Advance search

บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูที่มีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

หมู่ที่ 21
บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้
แม่สิน
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
อบต.แม่สิน โทร. 0-5591-1967
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 มิ.ย. 2024
บ้านห้วยระแห้

มาจากชื่อลำห้วยในพื้นที่บริเวรที่ตั้งชุมชน คือ ห้วยระแห้


บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูที่มีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้
หมู่ที่ 21
แม่สิน
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
64130
17.7318871866948
99.6454395353794
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สิน

บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้ ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีการตั้งถิ่นฐานและการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนเป็นชุมชนตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด จากคำบอกเล่าของชาวบ้านชุมชนห้วยระแห้เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูในหลายพื้นที่ และมีการโยกย้ายบ้านเรือนอยู่หลายครั้งก่อนจะมาที่หมู่บ้านห้วยระแห้ โดยเป็นชาวลีซูจากพื้นที่ต่าง ๆ เช่น จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ และจังหวัดสุโขทัย โดยแรกเริ่มมาอาศัยอยู่ที่บริเวณเขตตำบลบ้านแก่ง ซึ่งเป็นพื้นเพดั้งเดิมของชาวลีซู และถางไร่ ทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาทางหน่วยงานราชการได้เข้ามาจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้กับชาวบ้าน โดยให้ชาวลีซูสามารถตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเขตตำบลแม่สิน ซึ่งเป็นพื้นที่เขตการปกครองของบ้านสุเม่นเหนือ หมู่ที่ 21 โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูเข้ามาตั้งบ้านเรือนประมาณ 35 ครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เพียงชุมชนเดียวในหมู่บ้านสุเม่นเหนือ โดยชาวบ้านทั่วไปจะเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ลีซูห้วยระแห้” หรือ ห้วยระแฮ้ซึ่งมีที่มาจากชื่อของลำห้วยที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่บริเวณนั้น ทำให้ชาวลีซูห้วยระแห้ได้ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่อย่างถาวรที่บ้านสุเม่นเหนือ ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มาจนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านลีซูห้วยระแห้ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาสัยตามเนินเขา ในเขตพื้นที่ของบ้านสุเม่น หมู่ที่ 21 ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การเดินทางจะต้องผ่านบ้านสุเม่น สวนผลไม้และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านตลอดสองข้างทาง และเส้นทางค่อนข้างคับแคบ ระยะทางจากบ้านสุเม่นไปยังบ้านห้วยระแห้ประมาณ 8 กิโลเมตร โดยจะต้องข้ามห้วยระแห้ไปก่อนจะถึงชุมชน พื้นที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขา และพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลผลิตทางเกษตรกรรม และมีพื้นที่ป่าโดยรอบซึ่งในปัจจุบันมีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก

บ้านสุเม่นเหนือ หย่อมบ้านห้วยระแห้ ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 21 บ้านสุเม่นเหนือ ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 847 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 441 คน ประชากรหญิง 406 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 335 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ลีซู

ระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปของตำบลแม่สิน เป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จริงประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก ทั้งการปลูกส้มเขียวหวาน ยางพารา ถั่ว ข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชไร่หลากชนิด รวมไปถึงไม้ยืนต้นและไม้ผล เช่น มะม่วง มะละกอ กล้วย ฝรั่ง พุทรา เป็นต้น ชาวลีซูห้วยระแห้ก็ประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรมเช่นเดียวกับชาวตำบลแม่สินโดยทั่วไป ซึ่งมีประเภทของอาชีพด้านการเกษตรของชาวลีซูห้วยระแห้ ดังนี้

การทำไร่หมุนเวียน เป็นภูมิปัญญาของชาวไทยภูเขาที่มีมาอย่างยาวนานและสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยชาวลีซูห้วยระแห้มีการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปในแต่ละฤดูกาล ทั้งพืชล้มลุก พืชระยะสั้น พืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง ทั้งนี้ชาวบ้านยังมีการปรับตัวในการจัดการพื้นที่ที่เป็นสภาพป่าเสื่อมโทรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการเกษตร สังเกตได้จากชาวบ้านมีการปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น การปลูกทุเรียนจนสามารถให้ผลผลิตได้ รวมไปถึงการปลูกส้มสายพันธุ์ต่างๆ

การปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านมีการปลูกข้าวไร่หรือข้าวดอยในพื้นที่ เนื่องจากพันธุ์ข้าวไร่มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ลาดชัน และใช้น้ำในการเพาะปลูกในปริมาณที่น้อยกว่า โดยชาวบ้านจะปลูกข้าวไร่ไว้สำหรับการบริโภคภายในครัวเรือนตลอดทั้งปีเป็นหลัก ไม่ได้ปลูกเพื่อทำการค้าเชิงพาณิชย์ แต่มีประชากรบางส่วนในพื้นที่จะนำพันธุ์ข้าวบางชนิดเพาะปลูกเพื่อส่งขายในท้องตลาดเพื่อสร้างรายได้ โดยพันธุ์ข้าวที่ว่านี้คือ ข้าวเหนียวลืมผัวซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ชาวลีซูห้วยระแห้ยังมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ตามการว่าจ้างของนายจ้างในฤดูกาลต่าง ๆ เช่น การว่าจ้างของหน่วยงานรัฐในการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพผืนป่า หรือการว่าจ้างเพื่อการเก็บผลผลิตตามฤดูกาลในพื้นที่โดยรอบ เป็นต้น

ชาวลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อดั้งเดิมที่ยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประกับกับการรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อแบบพุทธศาสนาร่วมด้วย ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตและความเชื่อแบบพุทธและการนับถือผีแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีชาวลีซูห้วยระแห้บางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปแตสแตนส์ หรือคริสเตียน ทำให้ชาวลีซูห้วยระแห้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมความเชื่อเพิ่มมากขึ้น

