Advance search

บ้านสี่แยกวัดโหนด

สี่แยกวัดโหนดเป็นชุมชนที่มีความอิสระและหลากหลายทางการนับถือศาสนา อีกทั้งยังมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและลักษณะภูมิประเทศ 

สี่แยกวัดโหนด
โพธิ์ทอง
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
บ้านสี่แยกวัดโหนด

มาจากคําว่า "สี่แยก” กับคําว่า "วัดโหนด" โดยวัดโหนดเป็นชื่อของหมู่บ้านหนึ่งในตําบลโมคลาน ซึ่งมีตลาดนัดทุกวันเสาร์ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่สามารถตั้งตลาดนัดได้จึงย้ายมาตั้งตลาดนัดขึ้นที่สี่แยกในหมู่บ้านปัจจุบัน ชาวบ้านจึงเรียกติดปากกันว่า "สี่แยกวัดโหนด”


สี่แยกวัดโหนดเป็นชุมชนที่มีความอิสระและหลากหลายทางการนับถือศาสนา อีกทั้งยังมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและลักษณะภูมิประเทศ 

สี่แยกวัดโหนด
โพธิ์ทอง
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
80160
อบต.โพธิ์ทอง โทร. 0-7552-1761
8.59833693
99.92812
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ทอง

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนสี่แยกวัดโหนด ตำบลโพธิ์ทองนั้น บรรดาผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่า คําว่า "โพธิ์ทอง" มาจากคําว่า "ดอนโพธิ์อาชีพท่าทอง” เดิมหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ตอนกลางทุ่งนาทางด้านทิศตะวันตกของที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน ชาวบ้านมีอาชีพเป็นช่างทําทองถวายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยนั้นพื้นที่แห่งนี้เคยมีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นอยู่ ชาวมุสลิมเห็นว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ในพุทธศาสนาจึงตัดทิ้งเสีย ครั้นเมื่อตั้งตําบลใหม่ก็อาศัยชื่อเดิมแต่ตัดคําว่า "ดอน" เพราะเห็นว่าไม่ดี จึงเหลือแต่คําว่า "โพธิ์ทอง"

ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบศึกพระยานครฯ ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริวงศ์ครองเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะประเทศราช และทรงมีรับสั่งให้ชาวมุสลิมผู้หนึ่งที่ติดตามราชการทัพอยู่ช่วยราชการ ณ เมืองนครฯ ชาวมุสลิมผู้นั้นได้แต่งงานกับธิดาเจ้าเมืองสตูล และได้อพยพข้าทาสบริวารมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโพธิ์แห่งนี้ ต่อมาชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียที่มีความขัดแย้งกัน ทราบว่ามีมุสลิมที่พูดภาษามลายูอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ จึงอพยพตามมา แล้วกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ

ในสมัยขุนสิทธิธุระการ (ราว พ.ศ. 2480-2490) เป็นนายอําเภอท่าศาลา ได้ร่วมกับชาวบ้านตัดถนนจากตัวอําเภอไปยังบ้านวังลุง อําเภอพรหมคีรี ผ่านใกล้ที่ตอนกลางทุ่งนา ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณนั้นเห็นว่าบริเวณริมถนนเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง และมีการคมนาคมที่สะดวก จึงพากันโยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมถนนทั้ง 2 ข้าง ดังปรากฏจนกระทั่งปัจจุบัน

ส่วนคําว่า "สี่แยกวัดโหนด” ชาวบ้านได้อธิบายว่ามาจากคําว่า "สี่แยก” กับคําว่า "วัดโหนด" โดยวัดโหนดนั้นเป็นชื่อของหมู่บ้านหนึ่งในตําบลโมคลาน ซึ่งมีตลาดนัดทุกวันเสาร์ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่สามารถตั้งตลาดนัดได้จึงย้ายมาตั้งตลาดนัดขึ้นที่สี่แยกในหมู่บ้านปัจจุบัน ชาวบ้านจึงเรียกติดปากกันว่า "สี่แยกวัดโหนด” เมื่อมีการตั้งตําบลโพธิ์ทองขึ้น โพธิ์ทองขึ้นใหม่ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านตรงนี้ว่า "บ้านสี่แยกวัดโหนด” (ณรงค์ อาจสมิติ, 2537: 55)

