Advance search

บ้านสารภี

บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา)

ชุมชนมีความเข้มแข็ง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดวงค์เมธาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้กับชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนาทุกเทศกาล เช่น ประเพณีเข้าออกพรรษา ประเพณีทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า ประเพณียี่เป็ง

หมู่ที่ 4
บ้านสารภี
ขุนคง
หางดง
เชียงใหม่
อนุสรา ทองประเทือง
24 เม.ย. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
7 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
24 เม.ย. 2023
บ้านสารภี
บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา)

ประมาณ ปี พ.ศ. 2358 หรือ 100 ปีมาแล้ว บริเวณที่ที่ตั้งบ้านไร่เป็นไร่ นาของชาวบ้าน มีบ้านเรือน 2-3 หลังคา ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของบ้านท่าขุนคงในเวลาต่อมาเริ่มมีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้น จนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ทำให้บ้านไร่ได้แยกออกมารวมกับบ้านสารภี เมื่อปี พ.ศ. 2488 และได้ตั้งชื่อว่า "บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา)"


ชุมชนมีความเข้มแข็ง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดวงค์เมธาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้กับชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนาทุกเทศกาล เช่น ประเพณีเข้าออกพรรษา ประเพณีทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า ประเพณียี่เป็ง

บ้านสารภี
หมู่ที่ 4
ขุนคง
หางดง
เชียงใหม่
50230
อบต.ขุนคง โทร. 0-5302-2995-7
18.67483
98.94388
องค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง

จากการศึกษาประวัติหมู่บ้านสารภี โดยจากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในหมู่บ้าน มีประวัติความเป็นมาดังนี้ บ้านสารภี ตามประวัติได้เล่าสืบทอดมาว่า ประมาณ ปี พ.ศ.2358 หรือ 100 ปีมาแล้ว มีคนแก่เล่าว่าบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตเป็นป่าไม้ทั้งหมด จากนั้นมีซาวบ้านอพยพมาจากตำบลยางเนิ้ง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอสารได้มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ ประมาณ 5-6 หลังคา และได้มาประกอบอาชีพทำนา ทำสวน พื้นที่ในหมู่บ้านจะประกอบไปด้วยพื้นที่เปล่าที่ชาวบ้านใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยและ และได้ปลูกต้นสารก็ไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ได้ตั้งชื่อว่า "บ้านสาร" ในเวลาต่อมามีการแต่งงาน จึงมีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้น และขยายที่อยู่จนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่

ต่อมาเมื่อปี 2512 ที่แล้วมีการทำถนนเข้ามาในหมู่บ้าน และมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้มีไฟฟ้าใช้จนถึงปัจจุบัน ในระยะแรกชาวบ้านได้ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนประกอบอาชีพรับจ้างมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2530 ได้เปลี่ยนอาชีพจากการเกษตรกรมาเป็นการปลูกลำไย เนื่องจากช่วงนั้นลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจของหมู่บ้านดีขึ้น จนมาถึง พ.ศ. 2548 ประชาชนเปลี่ยนมานิยมประกอบอาชีพทำงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบ้านถวาย เนื่องจากหมู่บ้านถวายที่เป็นหมู่บ้านใกล้เคียงนั้น ส่วนใหญ่ทำงานประเภทงานฝีมือเป็นแหล่งรวมสินค้าด้านงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก กระทั่ง พ.ศ. 2557 ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างน้ำประปาเพื่อใช้ทดแทนน้ำบ่อที่มาจากวัดบ้านต้นแก้ว เนื่องจากน้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านขณะนั้นบ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา) ยังเป็นหมู่บ้านที่ได้ใช้น้ำประปาร่วมกับบ้านต้นแก้วส่วนบ้านไร่ ตามประวัติ คนในหมู่บ้านได้เล่าว่า ประมาณ ปี พ.ศ. 2358 หรือ 100 ปีมาแล้ว บริเวณที่ที่ตั้งบ้านไร่เป็นไร่ นาของชาวบ้าน มีบ้านเรือน 2-3 หลังคา ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของบ้านท่าขุนคงในเวลาต่อมาเริ่มมีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้น จนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ทำให้บ้านไร่ได้แยกออกมารวมกับบ้านสารภี เมื่อปี พ.ศ. 2488 และได้ตั้งชื่อว่า "บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา)"

บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา) หมู่ 4 ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีระยะห่างจากตัว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 25 กิโลเมตร ตามเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 108 ถนนฮอด-เชียงใหม่ ประชาชนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยล้านนา ประกอบอาชีพ รับจ้างและเกษตรกรรม 

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองโขง หมู่ 3 ตำบลขุนคง 
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านขุนคง หมู่ 5 ตำบลขุนคง 
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านต้นแก้ว หมู่ 1 ตำบลขุนคง 
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านยังปวน หมู่ที่ 6 ตำบลหนองแก๋ว

บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา) มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ โดยทั่วไปของหมู่บ้านล้อมรอบด้วยพื้นที่นาและสวนลำไย ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นปั๊มน้ำประปา ส่วนกลางเป็นชุมชน ทิศใต้เป็นป่าช้า สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูน 1 ชั้นมีความมั่นคงถาวร การจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบสะอาด มีทางเดินไปหามาหาสู่กันได้ภายในตลอด ประชากรส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันส่วนใหญ่มีรั้วบ้านติดๆกันและทะลุหากันได้ ภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นชนบท มีทั้งการทำนา สวนลำไย มีร้านค้าขายของชำเล็ก ๆ อยู่ 5 ร้าน มีร้านเสริมสวย 1 ร้านไม่มีร้านอาหารไม่มีตลาด ส่วนใหญ่ประชาชนในหมู่บ้านต้องออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน มีเส้นทางเข้าหมู่บ้านได้ 3 ทาง คือ ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ถนนภายในหมู่บ้านมีการคมนาคมสะดวก เป็นถนนลาดยาง ซึ่งเชื่อมต่อทางในชุมชน และมีไฟฟ้าเข้าถึงทั้งหมู่บ้าน ด้านการคมนาคมในอดีตการเดินทางสัญจรตามทางเท้าจากหัวบ้าน-ท้ายบ้าน ภายในหมู่บ้านและภายนอกหมู่บ้านโดย

การเดินเท้า ปัจจุบันทางสายหลักในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง โดยบ้านสารภีถนนต่อมาจากบ้านหนองโขง และบ้านวีระชัย ส่วนบ้านไร่ (พัฒนา) มีถนนต่อมาจากบ้านต้นแก้วและถนนติดคันคลองทำให้มีความสะดวกในการคมนาคมภายในหมู่บ้าน

จากข้อมูลการสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านสารภี จำนวน 236 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 573 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 270 คน หญิง 303 คน ประชากรหมู่บ้านจะรวมประชากรที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรไว้ด้วย ซึ่งบ้านจัดสรรตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านระยะทาง 1 กิโลเมตร ผู้ที่อาศัยบ้านจัดสรรจะมีอาชีพรับจ้างและรับราชการจึงไม่ค่อยอยู่บ้านและไม่ค่อยมีสัมพันธภาพกับชาวบ้าน ในหมู่บ้านอาณาเขตพื้นที่ของบ้านแต่ละหลังจะแคบ ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะเป็นญาติพี่น้องกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันส่วนใหญ่ มีรั้วบ้านติดๆกันสามารถทะลุหากันได้ ประชากรในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นคนไทยล้านนา สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวรมีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบสะอาด ครอบครัวส่วนใหญ่มีความอบอุ่น ภายในหมู่บ้านไม่มีวัด โรงเรียนและสถานีอนามัย

อาชีพหลักของประชาชน คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป และอาชีพเกษตรกร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทำผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไม้แกะสลักของบ้านถวายโดยส่วนใหญ่ออกไปรับจ้างทำงานในหมู่บ้านถวายและบางส่วนรับงานมาทำที่บ้าน ส่วนอาชีพเกษตรกรจะทำนา ทำสวนลำไยและเลี้ยงวัว ผู้คนในชุมชนบ้านสารภี มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

กลุ่มที่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวของกลุ่มที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน โดยมีกลุ่มที่เป็นทางการทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน
  2. กลุ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้สูงอายุ
  3. กลุ่มประชาคมหมู่บ้าน
  4. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  5. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์หมู่บ้าน
  6. กลุ่มคณะกรรมการน้ำประปาหมู่บ้าน
  7. กลุ่มสตรีแม่บ้าน
  8. กลุ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน

กลุ่มไม่เป็นทางการ เป็นการรวมกลุ่มของคนในหมู่บ้านที่สมัครใจยินยอมให้ความร่วมมือ เห็นชอบมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อทำกิจกรรมใด ๆ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม อาจเป็นไปโดยมิได้นัดหมายและไม่มีรูปแบบหรือสมาชิกที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความพร้อม โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม ซึ่งในกลุ่มผู้นำที่ไม่เป็นทางการของชุมชนบ้านสารมีทั้งหมด 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มออกกำลังกาย
  2. กลุ่มศรัทธาวัดวงเมธา(หนองโขง)

วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนในชุมชน บ้านสารภีและบ้านไร่พัฒนาพบว่าส่วนใหญ่คนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้าง จะออกไปทำงานนอกบ้านในช่วงเวลา 08.00 - 18.00 น. ส่วนอาชีพที่รองลงมาคืออาชีพเกษตรกรรมช่วงเวลาทำงานเกษตรกรขึ้นอยู่กับฤดูกาลและชนิดของการทำการเกษตร เช่น การทำสวนลำไย จะมีการทำตลอดทั้งปี และการทำนาจะมีการทำนาในช่วงเดือน กรกฎาคม - พฤศจิกายน ส่วนอาชีพค้าขาย มีทั้งการค้าขายในหมู่บ้าน เช่น ร้านขายของชำ ร้านเหล้าตอง ร้านค้าทั่วไป ร้านอาหารตามสั่ง และมีการค้าขาย นอกหมู่บ้าน เช่น ขายไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ที่ทำจากไม้ส่งขาย หรือนำไปขายเอง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ ช่วงเวลา 08.00 น.ถึง17.00 น. และทำงานตลอดทั้งปี

วิถีชีวิตด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมในหมู่บ้านนี้จะยึดตามปฏิทินไทย

  • ปีใหม่ไทย ช่วงเดือนมกราคม
  • ประเพณีปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์ ช่วงเดือนเมษายน
  • สรงน้ำพระธาตุ ช่วงเดือนพฤษภาคม
  • ประเพณีเข้าพรรษา ช่วงเดือนกรกฎาคม
  • จัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ช่วงเดือนสิงหาคม
  • ออกพรรษา ช่วงเดือนตุลาคม
  • งานบุญกฐินและยี่เป็ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน
  • ถวายพระพรวันพ่อ ช่วงเดือนธันวาคม

วิถีชีวิตชุมชนด้านสุขภาพ

สำหรับด้านสุขภาพของชุมชนบ้านสารภีและบ้านไร่พัฒนา จะมีการรณรงค์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก จะมีตลอดทั้งปี และมีการสำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกวันศุกร์ โดย อสม. รณรงค์คัดกรองโรคเบาหวาน - ความดันโลหิตสูง จะมีการรณรงค์ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมและการรณรงค์ตรวจมะเร็งปากมดลูก จะมีการรณรงค์ในเดือน กุมภาพันธ์ มิถุนายน กันยายน ซึ่งกิจกรรมนี้จะดำเนินงานร่วมกับ รพ.สต. ส่วนการรณรงค์อื่น ๆ จะมีเพียง เดือนเดียว ได้แก่ รณรงค์ต่อต้านสารเสพติดรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย รณรงค์งดสูบบุหรี่โลก รณรงค์วันเอดส์โลก นอกจากนี้ก็ยังมีคลินิกเบาหวานความดัน ทุกวันจันทร์และพุธที่ 3 ของเดือน คลินิกทันตกรรมทุกวันพุทธ และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ รพ.สต.ขุนคง ร่วมกับ อสม. ผู้ที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น

1. นายอานันห์ กันยานะ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตลอดระยะเวลาในการเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านสารภี-บ้านไร่(พัฒนา) หมู่ 4 ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า "รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้และช่วยเหลือประชาชน อยากพัฒนาหมู่บ้านให้ทัดเทียมกับหมู่บ้านอื่น ๆ มุ่งแก้ไขปัญหาของคนในชุมชน โดยยึดให้ประชาชนในชุมชนมีความสุข" โดยมีวิสัยทัศน์การทำงานคือ "ทำงานเพื่อส่วนรวม" สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ "เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อน ได้ช่วยเหลือ และได้ร่วมพัฒนาหมู่บ้านไปพร้อม ๆ กับชาวบ้าน" ปัจจุบันมีการดำเนินชีวิตตามแนวทางพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง และมีคติประจำใจว่า "ยอมรับการเปลี่ยนแปลงกับปัจจุบัน"

