ชุมชนเก่าแก่เมืองกาญจนบุรี สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แหล่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดีและรวบรวมไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเยี่ยมชม กับเรื่องราววิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชน
บริเวณพื้นที่ชุมชนเคยมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านมาแต่โบราณ พบหลักฐานเก่าแก่ในบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า “บ้านเก่า”
ชุมชนเก่าแก่เมืองกาญจนบุรี สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แหล่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดีและรวบรวมไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเยี่ยมชม กับเรื่องราววิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชน
ชาวบ้านที่เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนนี้เป็นชาวบ้านจากบ้านถ้ำ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้แสวงหาพื้นที่ทำกินในพื้นที่ราบลุ่มแถบแม่น้ำแควน้อย ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวปรากฏร่องรอยชุมชนโบราณที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน ชาวบ้านพบเครื่องปั้นดินเผา ข้าวของเครื่องใช้โบราณต่าง ๆ บริเวณปากห้วยแมงลัก และถัดขึ้นไปบริเวณต้นน้ำห้วยแมงลักยังมีถ้ำที่พบพระพุทธรูปและถ้วยชามโบราณจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เมื่อชาวบ้านมาตั้งเป็นชุมชนใหม่จึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเก่า” โดยในระยะแรกมีชาวบ้านอพยพจากบ้านถ้ำเข้ามาตั้งบ้านเรือนประมาณ 4 ครอบครัว โดยการทำไร่ทำนา ปลูกผักสวนครัว ล่าสัตว์ในป่าเป็นอาหาร และฟันไม้ไผ่รวกขาย ต่อมาก็ได้มีการแต่งงานกับบ้านใกล้เคียง และมีการโยกย้ายเข้ามาจากชุมชนต่าง ๆ เพิ่มเติมจนชุมชนขยายใหญ่ขึ้น ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2459 มีพระธุดงค์ได้ล่องเรือมาจากสมุทรสงครามมาถึงบ้านเก่า ชาวบ้านจึงนิมนต์และตั้งวัดบ้านเก่าขึ้น ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 70 ครัวเรือน กระจายกันอยู่ตามริมฝั่งน้ำลงมาถึงวัดบ้านเก่า แบ่งออกเป็นบ้านบน บ้านกลาง และบ้านล่าง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2485 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มสร้างทางรถไฟจากไทยไปยังพม่า ช่วงต้นปี พ.ศ. 2486 ได้ตัดทางรถไฟมาถึงบริเวณบ้านเก่า และนำเชลยศึกจากพื้นที่ต่าง ๆ มาด้วย และเมื่อสงครามยุติในปี พ.ศ. 2488 เชลยบางส่วนก็ได้ลงหลักปักฐานที่บ้านเก่า และในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นตัดทางรถไฟมาถึงบ้านเก่าชาวบ้านก็ได้มีการทำหมอนรถไฟส่งให้กับญี่ปุ่น เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ด้วยเหตุนี้ชุมชนบ้านเก่าจึงมีผู้คนอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น และเป็นชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านเก่า หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแถบแม่น้ำแควน้อยฝั่งตะวันออกใกล้กับเขาแมงลัก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านชาวบ้านเรียกเขาหินดาด เขาถ้ำพระ และเขาปถวี ทางด้านทิศเหนือมีกลุ่มเขาเมืองครุฑ ในเขตอำเภอไทรโยค มีลำห้วยแมงลักไหลพาดผ่านทางด้านทิศเหนือมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยที่ปากห้วยแมงลัก บ้านเรือนตั้งอยู่บนเนินสูงลาดลงไปสู่หาดทรายริมแม่น้ำแควน้อย เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง บ้านเรือนตั้งเรียงรายไปตามแนวแม่น้ำ แบ่งออกเป็น บ้านบน บ้านกลาง และบ้านล่าง โดยมีท่าน้ำเรียงรายอยู่ตลอดแนว ไปจนถึงบริเวณวัดบ้านเก่า ซึ่งมีท่าน้ำวัดเช่นเดียวกัน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,590 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 784 คน ประชากรหญิง 806 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 710 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาตั้งแต่อดีต โดยเป็นการปลูกข้าว ทำนาสำหรับบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีการหาของป่า พืชผักต่าง ๆ รวมทั้งสัตว์ป่าหลายชนิดและปลาในแม่น้ำ เพื่อนำมาประกอบอาหาร และแบ่งให้กับหมู่ญาติพี่น้องอย่างทั่วถึง และรายได้สำคัญก็จะมาจากการอาศัยประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ คือ การตัดไม้รวกขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ ปัจจุบันอาชีพเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามพัฒนาการทางสังคม แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังคงวิถีการทำนา หาของป่า เพื่อบริโภคและแบ่งขายเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ยังมีการทำไร่ไม้ผล ไม้ล้มลุกต่างๆ เช่น พริก มะเขือ แตงกวา กล้วย อ้อย ฯลฯ ทั้งยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ไก่ และปลา เป็นต้น
ต่อมามีการทำโครงการผลักดันและจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งบริเวณพื้นที่บ้านเก่าก็มีสถานที่ที่สำคัญสามารถผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้หลายแห่ง ทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดการลงทุนพื้นที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปี 2532-2535 ชาวบ้านมีการขายที่ให้กับนายทุนเป็นจำนวนมากเพื่อจัดทำเป็นที่พักรับรองนักท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนหันไปประกอบอาชีพค้าขาย และอาชีพรับจ้างทั่วไปมากยิ่งขึ้น
ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดบ้านเก่าเป็นศูนย์รวมศรัทธาชุมชน และเป็นศูนย์การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้าน และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมไปถึงประเพณี เทศกาลที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ การนับถือผีที่ยึดปฏิบัติควบคู่กันไป สังเกตได้จากประเพณีพิธีกรรมของปัจเจกบุคคล หรือกิจกรรมประเพณีที่ดำเนินไปด้วยความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมอย่างกลมกลืน โดยชาวบ้านมีการเข้าวัดทำบุญอยู่เป็นประจำ ในช่วงวันพระและวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะพากันเข้าวัดทำบุญกันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงในวันสำคัญทางศาสนาเช่นเดียวกัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา วันสารท งานบุญกฐิน เป็นต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เนื่องจาก ดร.เอชอาร์ แวน เฮเกอเร็น (H.R.VanHeekerren) นักโบราณคดีชาวฮอลันดาซึ่งถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัด ขณะทำงานอยู่บริเวณตำบลบ้านเก่า เมื่อสงครามสงบยุติ ได้นำเครื่องมือหินที่พบกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่สหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่บ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นระหว่าง พ.ศ. 2503-2505 คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก ได้ทำการศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า บริเวณที่ดินของนายลือ-นายบาง เหลืองแดง บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่าขึ้น บริเวณใกล้กับแหล่งขุดค้น ในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเก็บรวบรวมรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอื่นๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ภายในพิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดง 6 ห้อง ประกอบด้วย
- ห้องที่ 1 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองกาญจนบุรี สภาพภูมิประเทศ ธรณีวิทยา ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ
- ห้องที่ 2 จัดแสดงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา
- ห้องที่ 3 จัดแสดงโลงไม้ซึ่งขุดพบในถ้ำเพิงผา บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่
- ห้องที่ 4 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรี
- ห้องที่ 5 จัดแสดงพัฒนาการชุมชนเมืองกาญจนบุรี จำลองภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์ สังคมเกษตรกรรมและภาพถ่ายโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ
- ห้องที่ 6 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทเมืองสิงห์
จังหวัดกาญจนบุรี. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://ww2.kanchanaburi.go.th/travel/
ไทโพสต์. (2565). ‘พิพิธภัณฑ์บ้านเก่า’ ที่เที่ยวใหม่ กาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก https://www.thaipost.net/
วัลภา ขวัญเย็น. (2536). บทบาทของผู้หญิงในการอบรมเลี้ยงดูลูก: กรณีศึกษาบ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.