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ         จด      บ้านกลาง หมู่ 4

  • ทิศใต้            จด      บ้านมะยิ่ง หมู่ 6 และบ้านยางด้วน หมู่ 7

  • ทิศตะวันตก      จด      บ้านวัดโหนด หมู่ 1 ตําบลโมคลาน

  • ทิศตะวันออก     จด      ทุ่งบางที่มีลําน้ําบางตงกั้นเขตหมู่ 5 ตําบลโพธิ์ทองกับ บ้านบางตง หมู่ 15 ตําบลท่าศาลา

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านสี่แยกวัดโหนด อําเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกทางการเกษตร ลักษณะหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านอกแตก มีถนนสายท่าศาลา-ดอนคาตัดผ่านหมู่บ้าน พื้นที่ของหมู่บ้านจึงอยู่ 2 ฝั่งถนนสายนี้ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเนินตามแนวถนน และลาดเอียงลงสู่ที่ราบลุ่มทั้ง 2 ฝั่งถนน ชาวบ้านจึงใช้พื้นที่ราบลุ่มทั้ง 2 ฝั่งถนนนี้เป็นที่ไร่ ที่นา และที่สวน ในฤดูฝนหากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจะทําให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งมักจะเกิดราวเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แต่จะท่วมขังเพียงราว 2-3 วันน้ำก็จะลดกลับมาเป็นปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาอีก

ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนดินทรายระบายน้ำได้ดี เมื่อขุดลึกลงไปจะเป็นทราย ชาวบ้านหลายรายจึงขายที่นาให้นายทุนดูดทรายขาย โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ที่ได้แปรสภาพกลายเป็นบ่อทรายจํานวนมาก จากลักษณะดินที่เป็นดินร่วนปนทรายทําให้ชาวบ้านด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประกอบอาชีพทํานา ปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ พันธุ์เข็มทอง พันธุ์เหลืองเบา พันธุ์หอมขาว และพันธุ์หอมแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าที่นิยมปลูกในพื้นที่นี้ และมีบางส่วนที่ปลูกข้าวเหนียว ซึ่งจะใช้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ไม่ปลูกจําหน่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ก็ยังทําสวนมะพร้าว ซึ่งตรงกันข้ามกับฝั่งทิศตะวันออกที่มีลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย ชาวบ้านสามารถทําไร่ถั่วลิสงและสวนยางพารานอกเหนือจากการปลูกข้าว ถัดออกไปจากบริเวณที่ราบ เป็นไร่นาและสวนยางพารา ถัดออกจากพื้นที่ไร่นาและสวนยางพาราเป็นบางตง ที่ดินในบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี มีต้นสาคูขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก ชาวบ้านมักเรียกที่ดินสภาพนี้ว่า "ที่โพร่" หรือ ที่พรุ

นอกจากสภาพพื้นที่จะเป็นไร่ นา และสวนแล้ว บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนยังถูกปกคลุมเขียวชะอุ่มอยู่ทั่วไป มีทั้งต้นไม้สูง เช่น สะตอ ยางพารา เหรียง มะพร้าว ไผ่ และสภาพป่ารก ซึ่งประกอบด้วยพันธุ์ไม้เตี้ย ๆ ปกคลุมพื้นที่เป็นเป็นหย่อม ๆ โดยลักษณะพื้นที่ทั้งหมด ทั้งที่เป็นที่เป็นริมถนน พื้นที่ลาดเอียงลงสู่ที่ราบลุ่ม และที่ราบลุ่ม จะมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดทั้งปี ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของบ้านสี่แยกวัดโหนดมีฝนตกชุกและมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น

