Advance search

บ้านไทย-จังโหลน

ไทย-จังโหลน ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวทางสถานบันเทิงและสถานบริการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในพื้นที่เขตพรมแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย

ไทย-จังโหลน
สำนักขาม
สะเดา
สงขลา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2023
บ้านไทย-จังโหลน


ชุมชนชนบท

ไทย-จังโหลน ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวทางสถานบันเทิงและสถานบริการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในพื้นที่เขตพรมแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย

ไทย-จังโหลน
สำนักขาม
สะเดา
สงขลา
90320
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-3459-9661, เทศบาลสำนักขามโทร. 0-7452-3920-6
6.526795245
100.4194
เทศบาลตำบลสำนักขาม

ประวัติความเป็นมาของบ้านไทย-จังโหลนไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากคําบอกเล่าของคนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานกล่าวว่า แต่เดิมชื่อของพื้นที่บริเวณนี้มิได้ชื่อไทยจังโหลน แต่ชื่อ “บ้านควนไม้ดํา” ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองบูกิตกายูฮิตัม อําเภอจังโหลน รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย โดยคําว่า บูกิต แปลว่า ภูเขา ส่วน กายู แปลว่า ไม้ และฮิตัม แปลว่า สีดํา และ คําว่า “ควน” ในภาษาถิ่นใต้แปลว่า เนินหรือภูเขาลูกเล็ก สภาพพื้นที่ในขณะนั้นมีลักษณะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเป็นป่าธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นสวนยางพารา (ยางพันธุ์โบราณ) และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของคนมาเลเซีย เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน คนมาเลเซียจึงเข้ามาจับจองพื้นที่และคนไทยก็ซื้อที่ต่อจากจากคนมาเลเซียแล้วนํามาจัดสรร และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษประเทศไทยจะสิ้นสุดเพียงด่านพรมแดนของอําเภอสะเดา

คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่หมู่บ้านไทย-จังโหลน เป็นชาวบ้านที่มาจากจังหวัดสตูล ปัตตานี และสงขลา เพื่อมาประกอบอาชีพทําสวนยางพารา รับจ้างกรีดยาง ตัดยาง และดูแลสวนยางให้เจ้าของที่ดินและเจ้าของสวนยางซึ่งมีทั้งที่เป็นคนมาเลเซียและคนไทย การเข้ามาบุกเบิกที่ดินจึงเป็นไปในลักษณะการเดินทางไป ๆ มา ๆร ะหว่างพื้นที่ที่ได้บุกเบิกเอาไว้กับพื้นที่บริเวณด่านเก่า โดยจะสร้างขนําเล็กไว้พัก เมื่อชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาทําสวนยางพาราได้สักระยะหนึ่งจึงเห็นลู่ทางในการจับจองที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งมีทั้งที่เป็นดินสงวนและป่าสงวน วิธีการจับจองจะใช้การปักหลักแสดงอาณาเขตว่าที่บริเวณนี้ใครจับจอง ใครเป็นเจ้าของ โดยการปักหลักนั้นจะอาศัยการปักไม้ตามแนวร่องสวนยางพารา และอีกวิธีหนึ่ง คือ การถางป่าแก่ หากว่าใครสามารถถางที่ได้มากก็จะได้ที่ดินมาก ส่วนลักษณะการสร้างบ้านของคนในสมัยก่อน จะสร้างแบบกระจัดกระจาย ไม่ได้กระจุกอยู่ในละแวกเดียวกัน หากผู้ใดมีความประสงค์จะสร้างบ้าน ต้องไปแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมีการทยอยกันเข้ามาหลายช่วง คือ กลุ่มผู้ที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่หมู่บ้านตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2519 กลุ่มที่เดินทางเข้ามาสบทบเมื่อปี พ.ศ. 2521-2525 และกลุ่มสุดท้ายอพยพเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2526-2531

