Advance search

การย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ประวัติศาสตร์เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ มีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกับพัฒนาการชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 4
บ้านปงป่าเอื้อง
แม่ปูคา
สันกำแพง
เชียงใหม่
ทต.แม่ปูคา โทร. 0-5396-5542
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 มิ.ย. 2024
บ้านปงป่าเอื้อง

พื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีดอกเอื้องชนิดต่าง ๆ อยู่มาก ชาวบ้านจึงได้นำลักษณะดังกล่าวมาตั้งเป็นชื้อชุมชนว่า ปงป่าเอื้อง


ชุมชนชนบท

การย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ประวัติศาสตร์เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ มีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกับพัฒนาการชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

บ้านปงป่าเอื้อง
หมู่ที่ 4
แม่ปูคา
สันกำแพง
เชียงใหม่
50130
18.77982929131633
99.12975803017616
เทศบาลตำบลแม่ปูคา

เดิมทีที่ตั้งบ้านปงป่าเอื้องแห่งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาก่อน โดยความเป็นมาของชุมชนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เมื่อเกิดสงครามการต่อสู้กับพม่าทำให้ชาวบ้านแตกฉานซ่านเซ็นกระจัดกระจายกันออกไปจนกลายเป็นชุมชนร้าง สังเกตได้จากซากปรักหักพังและวัดเก่าแก่ที่มีอยู่หลายแห่งในพื้นที่ เวลาผ่านไปพื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นป่ารกทึบที่มีพรรณไม้ขึ้นปกคลุมอุดมสมบูรณ์ ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2420 เริ่มมีกลุ่มคนเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยอพยพมาจากบ้านปูคาและบ้านป่าสักน้อย ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งมาก่อนและอยู่ไม่ไกลนัก บางครอบครัวเริ่มมาแผ้วถางป่าเพื่อทำมาหากิน ขยับขยายพื้นที่สร้างบ้านเรือนใหม่ โดยแรกเริ่มเป็นเพียงที่พักชั่วคราวสำหรับเฝ้าสวนไร่นา และมีเพียงไม่กี่ครอบครัว ต่อมาเริ่มมีผู้คนเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกิน และสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวรมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดเล็ก และด้วยลักษณะพื้นที่ชุมชนที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ทำให้มีดอกเอื้องชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ จึงได้เรียกชุมชนนี้ว่า ปงป่าเอื้องในช่วงปี พ.ศ. 2445 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดประจำชุมชนขึ้นชื่อวัดปงป่าเอื้อง ในปี พ.ศ. 2547 มีชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ 40 หลังคาเรือน และพื้นที่ป่าเริ่มเบาบางลงจากการตัดไม้ไปสร้างบ้านเรือน และในปี พ.ศ. 2480 ชุมชนขยายตัวเพิ่มเป็น 90 หลังคาเรือน และมีการเรียนในวัดปงป่าเอื้อง ในปี พ.ศ. 2509 มีการย้ายโรงเรียนออกมาสร้างในพื้นที่ข้างวัด พร้อมกับมีการตัดถนนการคมนาคมที่เริ่มเจริญก้าวหน้าไปตามพัฒนาการทางสังคม มีการเข้ามาของผู้คนจนกลายเป็นชุมชนบ้านปงป่าเอื้องมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางกายภาพพื้นที่ชุมชนบ้านปงป่าเอื้อง ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ชุมชนมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มลำน้ำปูคา ซึ่งไหลทอดยาวไปตามแนวเขตทางด้านทิศตะวันตกของตำบล ที่ตั้งชุมชนอยู่ในระดับความสูงประมาณ 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสันกำแพง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,665 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าสักยาว ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปูคาเหนือ และบ้านป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสันข้าวแคบ ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านปงป่าเอื้อง ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 817 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 393 คน ประชากรหญิง 424 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 350 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบอาชีพหลักด้านการทำเกษตรกรรม โดยเป็นการทำไร่ทำสวนเช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือทั่วไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะมีพื้นที่ทำกินไม่มากนัก เนื่องจากชุมชนบ้านปงป่าเอื้องเป็นชุมชนที่เกิดจากการขยับขยายตัวของครอบครัวในชุมชนข้างเคียงเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ ดังนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นของชาวบ้านดั้งเดิมในชุมชนโดยรอบที่เข้ามาแผ้วถางจับจองพื้นที่ตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้เหลือพื้นที่ในบริเวณส่วนน้อยที่ชาวบ้านปงป่าเอื้องสามารถแผ้วถางและจับจองเป็นของตนเองได้ในภายหลัง ประชากรบางส่วนจึงมีการเช่าที่นาของเพื่อนบ้านในการเพาะปลูก หรือเช่าพื้นที่ของนายทุนเพื่อทำการเกษตรในการยังชีพ โดยพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกจะเป็นการทำข้าวไร่ ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ ข้าวแก้ว ข้าวลาย ในส่วนของพื้นที่เช่าทำการเกษตรชาวบ้านจะปลูกข้าวเจ้าเพื่อแบ่งผลผลิตให้กับเจ้าของที่ หรือขายข้าวเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเช่าที่ และชาวบ้านยังมีการทำปศุสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือแบ่งขาย เช่น หมู วัว ควาย ไก่ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีการออกไปรับจ้างนอกพื้นที่เพื่อนำรายได้กลับมาเลี้ยงดูครอบครัว หรือบางส่วนก็ออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่

บ้านปงป่าเอื้อง ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีระบบความเชื่องแบบคนเมืองทั่วไป โดยเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบพุทธ พราหมณ์ และผีเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ชาวบ้านมีการทำบุญทำทาน เข้าวัดตักบาตรตามปกติวิถีของชาวพุทธ ร่วมกันทำบุญในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัดปงป่าเอื้องเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมศรัทธา และเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมทางศาสนาของชุมชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีการนับถือผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษของตระกูลซึ่งนับถือสืบต่อกันมาทางสายฝ่ายหญิง โดยมี “เก๊าผี” เป็นผู้อาวุโสสืบทอดและเป็นผู้นำกลุ่มในแต่ละสายตระกูลนั้น ๆ โดยมีการเลี้ยงผีปู่ย่าปีละ 1-2 ครั้งตามแต่สายตระกูลเคยปฏิบัติ ซึ่งจะจัดในช่วงเดือน 4 หรือเดือนมกราคม และเดือน 9 หรือเดือนมิถุนายน โดยนิยมเลี้ยงในวันพฤหัสบดีข้างขึ้นเพราะถือว่าเป็นวันดี โดยชุมชนมีการจัดประเพณีเทศกาลสำคัญในแต่ละรอบปี ตัวอย่างเช่น ประเพณีวันสงกรานต์ช่วงเดือนเมษายน ประกอบด้วยสามวัน คือ วันสังขารล่อง วันเน่า และวันพญาวัน ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทง ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า บุญกฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปาริชาด เรืองวิเศษ. (2532). แรงงานผู้หญิง: ผลกระทบของการจ้างงานต่อสถานภาพผู้หญิงและครอบครัว กรณีศึกษาหมู่บ้านปงป่าเอื้อง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดปงป่าเอื้อง สันกำแพง เชียงใหม่. (2558). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

วัดปงป่าเอื้อง สันกำแพง เชียงใหม่. (2559). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

ทต.แม่ปูคา โทร. 0-5396-5542