ด้านสภาพภูมิอากาศในพื้นที่หมู่บ้านสี่แยกวัดโหนด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตลอดปี ลักษณะภูมิอากาศจึงแบ่งออกได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-มกราคม โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักมากที่สุด ส่วนฤดูร้อนจะเริ่มราวเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนจัดเนื่องจากได้รับกระแสลมที่พัดผ่านทะเล ในฤดูนี้ปริมาณน้ำใต้ดินมีน้อย สังเกตได้จากปริมาณน้ำในบ่อน้ำหลายแห่งจะแห้งลง แต่ชาวบ้านก็ไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะในช่วงนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านจะทำการแบ่งปันน้ำในบ่อน้ำให้แก่กันจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง

หมู่บ้านสี่แยกวัดโหนด เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะพิเศษซึ่งต่างจากหมู่บ้านอื่น กล่าวคือ เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้นจึงทําให้ภายในพื้นที่หมู่บ้านมีทั้งวัด มัสยิด ป่าช้า และกุโบร์ (สุสาน) อีกทั้งยังมีสถานีอนามัยประจําตําบลโพธิ์ทองซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาอาชีพและจริยธรรม และมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาตั้งอยู่ในหมู่บ้าน 1 โรงเรียน

เส้นทางการคมนาคมในหมู่บ้าน

การคมนาคมภายในหมู่บ้านค่อนข้างสะดวก เนื่องจากมีถนนสายท่าศาลา-ดอนคา ตัดผ่านกลางหมู่บ้าน และมีถนนสายบ้านหน้าทัพ-สี่แยกวัดโหนด เข้าถึงหมู่บ้าน ทําให้ชาวบ้านสามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้หลายทาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนิยมเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือเดินเท้าตามเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะตามสวนยางพารา สวนมะพร้าว และบ้านของเพื่อนบ้าน 

ประชากร

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ทอง ระบุว่า บ้านสี่แยกวัดโหนดมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 660 ครัวเรือน ประชากร 2,143 คน เป็นประชากรชาย 1,052 คน และประชากรหญิง 1,091 คน

จากการที่ชุมชนสี่แยกวัดโหนด เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกันของประชากรทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ฉะนั้นจึงมีการแบ่งพื้นที่ถือครองในชุมชนอย่างชัดเจน โดยประชากรไทยพุทธจะรวมกลุ่มอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน บริเวณที่ราบลุ่มติดลําน้ำบางตง ส่วนประชากรไทยมุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ จะกระจายกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทิศเหนือที่มีอาณาเขตต่อกับบ้านกลางหมู่ 4 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีแต่ประชากรไทยมุสลิมทั้งหมด

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ลักษณะครอบครัวของชุมชนบ้านสี่แยกวัดโหนดมีทั้งที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ในครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวจะประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกเป็นสมาชิกในครอบครัว แต่ในครอบครัวขยายจะมี ปู่ ย่า หรือ ตา ยาย รวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกันกับลูกหลานของตน ซึ่งครอบครัวประเภทนี้มักพบในคู่แต่งงานใหม่ที่ยังไม่ได้แยกครอบครัว แบบปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ พบว่าคู่แต่งงานใหม่มักจะนิยมอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อลูกของตน โตพอสมควรจึงจะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านพ่อแม่ หรืออาจแยกไปปลูกบ้านในที่ดินที่ที่พ่อแม่ยกให้ ในกรณีที่ชายหรือหญิงเป็นลูกคนสุดท้อง เมื่อแต่งงานแล้วมักจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพื่อดูแลในยามแก่ชรา และในกรณีที่ทั้งคู่เป็นลูกคนสุดท้อง ก็จะมีการตกลงกันว่าควรจะไปอาศัยอยู่กับบ้านของพ่อแม่ฝ่ายใด ซึ่งลักษณะดังกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นลักษณะครอบครัวของทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม

ความสัมพันธ์ภายในชุมชน

ชาวบ้านในหมู่บ้านสี่แยกวัดโหนดแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องขอแงศาสนา แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านก็ยังคงความสัมพันธ์ทางเครือญาติทั้งกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรไทยมุสลิมซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของหมู่บ้าน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ เช่น การหยิบยืมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ การช่วยดูแลรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย หรือการจัดงานไม่ว่า จะเป็นงานมงคล หรืองานศพ ในกรณีของชาวไทยพุทธหรือชาวไทยมุสลิมคนใดคนหนึ่งจัดงาน ญาติพี่น้องทั้งภายในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน ตลอดจนเพื่อนบ้านทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมก็จะมาช่วยงานตั้งแต่วันแรกจนแล้วเสร็จ หรือบางส่วนก็จะมาเป็นแขกร่วมงานกันอย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพหรือผู้จัดงาน และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน 

การปกครอง

บ้านสี่แยกวัดโหนด เดิมเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตําบลหัวตะพาน อําเภอท่าศาลา แต่ต่อมาจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าตําบลหัวตะพานซึ่งมีหมู่บ้านทั้งหมด 15 หมู่บ้าน เป็นตําบลที่ใหญ่เกินไป ไม่สะดวกในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ประกอบกับทั้ง 15 หมู่บ้าน แยกกันอยู่เป็น 2 กลุ่ม มีทุ่งนากั้นตรงกลาง โดยกลุ่มหนึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม และอีกกลุ่มหนึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธ เพื่อให้สะดวกในการปกครองดูแลจึงรวมหมู่บ้านริมฝั่งถนนท่าศาลา- ดอนคาขึ้นเป็นตําบล ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม เมื่อปี พ.ศ. 2531 ให้ชื่อใหม่ว่า "ตําบลโพธิ์ทอง" และส่วนที่เหลือให้ขึ้นกับตําบลหัวตะพานตามเดิม การปกครองในตําบลมีกํานันเป็นผู้ปกครอง กํานันเป็นชาวไทยมุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่ 5 ดังนั้นหมู่บ้านสี่แยกวัดโหนดจึงไม่มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง เนื่องจากมีกํานันปกครองอยู่แล้ว

การประกอบอาชีพ

การทำนาข้าว: การทํานาเป็นอาชีพที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สภาพพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเหมาะแก่การทํานาปลูกข้าวโดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม แต่การทำนาข้าวของชาวบ้านสี่แยกวัดโหนดมีจุดประสงค์เพื่อเก็บไว้บริโภคเป็นหลัก ครอบครัวใดที่ได้ปริมาณข้าวมากเหลือจากการบริโภคในรอบปีจึงจะนำออกไปขจำหน่าย โดยการทำนาจะสามารถทําได้ปีละ 2 ครั้ง คือนาปี และนาปรัง นาปรังจะเริ่มทําราวเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมดิน ไถ หว่าน และจะเริ่มดำประมาณเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม ประมาณเดือนพฤศจิกายนจึงจะสามารถเกี่ยวได้ พันธุ์ข้าวที่นิยมใช้มักเป็นพันธุ์ข้าวเบา เช่น พันธุ์เหลืองเบา พันธุ์หอมแดง หรือพันธุ์หอมขาว ส่วนนาปีจะเริ่มดำประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน และจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พันธุ์ข้าวที่นิยมใช้มักเป็นพันธุ์เข็มทอง ชาวบ้านให้เหตุผลว่าเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนต่อสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะแห้งแล้ง หรือน้ำท่วมก็ไม่ตาย ให้เมล็ดใหญ่ ไม่แตกหรือหักง่าย เวลาหุงน่ารับประทาน

การเก็บข้าวของชาวนาที่นี่จะเหมือนกับชาวนาในภาคใต้ทั่วไป คือจะใช้อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “แกะ” ซึ่งจะใช้มือขวาเป็นมือที่ถนัดในการถือแกะตัดรวงข้าว เหลือคอรวงข้าวยาวพอประมาณที่จะใช้ผูกหรือมัดรวมกันได้ เมื่อเก็บข้าวได้จํานวนหนึ่งมากพอขนาดกํามือ จะนำมามัดรวมกันเรียกว่า “เสียง”

