้นปีใหม่ของชาวม้ง จึงมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษขึ้น พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวม้ง จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคมของทุกปี อันเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ โดยแต่ละบ้านมีการฆ่าไก่ 2 ตัว คือ ไก่ดำและไก่ขาว เพื่อนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษประจำตระกูล (เซี๊ยะ) ซึ่งชาวม้งเชื่อว่าไก่ทั้งสองตัวนั้นจะทำให้ผีบรรพบุรุษนำขวัญของพวกเขาให้กลับมาอยู่ในตัวไม่ให้หนีหายไปที่อื่น นอกจากนั้นบนหิ้งผีบรรพบุรุษประจำตระกูลยังมีกระดาษเงินกระดาษทองห้อยประดับบนหิ้ง ซึ่งชาวม้งก็เชื่ออีกว่าจะทำให้พวกเขามีเงินมีทองใช้ในปีใหม่ที่กำลังจะมีถึง

สภาพเศรษฐกิจ

สภาพเศรษฐกิจของหมู่บ้านน้ำคะอยู่ในระดับยากจนถึงปานกลาง รายได้ของชุมชนขึ้นอยู่กับราคาของพืชผล ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อสินค้าทางการเกษตร แต่พืชผลที่มูลนิธิโครงการหลวง (โครงการหลวงปังค่า) ได้ให้การสนับสนุนนั้น มูลนิธิฯ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการตลาดให้ชาวบ้าน 

ทั้งนี้ในการทำเกษตรชาวบ้านประสบปัญหากับศัตรูพืชที่มารบกวนพืชไร่ ทำให้ต้องใช้สารเคมีมากทั้งสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลง นอกจากนี้ยังถูกรบกวนจากหมูป่า สัตว์ป่าบางชนิด ชาวบ้านแก้ไขปัญหาโดยการล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร ส่วนในไร่ข้าวและข้าวโพด ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภค เช่น พริก แตงกวา ฟักทอง ฟักเขียว ถั่วแขก ถั่วฝักยาว สำหรับสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ เป็ด ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนและเพื่อกราบไหว้บูชาผีบรรพบุรุษ

วัฒนธรรมประเพณี

วัฒนธรรมและประเพณีของชาวม้งบ้านน้ำคะ ผูกพันกับระบบความเชื่อเรื่องภูตผี เจ้าป่าเจ้าเขา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกันจนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม การดำเนินชีวิตและมีการถ่ายทอดผ่านพิธีกรรมทางศาสนา สภาพทางธรรมชาติก็มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณีเช่นกัน ความผูกพันระหว่างวัฒนธรรมประเพณีกับความเชื่อเรื่องผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีการสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พฤติกรรมที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน คือการกราบไหว้ การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษและผีต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อแสดงความเคารพนับถือสักการบูชา และวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น มีดังนี้ วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมทางภาษา วัฒนธรรมการกิน ประเพณีการแต่งงาน เทศกาลปีใหม่ม้ง ประเพณีกินข้าวใหม่ และประเพณีงานศพ 

การดำรงชีวิตของชาวม้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณีต่อการดำรงสืบทอด วัฒนธรรมบางอย่างมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยและบางอย่างเกือบจะสูญหายไป แต่ก็มีการเล่าถึงความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ให้ลูกหลานฟังเพื่อให้ลูกหลานได้มีความตระหนัก รักวัฒนธรรมประเพณีของชาวให้เกิดการดำรงสืบทอดกันไปถึงลูกถึงหลานต่อไป

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ชาวม้งบ้านน้ำคะ เป็นม้งดำหรือม้งน้ำเงิน มีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นที่มีอยู่ในประเทศไทย ชุดประจำเผ่ามีลวดลายที่ถักทออย่างมีศิลปะและมีความสวยสดใสงดงามโดยถักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ มากมายใช้สีสดใส ดังนี้ สีแดง สีชมพู สีน้ำเงิน สีดำ สีฟ้า สีเหลือง ฯลฯ สีสันต่าง ๆ เหล่านี้เลือกตามความชอบ แต่โทนสีหลัก ได้แก่ สีดำ สีน้ำเงิน สีฟ้า และสีชมพู สำหรับสีอื่น ๆ เป็นสีที่ใช้ตกแต่งให้เกิดความสวยงาม ผู้หญิงชาวม้งมักใช้เวลาว่างจากการทำไร่ผลิตชุดประจำชาติพันธุ์ ซึ่งชุดของผู้ชายกับผู้หญิงมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  1. การแต่งกายของผู้หญิง สวมกระโปรงสั้นประมาณหัวเข่า ด้านหน้ากระโปรงมีสไบและผ้ากันเปื้อนยาวกว่ากระโปรงถึงข้อเท้า เสื้อเป็นเสื้อแขนยาว ด้านหน้าและปลายแขนเสื้อจะปักเป็นลวดลายต่าง ๆ
  2. ผู้ชายสวมกางเกงขายาว เสื้อมีทั้งแขนสั้นและแขนยาว ปลายกางเกง และปลายแขนเสื้อแขนยาวปักตกแต่งด้วยลวดลายต่าง ๆ นอกจากนี้มีเครื่องประดับตกแต่งที่ทำด้วยเงิน การประดับด้วยสิ่งของมีค่าจะขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัว

ปัจจุบันการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยนิยมหันมาแต่งกายแบบคนพื้นราบมากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้อาวุโสบางคนก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า สาเหตุที่ต้องแต่งกายแบบคนพื้นเมือง เป็นเพราะชุดประจำเผ่ามีต้นทุนการผลิตสูง ใช้ระยะเวลาในการผลิตยาวนานนับเป็นปี ๆ

อย่างไรก็ตาม ชาวม้งให้ความสำคัญกับชุดมาก โดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป็นกฎระเบียบข้อบังคับในชุมชน ซึ่งเป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมการแต่งกายและการดำรงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม จึงกำหนดให้ทุกคนในชุมชนแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าในวันเทศกาลปีใหม่ม้งของทุกปี

วัฒนธรรมทางภาษา

ภาษาของชาวม้งมีการออกเสียงคล้ายกับภาษาจีน การเขียนใช้อักษรกับภาษาอังกฤษ แต่คำอ่านไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันการสื่อสารของชาวม้งบ้านน้ำคะ ใช้ภาษาม้ง ภาษาไทยกลางและภาษาไทยล้านนาเป็นภาษาหลัก สำหรับภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับคนภายในชุมชนใช้ภาษาม้ง แต่ใช้ภาษาไทยกลางกับภาษาไทยล้านนากับคนภายนอกหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ กลุ่มผู้หญิงบางคนมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร เพราะไม่เข้าใจความหมายของศัพท์บางคำ กลุ่มผู้ชาย กลุ่มเยาวชนและกลุ่มเด็กสามารถติดต่อสื่อสารและพูดภาษาไทยกลางได้ชัดเจน เพราะมีโอกาสได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและกลุ่มเยาวชนสามารถสื่อสารได้ดี เพราะมีโอกาสได้เรียนหนังสือและการเรียนรู้การสื่อสารจากโทรทัศน์ และวิทยุ

