บ้านบางสารเป็นแหล่งผลิตกะปิตำบลกลาย ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช
เดิมชื่อ “บางประสาน” แต่ชาวบ้านเห็นว่ายาวเกกินไป จึงตัดคำว่า “ประ” ออก แล้วเปลี่ยนรูปเขียนใหม่เป็น “บางสาร”
บ้านบางสารเป็นแหล่งผลิตกะปิตำบลกลาย ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช
จากการสอบถามผู้อาวุโสในหมู่บ้านทำให้ทราบว่า คําว่า “บางสาร” เพี้ยนมาจากคําว่า “บางประสาน” ซึ่งหมายถึงการมาบรรจบของแม่น้ำ 2 สายจากตําบลสระแก้ว คือ สายบางเผาหมู นัยว่า บางเผาหมูเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเอาหมูมาเผากันในแถบนี้ และสายบางวัง ซึ่งก็หมายถึงวังน้ำ แม่น้ำทั้งสองสายได้ไหลมาประสานกันที่คลองกลาย ชาวบ้านเลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางประสาน” ต่อมาเห็นว่าคําว่า “บางประสาน” ยาว จึงตัดคําว่า “ประ” ออก และภาษาเขียนก็เปลี่ยนจาก “สาน” เป็น “สาร” แทน (โกมล เอี่ยมคง และถาวร บุญฤทธิ์, สัมภาษณ์ อ้างถึงใน พัชราภรณ์ เอื้อมจิตรเมศ, 2546: 39)
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 10 บ้านหินออก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลสระแก้ว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านตลาดอาทิตย์ และหมู่ 2 บ้านสวนพริก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 11 บ้านในไร่ ฝั่งทะเลอ่าวไทย และหมู่ 1 บ้านพังปริง
สภาพแวดล้อม
พื้นที่ตั้งหมู่บ้านบางสารมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินร่วนเหนียว และดินร่วนเหนียวปนทราย ระบายน้ำได้ดี แต่หากปีใดเกิดฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วม เนื่องจากไม่มีเส้นทางที่จะระบายน้ำได้ทัน ซึ่งมวลน้ำเหล่านี้จะไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านที่มีลักษณะเป็นบ้านติดดิด สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทางด้านทิศตะวันออกตอนล่างของหมู่บ้านมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล มีคลองกลายหลผ่านเรียกว่า ปากน้ำกลาย ซึ่งจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ในอดีตคลองกลาย เป็นคลองที่มีความสําคัญต่อชาวบ้านมาก มีเรือสินค้าจากต่างถิ่น ทั้งเรือสําเภาจีน เรือกลไฟ มาจอดเทียบท่า ชาวบ้านได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ทําการค้าขาย การคมนาคม และการเกษตรมาตลอด แต่ปัจจุบันสภาพลําคลองตื้นเขินเนื่องจากการทับถมของดิน การทํามาหากินไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน ส่งผลให้ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองกลายย้ายไปตั้งบ้านเรือนในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 กันมากขึ้น
เนื่องจากดินของหมู่บ้านบางสารฝั่งที่ติดกับชายทะเลมีลักษณะเป็นดินทรายซึ่งเหมาะกับการปลูกมะพร้าว ชาวบ้านจึงนิยมทำสวนมะพร้าวซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายสิบไร่ ส่วนทางทิศเหนือดินเป็นดินร่วนเหนียวลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา แต่ผลผลิตมีเพียงพอเฉพาะบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านทางทิศเหนือยังถูกเปลี่ยนสภาพจากสวนยางพาราหรือนาข้าวเป็นนากุ้ง และขุดบ่อเลี้ยงปลาแทน ด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออกตอนบนชาวบ้านทําไร่ ทํา สวน อาทิ ถั่วลิสง พริกขี้หนู มะเขือ ทุเรียน มังคุด กาแฟ สวนยางพารา นอกจากการทําไร่เพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนยังนิยมปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก ตะไคร้ ขมิ้น โหระพา ขิง ข่า มะนาว มะกรูด ในบริเวณบ้าน ผลไม้ที่ปลูกรอบบริเวณบ้านที่พบมาก คือ ทุเรียน มังคุด กะท้อน ส้มโอ และมะม่วงหิมพานต์
