Advance search

บ้านบาราโหม

ปาเระ

ชุมชนบาราโหม ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่อายุร่วม 500 ปี

บาราโหม
บาราโหม
เมืองปัตตานี
ปัตตานี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
บ้านบาราโหม
ปาเระ


ชุมชนบาราโหม ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่อายุร่วม 500 ปี

บาราโหม
บาราโหม
เมืองปัตตานี
ปัตตานี
94000
เบอร์โทรชุมชน โทร. 09-3580-2702, อบต.บาราโหม โทร. 0-7341-3115
6.877342639
101.3189
องค์การบริหารส่วนตำบลบาราโหม

ชุมชนบาราโหม หรือบ้านปาเระ เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับรัฐปาตานี โดยมีการสันนิษฐานว่าประชากรเดิมที่มาตั้งรกรากในแถบนี้มาจากหมู่เกาะมลายู และตั้งรกรากมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ถิ่นฐานเดิมเป็นหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีเดิม เกี่ยวโยงมาจากเมืองลังกาสุกะ ประชาชนเดิมนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โกตาลิฆัย ต่อมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างนครรัฐพุทธเป็นรัฐอิสลาม มีพญาอินทิราเป็นผู้ก่อตั้งรัฐปาตานีดารุสลาม

พญาอินทิราหรือ “สุลต่านอิสมาอีลชาร์” เป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากขณะพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระฉวีแตก หมอหลวงและหมออื่น ๆ ถวายรักษาแล้วไม่หาย ชีคซาอิดครูสอนศาสนาอิสลามแห่งปาไซ ผู้มีความรู้ด้านการรักษาโรค ได้ถวายการรักษาจนอาการพระชวรหายเป็นปกติ จึงทรงเข้ารับศาสนาอิสลามตั้งแต่นั้น จากนั้นได้สถาปนารัฐปาตานีเป็นนครรัฐอิสลามฟาฏอนี ดารุสสาลาม แปลว่า “ปาตานีนครรัฐแห่งสันติ” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ ในแหลมมลายูและในเอเชียอาคเนย์ ทั่วอาณาจักรของพระองค์ทรงใช้รูปแบบการบริหารการปกครองตามหลักศาสนา อิสลามอย่างเคร่งครัด เมืองปัตตานีมีความเจริญและมีชื่อเสียงทางการค้า เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาอิลาม ทรงเปิดสัมพันธไมตรี กับมาละกาและสยาม ทําการค้ากับจีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส และหัวเมืองมลายูอื่น ๆ เรือสินค้าของโปรตุเกส มาทําการค้าครั้งแรกกับเมืองปัตตานี ทำให้ชาวปัตตานีได้เรียนรู้เทคโนโลยีจากชาวตะวันนตก โดยเฉพาะการทําปืนใหญ่ส่งผลให้กิจการหล่อปืนใหญ่ของเมืองปัตตานีมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กระทั่ง ปี พ.ศ. 2073 พญาอินทิราสวรรคต พระศพของพระองค์ถูกนํามาฝังไว้ที่สุสานอัลมัรโฮม ตําบลบาราโหม

บาราโหมมีคลองปาเระไหลผ่านเชื่อมสู่อ่าวปัตตานี จึงเหมาะสมต่อการเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก นับเป็นท่าเรือคู่ค่ากับท่าเรือฮิราโดะของประเทศญี่ปุ่น สมัยราชินีฮิเยาการค้าพาณิชย์รุ่งเรืองจากการเป็นเมืองท่าจนทําให้ปัตตานี เป็นที่รู้จักทั่วโลก มีบริษัทจากอินเดีย ฮอลันดามาตั้งสถานีการค้า ในสมัยนี้การผลิตถ้วยโถโอชามได้แพร่หลายมายังปัตตานี ทำให้ปัจจุบันพื้นชุมชนบาราโหม จังหวัดปัตตานี ปรากฏซากเตาเผาและเศษเรื่องถ้วยกระจัดกระจายอยู่ในชุมชน