บ้านไทย-จังโหลน เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเขตพรมแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของไทย เมื่อปลายปีพ.ศ. 2526 มีการใช้นโยบาย “การเมืองนําการทหาร” โดยมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นําทางด้านยุทธศาสตร์ พลเอกหาญ ลีนานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 พลเอก-อาทิตย์ กําลังเอก เป็นผู้นําทางกองทัพ ในขณะนั้นมีปัญหาขัดแย้งระหว่างพลเอกหาญ ลีนานนท์ กับพลเอกอาทิตย์ กําลังเอกเป็นระยะ ๆ ระหว่างนโยบายใต้ร่มเย็นกับนโยบายเก่า (การทหารนําการเมือง) ที่สวนทางกับนโยบาย การเมืองนําการทหาร เพราะเมืองสงขลาแห่งนี้อยู่ภายใต้ “แผนใต้ร่มเย็น 1” ซึ่งทางพลเอกหาญ ลีลานนท์ เป็นผู้วางนโยบายให้เมืองชายแดนมีความเจริญ เพื่อเป็นการปราบปรามกลุ่มโจรคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมอยู่ตามแนวชายแดนให้ออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะบ้านไทย-จังโหลนมีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีหรือเทือกเขาน้ำค้างกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย พื้นที่บริเวณโดยรอบเทือกเขามีลักษณะเป็นป่าดงดิบ รกทึบ มีพรรณไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ทำใหกลายเป็นแหล่งหลบซ่อนและทําการเคลื่อนไหวของโจรผู้ร้าย และขบวนการกองโจรหลายรูปแบบ รัฐบาลไทยและมาเลเซียจึงได้มีการร่วมมือกันปฏิบัติการร่วมเพื่อทําการปราบปรามกองกําลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ทําให้พื้นที่บ้านไทย-จังโหลนถูกถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง (อธิฏฐาน พงศ์พิศาล, 2549: 53) ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้น บวกกับการที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา จึงทําให้ผู้คนไม่กล้าเข้ามาอาศัยหรือตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ แต่ภายหลังจากปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย ก็ได้มีผู้คนเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในบ้านไทย-จังโหลนมากขึ้น ซึ่งมีการนำเอาธุรกิจโรงแรมเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงขั้นว่าบางรายต้องเลิกกิจการไป

ต่อมาเมื่อ มาเลเซียได้ก่อสร้างด่านพรมแดนใหม่ รวมทั้งก่อตั้งศูนย์การค้าปลอดภาษี ในช่วงนี้เริ่มมีบาร์ที่มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นมา และได้มีการสร้างด่านพรมแดนสะเดาที่บ้านไทย-จังโหลน กระทั่งในปี พศ . แผนที่และสภาพแวดล้อมชุมชน กระทั่ง ปี พ.ศ. 2536 เกิดการก่อตั้งโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ในระยะแรกของการก่อตั้งโครงการนั้น ไม่ได้มีผลกับพื้นที่บ้านไทย-จังโหลนเท่าใดนัก แต่ภายหลังได้มีการประชุมเทคนิคพัฒนาการท่องเที่ยว และขยายเวลาเปิด-ปิด ด่านพรมแดนสะเดาบ้านไทยจังโหลน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศมากขึ้น ซึ่งในระยะนี้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อบ้านไทย-จังโหลนโดยตรง และจากทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในหมู่บ้านไทย-จังโหลนกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นเรื่องสถานบันเทิงและสถานบริการในพื้นที่พรมแดนระหว่าไทย-มาเลเซียมาจนปัจจุบัน 