การคมนาคม
การคมนาคมในหมู่บ้านบางสารในอดีตมีถนนลูกรัง เพียง 2 เส้นทางคือ ถนนบางสาร-ตลาดอาทิตย์และถนนวัดเขา-ชายเล ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกสบายจากการได้รับงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ปรับปรุงถนนบางสาร-ตลาดอาทิตย์เป็นถนนลาดยางเมื่อปีพ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน ถนนสายนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังถนนวัดเขา-ชายเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดออกสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ได้อีกหนึ่งเส้นทาง ทําให้ชาวบ้านสามารถเข้าออกหมู่บ้านได้สะดวก (บรรจง ช่วงทอง, สัมภาษณ์ อ้างถึงใน พัชราภรณ์ เอื้อมจิตรเมศ, 2546: 37) ภายหลังมีการตัดถนนสายนครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ผ่านหมู่บ้าน ทําให้ชาวบ้านสัญจรไปมาระหว่างตัวเมือง อําเภอและจังหวัดหรือการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีถนนลูกรังอัดดินหลายสายที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านที่อยู่ไกลจากเส้นทางหลัก ซึ่งมักจะเป็นหลุมเป็นบ่อเสียโดยมาก หากมีฝนตกลงมาก็จะมีน้ำท่วมขังตลอดเส้นทาง
ประชากร
ข้อมูลจากองค์การบริหารส้วนตำบลกลายระบุว่าปัจจุบันบ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชมีประชากรทั้งสิ้น 767 คน โดยประชากรในหมู่บ้านมีทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม
ลักษณะครอบครัว
ลักษณะครอบครัวในหมุ่บ้านบางสารส่วนใหญ่เป้นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก มีครอบครัวขยายเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และเป็นลักษณะขยายเพียงชั่วคราว คือ ในระยะแรกของการแต่งงาน คู่สมรสมักอาศัยอยู่กับครอบครัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะเป็นฝ่ายหญิงหรือชายก็ได้ ต่อมาเมื่อเขยหรือสะใภ้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ มีเงินมากพอที่จะปลูกบ้าน จึงจะแยกครอบครัวออกมาอยู่ต่างหาก ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ ๆ กับครอบครัวของพ่อแม่ หรือตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างออกไปในมรดกที่ดินอันเป็นที่ที่พ่อแม่ยกให้
ความสัมพันธ์เครือญาติ
ความสัมพันธ์เครือญาติของชุมชนบ้านบางสารสามารถสังเกตได้จากลักษณะการตั้งบ้านเรือน กล่าวคือ บ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะมีความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติกัน เช่น ลุง ป้า น้า อา เป็นต้น การตั้งบ้านเรือนในลักษณะนี้เป็นผลมาจากการแบ่งมรดกที่ดินของบรรพบุรุษ ส่งผลให้การสร้างบ้านเรือนของลูกหลานที่มีความสัมพันธ์เครือญาติมีลักษณะที่ตั้งอยู่ในหย่อมบ้านเดียวกัน หรือละเวกเดียวกัน
การประกอบอาชีพ
สืบเนื่องจากความหลากหลายทางกายภาพและความหลากหลายของลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่บ้านบางสาร ทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพของชาวบ้านมีความหลากหลายตามไปด้วย ทั้งอาชีพประมง ทำนา ทำไร่ ทำสวน ตลอดจนอาชีพอื่นที่อยู่นอกเหนือภาคการเกษตร
