Advance search

บ้านแม่ยางส้าน ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 8
บ้านแม่ยางส้าน
ท่าผา
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
ทต.ท่าผา โทร. 0-5311-4660
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 มิ.ย. 2024
บ้านแม่ยางส้าน

เดิมชุมชนชื่อบ้านยางส้า ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นยางส้าน และมีผู้อาวุโสในชุมชนให้ใช้ชื่อหมู่บ้านที่ขึ้นด้วยคำว่า แม่ จะเป็นชื่อที่ดี จึงเปลี่ยนเป็น บ้านแม่ยางส้าน


บ้านแม่ยางส้าน ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) กับการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

บ้านแม่ยางส้าน
หมู่ที่ 8
ท่าผา
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
50270
18.48484290171045
98.4451321895617
เทศบาลตำบลท่าผา

การอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่บ้านแม่ยางส้านนั้น เป็นการเข้ามาของกลุ่มชาติพันธุ์ปะกาเกอะญอกลุ่มใหญ่ที่ย้ายถิ่นฐานกันมาจากทางด้านทิศตะวันตกบริเวณแถบชายแดนไทย-พม่า มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานนานกว่า 150 ปีมาแล้ว ซึ่งเข้ามาอยู่ในจังหวัดภาคเหนือหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยกลุ่มชาวปะกาเกอะญอบ้านแม่ยางส้านเป็นกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แรก ซึ่งมีอยู่หลายชุมชน ได้แก่ บ้านแม่ยางส้านบน บ้านแม่ยางส้านล่าง บ้านแม่กองงอน บ้านป่ากล้วย บ้านสามสบบน บ้านสามสบไทย บ้านกลาง และบ้านแม่แรก ซึ่งเข้ามาแผ้วถางป่าสร้างที่อยู่อาศัย แสวงหาพื้นที่ทำกิน ทำเกษตรกรรม ทำไร่ และรวมตัวกันจนกลายเป็นชุมชน เดิมบ้านแม่ยางส้านเป็นส่วนหนึ่งของบ้านสามสบ หมู่ที่ 1 ตำบลท่าผา มีผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการเรียกว่า “ฮีโข่” ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ทางการได้ประการให้บ้านแม่ยางส้านเป็นหมู่บ้านใหม่และมีผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนานการเรียกชื่อบ้านแม่ยางส้านมาจากเรื่องเล่าท้องถิ่นมีอยู่ว่า ในอดีตมีชาวละว้ามาทำไร่อยู่ในพื้นที่เชิงดอยอินทนนท์ เมื่อเข้าไปทำไร่สองสามีภรรยาได้วางลูกน้อยไว้ในห้างโดยไม่มีใครดูแล และมีตัวต่อมากัดกินลูกน้อยจนเสียชีวิต เมื่อสองสามีภรรยามาพบจึงเสียใจมาก ฝ่ายสามีจึงได้พาเพื่อนไปตามหารังต่อ โดยนำช้างไปด้วยหนึ่งเชือก เมื่อเจอรังต่อบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ปัจจุบันคือบริเวณอ่างกาหลวง เขาจึงทำลายรังต่อและนำตัวอ่อนกลับมากินที่บริเวณหมู่บ้านยางส้าน ซึ่งเขาพากันเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า บ้านยางส้า เวลาผ่านไปจึงมีการเรียกผิดเพี้ยนเป็น บ้านยางส้าน ภายหลังผู้อาวุโสมีความเห็นว่าถ้าชื่อชุมชนนำด้วยคำว่า แม่ จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงมีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “แม่ยางส้าน” และใช้มาจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะทางกายภาพ ภูมิศาสตร์พื้นที่โดยทั่วไปของชุมชนบ้านแม่ยางส้าน ที่ตั้งชุมชนอยู่บริเวณเนินเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย ประมาณ 840 เมตร และมีพื้นที่ทำกินอยู่ในระดับความสูง 800-1,000 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตป่าต้นน้ำลุ่มน้ำแม่แรก มีความลาดชันตั้งแต่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ บ้านเรือนตั้งอยู่บนที่ลาดไหล่เขา มีภูเขาล้อมรอบ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ลำห้วยต้อแต้ ลำห้วยแม่ยางส้าน และลำห้วยแม่กองงอน ที่ตั้งห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่ากล้วย ตำบลท่าผา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าเฮี๊ยะ ตำบลท่าผา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสามสบบน ตำบลท่าผา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านผานัง ตำบลท่าผา

บ้านแม่ยางส้านเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านแม่ยางส้าน ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 492 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 232 คน ประชากรหญิง 260 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 198 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

