ชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรีที่มีทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงมีสะพานชลมารควิถีฯ จุดพักผ่อนของชาวบางทรายและชาวเมืองชล และแลนด์มาร์กอีกที่หนึ่งของจังหวัดชลบุรี
มาจากลักษณะทางธรณีสัณฐานของพื้นที่ที่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเขา และทางทิศตะวันตกเป็นหาดทรายสีขาว จึงเป็นที่มาของชื่อ "บางทราย" ซึ่งคำว่า "บาง" หมายถึง เมืองหรือหมู่บ้าน
ชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรีที่มีทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงมีสะพานชลมารควิถีฯ จุดพักผ่อนของชาวบางทรายและชาวเมืองชล และแลนด์มาร์กอีกที่หนึ่งของจังหวัดชลบุรี
ชลบุรีเป็นดินแดนที่ปรากฏขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี ขอม และสุโขทัย แต่เดิมเป็นเพียงเมืองเกษตรกรรม และชุมชนประมงเล็ก ๆ หลายเมืองกระจัดกระจายกันอยู่ห่าง ๆ โดยในทำเนียบศักดินาหัวเมืองสมัยอยุธยากำหนดให้ชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวา ส่วนแผนที่ไตรภูมิก็มีชื่อตำบลสำคัญของชลบุรีปรากฏอยู่ เรียงจากเหนือลงใต้ ได้แก่ เมืองบางทราย เมืองบางปลาสร้อย เมืองบางพระเรือ (ปัจจุบันคือบางพระ) และเมืองบางละมุง แม้ว่าจะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ แต่ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล มีการทำไร่ ทำนา ทำสวน และออกทะเลมาแต่เดิม นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกับชาวจีนที่ล่องเรือสำเภาเข้ามาค้าขายกับกรุงสยามด้วย
ปัจจุบันแนวชายฝั่งทะเลของตำบลบางทรายมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ประกอบกับประชาชนในเขตพื้นที่เดิมมีอาชีพหลักในการเลี้ยงเป็ด ส่งผลให้พื้นที่ที่เป็นหาดทรายสีขาวกลายเป็นโคลนและพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรในพื้นที่ ภายหลังจากที่มีการเริ่มรณรงค์ในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลในจังหวัดชลบุรี ได้มีการปลูกป่าชายเลนบริเวณตลอดแนวชายฝั่งของตำบลบางทราย ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งมีลักษณะเป็นป่าชายเลน โดยมีสะพานชลมารควิถี 84 พรรษาเป็นแนวป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
ในเขตเทศบาลตำบลบางทรายมีวัดหลวงที่ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปเลื่อมใสศรัทธามากอยู่วัดหนึ่งชื่อ “วัดเขาบางทราย” ซึ่งวัดได้จัดสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองไว้ที่ยอดเขาอยู่ภายในมณฑป และมีบันไดแก้วจากเชิงเขาไปสู่มณฑปนี้ ซึ่งวัดได้จัดให้มีงานประเพณีปิดทองเป็นประจำทุกปี ประกอบกับชาวบางทรายส่วนมากเป็นชาวประมง วัดจึงได้จัดกระโจมไฟไว้เพื่อให้ชาวเรือได้สังเกตในการเข้าฝั่งโดยอาศัยกระโจมไฟดังกล่าว
ตำบลบางทรายตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย ห่างจากตัวเมืองชลบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2.16 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ลาดเอียงลงสู่ทะเลจากทางทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ทางทิศตะวันออกของพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเขา และทางทิศตะวันตกเป็นหาดทรายสีขาวตั้งแต่หน้าวัดคงคาลัยตลอดจนสุดเขต
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลหนองไม้แดง (เขตเทศบาลตำบลหนองไม้แดง)
- ทิศตะวันออก ติดกับ เขตเทศบาลเมืองบ้านสวน
- ทิศใต้ ติดกับ เขตเทศบาลเมืองชลบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ ฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
ประชากรในชุมชนบางทรายมีหลากหลายอาชีพ ได้แก่ ทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและโรงงานใกล้เคียง ทำการประมง ได้แก่ ทำประมงปลา กุ้ง และหอย ค้าขาย ได้แก่ ทำร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาคาร อีกทั้งในพื้นที่ยังมีสถานีบริการน้ำมันและบริการก๊าซอีกอย่างละ 1 แห่งอีกด้วย นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจให้เช่าอาคารและบ้าน ประชากรที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมส่วนมากจะมีการสร้างอาคารให้เช่าทั้งอาคารพาณิชย์ บ้านเช่า ห้องแถวและอพาร์ตเมนต์ เพื่อให้ลูกจ้างในองค์การต่าง ๆ และโรงงานอุตสาหกรรมเช่า
จิดาภา ศรีพรหมมา, สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). เรื่องวัดเขาบางทราย. https://finearts.go.th/architecture/
เทศบาลตำบลบางทราย. (ม.ป.ป.). ประวัติและตราสัญลักษณ์. https://bangsaichonburi.go.th/public/history/
สุชาดา ทองสุข. (2544). บทบาทของเทศบาลตำบลบางทรายที่มีต่องานพัฒนาชุมชน. มหาวิทยาลัยบูรพา.