วัฒนธรรมการกิน

ม้งในประเทศไทย อพยพเข้ามาทางประเทศลาว การเดินทางต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้ชาวม้งมีสภาพวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด การสร้างที่อยู่อาศัย อาหารการกินเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคจะต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

วัฒนธรรมการกินก็จึงมีความเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย การประกอบอาหารมีเครื่องปรุงไม่กี่ชนิด ได้แก่ เกลือ น้ำมันหมู และผงชูรส อาหารหลักของชาวม้ง ได้แก่ ข้าว น้ำชาและน้ำต้มร้อน ๆ ผักที่นิยมรับประทานกันมากที่สุด ได้แก่ ผักกาด ถั่วแขก ผักกูด กะหล่ำปลี แตงกวา ฟักทอง ยอดฟักทอง พริก

สำหรับสัตว์ใหญ่ ได้แก่ หมู ไก่ นำมาประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงแขกผู้มาเยือนและเพื่อประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาหารที่มีการเลี้ยงกันในวันสำคัญ  ได้แก่ ลาบ หลู้กระด้าง ต้มหมู ต้มผัก และผัดผัก บนโต๊ะอาหารของชาวม้งมีรสชาติจืด ๆ มีข้าว มีน้ำต้มเพื่อไว้ซดหรือใช้ผสมกับข้าว ชาวม้งไม่บริโภคน้ำมันพืช เพราะเชื่อว่าน้ำมันพืชทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง แต่ถ้าบริโภคน้ำมันหมูจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงสามารถทำงานใช้แรงงานได้ดี มีความอดทนสูง เพราะเชื่อว่าน้ำมันหมูเป็นอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าน้ำมันพืช (ลี แซโช้ง, 2544)

ปัจจุบันวัฒนธรรมการกินมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะการติดต่อและการได้สัมผัสกับภายนอก การศึกษาเรียนรู้ทำให้ชาวม้งยอมรับวัฒนธรรมการกินมากขึ้น เริ่มใช้เครื่องปรุงในการประกอบอาหาร เช่น พริก ซอส น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาล แต่น้ำมันหมูคงเป็นอาหารที่ชาวม้งชื่นชอบ อย่างไรก็ตาม ชาวม้งผู้อาวุโสบางคนที่เคยชินกับการบริโภคแบบดั้งเดิม จะไม่ยอมบริโภคอาหารจากภายนอกด้วยเหตุผลว่าอาหารจากภายนอกมีรสชาติเผ็ด หวาน และแปลก ๆ

ประเพณีการแต่งงาน

ประเพณีการแต่งงานให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนและภรรยาทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน วัฒนธรรมม้งเชื่อว่าการแต่งงาน คือ การเพิ่มแรงงานในครอบครัวหรือช่วยแบ่งเบาภาระการงาน ผู้หญิงที่จะมาเป็นภรรยาไม่จำเป็นต้องสวย แต่ต้องมีความขยัน อดทน และถ้ามีบุตรด้วยยิ่งดี เพราะถือว่ามีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก สำหรับผู้หญิงโสดสามารถเลือกคู่ครองได้อย่าง มีอิสระในการร่วมหลับนอนกับผู้ชายคนที่ตนพอใจได้ โดยถ้าพอใจชายคนไหนเป็นพิเศษ หญิงสาวก็สามารถไปอยู่กับผู้ชายได้โดยฝ่ายชายจะไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงในภายหลัง กรณีของผู้ชายถ้าชอบพอหญิงสาวคนไหนถ้าถูกใจก็จะให้พ่อแม่ไปสู่ขอ ซึ่งพ่อแม่ฝ่ายหญิงสามารถเรียกสินสมรส โดยไม่คำนึงถึงความพอใจของลูกสาว ซึ่งหญิงที่มีครรภ์ค่าสินสมรสแพงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีครรภ์ เมื่อผู้หญิงม้งแต่งงานแล้ว ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามีของตน ตามจารีตประเพณีการแต่งงานของชาวม้ง มีข้อบังคับกฎระเบียบที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาดังนี้ (ชาวบ้านน้ำคะสานก๋วย, 2544)

  1. ห้ามผู้ชายกับผู้หญิงที่อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกันแต่งงานกันถึงแม้ว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตามเช่น ผู้ชายแซ่ย่างในจังหวัดพะเยากับผู้หญิงแซ่ย่างในจังหวัดเชียงใหม่พบกันและชอบพอกันต้องถามถึงชื่อ แซ่ก่อน ถ้าทราบว่าเป็นแซ่เดียวกันก็คบกันแบบเครือญาติ เพราะคนแซ่เดียวกันถือว่าเป็นคนในวงศ์ตระกูลเดียวกัน นับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน ฉะนั้นจะไม่แต่งงานกัน (วัลยา แซ่ย่าง, 2544)
  2. กรณีแต่งงานกับผู้หญิงหม้าย ต้องแต่งงานกับหญิงหม้ายที่ไม่ใช่ภรรยาของพ่อ คือภรรยาที่นอกเหนือจากแม่ แต่ถ้าเป็นภรรยาของพี่ชายหรือน้องชายไม่มีข้อห้าม แต่ผู้หญิงต้องสมัครใจและเต็มใจ (สมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)
  3. ถ้าผู้ชายแต่งงานกับหญิงสาวที่เป็นเครือญาติของฝ่ายแม่ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นค่านิยมของชาวม้ง และถ้าผู้หญิงชาวม้งจะแต่งงานกับเครือญาติของแม่ถือเป็นสิ่งที่ดีไม่มีข้อห้ามเช่นกัน เพราะถือว่าไม่ใช่วงศ์ตระกูลเดียวกัน นับถือผีบรรพบุรุษต่างกัน (สมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)
  4. การแต่งงานเกิดขึ้นภายหลังที่ผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ด้วยกันแล้ว อาจเป็นระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี เมื่อผู้ชายพร้อมก็จะมาสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง การเรียกสินสมรสก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ซึ่งจะเรียกเท่าไหร่นั้นก็ดูตามความเหมาะสมและความพอใจ ในกรณีที่หญิงมีครรภ์การเรียกสินสอดจะแพงกว่าหญิงที่ไม่มีครรภ์ ปัจจุบันการเรียกสินสมรสจะขึ้นอยู่กับความเห็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงโดยไม่ยึดติดกับการตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ (สมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)
  5. หากผู้หญิงที่คนใดที่แต่งงานแล้ว ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับหน้าที่ภรรยาที่ดี เช่น นอกใจสามี ขี้เกียจ ไม่มีความอดทน สามีมีสิทธิขอหย่ากับภรรยาได้ หรือถ้าสามียังรักภรรยาอยู่ก็จะเตือนภรรยาก่อน 3 ครั้ง ถ้ายังไม่ปรับปรุงตนเองสามีก็จะขอหย่าโดยที่ภรรยาไม่มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีลูกก็ตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย สำหรับข้ออ้างที่เป็นที่ยอมรับและเป็นสาเหตุของการหย่าได้ คือ หญิงไม่ซื่อสัตย์และหนีตามผู้ชาย (สมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)
  6. การปรุงอาหารในการประกอบพิธีกรรมการแต่งงานจะไม่ใช้พริกเป็นส่วนประกอบอาหารเพราะพริกนั้นมีรสชาติที่เผ็ดและร้อน เชื่อว่าการปรุงอาหารที่มีรสชาติที่เผ็ดนั้น จะทำให้คู่ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างไม่สงบสุข มีแต่เรื่องร้อนอกร้อนใจ ต้องปรุงอาหารที่มีรสชาติจืด