การทำนากุ้ง: ปัจจุบันชาวบ้านด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้ทะเลนิยมเปลี่ยนอาชีพจากการทํานาข้าวมาเป็นการทํานากุ้งกันเป็นจํานวนมาก แต่การทำนากุ้งนั้นค่อนข้างใช้ต้นทุนสูง บ่อกุ้งขนาด 6 ไร่ ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 บาท ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน จึงจะจับขายได้ราว 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา กิโลกรัมละ 110-120 บาท เมื่อคิดรวมแล้ว บ่อกุ้งขนาด 6 ไร่ จะได้กําไรราว 200,000 หากไม่เป็นโรคระบาดตาย น้ำไม่เสีย หรือมีปัญหาอุปสรรคใด ๆ แต่หากปีใดที่น้ำท่วมบ่อกุ้ง ชาวบ้านจึงจําเป็นต้องรีบจับกุ้งขายตั้งแต่ขนาด 60-65 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาราวกิโลกรัมละ 80-86 บาท ซึ่งนับว่าไม่ได้กําไร

การทำสวนยางพารา: การทําสวนยางพารานับว่าเป็นอาชีพที่ชาวบ้านทำคู่กับการทํานามาตั้งแต่อดีต เดิมชาวบ้านนิยมใช้พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะลําต้นใหญ่ ผิวขรุขระ แต่ให้น้ำยางน้อย ปัจจุบันองค์การสงเคราะห์สวนยางพาราได้ส่งเสริมการปลูกยางพาราพันธุ์ RRIM 600 และพันธุ์ PR 255 แทนยางสายพันธุ์พื้นเมือง คุณสมบัติของยางพันธุ์ RRIM 600 เป็นยางพันธุ์ที่ชอบที่ตอน ไม่ทนน้ำ แต่ให้น้ำยางมาก เริ่มกรีดยางได้เมื่ออายุประมาณ 5-7 ปี ต้นยางพารา 1 ต้น มีพื้นที่กรีดยางได้ 3 รอบเปลือก เมื่อรวมอายุแล้วยางพาราต้นหนึ่งสามารถกรีดยางได้ประมาณ 15-20 ปี

การทำสวนมะพร้าว: การทำสวนมะพร้าวนิยมบริเวณที่อยู่อาศัย หรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากจะทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่ในบ้านสี่แยกวัดโหนดส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าวไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจึงจะนำออกจำหน่าย โดยจะมีทั้งที่ขายผลสด และแปรรูป

นอกจากการประกอบอาชีพในภาคงานเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านชุมชนสี่แยกวัดโหนดบางส่วนยังมีการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือภาคเกษตรกรรม ได้แก่ รับราชการและรัฐวิสาหกิจ อาชีพรับจ้าง โดยส่วนใหญ่จะรับจ้างในโรงงานเผาอิฐ 

ศาสนา

ในชุมชนสี่แยกวัดโหนดมีประชากรที่นับถือศาสนา 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ และกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ กลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธมีวัดสระประดิษฐ์เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีพระครูปราโมทย์ธรรมวิสิษฐ์เป็นเจ้าอาวาส ส่วนประชากรผู้นับถือศาสนาอิสลามจะใช้มัสยิดมูมาดียะห์ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ลักษณะการสร้างบ้านเรือน

ชาวบ้านนิยมตั้งบ้านเรือนรวมกลุ่มอยู่ริมถนนทั้ง 2 ข้าง และกระจายอยู่ตามสวนยางพารา โดยหันหน้าบ้านออกสู่ถนน ส่วนรูปแบบบ้านในหมู่บ้านสี่แยกวัดโหนด สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ บ้านใต้ถุนสูง บ้านติดดิน และบ้านห้องแถว