บ้านแม่ยางส้านเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอซึ่งมีภูมิปัญญาด้านการทำเกษตรกรรม และการทำไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยผลผลิตที่ได้มีทั้งส่วนที่เก็บไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี และส่วนที่แบ่งขายเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งพืชที่ชาวบ้านปลูกจะเป็นการทำไร่ข้าว หรือข้าวไร่ ซึ่งมีความเหมาะสมต่อสภาพภูมิศาสตร์บนพื้นที่สูง เนื่องจากข้าวไร่จะใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าข้าวนา และในการทำข้าวไร่แต่ละครั้งชาวบ้านจะมีการปลูกพืชผักชนิดอื่นแซมไปด้วย เช่น ข้าวโพด ถั่ว แตง หอม ฟัก ฯลฯ นอกจากการทำนาหรือข้าวไร่เป็นหลักแล้ว ชาวบ้านยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เพื่อการพาณิชย์ โดยพืชที่ปลูกนั้นมีอยู่หลากหลายตามแต่ละฤดูกาล เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ถั่วเหลือง ฟักทอง หมอแดง กะหล่ำปลี ฯลฯ ทั้งยังมีการปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลต่าง ๆ ได้แก่ ลิ้นจี่ มะขามหวาน กระท้อน ขนุน และมีการเลี้ยงสัตว์ภายในครัวเรือนด้วย นอกจากอาชีพด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ แล้ว ในเวลาว่างหรือระหว่างรอเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะมีการออกไปหารับจ้างทั่วไปเป็นรายได้เสริม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ส่วนชาวบ้านผู้หญิงจะอยู่บ้าน ทอผ้า ผ้าถุง เสื้อ ย่าม ฯลฯ และยังมีการทำหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องที่ชุมชน เช่น การทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เป็นต้น 

กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ยางส้าน มีการนับถือผีซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม และมีความเชื่อแบบพุทธศาสนาแบบผสมผสานกัน บรรพบุรุษมีการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่สิ่งสถิตอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผีป่า ผีน้ำ ผีฝาย ผีถนน ผีปู่ญาติ ฯลฯ โดยความเชื่อในการนับถือผีของชาวบ้านแม่ยางส้าน สามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย

  1. ผีต้นโพธิ์ (หมื่อนะคาเคลื่อ) ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าก่อนที่คนจะได้เกิดมาต้องไปขออนุญาติจากผีต้นโพธิ์ก่อน ผีต้นโพธิ์จะถามว่าเกิดมาเป็นคนแล้วจะทำอะไร ไปเกิดกับใคร จะเกิดกี่วัน กี่เดือน กี่ปี แล้วจะกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อคำสัญญาแล้ว จะบรรจุอักษรไว้ที่หัวแล้วปล่อยให้ไปเกิด เมื่อถึงเวลาตามที่ได้ให้คำสัญญาก็จะตาย และจะต้องมีคนไปส่งที่บ้านของผีต้นโพธิ์ สำหรับร่างต้องฝั่งในดิน ส่วนดวงวิญญาณต้องมีคนไปส่ง 2 คน คนหนึ่งไปส่งแล้วบอกทางให้คนตาย พอเสร็จพิธีอีกคนจะอยู่ด้านหลังใช้กิ่งไม้ดึงคนข้างหน้าที่ไปส่งดวงวิญญาณให้กลับมา ถ้าไม่ใช้กิ่งไม้ดึงคนที่ไปส่งดวงวิญญาณจะตายตามไปด้วย เพราะเชื่อว่าคนที่ไปส่งดวงวิญญาณนั้นขวัญจะไปถึงบ้านของผีต้นโพธิ์พร้อมกับผู้ที่ตาย
  2. ผีปู่ญาติ (ซิโข่หมื่อนคา) และผีที่ไม่มีเชื้อสายตระกูลคือ (นาจิชินาจิเทาะ) จะมีพิธีกรรมคือเลี้ยงผีบ้านผีเรือน ชาวบ้านเชื่อว่าเวลาที่ผีนาจิชินาจิเทาะไม่มีกิน จะไปบังคับให้ผีปู่ญาติเรียกขวัญลูกหลานมา พอลูกหลานมา นาจิชินาจิเทาะ จะทำร้ายขวัญ ทำให้เจ็บป่วยอย่างกระทันหัน จำเป็นต้องมีพิธีเลี้ยงผี ถ้าไม่เลี้ยงจะเสียชีวิต และถ้าเลี้ยงไม่ถูกวิธีจะเป็นบ้าหรือพิการ
  3. ผีป่า คือผีที่อยู่ตามพื้นที่แต่ละที่ที่ชุมชนอาศัยอยู่ ชาวบ้านเชื่อว่าต้นไม้หรือผืนป่าจะต้องมีเจ้าของคือผีอาศัยอยู่ จึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรมเลี้ยงผีป่าขึ้นเพื่ออาศัยซึ่งกันและกัน โดยพิธีกรรมที่เลี้ยงผีป่าอยู่ 2 ประเภท คือ การเลี้ยงผีไร่ และการเลี้ยงผีต้นไม้ เพื่อให้ช่วยดูแลปกปักรักษาชาวบ้าน
  4. ผีน้ำ คือผีที่อยู่ตามลำห้วย โดยเชื่อว่าน้ำแต่ละห้วยต้องมีเจ้าของคือผีน้ำ (กบ เดบือ) จำเป็นต้องมีพิธีกรรมเลี้ยงผีน้ำ เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต โดยการเลี้ยงผีน้ำ มีพิธีกรรม อยู่ 4 ประเภท คือ เลี้ยงผีฝาย เลี้ยงผีลำห้วย เลี้ยงผีถนน และการขอขมาผีน้ำ
  5. ฝีเจ้านาย ชาวบ้านเชื่อว่าในบรรดาผีต่าง ๆ มีผีที่มีอำนาจปกครองสุงสุดคือผีเจ้านาย เมื่อชาวบ้านขอน้ำ ขอฝน ก็จะไปบอกผีเป็นเจ้าของน้ำ โดยมีฮีโข่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมและถือกฎระเบียบ ให้คนในชุมชนรักและสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งพิธีกรรมจะเป็นตัวที่ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม ให้มีความประพฤติที่ดี และไม่ผิดต่อศีลธรรม ฮีโข่จะประกอบพิธีใต้ต้นไม้และไม้ต้นนั้นจะตัดไม่ได้เด็ดขาด ถ้าตัดคนในชุมชนจะป่วยหรือตาย โดยการทำพิธีจะมีอยู่ 3 ครั้ง คือ ช่วงประเพณีมัดมือปีใหม่ ช่วงก่อนลงมือเพาะปลูกทำไร่ทำนา และช่วงเวลาที่ข้าวออกดอก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรน้ำ ชุมชนบ้านแม่ยางส้านมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่บริเวณชุมชนหลายสายด้วยกัน ได้แก่ ลำน้ำแม่ยางส้าน ลำน้ำห้วยต้อแต้ และลำห้วยแม่กองงอน โดยเป็นลำน้ำสายเล็กๆ ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และพาดผ่านไปยังพื้นที่ไร่นา และแหล่งทำการเกษตรของชาวบ้านในหลายจุด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดูแลพืชผลทางการเกษตร และทำให้ผลผลิตมีปริมาณที่เพียงพอเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารสำหรับชาวบ้านในการไปหาดักจับสัตว์น้ำมาประกอบอาหารรับประทานกันภายในครัวเรือน

ทรัพยากรป่าไม้ บริเวณที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตป่าของอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา และเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ติดต่อกันในพื้นที่ราบลุ่มล้ำห้วยยางส้าน ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำแม่แรกติดต่อกับเขตดอยอินทนนท์ไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 4,800 ไร่ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งลำห้วย น้ำตก น้ำออกรู โดยชาวบ้านมีการจัดการพื้นที่โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเพื่อง่ายต่อการดูแล ประกอบด้วย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ป่าต้นน้ำ) อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ พื้นที่ป่าใช้สอย อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไผ่ และพื้นที่ทำกิน โดยจะอยู่บริเวณรอบหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา ทำไร่ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน

ทรัพยากรดิน ลักษณะดินส่วนใหญ่ในพื้นที่บ้านแม่ยางส้านจะเป็นดินดำตามไหล่เขา ในพื้นที่นาเป็นดินดำหรือดินปนทราย ซึ่งเหมาะสมต่อการปลูกพืชได้หลายหลายชนิด เพราะช่วยในการเจริญเติบโตของพืชได้เป็นอย่างดี เดิมมีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพดิน แต่ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดเชิงพื้นที่ชาวบ้านจึงหันมาปลูกเป็นพืชหมุนเวียนแทน และปรับจากการทำไร่หมุนเวียนมาเป็นไร่ถาวร

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ ไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพัฒน์ ธนุรวิทยา. (2547). โครงการการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการหนอนไม้ไผ่ (คีเบาะ) และกบ (เดบือ) ให้มีความยั่งยืน บ้านแม่ยางส้าน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

อารักษ์ กัมปนาทบวร. (2545). ศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตของชุมชนปกาเกอญอ บ้านแม่ยางส้าน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เทศบาลตำบลท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่. (2566). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567จาก https://www.facebook.com/thaphasm

ทต.ท่าผา โทร. 0-5311-4660