สภาพพื้นที่

บ้านไทย-จังโหลน หมู่ที่ 7 เป็นหมู่บ้านหนึ่งทางชายแดนภาคใต้ของไทย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตําบลสํานักขาม อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อาณาเขตด้านใต้อยู่ติดกับรัฐเกดะห์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซีย ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ราบสูง และสวนยางพารา ลาดเทจากบริเวณทิศใต้ไปทางทะเลสาบสงขลา มีเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี (หรือเทือกเขาน้ำค้าง) กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย บ้านไทย-จังโหลนจึงมีพื้นที่เป็นแนวพื้นที่ราบเชิงเขาเชื่อมต่อกับพื้นที่ตอนในของทั้งสองประเทศ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทําให้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี มี 2 ฤดูกาลคือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนมกราคม และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-เดือนเมษายน ส่วนทิศทางการไหลของน้ำ จะไหลจากด้านใต้ลงด้านเหนือและด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อผ่านพื้นที่ราบทําให้เกิดแอ่งรับน้ำ เช่น หนองสะเดา หนองขาว เป็นต้น ต้นน้ำสายสําคัญส่วนใหญ่เกิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรีทางใต้ ซึ่งคลองต้นกําเนิดคลองย่อยในพื้นที่ คือ คลองอู่ตะเภา โดยมีต้นน้ำอยู่ในตําบลสํานักแต้ว อําเภอสะเดา โดยแยกย่อยเป็นคลองสาขาต่าง ๆ คือ คลองพรวน คลองล่าปัง คลองครอบ และคลองสาขาสายย่อยหลายสาย

การคมนาคม

ปัจจุบันบ้านไทย-จังโหลนมีเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนภายนอกที่สําคัญ (นอกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) เพียงเส้นเดียว คือ เส้นทางไปด่านปาดังเบซาร์ เส้นทางดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่านภูเขาซึ่งมีลักษณะทางคดเคี้ยว การเดินทางต้องใช้เวลานาน ประชาชนจึงมักนิยมเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปทางทิศเหนือถึงอําเภอสะเดา แล้วแยกซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลย 4045 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ตามเส้นทางสายนี้ถือเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์สายเหนือ เนื่องจากมีแนวเส้นทางเลียบไปตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งตลอดเส้นทางจะมีรั้วกั้นเขตแดนตั้งแต่ด่านชายแดนสะเดาจนถึงด่านชายแดนปาดังเบซาร์

ปัจจุบันบ้านไทย-จังโหลนมีประชากรในพื้นที่ที่ปรากฏรายชื่อในทะเบียนราษฎร์ จำนวน 1,624 คน โดยในจำนวนนี้มีทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม อนึ่ง เนื่องจากบ้านไทย-จังโหลนเป็นหมู่บ้านเขตพรมแดนที่ค่อนข้างคึกคักด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบันเทิงและสถานบริการ ทำให้ภายในบ้านไทย-จังโหลนยังมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ คนกลุ่มนี้คือประชากรแฝงที่มีจำนวนมากกว่า 30,000 คน 

เศรษฐกิจ

ในอดีตชาวบ้านไทย-จังโหลนมีอาชีพหลัก คือ การทำสวนยางพารา แต่ภายหลังจากปัญหาโจรคอมมิวนิสต์คลี่คลายในปี พ.ศ. 2530 สภาพเศรษฐกิจหลักในพื้นที่บ้านไทย-จังโหลน เปลี่ยนแปลงจากการทำสวนยางพารามาเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น สถานบันเทิง คาราโอเกะ ร้านอาหาร นวดแผนโบราณ อาบ-อบ-นวด และธุรกิจโรงแรม

กลุ่มองค์กรชุมชน

ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจบ้านไทย-จังโหลน: ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและบริการการท่องเที่ยว เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมร่วมกันของสมาชิกตลอดจนประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก เพื่อสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรราชการและเอกชนในการส่งเสริมการค้าการบริการแก่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่น วางระเบียบข้อบังคับให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบการค้าการท่องเที่ยวได้ดําเนินไปโดยมีประสิทธิภาพเป็นที่วางใจแก่นักท่องเที่ยว ส่งเสริมความร่วมมือ ความสามัคคี และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิก ดําเนินการหาทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานตามวัตถุประสงค์ของชมรม และไม่ดําเนินการใด ๆ ในทางการเมืองทั้งสิ้น สําหรับสมาชิกของชมรมจะเป็นผู้ประกอบการอยู่ในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ผู้ประกอบการด้านโรงแรม อพาร์ทเมนต์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง เป็นต้น

