ชุมชนสำคัญอันเก่าแก่ของเมืองชลบุรีที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นชุมชนที่ปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่โบราณต่าง ๆ เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกและเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ บางพระจึงเป็นแหล่งภูมิปัญญาที่สำคัญอีกแหล่งของภาคตะวันออก
ที่มาของชื่อชุมชน "บางพระ" มีข้อสันนิษฐานหลายข้อ เช่น มาจากลักษณะของหินที่คล้ายกับพระพุทธรูปซึ่งถูกบังไว้ข้างทางเกวียน (บังอาจเพี้ยนเป็นบาง) หรืออาจมาจากการเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของวัดสว่างอารมณ์ แต่เรื่องเล่าที่อาจมีความเป็นได้มากที่สุดคือ เมื่อสิ้นฤดูกาลหลังออกพรรษามีพระธุดงค์จากที่ต่าง ๆ เดินทางมาปักกลดทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นจำนวนมากนับร้อยรูป โดยทยอยกันมาเป็นกลุ่มไม่ขาด ชาวบ้านจึงพากันมาทำบุญถวายอาหารกัน จึงเรียกกันติดปากในหมู่ผู้ที่มาทำบุญว่าเป็นย่านที่มีพระมากหรือบ้านบางพระ แล้วเพี้ยนกลายมาเป็นบางพระในที่สุด
ชุมชนสำคัญอันเก่าแก่ของเมืองชลบุรีที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นชุมชนที่ปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่โบราณต่าง ๆ เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกและเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ บางพระจึงเป็นแหล่งภูมิปัญญาที่สำคัญอีกแหล่งของภาคตะวันออก
บางพระเป็นเมืองเก่า ในแผนที่ไตรภูมิโบราณสมัยอยุธยาปรากฏชื่อบางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ (บางพระ) และบางละมุง ที่บริเวณเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก นอกจากนี้ชื่อบางพระยังปรากฏอยู่ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ (พ.ศ. 2350) และในแผนที่สยามของปาลเลกัวซ์ (พ.ศ. 2397) ก็ปรากฏชื่อบางพระเช่นเดียวกัน บางพระเคยมีฐานะเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และสุขาภิบาล ปัจจุบันเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล
เดิมตำบลบางพระมีพื้นที่กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรปกคลุมหนาแน่น ไม่มีแม่น้ำลำคลอง มีแต่ลำห้วยสายยาว ต้นน้ำเกิดจากเขาเขียวไหลคดเคี้ยวลงมาออกสู่ทะเล ที่ท้ายบ้านหมู่ที่ 1 ของบางพระ ประชาชนอาศัยเป็นชุมชนเล็ก ๆ ตามริมห้วย อาศัยน้ำในลำห้วยสำหรับอุปโภคและบริโภคตลอดมา ปัจจุบันประชาชนอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทานที่สร้างขึ้นภายหลัง ส่วนลำห้วยตอนล่างมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังขนาดใหญ่มาตั้งตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยทำให้น้ำในลำห้วยเน่าเสีย ใช้อุปโภคและบริโภคไม่ได้ ห้วยนี้มีชื่อเรียกกันหลายชื่อเป็นตอน ๆ ลงมาตอนล่างเรียกว่า "ห้วยสุครีพ" ปัจจุบันเทศบาลตำบลบางพระได้ขุดลอดและปรับปรุงภูมิทัศน์ห้วยสุครีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากคลองนี้
สะพานโค้งบางพระ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตำบลบางพระเคยมีฐานะเป็นเมืองที่เรียกว่า "เมืองบางพระ" โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ที่เนินกว้างเชิงสะพานข้ามห้วย มีถนนสุขุมวิทตัดผ่านเดิมเป็นสะพานโค้งเรียกว่า "สะพานโค้งบางพระ" แต่ปัจจุบันกลายเป็นสะพานเรียบเสมอถนนสุขุมวิท มีที่คุมขังนักโทษตั้งอยู่ที่ศาลเจ้าในเขตหมู่ที่ 3 ริมทะเล ซึ่งชาวจีนใช้เป็นที่จัดงานวันประเพณีทิ้งกระจาดมาจนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2537 เมืองบางพระได้กลายเป็นอำเภอบางพระ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2447 ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบางพระมาตั้งอยู่ที่ตำบลศรีราชา ส่วนที่เปลี่ยนชื่อ "อำเภอบางพระ" มาเป็น "อำเภอศรีราชา" นั้นได้เปลี่ยนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 ส่วนบางพระกลับกลายเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอศรีราชามาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนร่องรอยของที่ทำการเมืองหรือที่ว่าการอำเภอบางพระและที่คุมขังนักโทษไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