เทศกาลปีใหม่ม้ง

ปีใหม่ม้ง ตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนหนึ่ง จัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ตามข้อบังคับของจารีตประเพณีสมาชิกทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้านหรือไปทำงานต่างแดนทั้งใกล้และไกล ต้องกลับมาร่วมพิธีกรรมสำคัญโดยเข้าร่วมพิธีกรรมใน 3 วันแรกของการจัดงานปีใหม่ เนื่องจากเป็นวันที่ทำพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่เจ้าทางที่ให้ความคุ้มครองดูแลหมู่บ้านตลอดทั้งปี พร้อมทั้งการบนบานศาลกล่าวให้ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ความคุ้มครองดูแลหมู่บ้านในปีต่อไป การจัดกิจกรรมปีใหม่จัดประมาณ 3-7 วัน แล้วแต่ความพร้อมของชุมชนและการไปเยี่ยมบ้านเพื่อนบ้านและเครือญาติที่มาจากแดนไกล การจัดเตรียมเพื่อการประกอบพิธีกรรม เทศกาลปีใหม่ มีดังนี้

  1. ก่อนการประกอบพิธีกรรมปีใหม่ ต้องจัดเตรียมข้าวของ อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งอาหารที่ให้ความสำคัญมาก คือ ข้าวสาร ไก่ ไข่และขนมข้าวปุก ซึ่งใช้ในการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเรือน มีการฆ่าหมูเพื่อเซ่นไหว้ผีทรงเน้งโดยเรียกขวัญข้าว พืชไร่ให้ร่วมพิธีกรรมและเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ที่สำคัญข้าวปุกที่ใช้ทำเป็นขนมจะต้องเป็นข้าวใหม่ที่พึ่งเก็บเกี่ยวในปีนั้น
  2. วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กลุ่มญาติพี่น้อง ต้องทำพิธีปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากหมู่บ้าน ในพิธีมีต้นหนาม ใบไผ่ ซึ่งมัดด้วยผ้าสีแดงเพื่อล้างประตูบ้าน เมื่อฤกษ์ดีแล้วจึงทำพิธีโดยการปัดเป๋าและกวาดสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน พอเสร็จพิธีก็นำต้นหนามและใบไผ่ที่มัดด้วยผ้าสีแดงไปไว้ที่ลำห้วย(ฮ้าง) เพื่อนำสิ่งที่ไม่ดีไปทิ้ง
  3. วันขึ้นหนึ่งค่ำ หรือวันปีใหม่มีการประกอบพิธีกรรม 3 วันแรก คือ เริ่มจากวันขึ้นหนึ่งค่ำโดยมีพิธีรดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่ วันที่สองทำพิธีเคารพผีบรรพบุรุษและทำความสะอาดฮวงจุ้ยเพื่อเป็นการขอพรจากผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว วันที่สามมีการเลี้ยงผี เพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พิธีกรรม มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น โยนลูกช่วง ตีลูกข่าง ฟ้อนรำแบบม้ง รำดาบ ตีขนไก่ การละเล่นนี้กี่วันก็ได้ ตามแต่จำนวนคนหากคนในหมู่บ้านหรือคนที่มาเยี่ยมมีจำนวนมากก็สามารถเล่นได้หลาย ๆ วัน ช่วงปีใหม่เป็นเทศกาลที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านได้เลือกคู่ครอง และยังถือโอกาสไปเยี่ยมญาติที่อยู่ต่างหมู่บ้าน อำเภอ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ

ประเพณีกินข้าวใหม่

การกินข้าวใหม่ของชาวม้งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นตามความเชื่อที่ให้ความเคารพต่อผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ผีเจ้าทาง การปลูกข้าวแต่ละครั้งต้องทำพิธีเซ่นไหว้บนบานศาลกล่าวผีเจ้าที่ผีเจ้าทางให้ดูแลคุ้มครองและช่วยให้ผลผลิตในไร่มีความอุดมสมบูรณ์หลังจากเก็บเกี่ยวพืชไร่เสร็จแล้วก็ทำพิธีแก้บนโดยใช้ไก่ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว เหล้า 1 ขวด และเชิญหมอผี ผู้อาวุโส ญาติสนิท เพื่อนบ้านมาร่วมพิธีกรรมหลังจากประกอบพิธีกรรมเสร็จก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน การกินข้าวใหม่ตรงกับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี (ว่าง วารีพิทักษ์, 2544) สำหรับข้าวโพดหากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็จะประกอบพิธีกรรมการแก้บน เพื่อเลี้ยงขอบคุณผีเจ้าที่เจ้าทางที่ดูแลผลผลิตในไร่ เช่นเดียวกับข้าวไร่