บ้านใต้ถุนสูง: เป็นบ้านชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง นิยมสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง กั้นฝาด้วยไม้กระดาน รูปทรงหลังคานิยมทรงจั่วมีความลาดเอียงมาก เพราะจะช่วยให้น้ำฝนไหลลงได้ดี และช่วยระบายความร้อนได้ดีในฤดูร้อน หลังคานิยมมุงด้วยตับจาก กระเบื้องดินเผา สังกะสี และกระเบื้องลอนคู่ บ้านในลักษณะนี้ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน จึงสามารถมองเห็นขื่อคาน และส่วนประกอบหลังคาได้ชัดเจน

บ้านติดดิน: เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว นิยมสร้างด้วยอิฐถือปูน ลักษณะบ้านเป็นเพิงหมาแหงน มีกันสาดยื่นมาข้างหน้า หลังคานิยมมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ บ้านลักษณะนี้ไม่นิยมสร้างให้มีความสูงมากนัก ความสูงโดยทั่วไปประมาณ 4 เมตรจากพื้นดิน 

บ้านห้องแถว: นิยมปลูกสร้างบ้านชนิดนี้ในบริเวณตลาด ลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างนิยมเทคอนกรีตใช้เป็นสถานที่ค้าขาย ชั้นบนใช้เป็นห้องนอน ผนังนิยมกั้นด้วยไม้กระดาน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องลอนคู่ ห้องน้ำและห้องส้วม นิยมสร้างไว้ใต้บันใด ก่อด้วยอิฐถือปูน ภายในมีภาชนะเก็บน้ำไว้ใช้สําหรับอาบ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เนื่องจากหมู่บ้านสี่แยกวัดโหนดประกอบด้วยประชากร 2 กลุ่ม ฉะนั้นภาษาที่ประชากรทั้งสองกลุ่มใช้จึงมีความแตกต่างกัน โดยในกลุ่มไทยพุทธจะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในการสื่อสารกันภายในกลุ่ม และในกลุ่มไทยมุสลิมจะใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาในการสื่อสาร แต่ปัจจุบันคนหนุ่มคนสาวชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่มักนิยมใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในการสื่อสารมากกว่าการใช้ภาษามลายู ดังที่ผู้ใหญ่มักกล่าวว่า "คนรุ่นใหม่ เลิกพูดภาษายาวแล้ว แต่ยังพอฟังเข้าใจ"

อย่างไรก็ตาม ประชากรทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมสามารถฟังและเข้าใจภาษาของอีกกลุ่มหนึ่งได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่มีคนต่างถิ่นเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านนิยมใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการสื่อสาร ยกเว้นในกรณีของผู้สูงอายุที่ยังคงใช้ใช้ภาษาถิ่นของตนในการสื่อสาร (ณรงค์ อาจสมิติ, 2537: 66)


เยาวชนในหมู่บ้านสี่แยกวัดโหนดจะเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดสระประดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ส่วนครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะส่วนใหญ่มักจะส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนในตัวอําเภอหรือที่จังหวัด การศึกษาต่อระดับมัธยมปัจจุบันมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากมีโรงเรียนระดับมัธยมเปิดสอนที่ตําบลโมคลาน แต่เมื่อจบมัธยมปีที่ 3 แล้วส่วนใหญ่จะหางานทํา ส่วนที่เรียนต่อในระดับที่สูงกว่านี้มีจํานวนน้อยมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าหมุ่บ้านบ้านสี่แยกวัดโหนดแห่งนี้นี้ ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะนับถือนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังไม่มีการก่อตั้งโรงเรียนในลักษณะที่เรียกว่า “ปอเนาะ” เลย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณรงค์ อาจสมิติ. (2537). ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์ต่อการเป็นโรคพยาธิปากขอในภาคใต้: กรณีศึกษาบ้านสี่แยกวัดโหนด หมู่ที่ 5 ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

Auan W. (2556). ตลาดสดสี่แยกวัดโหนด. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://foursquare.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].