การทำประมง: เป็นอาชีพที่ที่มีความผูกพันกับชาวบ้านบางสารมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนี้ ส่วนใหญ่มีเรือประมงเป็นของตนเอง แต่เป็นเรือขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีเรือขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ชาวประมงส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้กับทะเล เวลาในการออกเรือมี 2 ช่วง ขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องมือในการจับปลา กล่าวคือ หากใช้อวนจมจะออกเรือช่วงเช้า เวลา 05.00–07.00 น. ส่วนช่วงค่ำเวลาประมาณ 17.00–20.00 น. จะใช้อวนลอยในการจับปลา ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่ คือ ปลาทู ปลาซา (คล้ายปลากระบอก) รวมถึงกุ้ง หอย ที่ติดขึ้นมากับอวน อาชีพหาปลาของชาวบ้านเป็นเพียงอุตสาหกรรมในครัวเรือน รายได้ไม่แน่นอน โดยปลาที่จับมาได้จะมีตลาดที่รองรับโดยเฉพาะ คือ ตลาดนัดในหมู่บ้าน หรือหากไม่ใช่วันที่มีตลาด จะขายกันเองภายในหมู่บ้าน ส่วนปลาที่ขายไม่หมดจะนำไปแปรรูปเป็นปลาเค็มตากแห้ง ผลพลอยได้จากการทําอาชีพประมงคืออาชีพการทํากะปิ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของตําบลกลาย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน ในราคากิโลกรัมละ 50–100 บาท
การทำนา: การทํานานับได้ว่าเป็นอาชีพที่สําคัญของชาวบ้านอีกอาชีพหนึ่ง เพียงแต่การทํานาของชาวบ้านส่วนใหญ่มีเป้าหมายเก็บไว้บริโภคในรอบหนึ่งปีมากกว่าการจําหน่าย แต่ถ้าครอบครัวใดมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคจึงจะนํามาจําหน่าย การทํานาสามารถทําได้ 2 ครั้งต่อปี คือ ทํานาปรัง และนาปี พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านนิยมนํามาปลูก ได้แก่ พันธุ์เหลืองเบา พันธุ์หอมแดง และพันธุ์เข็มทอง
สวนมะพร้าว: เนื่องจากบ้านบางสารมีพื้นที่ติดชายทะเล ที่ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย สามารถระบายน้ำได้ดี เหมาะแก่การปลูกมะพร้าว ทำให้ในบริเวณนี้มีการทำไร่มะพร้าวเป็นบริเวณกว้างหลายสิบไร่ ลักษณะพิเศษของมะพน้าวบ้านบางสาร คือ เนื้อมะพร้าวของบ้านบางสารมีเนื้อหนา และมีคุณภาพดี หากนําไปเคี่ยวทําน้ำมันจะได้ปริมาณมากกว่ามะพร้าวของแหล่งอื่น ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มะพร้าวนับว่าเป็นผลผลิตที่ทํารายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างมาก ทั้งมะพร้าวสด มะพร้าวแห้ง หรือผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแปรรูป โดยมะพร้าวสุก จะขายในราคาลูกละประมาณ 1.50 บาท มะพร้าวเผา ราคาประมาณกิโลกรัมละ 7.00 บาท ส่วนน้ำมันมะพร้าวจะนำมาคั้นเป็นกะทิ แล้วนําไปเคี่ยวให้เดือด ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ชาวบ้านไม่นิยมขาย หากแต่จะเก็บไว้ใช้ในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบ เพื่อทอดขนมพอง หรือขนมลา ซึ่งจะทําให้ขนมมีกลิ่นหอม และรสชาติอร่อยกว่าการทอดด้วยน้ำมันชนิดอื่น สำหรับมะพร้าวอ่อน ชาวบ้านไม่นิยมขายเช่นกัน เนื่องจากมีจํานวนมากและหาได้ง่าย แต่นิยมทําเป็นไอศครีม โดยนำน้ำกับเนื้อผสมกัน ใส่น้ำตาลเพิ่มความหวาน เติมเกลือให้ได้รสชาติกลมกล่อม จากนั้นบรรจุใส่ถุงเล็ก ๆ แช่ในตู้เย็นไว้กินยามกระหายคลายร้อน