ประเพณีจัดงานศพ

งานศพเป็นพิธีกรรมที่ชาวม้งให้ความสำคัญมาก ถ้ามีคนตายในหมู่บ้านมีการยิงปืนขึ้นท้องฟ้าจำนวน 3 นัด เพื่อแจ้งให้คนในชุมชนทราบ เสื้อผ้าที่สวมใส่ให้กับคนตายเน้นผ้าที่ย่อยสลายง่าย ส่วนใหญ่เป็นผ้าดิบและสานรองเท้าใบกัญชาเพื่อให้สวมใส่ในภพหน้า การประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ หมอผีจึงทำพิธีสวดชี้นำทาง และเล่าเรื่องราวในอดีตตามตำนานสร้างโลก สร้างฟ้า สร้างแผ่นดิน สร้างสรรพสิ่งบนโลกมนุษย์และบอกให้รู้ว่าทำไมมนุษย์ถึงมีการเกิดแก่เจ็บตาย และชี้ทางให้ผู้ตายเดินทางไปหาบรรพบุรุษ ในการสวดชี้นำทาง เป็นการให้เงินแก่ผู้ตายเพื่อนำไปจ่ายค่าหนี้สินให้เจ้าที่เจ้าทางที่เคยอาศัยอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ และชี้ทางให้ผู้ตายแก้ความเจ็บป่วย นอกจากนี้มีการฆ่าไก่เพื่อให้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางและพิธีกรรมที่สำคัญอีกพิธีกรรมหนึ่งได้แก่ การเป่าแคน การตีกลองเพื่อแสดงความเสียใจและรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิตไป (เลาเน้ง พานผ่องเจริญ และสมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)

วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษาของชาวม้งถือเป็นวันเข้ากรรมระดับเครือญาติ ตรงกับวันที่ 7, 17, 27 เดือนกรกฎาคมของทุกปี ชาวม้งมีการเข้าพรรษาไม่พร้อมกัน แต่มีกฎร่วมกันระดับสังคมว่า ตระกูลหรือกลุ่มแซ่เดียวกันต้องเข้าพรรษาพร้อมกัน ซึ่งบางครอบครัวเข้าพรรษาที่บ้านของตนเองหรือไปเข้าพรรษาร่วมกันที่บ้านของผู้อาวุโสสุดของตระกูลก็ได้แล้วแต่ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกในวงศ์ตระกูล โดยให้เลือกวันใดวันหนึ่ง กรณีเช่น แซ่ท้าว เลือกเข้าพรรษาวันที่ 17 ดังนั้นกลุ่มแซ่ท้าวในหมู่บ้านต้องเข้าพรรษาพร้อมกัน โดยวันที่ 16 มีการฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษและเช้าของวันที่ 17 มีการทำพิธีกรรมโดยเชิญหมอผีมาประกอบพิธี หลังจากประกอบพิธีกรรมเสร็จแล้วก็จะเรียกผู้อาวุโสในหมู่บ้าน และเพื่อนบ้านมาร่วมรับประทานอาหารและที่สำคัญวันเข้าพรรษา ชาวม้งมีข้อห้ามไม่ให้จับของมีคม และห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด

ศาสนา ความเชื่อ และการเคารพนับถือ

คนม้งมีความเชื่อเกี่ยวกับผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีบรรพบุรุษและเชื่อเรื่องเทพเจ้าสูงสุด เพราะการดำรงชีวิต ให้ความสำคัญกับวงศ์ตระกูล และมีการสักการบูชาการประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยแยกการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับวงศ์ตระกูลและระดับชุมชน ดังนี้ (เลาจู แซ่ยาง และประเสริฐ วีรกรรม, 2544)

1.ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเรือน มีการประกอบพิธีกรรมเฉพาะครัวเรือนโดยเชิญหมอผีประจำหมู่บ้านมาเป็นผู้นำในการทำพิธีเรียกวิญญาณให้มาร่วมรับประทานอาหารและร่วมดื่ม เพื่อต้องการให้ผีบรรพบุรุษช่วยคุ้มครองดูแลรักษาลูกหลาน และให้ลูกหลานประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน การเลี้ยงผีบรรพบุรุษทำกันตลอดทั้งปี ซึ่งการเลี้ยง การเซ่นไหว้มีการฆ่าสัตว์เพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การเลี้ยงฉลองในหมู่บ้าน การเก็บเกี่ยวพืชผลในไร่ การจัดงานตามประเพณีต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงการไปเที่ยวต่างบ้าน หรือไปเยี่ยมญาติต่างถิ่น การเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้น เห็นได้ชัดเจนจากการเลี้ยงผีวัว ซึ่งเป็นความเชื่อที่ต้องฆ่าวัวเพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษหรือวิญญาณบรรพชนอันแสดงให้เห็นถึงความอกตัญญูของลูกชายที่สืบเชื้อสายจากพ่อแม่ เพราะความเชื่อว่าวิญญาณของพ่อแม่จะกลับมาหาลูกเพื่อเก็บค่าเลี้ยงดู ค่าน้ำนม และซ่อมแซมบ้านที่เสื่อมโทรม สำหรับผีบ้านผีเรือนนั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่าผีบ้านผีเรือนให้ความคุ้มครองปกป้องรักษาและช่วยเหลือให้สามารถทำมาหากินและประกอบอาชีพได้โดยปราศจากศัตรูมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งผีบ้านผีเรือนนั้นอาศัยอยู่ตามสถานที่บริเวณบ้านเรือนต่าง ๆ โดยมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ซื้อกั้ง เป็นผีที่คอยคุ้มครองดูแลสมาชิกและสิ่งของภายในบ้าน
  2. ตร้างโจ่งจาง เป็นผีที่คอยดูแลที่นอน อยู่ในห้องนอน
  3. ตร้างขอโจ่ง คอยดูแลประตูบ้าน ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในบ้าน
  4. ผีเตาไฟเล็กหรือตร้างขอจู คอยดูแลเรื่องการทำมาหากิน การหุงหาอาหารในห้องครัว
  5. ผีเตาไฟใหญ่ หรือตร้างเข้าจู มีหน้าที่เหมือนผีเตาไฟเล็ก
  6. ตร้างเน้งหรือผีทรง เป็นหิ้งผีที่มีไว้ในบ้านของหมอผีเท่านั้น
  7. ตร้างโชว์หรือหิ้งผียาสมุนไพร ช่วยดูแลการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของสมาชิกในครัวเรือน
  8. ผีฟ้า เป็นผีที่รับบนบานศาลกล่าวซึ่งมีบางแซ่เท่านั้น
  9. ผีบรรพบุรุษ หรือผีวัว อาศัยอยู่กลางบ้านเรือน เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

2.ผีเจ้าที่เจ้าทางหรือผีเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางเป็นผีที่คอยให้ความคุ้มครองดูแลสถานที่อยู่อาศัยของหมู่บ้าน ดิน น้ำ ป่า รวมถึงฮวงวุ้ย ซึ่งการประกอบพิธีกรรมระดับชุมชนต้องบนผีเจ้าที่เจ้าทางให้คุ้มครองดูแลรักษา เมื่อทำการเพาะปลูกพืชผักในไร่ก็บนเพื่อให้คุ้มครองดูแลรักษาพืชผักในไร่ ให้มีความเจริญงอกงามได้ผลผลิตดี