กลุ่มชาวลีซูผู้นับถือศาสนาพุทธและความเชื่อดั้งเดิม มีการรักษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีปฏิบัติที่ยังสืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิมเป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังมีการปรับรูปแบบประเพณีพิธีกรรม การประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาวิถีความเชื่อเดิมเอาไว้ เช่น ประเพณีการปิดหมู่บ้าน ความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกหยิบมาใช้ในยุคสมัยใหม่ โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งชาวบ้านมีการปิดหมู่บ้านโดยไม่อนุญาติให้คนภายนอกหมู่บ้านเข้ามาในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือหน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ สะท้อนความเชื่อในอตีดที่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาด เหตุการณ์ร้ายในหมู่บ้าน หรือพื้นที่ใกล้เคียง ชาวบ้านจะร่วมการสร้างประตูไม้ไผ่นำไปปิดทางเข้าหมู่บ้าน โดยจะมีการนำเครื่องรางต่าง ๆ ไปไว้ด้วย ชาวบ้านเชื่อว่าช่วยป้องกันผีร้ายหรือสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในชุมชน

สำหรับกลุ่มลีซูห้วยระแห้ที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยการเข้ามาของกลุ่มผู้เผยแผ่ศาสนา มิชชันนารีเมื่อประมาณ 30-40 ปีให้หลัง ประกอบกับพัฒนาการทางสังคมและความเจริญก้าวหน้าที่แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ที่เข้าถึงอยากในอดีต อย่างเช่นชาวไทยภูเขา ชาวดอย ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมถูกลดทอนลงไปบ้าง เมื่อมีการเผยแผ่ความเชื่อใหม่ชาวบ้านจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และเปลี่ยนวิถีปฏิบัติไปจากดั้งเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้นำปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมาสู่ชุมชนแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของทั้งสองความเชื่อมีการแบ่งพื้นที่ชัดเจนและไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ชาวบ้านยังมีการติดต่อสื่อสารและมีความสัมพันธ์กันปกติ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมทางอาหาร ชาวลีซูห้วยระแห้ มีการรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก และในการประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนจะเป็นพืชผักเป็นส่วนประกอบหลัก เนื่องจากสามารถหาได้โดยทั่วไปในพื้นที่ อาหารดั้งเดิมจะเป็นในลักษณะของอาหารชาวไทยภูเขาซึ่งไม่นิยมปรุงรสด้วยเครื่องเทศมากนัก แต่จะอาศัยรสชาติที่ได้จากส่วนประกอบหลักในอาหารนั้น ๆ ทั้งจากเนื้อสัตว์ และพืชผักต่าง ๆ โดยจะมีเครื่องปรุงรสที่สำคัญคือเกลือ น้ำมันจากหนังหมู หรือมีการใช้พริกลาบในการประกอบอาหาร อาหารที่นิยมทางหรือหาได้โดยทั่วไป เช่น “หม่าหวู่จ่า” หรือต้มหน่อไม้ใส่กระดูกหมู “ขวากี่กือ” หรือลาบหมู อีกทั้งในทุก ๆ ปี ชาวลีซูจะร่วมกันตำข้าวปุก ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม และถือเป็นเอกลักษณืทางวัฒนธรรมด้านอาหารท้องถิ่นที่สำคัญ

วัฒนธรรมการแต่งกาย กายแต่งกายถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้คนในแต่ละกลุ่ม กายแต่งกายของชาวลีซูห้วยระแห้ก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงลีซูห้วยระแห้นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส สวมเสื้อแขนกระบอก ส่วนหน้าของเสื้อยาวถึงเข่า นิยมทำเป็นสีเขียว ฟ้า และม่วง คอเสื้อเป็นสีดำตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม โดยการนำผ้าแถบสีต่าง ๆ มาเย็บต่อกันเป็นริ้ว ส่วนของกางเกงจะเป็นทรงหลวมสีดำยาวลงมาคลุมเข่า นอกจากนี้การแต่งกายยังบ่งบอกสถานะทางสังคม โดยหากสวมหมวกประดับด้วยลูกปัดหลากสีมีพู่ห้อย หมายถึงคนที่มีสถานภาพโสด และหากไม่มีพู่ห้อยลงมาแสดงว่าแต่งงานแล้ว

ส่วนการแต่งกายของผู้ชายลีซูห้วยระแห้ จะเป็นการสวมกางเกงเป้าต่ำ สีกรมหรือสีดำ สวมเสื้อแขนยาวกำมะหยี่สัดำประดับด้วยกระดุมเงิน โดยความมากน้อยของกระดุมสีเงินที่ประดับบนเสื้อจะช่วยบ่งบอกสถานะทางสังคม ซึ่งผู้หญิงจะเป็นคนดูแลเรื่องการแต่งกายให้กับผู้ชาย

ย่ามชาวลีซู ชาวลีซูห้วยระแห้ทั้งหญิงและชายจะมีการสะพายย่ามไว้ติดตัวอยู่เสมอ เมื่อเดินทางออกจากบ้านหรือร่วมพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ภรรยาจะเย็บปักย่ามให้สามีอย่างสวยงาม โดยมีคติที่ว่าย่ามเป็นการระลึกถึงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชาวลีซูจะมีการพกเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ติดตัวเสมอเมื่อมีการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลลิดา หลักชัย. (2564). การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ลีซู (ห้วยระแห้) หมู่ 21 ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อบต.แม่สิน. (2566). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Tambonmaesin

อบต.แม่สิน โทร. 0-5591-1967