ทว่า ภายหลังการล่มสลายของเมืองปัตตานีโดยสยาม ชาวบ้านได้เดินทางอพยพออกจากพื้นที่เกือบทั้งหมด ทําให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบาราโหมในปัจจุบันไม่ค่อยรู้ถึงประวัติศาสตร์ในชุมชนว่าบรรพบุรุษที่เข้ามาตั้งรกรากในตําบลบาราโหม หรือบ้านปาเระ ส่วนใหญ่มีที่มาจากที่ไหนอย่างไร และมีวิถีความเป็นอยู่ในการดํารงชีวิตแบบใด ทำให้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนบาราโหมนั้นไม่ปรากฏที่มาชัดเจนเท่าใดนัก แต่มีการสันนิษฐานว่าแรกเริ่มของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่บาราโหมนั้น มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณริมน้ำ เดิมเป็นท่าเรือที่ใช้ในการค้าขายและการคมนาคมทางน้ำของรัฐปาตานีและนานาประเทศ จึงทําให้ปาตานีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวตะวันตก เช่น ชาวฮอลันดา โปรตุเกส เป็นต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการสัญจรทางน้ำ รวมถึงการขนส่งสินค้า ในอดีตตำบลบาราโหมเคยเป็นพื้นที่เดียวกับตำบลตันหลงลุโละ แต่ภายหลังมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเกิน 200 ครัวเรือน จึงได้แยกตัวออกมาเป็นตำบลบาราโหมเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา หลังจากแยกการปกครองแล้วได้ตั้งชื่อว่า “บ้านปาเระ” แปลว่า “คู” ซึ่งตั้งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ แล้วใช้คูน้ำกั้นเป็นเขตแดนระหว่างตำบลตันหลงลุโละและบาราโหม แต่ชาวบ้านบางส่วนยังถกเถียงกันถึงเรื่องเขตแดนระหว่าง 2 ตําบล ซึ่งพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานาน เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนยังเข้าใจว่าไม่มีการแบ่งเขตตําบลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ชัดเจน (พีรยา จินดาม, 2556 อ้างถึงใน การียา แวกุโน และคณะ, 2559: 10)

ปัจจุบันชุมชนบาราโหม ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ที่ร้อยรัดร่องรอยอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว เป็นศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ร่วม 500 ปี ในยุคสมัยที่ปัตตานีเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง มีชาวต่างชาติ ทั้งอาหรับ เปอร์เซีย ยุโรปเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีโบราณสถาน เช่น สุสานพญาอินทิรา หรือสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ สถานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองปัตตานีพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาเมืองปัตตานีเป็น “นครปาตานีดารุสลาม” นอกจากนี้ บาราโหมยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศและวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี มีป่าชายเลนที่ดำรงความอุดมสมบูรณ์ระดับประเทศ สามารถเที่ยวชมดูนกทะเลนานาชนิด เรียนรู้วิถีการทำประมงพื้นบ้าน สัมผัสวิถีชีวิตงดงาม และเรียนรู้วัฒนธรรมของคนปัตตานีดั้งเดิม 

สภาพแวดล้อม

พื้นที่ชุมชนบาราโหมมีลักษณะเป็นพื้นที่ชานเมือง มีชายหาดขนาดเล็ก แต่ไม่ได้เป็นหาดท่องเที่ยว บริเวณชายฝั่งทะเลสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ดีสภาพพื้นที่โดยรวมเป็นที่ราบลุ่มตามชายฝั่งด้านอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสําหรับทําอาชีพประมง เลี้ยงปลา และ ทานากุ้ง มีเนื้อที่โดยประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร

  • ทิศเหนือ ติด ตําบลตันหลงลุโละ อําเภอเมือง ปัตตานี
  • ทิศใต้ ติด ตําบลบางปู อําเภอยะหริ่ง ปัตตานี
  • ทิศตะวันตก ติด ตําบลคลองมานิ่ง และตําบลกะมิยอ อําเภอเมืองปัตตานี
  • ทิศตะวันออก ติด ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