3.ผีฟ้า ความเชื่อและความเคารพเรื่องผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การเลี้ยงการเซ่นไหว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การประกอบพิธีกรรมก็ต้องทำถูกต้องตามประเพณีที่ปฏิบัติกันบนโลกมนุษย์ ชาวม้งเชื่อกันว่าคนเราเมื่อตายไปแล้วก็ได้ไปอยู่ในดินแดนที่สงบสุข ซึ่งเป็นดินแดนที่มีเทพเจ้าอาศัยอยู่ ชาวม้งได้แบ่งดินแดนออกเป็นสองแห่ง คือ ดินแดนแห่งความดี คือ สวรรค์ และดินแดนแห่งความชั่ว คือ นรก ขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่หากปฏิบัติตนดีเมื่อตายไปก็ได้ไปอยู่สวรรค์ ซึ่งมีผีฟ้าคอยคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ หากปฏิบัติชั่วก็ได้ไปอยู่นรก ซึ่งมียมบาลคอยดูแลคุ้มครองอยู่ (ว่าง วารีพิทักษ์, 2544)

ความเชื่อเรื่องผีนี้ ชาวม้งแสดงออกมาโดยการประกอบพิธีกรรมที่ยึดถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา โดยจะปฏิบัติกันตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับชุมชน พิธีกรรมที่ปฏิบัติกัน มีดังนี้ (ประจักษ์ วารีพิทักษ์, สมศักดิ์ พานผ่องเจริญ และอัทธนีย์ วารีพิทักษ์, 2544)

3.1 พิธีกรรมเรียกขวัญ คนม้งเชื่อกันว่ามนุษย์เรานั้นมีขวัญ 3 ขวัญ เมื่อเกิดมาหมอผีต้องทำพิธีเซ่นไหว้โดยฆ่าหมู และไก่ เพื่อเรียกขวัญให้เข้าร่างกายทั้ง 3 ขวัญ เมื่อขวัญเข้ามาในร่างกายเด็กครบทั้งหมด หลังจากนั้นจึงตั้งชื่อให้เด็กคนนั้นแต่ถ้าทำพิธีแล้วขวัญยังหายไปและไม่ยอมเข้าร่างกาย ทำให้เด็กไม่สบาย หรือถึงแก่ชีวิตได้ นั่นคือถ้าหากขวัญแยกออกจากกันแสดงว่าคนนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ขวัญทั้ง 3 จึงแยกกันไปอยู่ที่สวรรค์ นรก และฮวงจุ้ย

3.2 พิธีกรรมอยู่กรรม (ใจ) เป็นการหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย หมู่บ้านชาวม้ง ถ้าครอบครัวใดที่เจ้าของบ้านรู้สึกว่าไม่สบาย จึงเชิญหมอผีมาทำพิธีลงผีหรือฮั่วเน้ง ถ้าหมอผีทราบสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว จึงให้สมาชิกทุกคนภายในบ้านอยู่กรรมหรืออยู่ใจ สมาชิกทุกคนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน ต้องปิดประตูบ้านและมีสัญลักษณ์ คือ "ตะแหลว" แขวนอยู่ชายคาบ้าน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้ว่า บ้านนี้กำลังอยู่กรรม โดยกำหนดระยะเวลาของการอยู่กรรมไว้ 1-3 วันแล้วแต่กรณี ถ้าหากสมาชิกในครัวเรือนทำผิดกฎเกณฑ์ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ ผีสามารถเอาขวัญ (ปลี่) ของคนที่ไม่สบายไปได้ ทำให้อาการที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ทรุดหนักมากกว่าเดิม ตามธรรมเนียมของชาวม้ง ถ้าหากบ้านใดอยู่กรรมแล้ว บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมโดยไม่รู้ความหมายของตะแหลวที่แขวนไว้ เจ้าของบ้านจะปรับผู้มาเยี่ยมตามธรรมเนียม เป็นเงินจำนวน 500 บาทขึ้นไป หรือปรับเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรม หลังจากอยู่กรรมตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว เหตุผลที่ต้องปรับเพราะเชื่อว่าแขกที่มาเยี่ยมได้พาผีมาด้วยและจะมาเอาขวัญของคนป่วยไป

3.3 พิธีกรรมผีวัว (Nyujdab) การประกอบพิธีกรรม ทำกี่ครั้งก็ได้แล้วแต่ความเชื่อ เป็นพิธีกรรมที่ลูกชายพึงปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษ โดยมีการฆ่าวัวเพื่อเซ่นไหว้แสดงความกตัญญูที่พ่อแม่ได้เลี้ยงดู และเป็นค่าน้ำนมที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

1.นายเลากู๋ แซ่ว่าง เชี่ยวชาญด้านการจักสาน

2.นายเลาเปา พานผ่องเจริญ เชี่ยวชาญด้านการจักสาน, พิธีกรรม

3.นายนิพนธ์ อาชาสกุล เชี่ยวชาญด้านการจักสาน

4.นายเหล่า อาชาสกุล เชี่ยวชาญด้านการตีเหล็ก

5.นายเลาเจอ แซ่ย่าง เชี่ยวชาญด้านการจักสาน, พิธีกรรม

6.นายเลาสาร แซ่ย่าง เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้านม้ง

7.นางพั๊วะ แซ่ย่าง เชี่ยวชาญด้านผ้าเขียนลายเทียน

8.นางสาวนารี มาลีศรีสุกใส เชี่ยวชาญด้านออกแบบและตัดชุดม้ง

9.นางสาวนภาพร ม้าวิชัยกุล เชี่ยวชาญด้านออกแบบและตัดชุดม้ง

10.นายว่าง วารีพิทักษ์ เชี่ยวชาญด้านการจักสานและการตีมีด

11.นายเล่าเหล่า อาชาสกุล เชี่ยวชาญด้านการจักสานและการตีมีด

12.นายประจักษ์ วารีพิทักษ์ เชี่ยวชาญด้านเครื่องเงิน

13.นางอย่า พานผ่องเจริญ เชี่ยวชาญด้านการผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใยกัญชง

1.พืชทรัพยากรในป่า

ทรัพยากรในป่าคือ พืชสมุนไพรที่มีหลากหลาย นำมาเป็นยาต้มดื่มหรือบดละเอียดเพื่อเป็นยาสมานแผล บางชนิดใช้ในการรักษาโรคกระเพาะ โรคเบาหวาน ปวดท้อง แก้ปวดประจำเดือน ฯลฯ สมุนไพรในป่ามีประมาณ 50 กว่าชนิด เช่น ไผ่ไร้กอ ต้นยางเหลือง รากมัน ยอดแดงยอดเขียว โสม จือเลาเก๊า (ชื่อเฉพาะท้องถิ่น) และรากมะเขือ สมุนไพรบางชนิดนำมาปรุงเป็นอาหารได้ ตัวอย่าง สมุนไพรที่ชาวม้งใช้สรรพคุณรักษาโรคต่าง ๆ ดังนี้ (เลาจู แซ่ย่าง, เลาท้าว แซ่โช้ง และสมศักดิ์ พานผ่องเจริญ, 2544)

