บ้านแสนคำลือ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมูเซอแดง กับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ พัฒนาการของชุมชนและสังคม และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
“แสนคำลือ” เป็นชื่อของผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เมื่อมีการประกาศจัดตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการจึงได้นำชื่อ “แสนคำลือ” มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
บ้านแสนคำลือ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมูเซอแดง กับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ พัฒนาการของชุมชนและสังคม และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ชาวบ้านแสนคำลือเป็นชุมชนชาวมูเซอแดงแรกเริ่มที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในสมัยนั้นถือเป็นชุมชนชาวมูเซอแดงที่ใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะมีการมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแสนคำลือในปัจจุบัน กลุ่มชาวบ้านมีการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยกันหลายครั้งก่อนที่จะมาตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชนถาวร ณ ปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อชาวบ้านย้ายถิ่นฐานไปตั้งบ้านเรือนตามป่าตามเขา แล้วเกิดเหตุมีคนในชุมชนล้มป่วย ไม่สบาย ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่และอาจเผลอไปทำให้ผีนั้นไม่พอใจจึงโดนลงโทษ ชาวบ้านจึงต้องย้ายบ้านเรือนไปยังที่ใหม่ และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นเดิมขึ้นอีก ชาวบ้านก็มีการอพยพโยกย้ายอีกครั้ง เดิมทีนั้นชาวบ้านอาศัยอยู่ที่ที่หนองหลวงบริเวณเขตชายแดนไทย-พม่า ในช่วงปี พ.ศ. 2500 มีการย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยมะหลอด ในปี พ.ศ. 2503 มีการย้ายบ้านเรือนมาอยู่บริเวณดอยใกล้บ้านเมืองแพม จากบ้านเมืองแพมย้ายไปอยู่บริเวณโหลางในช่วงปี พ.ศ. 2507 โดยช่วงเวลาที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานก็จะวนเวียนอยู่ในเขตอำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า ในช่วงปี พ.ศ. 2519-2525 ชาวบ้านแสนคำลือรวมถึงชุมชนอื่น ๆ ได้รับข่าวสารจากทางราชการว่าจะมีการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตพื้นที่โครงการหลวงใกล้ตัวอำเภอปางมะผ้า ชาวบ้านจึงอพยพลงมาจากดอยและมาอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ถูกจัดสรร รวมถึงชาวบ้านแสนคำลือด้วย จากนั้นจึงมีการลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกันอย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านแสนคำลือนั้น “แสนคำลือ” เป็นชื่อของกลุ่มผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีชื่อเสียงเลื่องลือในกลุ่มชาวมูเซอแดงในชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน แสนคำลือก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ด้วย จากนั้นเมื่อมีการประกาศจัดตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการจึงได้มีการใช้ชื่อ “แสนคำลือ” เป็นชื่อชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านแสนคำลือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบเชิงเขาสำหรับสร้างที่พักอาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรกรรมอยู่บ้าง มีแม่น้ำสายหลัก 1 สายไหลผ่านกลางหมู่บ้าน คือ แม่น้ำลาง ซึ่งในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก แม่น้ำสายนี้จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและไหลแรง บางปีส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย บ้านแสนคำลือตั้งอยู่ระหว่างแนวรอยต่อระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 900-920 เมตร สภาพพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และปกคลุมด้วยป่าไม้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ไม่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล ซึ่งทำให้สภาวะอากาศแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ มาก โดยเฉพาะฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัดประมาณเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม สำหรับฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัดเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม อาจลดต่ำได้กว่า 0 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูฝนจะเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ประเทศพม่า
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแอลา, บ้านเมืองแพม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหัวลาง, บ้านห้วยแห้ง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
บ้านแสนคำลือ ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาหู่ โดยมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านแสนคำลือ ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 590 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 287 คน ประชากรหญิง 303 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 162 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ลาหู่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับด้านการทำเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตแบบชาวไทยภูเขา กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นทางภาคเหนือโดยทั่วไป คือการประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่เป็นหลัก โดยชาวบ้านนิยมทำข้าวไร่ ทำไร่ข้าวโพด ปลูกถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง และพืชผักต่าง ๆ ฯลฯ ทั้งเพื่อส่งขายและเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการทำปศุสัตว์ในระดับครัวเรือนเพื่อเป็นอาชีพเสริม และเลี้ยงไว้สำหรับบริโภค สัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงตัวอย่างเช่น วัว หมู เป็น ไก่ เป็นต้น
1.จ่าแตะ
จ่าแตะ เป็นผู้นำอาวุโสของบ้านแสนคำลือในอดีต เป็นลูกชายของนายแสนคำลือ ผู้นำชาวมูเซอแดงคนแรก จ่าแตะได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มากมายเกี่ยวกับการดำรงชีพ ประเพณี พิธีกรรม จากแสนคำลือผู้เป็นพ่อ ประกอบกับคุณความดีที่แสนคำลือได้สั่งสมไว้จึงตกมาถึงรุ่นลูก จ่าแต่เป็นผู้นำชุมชน รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ภายในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องประเพณีพิธีกรรม และการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ และเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพบันถือเช่นเดียวกับนายแสนคำลือผู้เป็นพ่อ
สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปะไทยอนุสรณ์ (บ้านแสนคำลือ)
สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปะไทยอนุสรณ์ (บ้านแสนคำลือ) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 มีเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ ประกอบ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอปางมะผ้า โรงพยาบาลปางมะผ้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ้ำลอด และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนประจำหมู่บ้านในพื้นที่ โดยให้บริการในปัจจุบันด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านการรักษาพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเบิกจ่ายยา และการส่งต่อผู้ป่วย
- งานโภชนาการและพัฒนาการเด็ก เช่น ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงให้นักเรียนและคัดกรองภาวะโภชนาการเด็ก 0-5 ปี
- งานอนามัยแม่และเด็ก เช่น ติดตามเยี่ยมหลังคลอด แนะนำหญิงตั้งครรภ์ให้ฝากครรภ์ตามนัด
- งานวางแผนครอบครัว เช่น จ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด
- งานทันตสาธารณสุข เช่น ให้ความรู้เรื่องการแปรงฟันที่ถูกวิธี
- งานสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น ดูแลความสะอาดทั้งในและนอกอาคารสุขศาลาส่งเสริมการคัดแยกขยะ
- งานผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น ติดตามเยี่ยมบ้านให้ความรู้
ภาษาพูด : ลาหู่
ภาษาเขียน : ลาหู่ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน ปัจจุบันในชุมชนจึงมีเพียงการใช้อักษรไทยในกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาแล้ว
ป่าสันปันแดน
พิมุข ชาญธนะวัฒน์. (2538). คริสตศาสนา กับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวมูเซอแดง: การศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณีระหว่าง หมู่บ้านยาป่าแหน กับหมู่บ้านแสนคำลือ ในกิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุขศาลาพระราชทาน. (ม.ป.ป.). โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปะไทยอนุสรณ์ (บ้านแสนคำลือ). สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2567, จาก http://suksala.hss.moph.go.th/
Meahongson Creative. (2562). สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/MHSCRT