กลุ่มแม่บ้านไทย-จังโหลน: เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์อยากให้คนในหมู่บ้านมีกลุ่มแม่บ้านเหมือนกับหมู่อื่น ๆ และเพื่อที่จะได้ฝึกอาชีพให้แก่แม่บ้านและคนที่สนใจ ผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่ม คือ ดอกไม้ใยบัว ซึ่งจะนําไปวางขายตามตลาดนัดชายแดนหรืองานขายของราคาถูก รายได้ที่ได้จากการขายดอกไม้ใยบัวจะนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มและเก็บไว้เป็นเงินทุนในการพัฒนากลุ่มต่อไป

กลุ่มออมทรัพย์สัจจะจักรยานยนต์รับจ้างบ้านไทย-จังโหลน: ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2548 สมาชิกแรกเริ่มมีเพียง 4-5 คน เนื่องจากในปีแรกทางกลุ่มจํากัดสมาชิกไว้อยู่เพื่อผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง อีกทั้งกิจกรรมที่ทํายังไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีจุดยืน แต่หลังจากที่มีแนวทางในการดําเนินงานที่แน่นอนแล้ว ได้มีชาวบ้านไทย-จังโหลน รวมถึงชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลสำนักขามเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก วัตถุประสงค์ของกลุ่ม คือ ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกออมทรัพย์ไว้เป็นกองทุนเชิงธุรกิจ จัดหาทุนและเป็นแหล่งเงินทุนกลางประจําตําบลสํานักขาม รับฝากเงิน และพิจารณาให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกตามความเหมาะสม

วิถีชีวิต

วิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ผูกพันกับศาสนาอิสลามมาก ซึ่งบ้านไทย-จังโหลนก็เป็นเช่นเดียวกัน การดําเนินชีวิตของกลุ่มชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้านจึงมักจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา และปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด เช่น ผู้ชายต้องไปมัสยิดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาทุกวันศุกร์ ต้องถือศีลอดตามกําหนดเวลาปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังต้องพยายามหาโอกาสไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียให้ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต

ผู้นําของท้องถิ่นหรือผู้นําของประชาชนสําหรับชาวมุสลิม คือ โต๊ะอิหม่าม ซึ่งในตําบลหนึ่งต้องมีโต๊ะอิหม่ามประจํามัสยิด 1 คน บ้านไทย-จังโหลนมีโต๊ะอิหม่ามประจําหมู่บ้านคนปัจจุบันชื่อ นายสุริยา สายวารี ซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่ามคนที่ 2 ต่อจากคุณพ่อซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่ามคนแรก มีหน้าที่เป็นสัตบุรุษในในเรื่องการแต่งงาน การจัดการมรดก การว่าความ เช่น ในพิธีแต่งงาน โต๊ะอิหม่ามจะทําหน้าที่เสมือนผู้รับรองการแต่งงานและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ การทำหน้าที่ว่าความไกล่เกลี่ยข้อวิวาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาสังคมเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนงานศพซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมากต่อชาวมุสลิม มีการฝังศพที่กุโบร์ (สุสาน) และต้องทําพิธีฝังศพให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง เพราะศพอิสลามไม่ได้ฉีดสารฟอร์มาลีนจึงอยู่นานไม่ได้ สําหรับพิธีสุนัต (พิธีขลิบปลายอวัยวะเพศของผู้ชาย) ชาวบ้านบางคนจะเลือกอายุปีที่ดีในการทํา แต่ตามหลักศาสนาแล้วเมื่อทารกอายุครบ 7 วันก็สามารถทําได้แล้ว โดยมีหมอบ้านเป็นผู้นำในการทำพิธี