  • ไผ่ไร้กอ มีลักษณะเด่น คือ เป็นไผ่ที่ขึ้นโดดเด่นต้นเดี่ยว ไม่มีกอเหมือนไผ่ทั่วไป เป็นสมุนไพรที่ใช้แก้น้ำร้อนลวก โดยใช้เปลือกแห้งมาเผาแล้วเอาขี้เถ้าทาแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก ไผ่ไร้กอนี้พบมากในบริเวณน้ำตกที่ 4
  • ต้นยางเหลือง เป็นสมุนไพรที่ใช้ผสมฝั่นเพื่อเพิ่มน้ำหนักของฝิ่น โดยจะกรีดยางที่ลำต้นหรือนำเอายางที่ใบมาผสมกับฝิ่นแล้วนำไปต้ม ตากไว้เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคแก้ปวดหลัง ปวดเอว พบมากบริเวณน้ำตกที่ 2 โดยเฉพาะพื้นที่ป่าดิบแล้ง
  • รากมัน เป็นสมุนไพรแก้ไอ แก้นิ่ว โดยใช้รากต้มน้ำดื่ม พบมากในบริเวณป่าโดยทั่วไปโดยเฉพาะป๋าเบญจพรรณ
  • ยอดเขียวยอดแดง ใช้แก้ปวดฟัน จะใช้ส่วนใดก็ได้นำมาต้มน้ำดื่ม จะพบมากในบริเวณถ้ำและหน้าผา
  • ฝิ่น เป็นสมุนไพรแก้ปวดหลัง ปวดเอว กรีดเอายางจากหัวดอกฝิ่น นำมาตากแห้งแล้วนำไปต้ม จะเก็บไว้ได้นานมาก หากไม่ต้มจะเก็บไว้นาน 2-3 ปี พบในสวนของชาวบ้าน ซึ่งจะปลูกไว้เพียงพอแก่การรักษา
  • โสม เป็นสมุนไพรบำรุงร่างกาย วิธีการใช้จะดองหรือต้มก็ได้ ส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะใช้ดองกับเหล้าไว้ดื่ม พบมากในบริเวณป่าดิบแล้ง
  • จือเลาเก๊า เป็นสมุนไพรแก้ปวดประจำเดือน ใช้ทุกส่วนของต้นจือเลาเก๊ามาต้มน้ำดื่ม ต้นจือเลาเก๊ามีความสูงประมาณ 2 เมตร พบในบริเวณป่าทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ

2.สัตว์ป่า พื้นที่ป่าบ้านน้ำคะ มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ได้แก่ เลียงผา กระรอกบินใหญ่ ชะมดเช็ด บ่าง เม่นใหญ่ แมวดาว ลิงวอก ลิ่น เสือลายเมฆ หมีขอ ไก่ฟ้า อีเก้ง หมีควาย ซึ่งอีเก้งและไก่ฟ้าจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 (ศิริชัย ปาลา, ม.ป.ป.)

3.ดิน ลักษณะของดินเป็นดินที่ค่อนข้างลึกถึงดินตื้น มีเนื้อดินร่วนปนกรวด และดินบางแห่งเนื้อดินสีดำปนแดง ดินเหนียวปนกรวดมีการระบายน้ำดีดินส่วนใหญ่เป็นกรด ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน คือ การทำการเกษตร โดยพื้นที่สูงใช้ปลูกข้าวโพด ข้าว อะโวคาโด แมคคาเดเมีย และทำสวนลิ้นจี่ พื้นที่ราบจะปลูกกะหล่ำ หอมญี่ปุ่น และทำสวนลิ้นจี่

4.แหล่งน้ำ แหล่งน้ำสำคัญในหมู่บ้านมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ ห้วยน้ำคะ ประปาภูเขา อ่างเก็บน้ำและถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งแหล่งน้ำทั้งหมดนี้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร การอุปโภค บริโภค ห้วยน้ำคะเป็นแหล่งน้ำสายหลักที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำยม อันเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคเหนือที่ไหลรวมกับแม่น้ำวังและแม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

5.ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านน้ำคะ

บ้านน้ำคะ หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ เดิมบ้านน้ำคะได้เปิดทำการสอนเด็กเล็ก โดยอยู่ในความดูแลของโครงการหลวง ฝ่ายพัฒนาการศึกษาต่อมาทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดพะเยา มีนโยบายให้ทางศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอปง เปิดศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" ขึ้น

เมื่อทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพะเยาได้มาทำการสำรวจร่วมกับคณะครู ศศช.ผาช้างน้อย อ.ปง และทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพะเยาได้อนุมัติให้ทำการจัดตั้ง ศศช. ขึ้นที่บ้านน้ำคะ โดยปรับปรุงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน ต่อมาทางสถาบันราชภัฏเชียงราย โดยการนำของคณะอาจารย์และนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทร่วมกับคณะครู ศศช.กลุ่มผาช้างน้อยและชาวบ้าน ได้สร้างอาคารถาวรขึ้นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากชมรมอาสาพัฒนาชนบท เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท จนสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

6.หัตถกรรมท้องถิ่น ประดิษฐ์ผ้าปักลายชาวเขา การจักสาน ผลิตเครื่องเงิน การตีมีด ผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใยกัญชง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมมีการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษมา ได้แก่ ผ้าปักลายชาวเขา จักสาน และตีมีด สำหรับการผลิตเครื่องเงิน ผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใยกัญชงนั้น ชาวม้งได้เลิกประดิษฐ์งานหัตถกรรมเหล่านี้ เพราะวัสดุอุปกรณ์หายาก ใช้ต้นทุนสูง และหาซื้อสินค้าได้ง่ายจากตลาดและราคาถูกกว่าการที่จะผลิตเอง 

องค์ความรู้ด้านการผลิตผ้าปักลายชาวเขา กลุ่มสตรีชาวม้งจะผลิตผ้าปัก ช่วงเวลาว่างจากการทำเกษตร โดยจะรับปักผ้าที่นายทุนได้นำผ้าใยกัญชงมาให้ปัก และรับซื้อในราคาที่ได้กำหนดให้ตามความยาก-ง่ายของลายผ้า และขนาดของผ้า การรับปักผ้ามีรายได้เฉลี่ย 400-1,000 บาท ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลายผ้าและเครื่องประดับที่ใช้ในการตกแต่ง ได้แก่ เครื่องเงิน ลูกปัด ฯลฯ การผลิตผ้าปักได้ถ่ายทอดให้กับเด็กเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