เรื่องเล่า "ถ้ำสมบัติ" คนบางพระมีเรื่องเล่ากันติดปากกันหนึ่งเรื่องคือเรื่อง "ถ้ำสมบัติ" เล่าว่าที่เขาฉลากมีถ้ำหนึ่งที่มีสิ่งของเครื่องใช้มากมาย ผู้ใดจะทำบุญหรือจัดงานใหญ่สามารถยืมของใช้ได้จากถ้ำนี้ ต่อมาผู้ยืมไม่นำของไปคืนบ้าง สับเปลี่ยนเอาของดี ๆ ไว้เป็นส่วนตัวบ้าง ปากถ้ำเลยปิด ผู้คนจึงยืมของไม่ได้อีกเลย วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งอยากเห็นถ้ำจึงเดินไปหาถ้ำจนพบ แต่เวลาจะเข้าถ้ำต้องตะแคงตัวเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่พบสมบัติแต่อย่างใด ยกเว้นงูตัวใหญ่ที่แผ่แม่เบี้ยเฝ้าอยู่ หลังจากนั้นมาก็ไม่มีใครได้พบถ้ำนั้นอีกเลย นอกจากวันดีคืนดีจะได้ยินเพลงกล่อมลูก แว่วมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ชุมชนบางพระตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียงสู่ทะเลด้านทิศตะวันตก และมีเทือกเขาเป็นแนวยาว
ในอดีตบางพระเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยป่าเขา มีคลองสุครีพเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของคนในชุมชน ซึ่งมีต้นน้ำที่เขาเขียว และมีท่าเรือหลายแห่ง เช่น ท่าเรือตลาดล่าง ท่าเรือท้ายบ้าน ท่าเรือตำหนักหม่อมสนาน เกษมสันต์ ฯลฯ มีโรงเลื่อยไม้หลายแห่ง เช่น โรงเลื่อยเจ็กซิงกี้ โรงเลื่อยของโรงน้ำตาล โรงเลื่อยของหม่อมสนาน ฯลฯ ต่อมามีโรงโม่แป้งมันสำปะหลังและโรงงานแป้งมันมาตั้งในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบางพระ โดยเฉพาะคลองสุครีพเป็นอย่างมาก สมัยก่อนศรีราชาและชลบุรีไม่มีน้ำจืด ต้องอาศัยน้ำจากบางพระ แหล่งน้ำจืดที่สำคัญของบางพระคือห้วยน้ำขาว ซึ่งเป็นบ่อขุดข้างลำห้วยใต้คันทดของฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีบ่อลำเจียก บ่อทำบุญ สำหรับใช้อุปโภคบริโภค
ปัจจุบันสภาพแวดล้อมของบางพระมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยการพัฒนาเรื่องเส้นทางคมนาคมและเศรษฐกิจ ในชุมชนมีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และน้ำตกชันตาเถร
บางพระมีประชากรหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนพื้นเมืองที่เป็นคนดั้งเดิมของพื้นที่ คนไทยเชื้อสายจีน คนจีน และคนจากที่ต่าง ๆ เช่น คนอีสาน คนใต้ คนลาว ฯลฯ ที่อพยพเข้ามาทำงานในโรงอุตสาหกรรม
จีนประชาชนในชุมชนบางพระส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน และทำประมง ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง มะพร้าว และอาหารแปรรูป ประชากรบางส่วนทำอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งบริการต่าง ๆ คนส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่ มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และเป็นสังคมเกษตรกรรม ปัจจุบันสังคมในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในบางพระและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้คนในชุมชนยังประกอบอาชีพค้าขาย ทำธุรกิจ และรับจ้างทั่วไป
ประเพณีแห่พญายม บางพระเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมานาน เช่น ประเพณีกองข้าวและประเพณีแห่พญายม ที่จัดขึ้นในเทศกาลงานสงกรานต์ โดยเฉพาะประเพณีแห่พญายมของชาวบางพระ เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้วในวันที่ 3 กันยายน 2556
บางพระเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังนี้
- ทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และน้ำตกชันตาเถร ฯลฯ
- ทรัพยากรทางวัฒนธรรม เช่น ภูมิปัญญาการทำประมง การต่อเรือประมง การทำน้ำมันยาง การทำอาหารพื้นบ้าน เช่น แจงลอน แกงส้มปลาเซียว ต้มชะมวง ขนมจีนบางพระ ฯลฯ
- ภูมิปัญญาด้านความเชื่อทางโหราศาสตร์ เช่น การเล่นเชิญผี ประเพณีแห่พญายม ฯลฯ
- ภูมิปัญญาด้านวรรณกรรม เช่น นิทานหรือเรื่องเล่าพื้นบ้านเรื่องถ้ำเขาฉลาก เรื่องทรพี ฯลฯ
- ภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรม เช่น การทำหนังสติ๊ก ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว ผ้าบาติก ฯลฯ
- สถานที่สำคัญของชุมชน เช่น วัดบางพระวรวิหาร วัดเขาบางพระ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าเก่งเยี่ยงไท้โป๊ยเซียนโจ้วซือ ท่าเรือต่าง ๆ บ่อน้ำมันร้อน ฯลฯ
ทัศนีย์ ทานตวณิช. (2554). ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 19(31), 31-55.
สภาวัฒนธรรมตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี. (2553). บางพระของเรา. สภาวัฒนธรรมตำบลบางพระ.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของตำบลบางพระ. https://www.bangphrachon-sao.go.th/history