การสร้างบ้านเรือน

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านไทย-จังโหลนมีหลายรูปแบบ ทั้งบ้านชั้นเดียวติดพื้น บ้านเดี่ยวสองชั้น ห้องแถว และอาคารพาณิชย์ ไม่มีบ้านทรงโบราณ บ้านทรงไทย หรือบ้านไม้ ยกเว้นบ้านชั่วคราวที่สร้างด้วยไม้และสังกะสีอยู่บริเวณริมรั้วตามแนวชายแดน ซึ่งผู้ที่อยู่อาศัยมักจะประกอบอาชีพค้าขาย เก็บของเก่า ขายอาหารรถพ่วง รับจ้างทั่วไป และบ้านพักชั่วคราวของลูกจ้างดูแลสวนยาง เป็นต้น

ลักษณะบ้านของชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม เมื่อมองจากภายนอกจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก หากแต่รายละเอียดภายในตัวบ้านนั้นมีความแตกต่างกัน โดยปกติทั่วไปมักมีสิ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่อาศัยอยู่บ้านหลังนั้นนับถือศาสนาใด เช่น หากเป็นชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ก็จะพบหิ้งพระที่คนในบ้านเคารพบูชา หรืออาจจะพบเห็นการเลี้ยงสุนัข แต่หากเป็นบ้านของคนที่นับถือศาสนาอิสลามก็อาจจะพบรูปภาพของนครเมกกะ ภาพหรือแผ่นผ้าที่มีตัวหนังสือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอ่าน เป็นต้น

 วัฒนธรรมการแต่งกาย

คนไทยพุทธจะแต่งกายตามสมัยนิยม ยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุบางคนยังคงพบเห็นว่ามีการใส่ผ้าถุง หากเป็นไทยมุสลิม มีทั้งที่แต่งตามสมัยนิยมและแต่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลม บ้าง เสื้อเชิ้ตบ้าง บางคนมีฐานะดีก็จะนุ่งกางเกงแล้วสวมโสร่ง หรือใช้โสร่งพันทับชั้นนอกอีก ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าโสร่งหรือปาเต๊ะ ใส่เสื้อแขนยาวหรือที่เรียกว่าเสื้อยาวอหรือเสื้อแบบชวา มีผ้าคลุมศีรษะหรือไหล่ ทั้งผ้าโสร่ง ผ้าปาเต๊ะ และผ้าคลุม มักจะเป็นคนละสีกัน ส่วนมากจะใช้สีฉูดฉาดและสีสดๆ เช่น สีแดง สีลายดอกไม้ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนมนุษย์ 

  • โต๊ะอิหม่าม (ผู้นำทางศาสนา)
  • โต๊ะฉิม (หมอบ้าน)

ทุนทางภูมิปัญญา

แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์และระบบสาธารสุขจะเข้าถึงพื้นที่บ้านไทย-จังโหลน โดยบ้านไทย-จังโหลนอยู่ในเขตการให้บริการของสถานีอนามัยศรีประชาเขต ทั้งนี้ ยังคงมีชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมบางส่วนที่เลือกรับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยการใช้หมอบ้าน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ใช้สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ที่ทําการรักษา ด้วยวิธีพื้นเมืองคือ โต๊ะฉิม ซึ่งโต๊ะฉิมรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • โรคบวม ใช้ยาน้ำซึ่งมีวิธีการปลุกเสกโดยเฉพาะ นํามาทาบริเวณที่บวม และตามด้วยการเป่าคาถา

  • แขนหัก ขาหัก มีบาดแผล รักษาโดยการเป่าคาถาและใส่ยาพื้นเมือง

  • อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย จะใช้น้ำมันสูตรเฉพาะ แล้วนวดด้วยวิธีการคล้ายกับการนวดแผนไทย