การจักสาน และการตีมีดก็จะผลิตไว้ใช้ในครัวเรือนมากกว่าการผลิตเพื่อเศรษฐกิจ ในชุมชนมีบุคคลที่มีความสามารถในการจักสานและการตีมีด คือ นายว่าง วารีพิทักษ์ นายเล่าเหล่า อาชาสกุล ซึ่งบุคคลทั้งสองท่านได้นำความรู้ที่มีอยู่เผยแพร่ต่ออนุชนรุ่นหลัง โดยสอนให้ลูก ๆ หลาน ๆ ที่สนใจ องค์ความรู้ด้านการจักสานได้เรียนมาจากบรรพบุรุษ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

การผลิตเครื่องเงิน ผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใบกัญชงนั้น บุคคลที่มีความรู้ด้านเครื่องเงิน คือ นายประจักษ์ วารีพิทักษ์ ส่วนบุคคลที่มีความรู้ด้านการผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใยกัญชงนั้น คือ นางอย่า พานผ่องเจริญ และกลุ่มสตรีม้งบ้านน้ำคะ ด้วยการขาดอุปกรณ์ในการผลิต ต้นทุนการผลิตสูง และหาซื้อง่ายในท้องตลาด และราคาถูกกว่า

ปัจจุบันการสื่อสารของชาวม้งบ้านน้ำคะ ใช้ภาษาม้ง ภาษาไทยกลางและภาษาไทยล้านนาเป็นภาษาหลัก สำหรับภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับคนภายในชุมชนใช้ภาษาม้ง แต่ใช้ภาษาไทยกลางกับภาษาไทยล้านนากับคนภายนอกหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ 


ในการทำเกษตรชาวบ้านประสบปัญหากับศัตรูพืชที่มารบกวนพืชไร่ ทำให้ต้องใช้สารเคมีมากทั้งสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลง นอกจากนี้ยังถูกรบกวนจากหมูป่า สัตว์ป่าบางชนิด ชาวบ้านแก้ไขปัญหาโดยการล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร


การศึกษา การศึกษามี 2 ระบบ คือ

  1. การศึกษาในระบบ มีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านที่เข้าเรียนในโรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
  2. การศึกษานอกระบบ มีกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนการศึกษานอกระบบในระดับประถมศึกษา กลุ่มเด็กใช้เวลาเรียนในช่วงกลางวัน และผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียนตอนกลางคืน ที่เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยใช้เวลาเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันพุธ-พฤหัสบดี ขึ้นอยู่กับกลุ่มเลือกเรียน (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านน้ำคะ 2544) นอกจากการเรียนหนังสือแล้วชาวบ้านได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิชาชีพที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านน้ำคะ ให้การสนับสนุนจัดสอนวิชาชีพ และที่สำคัญคือการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมประเพณี องค์ความรู้ด้านการผลิต และการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวม้งที่ยังสืบปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากครอบครัวและสังคม

การผลิตเครื่องเงิน ผลิตธูปหอม กระดาษไหว้ผี และผลิตผ้าใบกัญชงนั้น ปัจจุบันเลิกผลิตและไปหาซื้อของสำเร็จแล้วตามท้องตลาดในอำเภอปง และอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ในอดีตวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตใช้ไม้ไผ่เพื่อผลิตธูปหอม และกระดาษไหว้ผี สำหรับใยกัญชงนำมาผลิตผ้าใยกัญชง ซึ่งอดีตชาวบ้านปลูกใยกัญชงกันเอง แต่ด้วยใยกัญชงเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา รัฐบาลจึงมีมาตรการห้ามปลูก สำหรับการเลือกวัสดุสำหรับผลิตธูป และกระดาษไหว้ผีในอดีตจะคัดสรรไม้ไผ่ที่สมบูรณ์ ซึ่งสังเกตจากผิวและขนาดของไม้

 


ชาวม้งรักและผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยรู้คุณค่าและประโยชน์ว่าสิ่งใดเหมือนและนำมาทดแทนได้ สังเกตได้จากการเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขา และเลี้ยงผีขุนน้ำ ที่ช่วยให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย และมีความสงบสุขจากองค์ความรู้ด้านเกษตรและธรรมชาติ ด้านสมุนไพร และด้านหัตถกรรมท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติที่มีการเกื้อหนุนกัน และให้ความสำคัญกับผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติมาก 


อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

วันที่ 13 มี.ค.62 นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยพล.ต.เศรษฐพล เกตุเต็ม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสภาพพื้นที่ น้ำตกน้ำคะ (ขุนน้ําคะ) ใน ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นน้ำที่จะใช้ในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ และพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัดพะเยา ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

น้ำตกน้ำคะ หรือ น้ำคะ อยู่ในเขตบริเวณบ้านปางค่าเหนือ (บ้านน้ำคะ) หมู่ที่ 6 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ถือกำเนิดมาจากภูเขาสองภู คือ ภูลังกา และภูเทวดา (ฟินจาเบาะ) ซึ่งเป็นยอดดอยมีความสูง 1,720 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงที่สุดในเทือกเขาสันปันน้ำ ไทย-ลาว ด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 7,800 ไร่ หุบเขาระหว่างกลางตลอดแนวสันเขาทั้ง 2 รวมกัน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำยม มีลำห้วยน้อยใหญ่หลายสายไหลมารวมกัน เกิดเป็นต้นกำเนิดน้ำคะ มีบ่อน้ำใสสะอาด บริสุทธิ์ ที่ชาวอำเภอปง ถือเป็น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมบวงสรวงต้นน้ำยมทุกปี และเคยนำน้ำตกน้ำคะไปใช้ใน การประกอบพิธีกรรมที่สำคัญมาแล้ว อาทิ เพื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และเพื่อเข้าร่วมในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ (ดารุณี บุญธรรม, 2546)

