ตำนานบ้านไผ่ล้อม ชุมชนเก่าแก่กับเรื่องเล่าท้องถิ่น และประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์
เดิมเรียกชื่อชุมมชนว่า “ไผ่ล่อ” เป็นก่อไผ่ตามตำนานท้องถิ่นที่เกิดจากไม้เท้าฤาษี ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “ไผ่ล้อม” จนถึงปัจจุบัน
ตำนานบ้านไผ่ล้อม ชุมชนเก่าแก่กับเรื่องเล่าท้องถิ่น และประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่บริเวณบ้านไผ่ล้อมไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเป็นชุมชนตั้งแต่เมื่อใด จากการอยู่อาศัยของผู้คนมาจนถึงปัจจุบันก็สามารถอนุมานได้ว่ามีการลงหลักปักฐานบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนร่วมร้อยปีมาแล้ว และจากตำนานท้องถิ่นที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่บริเวณบ้านไผ่ล้อมนั้นในอดีตนานมาแล้วมีฤาษีตนหนึ่งได้เดินทางผ่านมายังบริเวณนี้เพื่อเดินทางออกจาริกแสวงบุญ เมื่อมาถึงบริเวณริมฝั่งห้วยหมาน้อย ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงพอดี ฤาษีตนนั้นจึงได้อาบน้ำชำระร่างกาย โดยได้นำไม้เท้าปักไว้บริเวณริมห้วย เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ได้เดินชมธรรมชาติบริเวณโดยรอบที่มีความสวยงามจนลืมนำไม้เท้าไปด้วย ต่อมาไม้เท้านั้นได้เกิดแทงรากแตกยอดใบเจริญงอกงามเป็นต้นไผ่หนามกอใหญ่ เรียกว่า “ไผ่ล่อ” เวลาผ่านไปผู้คนก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณนี้จนกลายเป็นชุมชนเรียกว่าชุมชนไผ่ล่อ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “ไผ่ล้อม” และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าที่ราบตอนเหนือบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกบริเวณในจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 159 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลาดต่ำลงไป น้ำท่วมไม่ถึง พื้นที่ด้านทิศใต้เป็นพื้นที่นาและแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีลำห้วยไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก และในส่วนของด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ดอนและมีป่าโปร่ง และป่าเบญจพรรณขึ้นอยู่โดยทั่วไป
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 679 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 336 คน ประชากรหญิง 343 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 274 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับด้านการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำนา มีทั้งส่วนที่ทำนาข้าวเหนียว และทำนาข้าวเจ้า ซึ่งในการทำนาของชาวบ้านเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้วจะแบ่งไว้สำหรับรับประทานภายในครัวเรือนตลอดทั้งปี และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปขายหรือเก็บไว้แล้วแบ่งขายในยามที่จำเป็น และยังมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ อีก เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการทอผ้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ โดยชาวบ้านมีการทอผ้าตีนจกซึ่งเป็นอีกหนึ่งผ้าเอกลักษณ์ล้านนา มีทั้งส่วนที่ทอไว้เพื่อใช้เองและส่วนที่นำไปขายหรือส่งไปยังแหล่งต่าง ๆ ช่วยเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนอีกทางหนึ่ง ประชากรบางส่วนก็จะไปหางานทำในพื้นที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร หรือตัวจังหวัดต่าง ๆ
บ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และมีลักษณะคล้ายกับชาวล้านนา (คนเมือง) โดยทั่วไป โดยมีวิถีวัฒนธรรมที่ยึดโยงและเกี่ยวพันในประเพณีท้องถิ่น ความเชื่อเรื่องการนับถือผี และพิธีกรรมทางพุทธศาสนา โดยมีวัดไผ่ล้อมเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมศรัทธา และเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมทางศาสนาของชุมชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ประเพณีที่สำคัญที่จัดขึ้นในชุมชนตัวอย่างเช่น
ประเพณีการทำบุญสลากภัต การทานข้าวสลาก หรือ การกิ๋นก๋วยสลาก งานบุญสลากภัตจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 12 และสิ้นสุดลงในช่วงเดือนดับตามปฏิทินจันทรคติล้านนา หรือในระหว่างช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ก่อนวันงานชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะเตรียมจัดทำสลากกันทุกบ้าน โดยเรียกว่า “กัณฑ์” ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่าง ถ้าทำกัณฑ์ใหญ่จะเรียกว่าสลากหลวง โดยอาจจะให้ไม้ไผ่สานทำเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ใส่ข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคอย่างละเล็กละน้อย แล้วนำใบลานหรือกระดาษมาเขียนคำอุทิศให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า “เส้นสลาก” จากนั้นจะนำไปรวมกันทำบุญที่วัด นิมนต์พระสงฆ์จากหลายวัดมาร่วมงาน แล้วแบ่งเส้นสลากถวายพระสงฆ์ และตามหาว่าสลากนั้นอยู่ที่พระสงฆ์รูปใดแล้วนำกัณฑ์ไปถวายทำพิธีทางศาสนาเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีส่งปู่แถนย่าแถน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษชายหญิงคู่แรกของโลก และชาวบ้านก็สืบเชื้อสายมาจากปู่แถนย่าแถน และยังเป็นผู้ควบคุมชีวิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ จะอยู่สุขสบายหรือลำบากก็ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของท่าน ดังนั้นเมื่อถึงวันครบรอบวันเกิดในแต่ละปี ชาวบ้านจะทำการส่งสะตวงเป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับปู่แถนย่าแถนเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และชีวิตจะได้ดำเนินอย่างสงบสุขราบรื่น นอกจากนี้เมื่องชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายก็จะมีการทำพิธีส่งสะตวงเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อเชื่อว่าจะช่วยให้หายจากอาการที่เป็นอยู่
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ศิริรัตน์ คฑวณิชกุล. (2537). ผีกะ: ความเชื่อในการรักษาโรคผีกะแฝง และผีกะเข้า กรณีศึกษา หมู่บ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่. ศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พระอธิการจตุรภัทร อาภากโร ฝั้นสุข ฝั้นสุข. (2567). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/prajaturapat