อนึ่ง การรักษาโรคด้วยวิธีการดังกล่าวก็มีข้อจํากัด คือ สามารถรักษาได้เฉพาะโรคเท่านั้น โดยมากจะเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงมากนัก หากผู้ป่วยรายใดมีอาการรุนแรง ก็ยังมีความจําเป็นที่ต้องพึ่งการรักษาแบบแพทย์แผนใหม่ และกระบวนการในการรักษาบางอย่างต้องพึ่งพาคาถาอาคมและยาเป่าต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยเยียวยาให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงได้ แต่ในความเป็นจริงกระบวนการหรือวิธีการรักษาแบบนี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันที่แน่นอนได้ว่าจะช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้จริง แต่อาจสามารถอธิบายได้แง่ของจิตวิทยาว่าการใช้คาถาอาคมอาจจะทําให้ผู้ป่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ในเมื่อสุขภาพจิตดีขึ้นก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย

บ้านไทย-จังโหลนมี ภาษาที่ใช้สื่อสารกันหลายภาษา มีทั้งสําเนียงท้องถิ่น ภาษากลาง ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ภาษามลายู ภาษาของชาวไทยภูเขา ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนฮกเกี้ยน เป็นต้น แต่ภาษาที่ชาวบ้านใช้มากที่สุด คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ 


บ้านไทย-จังโหลนอยู่ในเขตการให้บริการของสถานีอนามัยศรีประชาเขต บ้านด่านนอก ตําบลสํานักแต้ว และต่อมาในปี พ.ศ.2548 ได้ดําเนินการจัดตั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นบ้านไทย-จังโหลน เพื่อให้เป็นหน่วยบริการประจําที่ให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนในการเข้าถึงบริการในพื้นที่ที่มี ลักษณะเฉพาะ โดยเป็นหน่วยบริการที่ประชาชนสามารถเลือกเป็นหน่วยบริการประจําได้ และเป็นหน่วยบริการ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” แต่หากอาการป่วยมีความรุนแรง ก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง คือ โรงพยาบาลสะเดา และโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์


เนื่องจากหมู่บ้านไทย-จังโหลน ไม่มีสถานศึกษาประจำชุมชน ฉะนั้น ชาวบ้านจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวัดศรีเทศสังฆาราม เพราะตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด โดยนักเรียนโรงเรียนวัดวิเทศสังฆารามนั้น เป็นเด็กที่มาจากหลายจังหวัด มีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม แต่ไม่มีปัญหาเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัด หรือแม้แต่ในเรื่องของอาหารการกิน ทางโรงเรียนก็มีการจัดร้านอาหารแยกไว้สําหรับเด็กมุสลิมไว้ให้ด้วย ส่วนคนที่เรียนในปอเนาะจะต้องไปเรียนที่บ้านไร่ตก

บ้านไทย-จังโหลน มีที่ทําการตํารวจชุมชนสํานักขาม ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 และสถานที่ทำการตํารวจท่องเที่ยว ตั้งอยู่ในซอยโรงแรมเหอเจีย ลักษณะที่ทําการเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น แต่ปัจจุบันนี้ตํารวจท่องเที่ยวไม่ได้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวแล้วมีเพียงตัวอาคารที่ตั้งอยู่ ในส่วนการบรรเทาสาธารณภัย ทางองค์การบริหารส่วนตําบลสํานักขามไม่มีที่ทําการ สถานีดับเพลิงที่ใกล้พื้นที่มากที่สุด คือ สถานีดับเพลิงของเทศบาลตําบลสะเดาซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 11 กิโลเมตร

มติชน. (2565). ด่านนอกสะเดา ยันไม่มีค่าเหยียบแผ่นดินเข้าไทยของชาวมาเลเซีย มีเพียงค่าตรวจ RT-PCR และอื่น ๆ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.matichon.co.th. [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].

อธิฏฐาน พงศ์พิศาล. (2549). ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมจากการพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาบ้านไทย-จังโหลน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา. วิทยานพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย.