บ้านหล่อโย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และภูมิปัญญาการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
เมื่อมีการสำรวจประชากรและพื้นที่ชุมชนจากทางราชการ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนตามชื่อของผู้นำชุมชนคือ นายหล่อโย
บ้านหล่อโย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และภูมิปัญญาการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
บ้านหล่อโย เป็น 1 ใน 6 หย่อมบ้านที่อยู่การดูแลของบ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีการตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยกันในพื้นที่มามากกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยประชากรในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ก่อนที่จะมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ชาวบ้านอยู่อาศัยในแถบพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ห่างออกไปจากที่ตั้งชุมชนปัจจุบันเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร และโยกย้ายกันยังพื้นที่บ้านหล่อโยเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ เดิมชาวบ้านเรียกชื่อชุมชนว่าบ้านเล่าเอ๋อ ตามชื่อผู้นำของชุมชน ต่อจากนั้นมาเมื่อผู้นำเสียชีวิตก็มีการสืบทอดการเป็นผู้นำชุมชนและผลัดเปลี่ยนผู้นำกันมาตามยุคสมัย กระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2508 นายหล่อโย ได้เป็นผู้นำชุมชน ประกอบกับทางราชการมีการสำรวจพื้นที่ชุมชนและประชากรอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านเล่าเอ๋อเดิม มาเป็นหมู่บ้านหล่อโยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ลักษณะทางกายภาพของบ้านหล่อโย ชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ เป็นที่ลาดเนินเขาที่มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่สูงถัดขึ้นไปอีก มีระยะความสูงถึง 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 20-30 เป็นพื้นที่อยู่ในเขตบริเวณแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำแม่จัน และแม่น้ำแม่สลอง ชุมชนถูกล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ป่าและภูเขามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิอากาศจึงค่อนข้างหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวประมาณ 10-11 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 7-8 เดือนต่อปี มีฝนตกในปริมาณมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝนต่อปีค่อนข้างสูง โดยชุมชนบ้านหล่อโยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าคาสุขใจ และลำห้วยเฮโก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ลำห้วยฮาหุ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกิ่วสะไต และลำห้วยแม่จันทร์น้อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านรวมใจ และบ้านเฮโก
บ้านหล่อโย เป็นหนึ่งในหกหย่อมบ้านที่อยู่ในการดูแลของบ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า เรียกตนเองว่า “ลอเมี๊ยะอาข่า” โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 19 บ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,542 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 2,225 คน ประชากรหญิง 2,317 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,149 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ครอบครัวของชาวอาข่ามักอยู่รวมกันเป็นแบบครอบครัวขยาย เมื่อลูกชายมีการแต่งงานตามประเพณีแล้วจะพาภรรยาเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน ชาวอาข่ายึดมั่นในเรื่องของสกุลมาก มีขอกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น คนที่อยู่ในสกุลเดียวกันจะไม่สามารถแต่งงานกันได้ หากมีคนเสียชีวิตก็ต้องฝังในพื้นที่หลุมฝังศพของตระกูลนั้น
อ่าข่าชาวบ้านหล่อโยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำข้าวไร่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านนิยมใช้เพาะปลูกจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือข้าวไร่ เนื่องจากการทำข้าวไร่จะใช้น้ำในปริมาณที่น้อยกว่าข้าวนา และมีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมที่มีความสูงชันมากกว่า นอกจากนี้มีการปลูกข้าวโพด ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยลักษณะของการเพาะปลูกของชาวบ้านจะเป็นแบบไร่หมุนเวียน มีการถางป่า ทำความสะอาดพื้นที่ และปรับหน้าดินเพื่อทำการเกษตร โดยจะทำการเพาะปลูกในพื้นที่เป็นระยะเวลา 1 ฤดูกาลผลิต และจะเวียนไปเพาะปลูกในพื้นที่อื่นในปีถัดไป เพื่อปล่อยให้พื้นที่เดิมได้ฟื้นสภาพดินและป่าคืนความสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นภูมิปัญญาในการจัดการที่ดินของชาวบ้านที่ทำมาตั้งแต่อดีต และด้วยบ้านหล่อโยเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า มีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมท่ามกลางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสวยงาม ทำให้ชาวบ้านบางส่วนทำที่พักแบบโฮมสเตย์เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนอาข่า และสัมผัสพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความงดงาม
ชาวอาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยึดถือและให้ความสำคัญในด้านประเพณีวัฒนธรรมตามขนบธรรมเนียมเป็นอย่างมาก มีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น
ประตูหมู่บ้านหรือประตูผีเข้าหมู่บ้าน โดยถือว่าประตูหมู่บ้านเป็นลักษณะอันทรงคุณค่าของชาวอาข่า เป็นที่ที่เป็นการแสดงถึงการรำลึกถึงบรรพบุรุษของตน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ นอกจากในวันที่มีการทำประตูใหม่ซึ่งมีปีละครั้ง ใครละเมิดจะถูกปรับด้วยเหล้า 1 ขวด หมู 1 ตัว เพื่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านและเป็นการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประตูหมู่บ้านมีอยู่ 2 แห่ง คือด้านหน้าและด้านท้ายหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นซุ้มประดับด้วยสิ่งต่าง ๆ มีตุ๊กตาไม้เพศชาย และหญิง เป็นสัญลักษณ์ของการดำรงเผ่าพันธุ์
พิธีโล้ชิงช้า พิธีโล้ชิงช้าเป็นการรำลึกเทพธิดาผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พืชผลในการเพาะปลูกให้เจริญงอกงามในไร่ พิธีจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี มีกำหนดจัดงานประมาณ 4 วัน โดยสองวันแรกเป็นการเตรียมงานโดยการตำข้าวให้เพียงพอในการบริโภค และเตรียมเครื่องแต่งกาย เพราะสองวันหลังจะมีข้อห้ามไม่ให้ตำข้าว ห้ามปักเย็บเสื้อผ้า และห้ามออกนอกหมู่บ้าน ชาวอาข่าถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวบ้านจะได้รวมตัวกันเพื่อขอพร และมีการละเล่นอย่างสนุกสนาน การเล่นชิงช้าจะต้องระวังไม่ให้สายขาดหากผู้ใดทำสายขาดจะถูกปรับเป็นหมู 1 ตัว เพื่อเป็นการขอขมาและเซ่นไหว้ผีประจำชิงช้าและเส้นเชือก เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลงผู้นำพิธีกรรมจะเก็บเชือกมัดไว้กับเสาชิงช้าห้ามมิให้ผู้ใดเล่นจนกว่าจะถึงวันพิธีในปีถัดไป
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรน้ำ โดยชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่ 3 แห่ง เป็นลำห้วยธรรมชาติ ได้แก่ ลำห้วยเฮโก เป็นลำห้วยขนาดปานกลางมีความกว้างประมาณ 5 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ลำห้วยฮาหุ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านซึ่งไหลมารวมกับลำห้วยแม่จันน้อย ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน โดยชาวบ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งสามแห่งในการอุปโภคบริโภค และสำหรับทำการเกษตรเป็นหลัก ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ชาวบ้านจะมาจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำเหล่านี้เพื่อนำไปประกอบอาหารภายในครัวเรือน
ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ในพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 พื้นที่ป่าอยู่ในระดับความสูงจากระดับทะเลประมาณ 1,000 เมตร สภาพป่าเป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง และป่าสนเขาปะปนกันเป็นส่วนใหญ่ มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลายและพันธุ์ไม้ที่โดดเด่น คือ ไม้เต็งรัง ไม้สนสองใบ ไม้สนสามใบ เป็นพืชที่มีขนาดความสูงโดยเฉลี่ย ประมาณ 27-32 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าต่าง ๆ โดยรอบชุมชนที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ “ลาซอ” ป่ารอบหมู่บ้านสำหรับนำไม้มาทำประโยชน์ใช้สอย “ล่องย่ะ” หรือป่าซับน้ำ “อิจุมอเมะ” หรือป่าน้ำผุด “หลุ่มยุ้ง” หรือป่าช้าหมู่บ้าน และ “ลอเกอะท่อแมะ” หรือป่าต้นน้ำ
ทรัพยากรดินกับการคัดเลือกพื้นที่ ภูมิปัญญาการเลือกพื้นที่ของชาวอาข่าบ้านหล่อโยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ การเลือกพื้นที่ตั้งชุมชน หมู่บ้านจะตั้งอยู่บนไหล่เขาสูง และอยู่ไม่ไกลจากลำธารที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสัมพันธ์กับลักษณะการใช้ประโยชน์ คือเพื่อทำการเกษตร ทำไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด และผลไม้ ฯลฯ และชาวอาข่าจะไม่นิยมตั้งบ้านเรือนเบียดเสียดกัน โดยจะกระจายกันไปตามไหล่เขาและพื้นที่ทำการเพาะปลูกของตนเอง บทบาทในการคัดเลือกพื้นที่จะเป็นของผู้นำหมู่บ้าน ผู้อาวุโส และผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน โดยเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่คือ จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ น้ำดี ดินดี เป็นที่ลาดเชิงเขาไม่สูงชันมากนัก สามารถบุกเบิกทำไร่ สร้างบ้านเรือนได้ และมีสันเขาล้อมรอบเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติ ลมพายุ น้ำป่าไหลหลาก ส่วนธรรมเนียมและความเชื่อในการคัดเลือกพื้นที่เพาะปลูก คือ ดินจะต้องร่วนซุยไม่แข็งเป็นก้อน และบีบเป็นก้อนได้เมื่อผสมน้ำและไม่แตกร่วนเหมือนทราย ลักษณะดินจะมีสีแดง ดำ หรือเหลืองก็ได้ แต่ดินสีเหลืองเหมาะแก่การปลูกพืชไร่ที่สุด รองลงมาคือสีดำและแดง โดยจะทำการขุดดินเพื่อวัดความชื้นในหน้าแล้ง หากดินยังชื้นอยู่แสดงว่ามีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก หรือสังเกตจากความสมบูรณ์ของต้นไม้ในบริเวณนั้นจะต้องเขียวสด ไม่แคระแกร็น และเป็นที่ที่มีความลาดชันเหมาะสม ระหว่าง 15-45 องศา เพราะหากชันเกินไปจะทำให้คุณภาพดินลดลงได้ง่าย ต้องย้ายพื้นที่ทำกินบ่อย และเป็นพื้นที่ที่รับแสงแดดในตอนเช้าจะดีกว่าตอนบ่าย และพืชไม่บังร่มเงากัน
ภาษาพูด : อาข่า, ไทยถิ่นเหนือ,ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อาข่า, ไทย
ชิลไปไหน. (2561). นอนบ้านดิน กินอยู่แบบอาข่า ใช้ชีวิตแบบเนิบช้าที่ดอยหล่อโย. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2567, จาก https://chillpainai.com/
ประกาสิต หงษ์วิเศษ. (2545). การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง : กรณีศึกษาบ้านหล่อโย ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.