สภาพแวดล้อมของพื้นที่เป็นที่ราบ โดยพื้นที่ราบทางทิศเหนือที่ติดทะเล เหมาะเหมาะแก่การทำนาเกลือ เพราะดินในบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นดินเหนียว พื้นที่ราบทางทิศใต้เหมาะแก่การทําการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ส่วนพื้นที่ราบทางทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นสวนมะพร้าว

สถานที่สำคัญ

ภายในชุมชนบาราโหมมีสถานที่สำคัญประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณวัตุ โบราณสถาน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น มัสยิดบาราโหม สุสานพญาอินทิรา และพระมเหสี 3 พี่น้อง แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาการแกะสลักไม้กระต่ายขูดมะพร้าวโดยคุณตาอาลี ผู้สร้างสรรค์การแกะสลักกระต่ายขูดมะพร้าวจากไม้เนื้ออ่อนด้วยลวดลายมลายูจนเป็นที่โด่งดัง ทำให้มีคนจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาดูงานและสนใจรับซื้องานศิลปหัตถกรรมกระต่ายขูดมะพร้าวของคุณตาอาลี นอกจากนี้ชุมชนบาราโหมยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวให้มีลักษณะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ซึมซับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่น เช่น ท่าเสด็จ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบาราโหม อุโมงค์ป่าโกงกางบาราโหม ที่ได้มีการจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวล่องเรือชมวิถีชิตชาวประมงเรือเล็ก อุโมงค์ป่าโกงกาง และวัดดวงกับกิจกรรมการหาเศษกระเบื้องเครื่องถ้วยชามโบราณ กิจกรรมการทานอาหารพื้นบ้าน “นาสิอิแดกำปง” เปิบด้วยมือ และกิจกรรมการทำผ้าบาติกด้วยบล็อกไม้ เป็นต้น 

ประชากร

ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2559 ระบุถึงจำนวนประชากรชุมชนบาราโหมว่า มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,027 ครัวเรือน จำนวนประชากรรวม 3,228 คน แบ่งเขตการปกครองจํานวนหมู่บ้านทั้งหมด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้าน ปาเระ (117 หลังคาเรือน) หมู่ที่ 2 บ้านปาเระ  (241 หลังคาเรือ) และหมู่ที่ 3 บ้านดี (148 หลังคาเรือน) ประชากรส่วนใหญ่นับศาสนาอิสลาม คิดเป็นร้อยละ 90% นับถือศาสนาพุทธคิดเป็นร้อยละ 10%

ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

ชุมชนบาราโหมมีการปลูกฝังให้สมาชิกภายในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ทะเลาเบาะแว้ง หากเกิดเรื่องวิวาทกันขึ้น ผู้นำชุมชนจะทำหน้าที่บอกกล่าวตักเตือนไม่ให้เกิดข้อวิวาทกันอีก ปลูกฝังให้รู้จักให้อภัยกัน สร้างความสามัคคีในหมู่เครือญาติ เวลามีงานประเพณีสําคัญ เช่น การทํากิจกรรมประเพณีกวนอาซูรอ งานเมาลิด งานละศีลอด ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน ฯลฯ ชาวบ้านในชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยเหลือกันจนงานเสร็จสิ้น

การประกอบอาชีพ

ประชากรชาวบาราโหมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป อาทิ ช่างทาสี ช่างก่อสร้าง ช่างเคาะพ่นสีรถ ลูกจ้างร้านอาหาร ลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรมฯ ส่วนอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ อาชีพประมงพื้นบ้าน (ประมง ชายฝั่ง) อาชีพค้าขาย และอาชีพเกษตรกรทํานาข้าว ทํานาเกลือ เลี้ยงวัว แพะ แกะ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รายได้น้อย ไม่มีความมั่นคง อีกทั้งภายในชุมชนยังมีประชากรจำนวนมากที่ไม่มีอาชีพ มีอัตราการว่างงานสูง ส่งผลให้ชุมชนบาราโหมประสบปัญหายาเสพติด อันเนื่องมาจากการว่างงานและมั่วสุมของวัยรุ่น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำประมงจะเป็นอาชีพที่ไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของชาวบ้าน แต่เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของบาราโหมที่มีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ทำให้การประมงเป็นอาชีพที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบาราโหมมาอย่างยาวนาน โดยการประมงของชาวบาราโหมเป็นลักษณะของการประมงชายฝั่ง การออกหาปลาในอดีตจะใช้เรือใบ หรือภาษาท้องถิ่นจะเรียก “บลายา” วิธีการหาปลาของชาวบาราโหมถือเป็นภูมิปัญญาของชาวประมงที่ตกจากรุ่นส่รุ่น แต่ปัจจุบันการทําประมงในชุมชนบาราโหมเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ไม่อุดมสมบูรณ์ และไม่สะอาดเทียบเท่าในอดีต อีกทั้งยังมีการกล่าวหาจากผู้คนภายนอกว่าอุปกรณ์ในการหาปลาของชาวประมงเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศ ส่งผลให้ในปัจจุบันการทำประมงในชุมชนบาราโหมลดจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

สมัยก่อนชุมชนบาราโหมมีการทํานาปลูกข้าว แต่เมื่อมีการอพยพของประชากรทางฝั่งนาเกลือมาอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ก็ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวทํานาเกลือ พื้นที่ที่เคยทํานาก็เริ่มหายไป เกิดเป็นนาเกลือเข้ามาแทนที่ แต่ปัจจุบันเจ้าของที่ดินในชุมชนบาราโหมเริ่มทยอยขายพื้นที่นาเกลือให้กับเหล่านายทุน บางส่วนก็ขายให้กับหน่วยงานรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบาราโหม ศูนย์เด็กเล็ก สนามฟุตบอล ฯลฯ ทั้งนี้ก็ยังมีที่ดินที่ยังทํานาเกลือให้หลงเหลือเห็นอยู่สําหรับเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้พื้นที่นาเกลือให้กับนายทุนหรือหน่วยงานรัฐ

นอกจากการรับจ้าง และอาชีพในภาคการเกษตรแล้ว ปัจจุบันชุมชนบาราโหมกำลังพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เปิดรับนักนักท่องเข้ามาเยี่ยมชม และร่วมสัมผัสกับวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวบ้านอย่างเต็มรูปแบบ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การล่องเรือชมอุโมงค์โกงกาง ฯลฯ ซึ่งนับเป็นอาชีพใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งจากคนในชุมชน และผลตอบรับอันดีเยี่ยมเหนือความคาดหมายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทีมีความชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

กลุ่มชุมชน

กลุ่มเพาะเลี้ยงปูดำ : เป็นกิจกรรมการรวมกลุ่มของชาวประมงในหมู่บ้าน ที่ได้ใช้เวลาว่างจากการทำประมงมาเพาะเลี้ยงอนุบาลปูดำ เพื่อปล่อยลงสู่ทะเล และสร้างรายได้แก่ชุมชน

Barahom Bazaar : เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนบาราโหม เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน และมีร้านค้าสำหรับวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าฝีมือชาวบาราโหม เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน 

ประเพณีและพิธีกรรม

ชุมชนบาราโหมมีประเพณีพิธีกรรมสำคัญที่คนในชุมชนปกิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งประเพณีทางศาสนา ประเพณีในรอบปี และประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบาราโหมตั้งแต่เกดจนตาย ดังนี้

ประเพณีการเกิด: เมื่อมารดาคลอดบุตรแล้วสามีหรือผู้มีความรู้ทางศาสนาจะทำการ “อาซัน” หรือ “มัง” (พูดกรอกหู) โดยจะกล่าวข้อความเกี่ยวกับการรําลึกถึงองค์อัลเลาะห์ หลังจากทารกคลอดแล้วประมาณ 7 วัน ก็จะมีพิธีการโกนผมไฟ ตั้งชื่อและอากะหะ ซึ่งจะกระทําไปพร้อมในคราวเดียวกัน