1.ดอยภูลังกา เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาผีปันน้ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,695เมตร ซึ่งมีชื่อเรียกกันตามภาษาเผ่าเข้าว่า "ฟินจาเบาะ" หรือ "ภูเทวดา" เป็นยอดดอยที่มีความงดงามมาก มีตำนานที่เล่าขานกันมายาวนาน จากคำเล่าขานสืบต่อกันมาหลายร้อยปีได้พูดถึงสิ่งที่มหัศจรรย์ของดอยกูลังกาว่า ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ มีแสงสว่างเปล่งแสงขึ้นบริเวณยอดเขา บางครั้งเห็นเป็นแสงสีขาวนวล แวววาวสวยงามมาก ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการประชุมของเหล่าเทวดา ด้วยความสงสัย ชาวบ้านที่ไปทำไร้ฝิ่นบริเวณใกล้เคียงได้เดินขึ้นไปดูบ้างก็นอนพักค้างคืน เพื่อจะได้เห็นและค้นพบความจริงว่าสิ่งมหัศจรรย์ที่ให้แสงสว่างอยู่ ณ ที่ใดของยอดดอย ปรากฏว่าสิ่งที่เห็นคือ แท่นหินและต้นหอมธุ ซึ่งเป็นต้นหอมที่ออกดอกสีขาวขึ้นเต็มบริเวณยอดดอย ชาวบ้านบางคนก็เด็ดดอกหอมและเก็บต้นหอมกลับบ้าน เพื่อนำไปทำอาหาร แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ขณะที่ใกล้จะถึงบ้านต้นหอมธุที่เก็บมานั้นได้อันตรธานหายไปจากถุง จากนั้นก็ไม่มีใครกล้าเก็บต้นหอมชนิดนี้กลับบ้านอีกเลย และชาวบ้านก็ปักใจเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนภูเขาลูกนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเทวดา ซึ่งไม่มีใครสามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้ นอกจากทำพิธีบวงสรวงขอจากเทดาเสียก่อน นอกจากนี้สิ่งที่ปรากฏและเล่าขานกันมาอีกเรื่องหนึ่งคือ บนดอยแห่งนี้มีม้าขาวคู่ จะปรากฏร่างยืนอยู่บริเวณหน้าผาทางด้านทิศตะวันออก สิ่งมหัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้เข้าฝันพระธุดงค์รูปหนึ่ง ซึ่งจำพรรษาอยู่ในภาคอีสานของไทยว่า บริเวณถ้ำของยอดภูลังกานี้มีสมบัติอันล้ำค่าซ่อนอยู่มากมาย และม้าขาวคู่นั้นกำลังรอคนมาช่วยผลัดเปลี่ยนเฝ้าสมบัติ ซึ่งเรื่องนี้ได้เป็นจริงขึ้นมาเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. 1949 หรือปี พ.ศ. 2492 (แคะเว่น ศรีสมบัติ, 2540 : 5)

2.น้ำตก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของบ้านน้ำคะตั้งอยู่เขตในที่ราบ และตามบริเวณเชิงเขา ซึ่งมีพื้นที่สูงและอยู่ใกล้แนวเทือกเขาผีปันน้ำ จึงทำให้มีแหล่งน้ำที่งดงาม บางแห่งก็มีน้ำไหลเป็นสายธารมีซอกหินเล็กหินใหญ่ มีลานกว้างเหมือนสระน้ำ เหมาะแก่การเล่นน้ำมาก บางแห่งก็มีน้ำตกไหลตกลงมาจากที่สูงเป็นชั้น ๆ แม่น้ำที่สำคัญ คือ น้ำคะใหญ่ และน้ำคะน้อย ซึ่งแม่น้ำทั้งสองแห่งมีน้ำตกทั้งหมด จำนวน 7 แห่ง ซึ่งน้ำตกน้ำคะใหญ่มีทั้งหมด 5 แห่ง คือ น้ำตกผาผึ้งหรือน้ำตกน้ำคะแห่งที่ 1 น้ำตกน้ำคะที่ 2 น้ำตกน้ำคะที่ 3 น้ำตกน้ำคะที่ 4 น้ำตกน้ำคะที่ 5 และน้ำตกน้ำคะน้อยมีทั้งหมด 2 แห่ง

3.ถ้ำ ถ้ำในหมู่บ้านมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ ถ้ำผาบ่อง ถ้ำค้างคาว 1 ถ้ำค้างคาว 2 และถ้ำผาหิน ถ้ำทั้ง 4 แห่งนี้เป็นถ้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะถ้ำผาหิน เป็นถ้ำที่ไม่สามารถเดินเข้าไปในถ้ำได้เพราะปากถ้ำมีขนาดเล็กมาก ถ้ำแต่ละแห่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกและค้างคาว ช่วงฤดูฝนมีสัตว์แปลกปลอมเข้าไปอยู่ด้วย เช่น งู ภายในถ้ำมีความงดงาม มีหินย้อยเหมือนหยดน้ำ ถ้ำแต่ละแห่งจะตั้งห่างจากหมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 2-4 กิโลเมตร สามารถใช้จักรยานยนต์ รถยนต์ และจักรยานเสือภูเขาไปถึงไร่-สวนของชาวบ้านประมาณ 2-3 กิโลเมตร จากนั้นก็เดินขึ้นเขาประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางเดินจะเป็นป่าไผ่ ช่วงฤดูฝนจะมีหน่อไม้จำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านนำมาทำเป็นอาหารและนอกจากนี้ยังมีหน้าผาที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง หากมองจากหมู่บ้านก็จะเห็นหน้าผาที่สวยงาม ถ้าอยู่ในหมู่บ้านก็จะเห็นความสวยงามหมู่บ้าน ถ้ำผาบ่อง ระยะทาง 3 กิโลเมตร

ดารุณี บุญธรรม. (2543). ศักยภาพของชุมชนม้งในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : กรณีศึกษาบ้านน้ำคะ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์ (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดารุณี บุญธรรมและคณะ. (2546). การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมโดยชุมชนชาวม้งบ้านน้ำคะ-สานก๋วย ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนวิธีการปกครองบริเวณน่านเหนือใหม่. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 : 751. 14 ตุลาคม รศ.125

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม รศ.131

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201. 12 กันยายน 2458

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ . (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490

พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69  : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 332 - 353. 12 ตุลาคม 2541   

เชียงรายโฟกัส. (2564). บ้านน้ำคะ อ.ปง จ.พะเยา. https://www.chiangraifocus.com/

Wittayakorn Khamlar. (2560). ทริป รีวิว บ้านน้ำคะ. https://www.facebook.com/media/

เชียงใหม่นิวส์. (2562). ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม "บ้านน้ำคะสานก๋วย". https://www.chiangmainews.co.th/

พงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร (รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา) 9 เมษายน 2562·

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา. (ม.ป.ป.). ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมคณะเตรียมสถานที่ เตรียมความพร้อม ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำตกน้ำคะ อ.ปง ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร. http://www.phralan.in.th/

สำนักงานจังหวัดพะเยา. (2567). การพัฒนาฟื้นฟูบูรณะแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดพะเยา. http://www.phayao.go.th/allnew/

สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา. (2562). พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ ขุนน้ำคะ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา. https://www.facebook.com/watch/

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาโครงการหลวงปังค่า. (2564). โครงการหลวงปังค่า. https://www.py-pao.go.th/

อบต.ผาช้างน้อย โทร. 0-5443-0980