นากุ้ง: เป็นอาชีพใหม่ที่ชาวบ้านเริ่มทําในปี พ.ศ. 2532 เนื่องจากพายุฟอเร้นซ์สร้างความเสียหายให้ กับสวนยางพาราแถบบริเวณฝั่งตะวันออกหมู่บ้าน ประกอบกับน้ำบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย อยู่ไม่ไกลกับฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งสามารถเลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี หากการเลี้ยงกุ้งต้องใช้ทุนสูง ดังนั้นระยะแรกชาวบ้านจึงให้ปล่อยที่นาให้คนนอกเช่า แล้วจึงค่อยมาเลี้ยงเองในภายหลัง แต่หลังปี พ.ศ. 2539 เริ่มมีโรคระบาด กุ้งราคาตกและขาดทุน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันเลี้ยงกุ้งโดยการให้อาหารธรรมชาติ คือ ให้กุ้งกินกล้วยสุกบดละเอียด หลังจากนั้น 20 วันให้ไข่แดงประมาณ 10 ฟอง/1บ่อ ส่วนอาหารหลัก คือ ต้มมะขามเปียกกับกะปิแล้วมาคลุกกับอาหารกุ้งของบริษัทซีพี การเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีนี้นอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำแล้ว ยังทำให้กุ้งปลอดสารพิษอีกด้วย
การปลูกพืชไร่ และเลี้ยงสัตว์: ชาวบ้านปลูกพืชไร่เป็นรายได้เสริม เช่น มะเขือ มันขี้หนู ถั่วฝรั่ง มันสําปะหลัง ถั่วลิสง ผลผลิตที่ได้จะส่งขายในตัวอําเภอ หรือบางครั้งมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการขุดบ่อบ่อเลี้ยงปลาแทนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง ปลาที่เลี้ยงได้แก่ ปลานิล ปลาช่อน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
รับจ้าง: โดยใช้เวลาว่างงานจากอาชีพหลัก หรือเมื่อเกิดพายุไม่สามารถออกเรือได้ ก็จะทํางานรับจ้างทั่วไป เช่น การสอยมะพร้าว รับจ้างทำไร่ เก็บผลผลิต เป็นต้น
รับราชการ: การประกอบอาชีพรับราชราชการและรัฐวิสาหกิจของคนในหมู่บ้านพบได้ในรายที่ได้รับการศึกษาสูง โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ต่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ลักษณะการสร้างบ้านเรือน
ชาวบ้านบางสารนิยมตั้งบ้านเรือนเป็นแนวยาวอยู่ริมถนนทั้ง 2 ด้าน หมู่บ้านมีลักษณะเป็นตรอก ซอย บ้านแต่ละหลังระยะห่างกันประมาณ 30–40 เมตร เป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านส่วนใหญ่ไม่มีรั้วกั้นอาณาเขต และบริเวณหน้าบ้านส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายขาว ข้างบ้านปลูกพืชผักสวนครัว หลังบ้านมีบ่อน้ำกินน้ำใช้ หรือพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ไก่ และหมู ส่วนลักษณะบ้านมี 2 ประเภท คือ บ้านใต้ถุนสูง และบ้านติดดิน แต่บ้านติดดินเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากมีความทันสมัยมากกว่าบ้านใต้ถุนสูง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างน้อยกว่า และสร้างได้ง่ายกว่าบ้านแบบอื่น
การแต่งงาน
ชาวบ้านบางสารทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิมมีคติเรื่องการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเหมือนสังคมไทยโดยทั่วไป การแต่งงานหนุ่ม-สาวมีอิสระในการเลือกคู่ครอง แม้จะต่างศาสนากันก็ตาม แต่มีข้อแม้ว่า ชาวไทยพุทธภายหลังการแต่งงานกับคู่สมรสที่เป็นชาวไทยมุสลิม จะต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ในอดีตหนุ่มสาวในหมู่บ้านนิยมแต่งงานในช่วงอายุ 1 –19 ปี เพื่อจะได้มีลูกหลานไว้ช่วยทํามาหากิน แต่ในปัจจุบันทัศนคติของชาวบ้านเปลี่ยนไป สาเหตุหนึ่งมาจากการศึกษาที่สูงขึ้น ผู้คนไม่นิยมมีลูกมาก เพราะคํานึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นชาวบ้านจึงกําหนดขนาดของครอบครัวหรือวางแผนครอบครัวว่าจะมีลูกกี่คนจึงจะเหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของตน ทั้งสามารถให้ลูกได้รับการศึกษาได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงมักทํางานต่างถิ่น เมื่อมีครอบครัวก็มักจะตั้งถิ่นฐานที่อื่น ซึ่งทำให้อัตราการย้ายถิ่นฐานของคนหนุ่มสาวในชุมชนบ้านบางสารสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชุมชน
ศาสนาและความเชื่อ
ภายในชุมชนบ้านบางสารปรากฏการนับถือศาสนาของชาวบ้านในชุมชน 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม โดยผู้นับถือศาสนาอิสลามมีศาสนสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคือ มัสยิดไบรียะ (มัสยิดที่เป็นศูนย์รวมใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลกลาย) และมัสยิดตอรี่กาตุลยานะ อยู่ในหมู่ 11 ส่วนศาสนสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ คือ วัดบางสาร และวัดเขาพนมไตรรัตน์
นอกจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อเรื่องการนับถือผี โดยเฉพาะผีตายาย ครูหมอ และทวด ยังคงเป็นคติที่ไม่สามารถแยกขาดจากมโนทัศน์ของชาวบ้านบางสารได้ โดยผีที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา ได้แก่ ผีตาผียาย ครูหมอ และทวด
- ผีตายาย คือ ผีบรรพบุรุษประจําตระกูล ที่นับถือต่อ ๆ กันมา ในตระกูลหนึ่ง ๆ จะมีผู้ อาวุโสคนหนึ่งเป็นศูนย์รวมติดต่อกับวิญญาณ ลูกหลานมีสิ่งใดเดือดเนื้อร้อนใจก็จะบนบานให้ตายายช่วยเหลือ
- ครูหมอ เป็นผีบรรพบุรุษในสายตระกูลที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านศิลปะ เช่น ครูหมอหนังตะลุง ครูหมอโนราห์ การนับถือครูหมอมีการตั้งหิ้งบูชาในบ้านเช่นเดียวกับหิ้งตายาย มีการเซ่นไหว้บ้างตามสมควร เชื่อกันว่าครูหมอสามารถปัดเป่าให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง สามารถกันวิญญาณร้ายไม่ให้เข้าบ้าน หรือดลบันดาลให้สิ่งที่ตนต้องการด้วยการบนบาน ทั้งนี้ก็สามารถให้โทษได้เช่นกันหากลูกหลานล่วงละเมิด หรือทำสิ่งมิดีมิควร
- ทวด คือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ ชาวภาคใต้เชื่อกันว่ามักปรากฏกายให้เห็นในรูปของสัตว์ต่าง ๆ เช่น งูใหญ่ จระเข้ เป็นต้น โดยปกติชาวบ้านจะตั้งศาลหรือศาลา (หลา) ให้เป็นที่อยู่สิงสถิตของทวด
ภูมิปัญญาการทำกะปิ
กะปิชาวบ้านตำบลกลาย เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน ในราคากิโลกรัมละ 50–100 บาท ลักษณะเด่นที่ทำให้กะปิตำบลกลายมีความแตกต่างจากกะปิท้องถิ่นอื่น คือ การใช้เนื้อกุ้งล้วน ๆ เป็นส่วนผสม โดยไม่มีการนำแป้งหรือวัตถุดิบอื่นมาเจือปน กรรมวิธีการทำกะปิของชาวบ้านตำบลกลาย มีดังนี้
- นํากุ้งสดมาคลุกเคล้ากับเกลือและตําให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืน
- นําไปตากแดด 1 วัน และตําให้ละเอียด
- หมักไว้ในโอ่งขนาดใหญ่ เป็นเวลา 1 เดือน
- บรรจุใส่ถุงพร้อมจำหน่าย
แม้ว่าหมู่บ้านบางสารจะประกอบด้วยประชากร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไทยพุทธและไทยมุสลิม แต่การสื่อสารของชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม โดยปกติทั่วไปจะใช้ภาษาถิ่นใต้มากกว่าใช้ภาษายาวี อย่างไรก็ตาม การสื่อสารในลักษณะที่เป็นทางการ เช่น การศึกษาในโรงเรียน การติดต่อหน่วยงานราชการอื่น ๆ จะใช้ภาษาไทยกลาง
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566].
พัชราภรณ์ เอื้อจิตรเมศ. (2546). การคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงเพลงกล่อมลูกภาคใต้: กรณีศึกษาบ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.
วัดไทย. (2561). วัดบางสาร ตำบลกลาย อำเภท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.xn--l3c1b4a.xn--o3cw4h [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566].