ประเพณีเข้าสุหนัต (มาโซะยาวี): หรือพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย “ซึ่งคํา ว่ามาโซะยาวีใช้กับคนที่มิใช่เป็นมุสลิม” เข้ารีตถืออิสลาม ส่วนสุหนัตเป็นพิธีพึงปฏิบัติ ส่วนผู้ทําการขลิบหนัง หุ้มอวัยวะเพศคือ “มูดีม”

ประเพณีแต่งงาน: การกระทําพิธีแต่งงานของชาวไทยมุสลิมนั้น ยังคงยึดถือปฏิบัติกฎและหลักเกณฑ์ตามลัทธิอิสลาม คือผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ในขณะเดียวกัน 4 คน แต่มีข้อแม้คือจะต้องเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือหญิงหม้าย และหญิงอานาถา การทําพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามต้องมีการลงชื่อเห็นชอบจากโต๊ะอีหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสําคัญเพื่อเป็นหลักฐานการแต่งงาน

ประเพณีวันเมาลิด: วันเมาลิด เมาลิดเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า วันเกิด หมายถึงวันเกิดของนะบีมูฮัมมัด ซึ่งชาวอิสลามถือว่าวันเมาลิดเป็นวันรําลึกถึงวันนะบีมูฮัมหมัดลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวันเมาลิด ได้แก่ การเชิญคัมภีร์อัลกุรอาน การแสดงปาฐกถาธรรม การแสดงนิทรรศการ และการเลี้ยงอาหาร ฯลฯ

ประเพณีทําศพ: การทําศพในศาสนาอิสลามมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การอาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาดให้ศพ และการฝังศพ โดยจะวางศพให้นอนตะแคงไหล่ ขวาลง โดยหันหน้าไปทางอัลกะบะฮ์ ณ นครเมกกะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย

การบริจาคชากาด: คือการบริจาคทรัพย์สินที่เหลือใช้ให้แก่ผู้ยากจน ผู้ซึ่งมีสิทธิรับบริจาคซากาต คือ คนอนาถา ผู้ขัดสน เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้รับแต่งตั้งให้รวบรวมชากาด ผู้เลื่อมใสนับถือศาสนาอิสลามระยะแรก แต่มีความยากจน และทาสที่นายทุนทําสัญญาให้ไปหาเงินเป็นค่าไถ่ต้องปลดปล่อยเป็นไท

วันศุกร์: ชายมุสลิมจะต้องไปทําพิธีละหมาดที่มัสยิด โดยจะทําพิธีในตอนบ่ายโดยมี “คอเดิม” ของมัสยิดเป็นองค์ปาฐกฐา

วันปอซอ (วันถือศีลอด): ชาวมุสลิมจะต้องถือศีลอด คือ ไม่กินอาหารและไม่ให้สิ่งใด ๆ เข้าไปในทวาร ต่าง ๆ ของร่างกายตั้งแต่รุ่งสางจนถึงตะวันพลบค่ําเป็นเวลา 1 เดือน ในเดือนที่ 9 ในปฏิทินอาหรับ หรือเดือน “รอมฎอน” ตรงกับเดือนพฤษภาคมตามปฏิทินไทย   

วันฮารีรายอปอซอ: เป็นวันที่สิ้นสุดการถือศีลอด

วันฮารีรายอฮัจยี (วันตรุษฮัจยี): เป็นวันที่สําคัญที่สุดยิ่งกว่าวันตรุษใด ๆ โดยประกอบพิธีหมือนกับวันฮารีรายอปอซอ แต่เพิ่มการทําพิธีกุรบาน คือ การฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เพื่อถือเป็นการทําทาน ซึ่งเนื้อสัตว์นี้จะนํามาทําอาหารเลี้ยงหรือแจกจ่ายกันต่อไป

ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือน

ในอดีตชาวบาราโหมมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งทะเล เพราะมีความสะดวกในการขนส่ง อีกทั้งการสัญจรของคนในชุมชนบาราโหมจะสัญจรทางริมคลองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยใช้เส้นทางสายหลักที่เป็นทางดินแดงเท่าใดนัก เพราะมีความกลัว เนื่องจากเคยมีเรื่องเล่าแพร่หลายในชุมชนว่าใครที่สัญจรผ่านเส้นทางสายนี้จะถูกผีอําแม้ว่าขณะนั้นจะเป็นเวลากลางวันแสก ๆ อีกทั้งเส้นทางสายหลักนั้นมีไม้ไผ่ตลอดสองข้ามทาง เมื่อมีลมพัดก็จะมีเสียงของไม้ไผ่กระทบ เพิ่มความน่ากลัวและวังเวงมากยิ่งขึ้น แต่ภายหลังหน่วยงานรัฐได้เข้าไปจัดการดูแลพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้เป็นถนนลาดปูน ลดความน่ากลัวของบรรยากาศ ทำให้ชาวบ้านสามารถเดินทางสัญจรผ่านเส้นทางสายหลักได้เป็นปกติ

ส่วนในปัจจุบันการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบาราโหม มีทั้งแบบกระจุกตัว และแบบกระจายตัว โดยแบบกระจุกตัวจะพบมากในชุมชน หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีการสร้างบ้านกระจุกกันเป็นจํานวนมาก ซึ่งการสร้างบ้านเรือนลักษณะนี้ เป็นเพราะอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม ที่มีความผูกพันระหว่างญาติพี่น้อง เคร่งครัดในการนับถือศาสนา มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง นับถือผู้นําทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ชาวไทยมุสลิมจึงนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มใกล้มัสยิด ส่วนการสร้างบ้านเรือนแบบกระจายตัวจะพบมากบริเวณเส้นทางคมนาคม เป็นผลมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมักจะปลูกสร้างบ้านเรือนในพื้นที่สวนหรือที่นาของตน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาว่าวบูลัน

ว่าวบูลัน หรือว่าววงเดือน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วาบูแลหรือวาบูลัน” บูลัน แปลว่า ดวงจันทร์ ว่าวบูลันจึงเป็นว่าวที่มีรูปดวงจันทร์เป็นส่วนประกอบอยู่ตรงกลางลำตัว ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ปีก เขา (คล้ายเขาควาย) และดวงเดือนซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างปีกและเขาและตอนกลางของลำตัว ว่าววงเดือน มี ๒ แบบคือ แบบมีแอก และแบบไม่มีแอก ความเป็นมาของว่าวบางคนบอกว่าว่าวมาจากประเทศมาเลเซีย และบางคนบอกว่ามาจากจังหวัดปัตตานี จึงสรุปไม่ได้ว่าว่าวมาจากที่ไหน ปัจจุบันชาวชุมชนบาราโหมได้นำเอ่าวาวบูลัน ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน มาจัดเป็นกิจกรรมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบาราโหม ซึ่งตําบลบาราโหมขึ้นชื่อเรื่องว่าวเป็นอย่างมาก เพราะเคยแข่งขันชนะในระดับ 3 จังหวัด ทั้งการแข่งด้านทักษะหรือความสวยงาม

กระต่ายขูดมะพร้าว

กระต่ายขูดมะพร้าว ภาษาถิ่นเรียกว่า กอแร เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นโดยการคิดค้นของชาวบ้านเอง โดยได้แนวคิดมาจากขวดน้ําตราสิงห์ที่ตนพบจึงเกิดเป็น กระต่ายขูดมะพร้าวที่มีทุกขนาดหลายลวดลายในปัจุบัน

ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายู

ภาษาเขียน: ภาษากลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การียา แวกุโน และคณะ. (2559). ศักยภาพ ประวัติศาสตร์ และบริบทชุมชนบาราโหม ตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ที่เที่ยว. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม : ร่องรอยเชื่อมต่ออดีต-ปัจจุบัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566. จาก http://www.pattani.go.th

ศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์. (2565). กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครื่องมือวิถีชุมชน 7 ชิ้น”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน), 20220916-Flipchart - OneDrive (sharepoint.com)

JK.TOURS. (2565). ชุมชนคุณธรรมมัสยิดบาราโหม จังหวัดปัตตานี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566. จาก https://jk.tours