2. นายขี้หมา คุณใจ ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี การดูแลสุขภาพของนายขี้หมานั้น นายขี้หมาเล่าให้ฟังว่า สุขภาพจะดีต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจโดยตนเองจะดูแลร่างกายโดยการออกกำลังกายโดย การแกว่งแขน ยืดแขนยืดขา ในตอนเช้าและก่อนนอนรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น พวกผัก พวกปลา เป็นต้น นายขี้หมาไม่มีโรคประจำตัว ส่วนการดูแลด้านจิตใจก็คือทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด เข้าวัดบ่อย ๆ ทำบุญเยอะ ๆ จิตใจก็สงบ ก็จะมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาชีวิต นายขี้หมา บอกว่า ตอนนี้เพื่อนที่เคยรู้จักก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือแต่ตนที่ยังมีชีวิตอยู่ เลยไม่ค่อยได้ไปเที่ยวพูดคุยกับใคร ก็อยู่บ้านนั่งสานไม้ และปลูกพืชผักสวนครัว ฟังเพลงวิทยุ ไปวัดเป็นบางครั้งเมื่อมีเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ตาบอกว่า ไม่เครียด มีชีวิตอยู่แบบเรียบง่ายกับลูกหลาน

ทุนวัฒนธรรม

ประชากรในหมู่บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดวงค์เมธา (หนองโขง)ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านหนองโขง ตำบลขุนคง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้กับชาวบ้าน และมีกิจกรรมทางศาสนาทุกเทศกาล เช่น ประเพณีเข้าออกพรรษา ประเพณีทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า ประเพณียี่เป็ง เป็นต้น ใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร คนในหมู่บ้านจะมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เคารพนับถือผู้อาวุโส มีความสามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเห็นได้จากการทำกิจกรรมทางสังคม ชาวบ้านยังมีความเชื่อค่านิยมตามวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การส่งสตวง เป็นต้น

แพทย์พื้นบ้าน พิธีกรรมและความเชื่อ/ไสยศาสตร์ แพทย์พื้นบ้านในหมู่บ้านไม่ได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น อีกทั้งหมอพื้นเมืองส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตแล้ว ไม่มีลูกหลานมาสืบทอดวิชาต่อ แต่ชุมชนบ้านสารภี/บ้านไร่พัฒนา ยังมีความเชื่อในการยึดถือเครื่องรางของขลัง ได้แก่ ตะกรุด หรือการใช้เทียนสะเดาะเคราะห์ การทำสะตวงเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วย ซึ่งจะโดยพ่อหมอคนในหมู่บ้านหนองโขง คือ ลุงหนานสม โดยมาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกทำเป็นลำดับสุดท้ายเมื่อไปรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้วอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น

คำเมือง สำเนียงล้านนาตะวันตก ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นภาคพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เป็นต้น คำเมืองมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลางแต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง


การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้าน หมู่บ้านสารถี-บ้านไร่(พัฒนา) จากอดีต-ปัจจุบัน ทั้งด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการคมนาคม เป็นต้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่เริ่มมีธุรกิจด้านฝีมือหัตถกรรมจากหมู่บ้านถวายเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทำงานฝีมือ เช่น การแกะสลัก การทาสีไม้ การทำอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากไม้ เป็นต้น


ชุมชนมีความเข้มแข็ง กลุ่มองค์กรแบบเป็นทางการในชุมชนที่สามารถปกครองกันเองให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขโดยใช้ระบบประชาธิปไตยและระบบเครือญาติ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กสามารถปกครองได้อย่างทั่วถึง มีการเชื่อมโยงในองค์กรของชุมชน และการแสดงบทบาทของผู้นำหรือสมาชิกบางคนที่มีบทบาทหลากหลายในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้นำคนเดียวกันมีบทบาทเป็นประธานหรือสมาชิกในหลาย ๆ กลุ่ม เป็นต้น ทำให้แต่ละกลุ่มมีการทำงานที่เชื่อมโยงกัน มีการทำงานร่วมกันพึ่งพาอาศัยกัน และโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง สังเกตได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อนุสรา ทองประเทือง และคณะ. (2558). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชน บ้านสารภี-บ้านไร่ (พัฒนา) หมู่ 4 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

องค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง. (2566). ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก : http://www.khunkhong.go.th/